วันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2552

“ผู้หญิง” ในความรุนแรง และสันติภาพของสามจังหวัดภาคใต้ (Women, peace and violence in the Deep South of Thailand), published in Matichon in 2005

“ผู้หญิง” ในความรุนแรง และสันติภาพของสามจังหวัดภาคใต้

ช่วงบ่ายของวันที่ 19 พฤษภาคม ครูสาวจากจังหวัดเชียงราย จูหลิง ปงกันมูล และศิรินาฏ ถาวรสุข แห่งโรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ถูกจับเป็นตัวประกันโดย “กลุ่มชาวบ้านจำนวนกว่า 100 คน ทั้งหญิงและชาย ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงมากกว่า” (มติชน, 21 พ.ค. 2549-เน้นโดยผู้เขียน) ทั้งนี้ คาดว่าเพื่อต่อรองให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวผู้ต้องสงสัยชาย 2 คน ที่ถูกจับกุมในคดีก่อความไม่สงบตอนเช้าวันของเดียวกัน ต่อมา “เริ่มมีเสียงร้องออกมาจากห้องที่ครูสาวทั้งสองถูกกักขัง กลุ่มผู้หญิงได้เริ่มทำร้ายครูโดยใช้ไม้ทุบตีปะปนกับเสียงร้องไห้ของเพื่อนครูที่พยายามร้องขอชีวิตจากกลุ่มหญิงเหล่านั้น” (เพิ่งอ้าง-เน้นโดยผู้เขียน) ในที่สุดครูสาวทั้งสองได้รับการช่วยเหลือออกมาได้โดยผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านจำนวนหนึ่ง ทั้งนี้ครูจูหลิงมีอาการบาดเจ็บสาหัส เนื่องจากถูกท่อนไม้ทุบตามศีรษะและลำตัว ขณะนี้ร่างของครูยังคงนอนสงบนิ่ง มีเพียงเครื่องมือแพทย์ที่ยังยืนยันลมหายใจอันแผ่วเบาของเธอ
เหตุสลดล่าสุดที่เกิดขึ้นกับครูสาวทั้งสอง โดยเฉพาะการทำร้ายครูจูหลิง ไม่ใช่เหตุการณ์แรกที่ผู้หญิงกลายเป็น “เหยื่อ” ของสถานการณ์ความรุนแรงที่ดำเนินอย่างต่อเนื่องยืดเยื้อในสามจังหวัดภาคใต้ กระนั้นกลับเป็นเหตุการณ์แรกที่ผู้ก่อความรุนแรงถูกรับรู้ว่าเป็น “ผู้หญิง” กอปรกับในช่วงหลังมักมีข่าวหนาหูจากฝ่ายความมั่นคงว่า “กลุ่มภรรยาเครือญาติของแนวร่วมขบวนการก่อการร้ายได้รับการฝึกฝนและเข้ากระจายตัวความหมู่บ้านต่างๆในสามจังหวัดภาคใต้ เพื่อปฏิบัติก่อเหตุได้ทุกเมื่อ” (มติชน, 4 พ.ค. 2549-เน้นโดยผู้เขียน) หากข่าวเช่นนี้มีเค้ามูลความจริง ใครหลายคนอาจคิดเดาไปว่า ในเช้าอากาศดีวันหนึ่ง ผู้หญิงมุสลิมบางคนบางกลุ่มนึกอยากช่วยสามีหรือลูกชายที่เป็นผู้ก่อความไม่สงบทำงานด้วยการฝึกอาวุธและยุทธศาสตร์การสงครามต่างๆ เมื่อสำเร็จการฝึกฝนก็เกิดอยากทำร้ายชาวบ้าน เข่นฆ่าเจ้าหน้าที่ขึ้นมาทันที อย่างไรก็ดี หากเลือกพิจารณาสถานการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ด้วยอาศัยสายตาและเรื่องเล่าของแม่และเมียผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ ถูกจับกุม หรือถูกอุ้มหาย ทั้งรายวันและเหตุการณ์ใหญ่ ทั้งพุทธ มุสลิม รวมทั้งฝั่งเจ้าหน้าที่และชาวบ้าน ภาพความรุนแรงซึ่งกัดกินสังคมมาเป็นเวลายาวนาน ย่อมปรากฏอย่างสลับซับซ้อน และอาจช่วยให้เข้าใจความบังเอิญอย่างจงใจที่ผู้หญิงเข้าเกี่ยวข้อง โยงใยในสายธารแห่งความรุนแรงได้มากขึ้น
คำถามแรกที่ควรถาม แต่ไม่ใคร่ถูกถามคือ เกิดอะไรกับผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นแม่ ภรรยา น้องสาว ลูกสาว และเครือญาติผู้หญิงในครัวเรือนแบบขยายของมุสลิม ท่ามกลางสถานการณ์รุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ตลอดช่วงเวลาสองปีกว่าที่ผ่านมา? คำตอบแรกที่ตรงกันคือ แม้ว่าผู้หญิงในพื้นที่จะมิได้เป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรงโดยตรง (อย่างน้อยในช่วงแรก) แต่การที่ผู้ชายในบ้านเสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ ถูกจับกุม หรือหายไป ทำให้ “ความปกติ” ของชีวิตที่มีมาแต่เดิมนั้นถูกแทรกแซงอย่างช่วยไม่ได้ กล่าวคือ ความยากจนที่หลายครอบครัวครอบครองอยู่เดิมนั้น ได้โถมทับชีวิตที่ขาดหัวเรี่ยวหัวแรงในการทำมาหากินมากขึ้น อาทิเช่น หญิงหม้ายซึ่งมีลูกจำนวนมากต้องทำงานเลี้ยงชีพเพียงลำพัง ทั้งเพื่อค่าอาหาร ค่านมให้ลูกที่ยังเล็ก รวมถึงค่าเทอมเพื่อส่งเสียให้ลูกๆได้เรียนสูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่เมื่อกำลังของผู้หญิงคนเดียวไม่สามารถจุนเจือคนในครอบครัวได้ทั้งหมด ลูกชาย ลูกสาวที่โตหน่อยจึงต้องจากโรงเรียนกลางคันเพื่อช่วยแม่ กรีดยาง เย็บผ้าคลุมผม ทำสวนผลไม้ หรือใช้แรงงานในมาเลเซีย ตารางการทำงานของผู้หญิงคนหนึ่งหลังจากสูญเสียลูกชายในเหตุการณ์ตากใบ อาจทำให้เห็นภาพดังกล่าวได้ชัดเจนมากขึ้น “ฉันตื่นตีสี่เพื่อกรีดยาง สายๆไปทำนา เย็นกลับมาบ้านทำกับข้าว ดึกเย็บผ้าคลุมผมถึงตีสอง จากนั้นก็นอน ไม่นานก็เริ่มงานของวันใหม่” ทั้งยังไม่นับพ่อแม่ที่แก่ชรา ซึ่งถึงเวลาที่ลูกชายจะเลี้ยงดูให้สุขสบายขึ้นบ้าง กลับต้องทำงานอย่างหนักโดยฝืนกับสภาพร่างกายที่อ่อนเปลี้ยโรยรา เพื่อเลี้ยงดูและส่งเสียหลานกำพร้าซึ่งลูกที่เสียชีวิต หาย หรือพิการได้ทิ้งไว้... ปัญหาทางเศรษฐกิจที่ผู้หญิง (รวมถึงผู้ชายที่เป็นพ่อซึ่งชรา และเป็นลูก) ต้องประสบพบเจอไม่เป็นข้อยกเว้นสำหรับใคร ไม่ว่าจะเป็นพุทธ มุสลิม เจ้าหน้าที่หรือชาวบ้าน
นอกจากปัญหาข้างต้น ซึ่งใครหลายคนอาจพบทางสว่างแก้ปัญหานี้ได้ด้วย “เงิน” หรือความช่วยเหลือในลักษณะสังคมสงเคราะห์ต่างๆ สิ่งสำคัญซึ่งมักไม่ได้รับการพิจารณาในฐานะส่วนหนึ่งของปัญหาคือ การจากไปอย่างไม่มีวันกลับของบุคคลอันเป็นที่รักได้สร้างความเศร้าโศกเสียใจให้กับครอบครัวอย่างสุดซึ้ง และในบริบทความรุนแรงเช่นนี้ย่อมง่ายที่ความขับข้องใจ หวาดกลัว ระแวง ตลอดจนโกรธแค้นจะแฝงฝังอยู่กับผู้ซึ่งถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง และถ้าภาพรวมแบบหละหลวมที่ว่า “สงคราม” ครั้งนี้ผู้ชายเป็นตัวแสดงหลัก คือข้อเท็จจริง ผู้หญิงซึ่งถูกกันออกจากอาณาบริเวณความรุนแรง (ในลักษณะการเผชิญหน้าโดยตรง) ต้องเป็นผู้แบกรับภาระทางอารมณ์นี้ กล่าวแบบลงจากหอคอยงาช้างก็คือ แม่และเมียย่อมร่ำไห้ เสียใจกับการจากไปของลูกและคนรัก แม่และเมียคร่ำเครียดว่าจะทำอย่างไรต่อไปกับชีวิตนับจากนี้ แม่และเมียที่อยู่ในบ้านเพียงลำพังหวาดกลัวการลาดตระเวน รวมถึงเข้าตรวจค้นของทหารในยามวิกาล แม่และเมียอึดอัด คับข้อง ไม่เข้าใจว่าทำไมลูกและคนรักของตนจึงเสียชีวิต บาดเจ็บ และถูกจับกุมเป็นเวลานานโดยปราศจากความช่วยเหลือของกระบวนการยุติธรรมในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง แม่และเมียหวาดระแวง เพราะเพื่อนบ้านต่างศาสนาที่เคยโอภาปราศรัย มีน้ำใจต่อกันกลายเป็น “คนอื่น” ที่ไม่น่าไว้วางใจ ฯลฯ
แม้ว่าเหตุการณ์ในพื้นที่จะมีความคลุมเครือในแง่ผู้กระทำและแรงจูงใจทางการเมืองเช่นไร แต่ข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่มิอาจปฏิเสธได้คือ ผู้หญิงไม่เคยอยู่นอกวังวนแห่งความรุนแรงอย่างแท้จริง เพียงแต่ผลกระทบที่ได้รับหลบหลืบอยู่ตามซอกมุมต่างๆ ด้วยอาศัยเส้นแบ่งบางๆระหว่างสมรภูมิและครัวเรือนมาปิดบังซ่อนเร้นเท่านั้น สภาวะข้างต้นอาจเป็นเชื้อไฟอย่างดีที่สร้าง “ความเป็นไปได้” และแนวโน้มที่ผู้หญิงจะเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในฐานะ “ผู้กระทำความรุนแรง” มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะการลุกขึ้นป้องกันตนเองหรือชุมชนด้วยการติดอาวุธ (กรณีการฝึกปืนให้อาสาสมัครหญิงในพื้นที่ถือเป็นตัวอย่างหนึ่ง) เนื่องจากรัฐล้มเหลวในการปกปักษ์ชีวิตพลเมือง ขณะเดียวกัน ความรู้สึกคับแค้นของผู้หญิงที่เผชิญกับความอยุติธรรม โดยเฉพาะจากรัฐ อาจนำไปสู่การเลือกใช้ความรุนแรงเพื่อสถาปนาความยุติธรรมนั้น กรณีเช่นนี้เห็นได้ชัดจากกลุ่มหม้ายดำ (Black Widows) แห่งเชเชน รวมถึงการเข้าร่วมกองกำลังปฏิบัติการของผู้หญิงในกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬ อีแลม เป็นต้น
คำถามที่สองคือ นอกเหนือจากความเป็นไปได้ที่ผู้หญิงจะ (เลือก) ใช้ความรุนแรงในบริบทสถานการณ์สามจังหวัดภาคใต้แล้ว ความเกี่ยวข้องของผู้หญิงในลักษณะดังกล่าว มีความหมายต่อการมองสถานการณ์ความรุนแรงที่เปลี่ยนไปอย่างไร?
ประการแรก เมื่อเส้นแบ่ง (หากมีอยู่จริง) ซึ่งครั้งหนึ่งเคยกันผู้หญิงให้อยู่นอกสนามรบที่ถูกนิยามโดยความเป็นชาย (masculinity) กำลังพร่าเลือน ย่อมหมายความว่าในสายตาของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง “ทุกคน” มีความเป็นไปได้ที่จะเป็น “โจร/ผู้ก่อการ” รวมทั้งทุกกิจกรรมมีแนวโน้มจะเกี่ยวข้องกับการสนับสนุน “ผู้ก่อการ” ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นผู้สนับสนุนคือพวกเดียวกับผู้ก่อการ ในแง่นี้กิจวัตรประจำวันของผู้หญิง เช่นการหุงหาอาหาร หรือการให้ที่พักอาศัยแก่ญาติหรือคนในครอบครัวที่เป็นผู้ชาย อาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของ “ภัยคุกคามความมั่นคง” แห่งรัฐได้ และดังนั้นเมื่อความรุนแรงทวีขึ้น ผู้หญิงจึงกลายเป็นผู้ต้องสงสัยและถูกจับกุมเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ
ประการที่สอง เมื่อสถานการณ์ความรุนแรงกลางเมืองในหลายประเทศดำเนินถึงจุดหนึ่ง ผู้หญิงซึ่งธำรงสัญลักษณ์ “ความบริสุทธิ์” เป็นเกรียติยศ และเป็น “แม่” ของชุมชนมักถูกทำร้ายและเข่นฆ่าในรูปแบบต่างๆ เพื่อประหัตประหารศัตรูหรือฝ่ายตรงข้าม (ซึ่งผู้ชาย) ในทางสัญลักษณ์ โดยเฉพาะการข่มขืนซึ่งในหลายกรณีเป็นการปฏิบัติอย่างเป็นระบบ และอาจกระทำโดยฝั่งรัฐ อาทิเช่น ความขัดแย้งรุนแรงระหว่างรัฐบาลทหารพม่าและชนกลุ่มน้อย การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา บอสเนีย และนานกิง เป็นต้น แม้เหตุการณ์ในสามจังหวัดภาคใต้อาจยังไม่ปะทุถึงระดับดังกล่าว(?) หากแต่การเกี่ยวข้องกับความรุนแรงของผู้หญิงในฐานะผู้กระทำการ ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีเค้ามูลความจริงหรือเป็นความหวาดระแวงของรัฐก็ตาม แต่จากข้อวินิจฉัยประการแรก อาจกลายเป็นเหตุอันชอบธรรมและเพิ่มจำนวนผู้สมัครพรักพร้อมใช้ความรุนแรงต่อต้านรัฐ (และตัวแทนของรัฐ ซึ่งอาจรวมถึงพลเมืองแห่งรัฐด้วย) เพื่อพิทักษ์ศักดิ์ศรีของชุมชนไว้ ซ้ำร้ายไปกว่านั้นสถานการณ์ที่บานปลายเช่นนี้อาจทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างไทยพุทธ และมุสลิมในพื้นที่ย่ำแย่กว่าเดิมได้
สิ่งเลวร้ายยิ่งกว่าสถานการณ์ในสามจังหวัดภาคใต้ที่เกิดขึ้นไม่ว่างเว้น คือการยอมจำนนต่อภาพความรุนแรงซึ่งบีบคั้นให้เห็นแต่ “ความชั่ว” ของ “พวกมัน” อีกทั้งยังปิดบังดวงตาให้มืดบอดจากความหวังในการแก้ไขปัญหาโดยใช้สันติวิธีเป็นทางเลือกหลัก... จริงอยู่แม้สภาพการณ์ของผู้หญิงข้างต้นอาจแสดงถึงความหวังอันริบหรี่ในการไขว่คว้าหาสันติภาพ แต่ต้องไม่ลืมว่าภาพทั้งหมดนี้ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวและมิได้วิ่งสู่ทิศทางเดียวกัน เนื่องจากในขณะนี้ผู้หญิง (ในแง่นี้รวมถึง “ความเป็นหญิง” หรือ femininity ที่มิได้หมายความเฉพาะเพศทางกายเท่านั้น) มีส่วนสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนสันติวิธี และเป็นหน่ออ่อนแห่งสันติภาพในพื้นที่
สิ่งที่ประจักษ์แก่สายตาของผู้คนในสังคมคือ คุณภาพแห่งการให้อภัยของแม่ซึ่งมีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่องานสมานฉันท์ โดยเฉพาะจากคำกล่าวของนางคำมี ปงกันมูล มารดาครูจูหลิง ซึ่งแม้จะอยู่ท่ามกลางความโศกสลด และกระพือลมแห่งความคั่งแค้นของผู้คนในสังคม แต่ก็ยังยืนยันว่า “ไม่อยากให้คนเหล่านี้ไปทำร้ายใครอีก และเข้าใจว่าเป็นกลุ่มเล็กๆเท่านั้น เพราะคนใต้ส่วนใหญ่น่ารัก” รวมถึงแม่ของผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบจำนวนมากได้ถือว่าความตายของลูกชายเป็นสิ่งที่พระเจ้ากำหนดไว้ และไม่โกรธแค้นเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้นกลุ่มผู้หญิงมุสลิมที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักจากเหตุการณ์ 28 เมษา ซึ่งได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับภรรยาเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเป็นคนไทยพุทธในพื้นที่ ได้เอ่ยถ้อยคำกินใจว่า “รู้สึกเห็นอกเห็นใจ เขาก็รู้สึกเหมือนที่เรารู้สึก จะไปโทษเขาก็ไม่ได้ เพราะเรื่องราวที่เกิดขึ้น เขาก็ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร หรือใครเป็นคนทำ ...เราก็รู้สึกสงสารไม่รู้จะไปโทษใคร อยากฝากถึงเจ้าหน้าที่ทุกคนให้ช่วยดูแลกันและกัน”
ในแง่ปฏิบัติการสันติวิธี ภาคประชาสังคมในพื้นที่ได้สร้างเครือข่าย “สตรีกับสันติวิธี” โดยมุ่งให้ผู้หญิงเป็นพลังขับเคลื่อนหลักในการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสันติวิธีที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่นและศาสนา รวมถึงโครงการที่กำลังดำเนินการในเบื้องต้นได้แก่ สันติวิธีชุมชน นอกจากนี้ยังมีดำริริเริ่มจากชาวบ้านในตันหยงลิมอเรื่องการเยียวยาจิตใจคนในชุมชน หรือกลุ่มผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบได้เสนอให้มีโครงการฝึกอบรมสันติวิธีแก่เยาวชนในพื้นที่ และทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในความพยายามของผู้หญิงและ “ความเป็นหญิง” เพื่อสร้างความสมานฉันท์ให้กลับคืนสู่สามจังหวัดภาคใต้อีกครั้ง

จันจิรา สมบัติพูนศิริ
ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ มูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาธิปไตยและการพัฒนา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น