วันอังคารที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เซอร์เบียไม่ใช่ไซบีเรีย: เริ่มต้น ณ จุดเริ่มต้น

"เกือบตกรถไฟ”

นักศึกษาปริญญาเอกอายุสิบยี่ค่อนปลายจากประเทศโลกที่สาม และร่ำเรียนในดินแดนขั้วโลกใต้ ออกเดินทางไปยุโรปครั้งแรกเพื่อสำรวจพื้นที่เพื่อกรุยทางให้กับการเก็บข้อมูลเขียนวิทยานิพนธ์ ประเทศที่เธอตัดสินใจไปเยี่ยมชมศิวิไลซ์ และต้นกำเนิดของประชาธิปไตยขาดวิ่นในประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของเธอ มิใช่กรีก อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมันนี หรือมหาอำนาจบิ๊กบังอื่นๆ แต่คือ โรมาเนียและเซอร์เบีย ที่เป็นโรมาเนีย เพราะนักศึกษาต้องไปเสนองานเขียนส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ในงานประชุมนานาชาติเกี่ยวกับ “การเมืองของอารมณ์ขัน” ที่เมืองกาลาต (Galaţi) นอกเหนือจากเหตุผลทางวิชาการ เธอต้องการเห็นบ้านเกิดเมืองนอนของแดร็กคิวล่า ผู้ให้กำเนิดน้ำตกซกเล็ก อาหารประจำถิ่นอีสานบ้านเฮา ส่วนที่เป็นเซอร์เบียเพราะเธอศึกษากลุ่มประท้วงที่ใช้ “ตลกเสียดสี” ในฐานะปฏิบัติการไร้ความรุนแรง (nonviolent action) และประสบความสำเร็จในการโค่นล้มรัฐบาลสโลโบดาน มิโลเชวิทช ถามว่าเหตุใดถึงเป็นกลุ่มนี้ นักศึกษาปริญญาเอกที่ได้คุณภาพคับกล่องควรตอบว่าเป็นเพราะงานศึกษาก่อนหน้านี้ชี้ว่ากลุ่มประท้วงในเซอร์เบียดังกล่าวเป็นกรณีศึกษาโดดเด่น ขณะที่คำตอบของนักศึกษาซึ่งคิดถึงการเขียนวิทยานิพนธ์เสมือนการผจญภัยในโลกกว้างควรเป็น เพราะอยากรู้ว่าประชาชนไทยในประชาคมอาเซียนอย่างเราจะผ่าเหล่าผ่ากอทำวิจัยในดินแดนมหัศจรรย์ซึ่งตั้งอยู่สุดขอบฟ้าได้รอดหรือไม่... เหตุผลง่ายๆ มันส์ๆ ก็แค่นั้น

หนังสือประวัติศศาสตร์ประเทศโรมาเนียเล่มหนึ่งอ้างว่าประชากรในประเทศนี้เป็นลูกหลานสืบสกุลมาจากอาณาจักรโรมัน (Romania มาจากภาษาลาตินว่า romanus ซึ่งแปลว่า “ประชากรของกรุงโรม”) ยังไม่ทันอ่านต่อว่าปัจจุบันประเทศโรมาเนียมีสภาพเป็นเช่นไร ความศิวิไลซ์จากเมื่อพันปีที่แล้วยังเหลือเศษซากให้โลกจดจำอีกหรือไม่ เราก็ด่วนสรุปไปทันทีว่ากำลังจะได้ไปประเทศพัฒนาแบบยุโรปฝั่งตะวันตก บ้านเมืองต้องสะอาดหมดจด เป็นระเบียบเรียบเชียบ รถไฟตรงเวลา และที่สำคัญไม่มีคนขับแท็กซี่หัวหมอ


วินาทีที่ประตูสนามบินออตโตเปนี (Otopeni) แห่งเมืองหลวงบูคาเรสของโรมาเนียเปิดออก พี่โชเฟอร์แทกซี่ก็วิ่งปรี่เข้าหาเหยื่อนักท่องเที่ยวผู้กำลังมึนเครื่องบินอย่างขมีขมัน เราคิดในใจดังๆ “เอาหล่ะ โรมาเนียกับกรุงเทพฯ อาจไม่ต่างกันมากอย่างที่ตั้งข้อสมมุติฐานไว้” และแล้วข้อสมมุติฐานก็ได้รับการพิสูจน์เชิงประจักษ์ พี่แท็กซี่ที่รับเราไปส่งที่โฮสเตลวิ่งอ้อมเมืองสักแปดรอบ หลังจากทำไก๋ไม่เข้าใจภาษาปะกิตที่เราใส่เป็นชุดเพื่อทักท้วงแกมต่อว่าว่าทำไมไม่ถึงที่พักสักที พี่แท็กซี่มาจอดหน้าโฮสเตลหน้าตาเฉย แล้วเอานิ้วชี้ป้ายไปที่มิตเตอร์ซึ่งตอนแรกถูกบังด้วยเกียร์รถ ค่าแท็กซี่ปาไป 30 ยูโร อยากจะร้องให้แข่งกับพระแม่ธรณีกรรแสง ปริญญาเอกไม่ได้ช่วยให้มนุษย์อย่างข้าพเจ้าหลักแหลมขึ้นนัก

วันที่ไปถึงบูคาเรสเป็นวัน “หดหู่” แห่งชาติโรมาเนีย เพราะฝนตกไม่ยอมหยุด อากาศก็หนาวถึงขั้วตับ ลมแรงพัดตาตุ่มแทบยุบเรียบ ซวยแล้ว... ที่วางแผนว่าจะไปเที่ยวชมเมือง โดยเฉพาะจุดที่ผู้นำเผด็จการนิโคเล เชาเชสคุ (Nicolae Ceauşescu) ถูกประชาชนวิสามัญเมื่อตอนล้มล้างระบบคอมมิวนิสต์เมื่อปีค.ศ. 1989 ก็เป็นอันต้องล้มพับไป วันที่สอง วันที่สามก็แล้ว พายุฝนก็ไม่มีทีท่าจะหยุด เราพยายามเดินดูเมืองเรื่อยเปื่อย หลอกตัวเองว่ากำลังอยู่ในฤดูใบไม้ผลิ ทว่าการสร้างมายาคติให้กับตัวเองล้มเหลวน่าดู ฝนโพรยพรำตลอดวันพร้อมอากาศยะเยือกปอดคอยย้ำเตือนว่าเรากำลังติดอยู่ในช่วงวันหดหู่แห่งชาติโรมาเนีย วันที่สี่ในโรมาเนียเราต้องออกเดินทางไปเมืองกาลาต ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานประชุม อยู่ทางตะวันออกของบูคาเรส และมีแม่น้ำดานูบไหลผ่านเพื่อออกไปยังทะเลดำ (Black Sea) ต้องจากบูคาเรสไปทั้งที่ยังไม่ได้ชมเมือง น่าเศร้าใจไม่น้อย เราได้แต่ไปนั่งกร่อยที่สถานีรถไฟเมืองหลวง ซึ่งเอาเข้าจริงหัวลำโพงที่สร้างตั้งแต่รัชกาลที่ห้าบ้านเรายังดูน่าอภิรมย์กว่า 

เคราะห์ดีที่สภาพในรถไฟของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอย่างโรมาเนีย ต่างจากรถไฟในเมืองไทยมากหลายกระบุง เราเดินแบกระเป๋าพะรุงพะรังเข้าไปหาที่นั่ง ผู้โดยสารทุกคนมองตรงมาที่เราเหมือนเป็นมนุษย์ต่างด้าวมาจากดาวตาตี่ดั้งแบน บ้างมองพลางเคี้ยวข้าวเหนียว เอ้ย...ขนมปังยัดเบคอนไปพลาง เรานั่งข้างแม่ลูกอ่อน เด็กน้อยมองเราตาแป๋ว (คงสงสัยว่ายัยนี่ตัวอะไร) ส่วนแม่นั่งตัวเกร็ง คงบ่นในใจว่าทำถึงได้ตั๋วนั่งข้างชาวเอเชียหน้าแปลก

จากบูคาเรสมาถึงเมืองกาลาต ใช้เวลาประมาณสี่ชั่วโมงกว่า อากาศหนาวน้อยลงขณะที่ลมชื้นและกลิ่นทะเลลอยมาสะกิดไหล่เรา  นักศึกษาอาสาสมัครจากมหาวิทยาลัยดูนาเรีย เดอ โยส (Universitatae Dunarea de jos Galati) ซึ่งเป็นเจ้าภาพในการจัดงานมารอรับเราที่สถานีรถไฟ เมื่อเห็นเรา สาวน้อยดีใจมาก เธอสารภาพว่า “ฉันตื่นเต้นมากเลย คุณเป็นคนจีนคนแรกที่ฉันเคยเจอ” เรายิ้มละไมด้วยไมตรีจิต ตอบกลับไป “ฉันอาจทำให้เธอผิดหวังนะ ฉันมาจากประเทศไทย” นักศึกษากุลีกุจอถามต่อ “อ้าวคนจีนไม่ได้อยู่ในประเทศไทยเหรอ” เรายิ้มแบบมีน้ำอดน้ำทน ตอบกลับอีกทีว่า “ปล่าวจ๊ะ นั่นมันเรียกไทหวัน มิใช่ไทแลนด์” จากนั้นความเงียบเข้าแทรกบทสนทนาของเราพักใหญ่ก่อนที่น้องนักศึกษาจะรวบรวมความมั่นใจได้อีกครั้งและเริ่มเล่าประวัติเมือง รวมถึงชี้ชวนเราดูสถานที่ต่างๆ ระหว่างทางไปยังที่พัก

เมืองกาลาตเป็นเมืองเล็กๆ ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว ซ้ำร้ายยังมีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งเรียงรายนอกเขตเทศบาล นอกจากโบสถ์คริสเตียนออธอดอกซ์ และศาสนสถานสำคัญสองสามแห่ง เมืองเล็กๆ แห่งนี้ ไม่มีสถาปัตยกรรมประดับประดาเหมือนเมืองใหญ่อื่นๆ ในยุโรป ทว่าสถานที่เหล่านี้ยังคงสภาพดั้งเดิม (จากคำบอกเล่าของน้องนักศึกษา) เพราะรอดพ้นจากการทำลายล้างในช่วงประวัติศาตร์นองเลือดของยุโรปต่างกาลนับตั้งแต่สงครามศักดิ์สิทธิ์ช่วงกลางศตวรรษที่ 17 สงครามคาบสมุทรบอลข่าน สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามโลกครั้งที่สอง หรือกระทั่งระบอบคอมมิวนิสต์ของผู้นำชาวเชสคุก็มิอาจเปลี่ยนทำนองเพลงอันเนิบนาบที่บรรเลงขับเคลื่อนเมืองนี้ได้ สรุปว่าประวัติศาสตร์ของเมืองกาลาตนองเลือดน้อยกว่าเมืองใหญ่ๆ ของยุโรป แม้ไม่อาจทัดเทียมเรื่องความงามของสถาปัตยกรรมได้ 

กว่าเราจะค้นพบว่าความงามของเมืองนี้คือสายน้ำไหลเอื่อยคละเคล้ากับแดดรำไร และอากาศอุ่นกำลังดี ก็ปาเข้าไปวันสุดท้ายของงานประชุม ทีมงานพาผู้เข้าร่วมงานประชุม (ซึ่งเหลือหน่วยกล้าตายประมาณ 10 ชีวิต) ร่องเรือดูแม่น้ำดานูบ จิบไวน์ท้องถิ่นไปพลาง พูดกันตามตรง แต่ไม่พูดต่อหน้าคนจัดงานเพราะเกรงจะถูกชก งานประชุมเกือบล้มเหลวไม่เป็นท่าเพราะวัฒนธรรมการทำงานแบบ “ชิว เอาท์” ของชาวยุโรปในแถบอุษาคเนย์ ทว่าทริปล่องเรือนี้เป็นยาขจัดความหงุดหงิดอย่างดี นอกเหนือจากแม่น้ำดานูบ เย็นวันนั้นเราได้เห็นงานแต่งของคนท้องถิ่น แบบโรมันปนตริสเตียนออธอดอกซ์ ผู้ร่วมงาน บ่าวสาวและญาติเต้นล้อมเป็นวงกลม เตะเท้าซ้ายทีขวาที ดนตรีประกอบครึกครื้นคล้ายงานรื่นเริงในต่างจังหวัดแถวบ้านเรา อาหารไม่เยอะ แขกไม่ต้องแยะ แต่ดีกรีความรื่นเริงจากงานแต่งเล็กๆ ในห้องอาหารลึกลับ ก็ทำให้คู่สมรสได้รับคำอวยพรอันอบอุ่น... โอปป้า!

จากเมืองกาลาตทางตะวันออกของประเทศ เรานั่งรถไปข้ามภูมิภาคไปยังภาคเหนือตอนล่างแถบเทือกเขาคาร์ปาเทียน (Carpathian) แห่งเขตทรานซิลเวเนีย (Transylvania)เพื่อเริ่มปฏิบัติการตามรอยท่านเคาท์แดร็กคิวล่า แน่นอนว่าปฏิบัติการย่อมขาดรสชาดหากนักผจญภัยอย่างเราไม่ซุ่มซ่ามจนลงรถไฟผิดป้าย ต้องนอนค้างในเมืองลับแลหนึ่งคืนเพราะไม่มีรถไฟไปเมืองจุดหมายปลายทางบราชอพ (Braşov) ทว่าเมื่อดั้นด้นมาถึงเมืองท่านเคาท์ได้ในเช้าวันรุ่งขึ้น เราก็ไม่ผิดหวังเลย ศูนย์กลางเมือง (city centre) ของเมืองบราชอพ ยังคงความเก่าแก่และมนต์ขลังของเมืองยุคกลางได้แทบไม่มีที่ติ เราเดินรอบเมืองพูดคุยกับผู้คนแปลกหน้า พยายามเกลือกกลั้วตัวเองไปกับฝูงคนที่เดินจับจ่ายในเมืองช่วงบ่ายวันศุกร์ และแล้วเสียงเจื้อยแจ้ว ความหมายคุ้นหูก็ดังทะลุฝูงคนแปลกหน้ามากระแทกหลังเรา “เดี๋ยวเราไปซ็อปปิ้งที่ไหนต่อดีอ่ะตัวเอง”... เฮ้ย! อุตส่าห์หลบมาตั้งไกล ยังหนีไม่พ้นพี่ไทยขี้ช็อปเหรอ... ไม่ได้การ ต้องหนี 


รุ่งสางของวันใหม่ เราซื้อทัวร์ไปดูบ้านท่านเคาท์แดร็กคิวล่าที่เมืองบราน (Bran) ซึ่งดูยังไง๊ยังไงก็มีบรรยากาศคล้ายอยุธยา คือเป็นเมืองที่พยายาม “เก่า” เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่เสพสุขจากการท่องอดีตแบบประดิษฐ์อย่างเรา เมื่อปลอมมา เราก็ปลอมกลับตามน้ำไป การฝืนบรรยากาศแห่งความเสแสร้ง อาจทำให้เราเป็นโรคเครียด เกลียดโลก หน้าสูงวัยกว่าตัวเลขอายุจริง 
เชื่อกันว่าปราสาทบราน (Bran Castle) เป็นที่พำนักของท่านเคาท์แดร็กคิวล่า หรือท้าววลาด นักเสียบ (Vlad the Impaler – ที่จริงคำแปลภาษาไทยไม่ค่อยสะท้อนที่มาของชื่อท่านเค้าท์เท่าไหร่ ตำนาน “ผีดูดเลือด” ของเค้าท์วลาดมีที่มาจากวิธีการทรมานศัตรูด้วยการเสียบร่างกายของศัตรูด้วยเหล็กแหลม จนเลือดหมดตัวเสียชีวิต) จากเจ้าชายในประวัติศาสตร์ยุคกลางของโรมาเนีย ท่านเค้าท์กลายเป็นตัวละเอกในนิยายชื่อดังของแบรม สโตเกอร์ (Bram Stoker) เราคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เห็นที่พักของแดร็กคิวล่าเป็นบุญตาสักกครั้งในชีวิต เมื่อไปถึง กาลกลับกลายเป็นว่าปราสาทหลังนี้เป็นที่อาศัยของเจ้าหญิงเจ้าชาย ขุนเนื้อขุนนางทั้งจากมองโกล อาณาจักรออตโตมัน (ตุรกีปัจจุบัน) และฮังการี... ยกเว้นท่านเคาท์! โดนหลอกกันหล่ะคราวนี้ มิใช่เพียงข้าพเจ้าคนเดียวที่ถูกต้มจนเปื่อย ยังมีเพื่อนร่วมเส้นทางแห่งความเขลาอีกหลายสิบชีวิต นี่ยังไม่นับพวกที่ถูกหลอกมาก่อนหน้านี้ เราเดินทางกลับที่พักในเมืองบราชอพด้วยความชอกช้ำ แต่ไม่หมดหวัง กลับไปนั่งหาข้อมูลว่าบ้านที่เคาท์ (ของจริง) อยู่ไหนกันแน่ ปรากฏว่าอยู่อีกเมืองใกล้ๆ กัน ชื่อว่า “ซิงจิชัวร่า” (Singhişoara) วันรุ่งขึ้นเราจัดแจงนั่งรถตู้ไปเสาะหาบ้านท่านเคาท์ของจริง (แต่แอบระแวงเล็กน้อยว่าจะถูกหลอกอีก) เมื่อถึง เราพุ่งตรงไปสถานที่ซึ่งแผนที่ระบุว่าเคยเป็นบ้านของเค้าท์วลาดในวัยเยาว์
เรามองไปยังอาคารสีส้มอ่อน สองชั้น ตกแต่งด้วยสถาปัตยกรรมอันเรียบง่าย บนกำแพงหน้าบ้านมีป้ายชื่อซึ่งมิใคร่โดดเด่นเขียนว่า “บ้านเค้าท์วลาด” เรางง...ทำไมเป็นท่านถึงขุนข้ำขุนนาง แต่อยู่ในกระต็อบโบกปูน แถมชั้นแรกของอาคารถูกเปลี่ยนเป็น “คาเฟ่” (ในแถบคาบสมุทรบอลข่าน คาเฟ่เป็นทั้งร้านกาแฟและร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์) ส่วนชั้นสองจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เก็บของใช้ส่วนตัวของท่านเคาท์นับจำนวนชิ้นได้ เราเดินวนไปมาพักใหญ่ แล้วออกจากอาคารด้วยความงุนงงเล็กน้อย... เอ หรือว่าท่านเคาท์ยึดในหลักเศรษฐกิจพอเพียง ถึงได้อาศัยในสถานที่ขนาดย่อมเช่นนี้? หลายคำถามในโลกนี้มิมีคำตอบ นักเดินทางจึงเดินทางเพื่อค้นคว้าหาความงุนงงต่อไป



การเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางต่างๆ ในโรมาเนียยาวนานเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด อาจเพราะรถไฟแล่นเฉื่อยฉึกฉักไม่รวดเร็วทันใจเหมือนรถไฟด่วนเตเชเวในฝรั่งเศส หรืออาจเป็นเพราะเราคือนักเดินทางแปลกถิ่นย่ำท่องบนท้องถนนอันไม่คุ้นเคย เส้นทางสั้นๆ จึงดูเหมือนใช้เวลาเดินทางชั่วกัลป์กัล จากซิงจิชัวรามากลับมายังบราชอฟ ตามแผนตอนแรก เราต้องนั่งรถตู้กลับ เพราะมัวแต่เถลไถล เลยมาท่ารถตู้ไม่ทันรถคันสุดท้าย ทางเลือกสุดท้ายคือรถไฟท้องถิ่น ผู้โดยสารซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านสามัญ (ตั้งแต่ชาวสวน พ่อค้า ไปยังคนเลี้ยงแกะ) แม้พยายามเพลิดเพลินกับการสังเกตวัฒนธรรมท้องถิ่นในหมู่ผู้โดยสารเพียงใด แต่สายตาทุกคู่ซึ่งจ้องตรงมาที่เราก็ทำให้อึดอัดไม่น้อย ฉะนั้นเวลาชั่วโมงกว่าในรถไฟจึงผ่านไปช้าเหลือเกิน

วันต่อมาเรานั่งรถไฟจากบราชอฟกลับมายังฝั่งตะวันออกเพื่อผ่านไปยังเมืองชายฝั่งทะเลดำ (Black Sea) ที่ชื่อว่าคอนสตันซา  (Constança) ทว่าบรรยากาศในรถไฟน่ารื่นรมย์กว่ามาก ผู้ร่วมเดินทางในโบกี้เดียวกัน สงสัยใครรู้ว่าเรามาจากไหน มาทำอะไร แล้วจะไปไหนต่อ เลยส่งตัวแทนเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งส่งภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว ให้มาสืบประวัติจากนักท่องเที่ยวเอเชียตาตี่ผิวเหลือง ทำไปทำมา คนทั้งโบกี้ก็รู้ชีวประวัติเราอย่างถ่องแท้ เพราะแม่สาวเธอแปลทุกคำพูดและทุกเรื่องที่เล่าออกจากปากเรา (สังเกตจากเวลายาวนานที่เธอใช้ในการแปลภาษาอังกฤษกลับเป็นภาษาท้องถิ่น) กลายเป็นว่าพื้นที่ส่วนตัวซึ่งคนจากเมืองหลวงอย่างเราหวงนักหนา ได้ถูกทะลุทะลวงด้วยความใคร่รู้ของผู้คนซึ่งมิอาจสื่อสารกับเราด้วยภาษาอื่นนอกเหนือจากภาษาโรมาเนียได้ แม้มีบทสนทนาช่วยฆ่าเวลา แต่การนั่งรถไฟเจ็ดถึงแปดชั่วโมง ก็ยาวนานจนเกือบทนไม่ได้ แต่เมื่อถึงเมืองคอนซตานซา อันเป็นจุดหมาย ความเหนื่อยหน่ายจากความเอื่อยเฉื่อยของรถไฟก็เกือบมลาย เราวิ่งปรี่ไปยัง “ทะเลดำ” แต่แล้วก็ต้องชะงักงัน เมื่อพบว่าทะเลดำ ไม่มีสีดำอย่างที่จินตนาการไว้! ชื่อ “ทะเลดำ” เกี่ยวข้องกับตำนานปรัมปราของอาณาจักรโรมันมากกว่าสีของน้ำ บ้างร่ำลือว่าคำว่า “ดำ” มีนัยถึงอากาศแปรปรวนในท้องทะเลที่ทำให้เดินเรือยาก หรือมีที่มาจากชนเผ่าป่าเถื่อนตามชายฝั่ง... ทะเลดำที่ไม่มีสีดำจึงทำให้เราผิดหวังรอบสอง (ถัดจากเรื่องปราสาทท่านเค้าท์)

ในที่สุดเราก็ได้กลับมาที่บูคาเรสก่อนออกเดินทางไปเซอร์เบีย วันนั้นอากาศปลอดโปร่ง เลยได้เดินเที่ยวทั่วเมือง และที่สำคัญมาก คือได้เยี่ยมชมที่ทำการรัฐสภา และที่พำนักของประธานาธิบดีชาวเชสคุ รวมถึงระเบียงคฤหาสซึ่งเป็นจุดที่อดีตประธานาธิบดีถูกมวลสั่งวิสามัญ มีเรื่องเล่ากันว่าครั้งหนึ่งป้าไมเคิล แจ็คสัน ผู้ล่วงลับของเรามาทัวร์คอนเสริ์ตที่โรมาเนีย เธอมายืน ณ ระเบียง แห่งนี้ แล้วโพล่งออกไปด้วยความมั่นใจว่า “สวัสดีชาวเมืองบูดาเปส”... พี่คะ นั่นมันชื่อเมืองหลวงของประเทศฮังการี 
จากตัวเมืองบูคาเรสมายังสถานีรถไฟเพื่อเดินทางต่อไปยังนครหลวงเบลเกรด “เราเกือบตกรถไฟ” เพราะคนขับรถเมล์ดันไม่บอกว่าเรานั่งรถเลยป้าย ถามไป พี่แกก็ฟังภาษาอังกฤษไม่กระดิก จนเราต้องลงรถและหารถแท็กซี่ย้อนกลับมาที่สถานีรถไฟ แต่ในที่สุดพระเจ้าก็เห็นความมุ่งมั่นและความ “ถึก” ของนักศึกษาจากโลกที่สามอย่างเรา บันดาลให้มาถึงสถานีรถไฟทันเวลาพอดี ลองจินตนาการว่า หากเราตกรถไฟที่บูคาเรสครั้งนั้น คงไม่มีเรื่องราวมันส์ๆ ที่จะเล่าให้ฟังให้ในตอนต่อๆ ไป แล้วพบกันในเบลเกรด