วันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เซอร์เบียไม่ใช่ไซบีเรีย (5): เสื้อผ้า หน้า ผม...และกระเป๋าเหน็บเอว


กิจกรรมที่คุณควรทำเมื่อเยือนเซอร์เบีย คือ “มองมนุษย์” หากพลาดกิจกรรมนี้ถือว่ามิได้มาเหยียบปฐพีที่เป็นหัวใจของคาบสมุทรบาลข่าน สถานที่เหมาะในการทำกิจกรรมนี้คือถนนคนเดินคเนซ มิไคโลวา อันเป็นหน้าตาของนครเบลเกรด ตอนบ่ายแดดร่มลมตกของฤดูใบไม้ร่วง ถนนแห่งนี้คับคั่งไปด้วยชายหนุ่มหญิงสาว บ้างออกมาเดินชอปทางสายตา (ประมาณว่าเหมือนเวลาเราไปพารากอน แล้วซื้ออะไรจากห้างให้เป็นเนื้อเป็นหนังไม่ได้ นอกจากไส้อั่วหนึ่งไม้ราคาร้อยกว่าบาท) บ้างออกมาจิบกาแฟ บางคนมาเป็นคู่ เดินเกี่ยวแขนอี๋อ๋อให้พวกคนโสดสะเทือนใจ เราใช้เวลาส่วนใหญ่ช่วงที่ไม่ต้องวิ่งหูลู่ตามสัมภาษณ์ผู้คนเพื่อเขียนวิทยานิพนธ์ นั่งดูประชาชนชาวเซริ์บและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เดินทอดน่องที่ถนนแห่งนี้

สังเกตสังเกาสังคังได้พักใหญ่ เราถึงสังเคราะห์ “ช่องว่างระหว่างความงาม” ระหว่างชายและหญิงชาวเซอร์เบียได้ สาวเซอร์เบียนเป็นอาหารชนิดที่ว่ามองไปมา ไม่ต้องกินข้าวก็อิ่มได้ โดยเฉลี่ย บรรดาสาวๆ สูงประมาณ 170 ซ.ม. (นี่เป็นสถิติที่ครูสอนภาษาเซอร์เบียนคำนวนมาให้ เธอปรารภว่า “ชั้นเตี้ยไปสำหรับมาตรฐานสาวในเซอร์เบีย เพราะมีส่วนสูงแค่ 170”) โดยมากขายาว มีหน้าอกหน้าใจ ต่างจากสาวเอเชียที่มีน้อยใช้น้อยค่อยประหยัด เอวคอด สะโพกผาย... คิดว่าถ้าบรรยายเลยเถิดไปกว่า เราอาจได้ผันอาชีพจากนักวิจัยไปเขียนคอลัมน์วาบหวิวในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ก็เป็นได้... นอกจากทรวดทรงที่น่ามองจนหญิงรักชายอย่างเรา (คืออยากเน้นว่าที่เขียนทำนองนี้ไม่ได้เป็นหญิงรักหญิงแต่อย่างใด) ยังนั่งน้ำลายสอ สาวแถวนี้รักการแต่งตัวให้หมดจดเมื่อออกจากบ้านเป็นชีวิตจิตใจ ในฐานะผู้หญิงคนหนึ่ง เราพอเข้าใจว่าเวลาออกจากบ้าน การแต่งตัวให้หมามองแล้วไม่เมิน หรือไม่อ้วกเลอะถนน เป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวด แต่ผู้สาวในเบลเกรดเธอก้าวไปอีกขั้น เราเคยนัดเจ๊เจ้าของบ้านเช่ามองเม้ากินกาแฟกันที่หน้าปากซอย ห่างจากอพาร์ทเมนต์เราและเค้าไม่ถึง 500 เมตร อีชั้นเห็นว่าใกล้ เลยใส่กางเกงนอนตัวเก่า เสื้อแจ็คเก็ตสีหม่น รองเท้าวิ่งส้นสึก หน้าก็ขี้เกียจแต่ง ส่องกระจกแล้วดูคล้ายอาอึ้มจากซัวเถาขาวเผือดเหมือนขาดวิตามินดี สภาพซอมซ่อของเราดูขัดแย้งกับเจ๊เจ้าของบ้านเช่ามาก แค่ออกมากินกาแฟหน้าปากซอย เจ๊แก “จัดเต็ม” อากาศขณะนั้นประมาณ 15 องศา แบบปลายฤดูใบไม้ผลิต้นฤดูหนาว แต่เจ๊ลากเสื้อขนมิ้งลายเสือตัวหนาเหมือนเธอจะไปมอสโคว์ช่วงเกิดพายุหิมะ แม้ข้างบนเตรียมรับฤดูหนาวอันหฤโหด แต่ท่อนล่างเธอเป็นกระโปรงสั้น สีดำ ตอกย้ำความแนวด้วยถุงน่องตาข่ายเป็นรูๆ ดูแล้วยังไงก็ไม่กันกระทั่งลมมรสุมแถวบ้านเรา รองเท้านี่เด็ดสุด คือเป็นส้นเข็มชนิดที่เดินผ่านพื้นซีเมนต์ พื้นเป็นรู หน้าและผมของเจ๊เค้าก็ไม่ซีดเผือดหรือรกเป็นรังนกอย่างเรา เธอวาดคิ้วโกร่งดั่งสะพานข้ามแม่น้ำสะแกกรัง กรีดอายไลน์เนอร์ ปัดมัสคารา ระบายหนังตาด้วยอายเชโดว์ โปะด้วยกากเพชรเล็กน้อยพอให้สะท้อนแดดแล้วคู่สนทนาแสบตายิบยับ ทั้งยังทารองพื้นกลบรอบตีนกา และจัดการทาริมฝีปากด้วยลิปสีแดงข้นปนเลื่อมมัน เรานั่งกินกาแฟไป ปากขยับเม้าเรื่องเรื่อยเปื่อย แต่ในใจพลางคิดว่า “เป็นบาปกรรมของตรูรึเปล่าที่ชวนเจ๊เค้ามากินกาแฟ ทำให้เค้าต้องเสียเวลาแต่งตัวเหมือนมาออกงานกาล่าที่สภากาชาด แล้วนี่ถ้าตรูชวนเจ๊เค้าไปกินข้าวร้านข้างถนน เจ๊เค้าต้องจ้างช่างแต่งหน้า และตัดชุดราตรีใหม่เลยไหมหนอ...”

ไม่ได้การ เราเป็นนักวิจัยต่างถิ่น ไม่ควรล่วงเกินคนท้องถิ่นด้วยการละเลยต่อวัฒนธรรมเสื้อผ้าหน้าผม ว่าแล้วจึงดั้นด้นไปถามเพื่อนสาวชาวเซอร์เบีย (คือที่จริงไม่ได้ดั้นด้นอะไร พอดีเค้ามาจากอีกเมืองเพื่อเยี่ยมเราที่เบลเกรดพอดี) เมื่อเล่าสถานการณ์ไป เพื่อนมองหน้าด้วยสายตาสงสัย คล้ายไม่เข้าใจว่าการแต่งตัวแบบ “จัดเต็ม” อย่างเจ๊เจ้าของบ้านเป็นเรื่องผิดแผกอะไร ผ่านไปสามวินาที เพื่อนจึงเข้าใจว่าสำหรับชาวต่างด้าวอย่างเรา อาการจัดเต็มเช่นนั้นคงไม่ใช่เรื่องปกติเท่าไหร่ เธอจึงเฉลยว่า “ผู้หญิงแถวนี้เวลาออกจากบ้าน ทุกคนต้องแต่งตัวให้หมดจด ถือเป็นมารยาททางสังคมเลยทีเดียว เวลาที่คนซี่งเรานัดพบ แต่งตัวเช่นนี้ ถือเป็นการให้เกรียติ” เราเลยถามต่อไปว่า แล้วอย่างนี้เวลานัดเจอกันมีใครกล้าลากรองเท้าแตะ (คล้ายๆ พี่ไทย) ไปมั๊ย เพื่อนสวนกลับทันที “โอ.. นั่นถือว่าหยาบคายมาก การเผยเท้าของเธอให้คนที่ไม่สนิทเห็น ถือว่าไม่ใช่เรื่องสุภาพนัก” ได้ฟังอย่างนี้ เราจึงถึงบางอ้อว้า อันที่จริงวัฒนธรรมเรื่อง “อารยะ” (civility) ในแต่ละท้องที่มีตัวกำหนดแตกต่างกันออกไป ในเซอร์เบียการแต่งตัวแบบจัดเต็ม คือการแสดงออกถึง “อารยะปฏิบัติ” (civil practice) เพราะผู้แต่งกายกำลังสื่อสารกับอีกฝ่ายว่าตนให้เกรียติ ทั้งเห็นว่าอีกฝ่ายสมควรได้รับเกรียตินั้น หากอีกฝ่ายแต่งกายจัดเต็มไม่ต่างกัน บทสนทนาระหว่างสองฝ่ายจึงเริ่มต้นบนฐานการให้และการรับเกรียติลักษณะต่างตอบแทนกัน การสานสายสัมพันธ์ต่อจึงเป็นเรื่องง่ายขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าการแต่งกายแบบหมดจดในวัฒนธรรมเซอร์เบียคือ “รหัส” แห่งมิตรภาพ แต่ข้อสังเกตถัดไปของเราคืออาการ “จัดเต็ม” นี้เกิดขึ้นเฉพาะในหมู่อิสตรีเท่านั้น...การแต่งตัวของผู้ชายเซอร์เบียสะท้อนช่องว่างทาง “แฟชั่น” ระหว่างเพศอันไพศาล

เริ่มจากผม ผู้ชายเซอร์นิยมไว้ผมทรงลานบิน คือแถด้านข้างให้หัวเลี่ยนเตียน ส่วนที่พอจะมีเกศาประปรายอยู่บ้างคือด้านบนของศีรษะ เอาไว้จอดเฮลิคอปเตอร์ จึงเป็นที่มาของผมทรงลานบิน ผมทรงนี้นิยมมากในหมู่ทหาร บ้านเราคงเห็นได้จากนักเรียนชายร.ด. แต่ที่เซอร์เบียประชากรชายไว้ผมทรงนี้กันแทบทุกคน (ไม่เวอร์นะ อันนี้ทำการวิจัยสุ่มตัวอย่างเป็นเรื่องเป็นราว วันหนึ่งเคยไปนั่งที่ร้านกาแฟในเมืองประมาณห้าชั่วโมง มีบุรษเดินผ่านไปมาเรือนร้อย ประมาณแปดสิบเปอร์เซนต์ไว้ผมทรงลานบิน) ราวกับว่ามันเป็นบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งรัฐ อย่าไปหวังว่าจะได้เห็นผู้ชายไว้ผมยาว แสกข้างตรงหว่างหูให้ผมมันเป๋ไปข้าง จนร่างกายเสียสมดุล ต้องเดินตัวเอียง เหมือนจัสติน บีเบอร์ หรือเด็กแว้นบ้านเรา ชายชาวเซริ์บจงรักภักดีกับผมทรงลานบินเท่านั้น เราคิดหาเหตุผลสะระตะว่าเหตุใดปมทรงนี้จึงเป็นที่นิยม จะเป็นทรงที่เหมาะกับสภาพอากาศแถวนั้นรึก็ไม่น่าใช่ เพราะมันหนาวถึงรูขุมขนหัวใจเมื่อเหมันต์มาเยือน ยิ่งตัดผมสั้น ก็ยิ่งเพิ่มความหนาว เพราะฉะนั้นเหตุผลทางภูมิศาสตร์และสภาพอากาศจึงตกไป จะว่าเป็นเหตุเรื่องความงาม ก็ไม่แน่ใจว่าจะใช่ เพราะคนที่ตัดผมทรงลานบินได้ ต้องมีกะโหลกที่สวยเรียว จะมาเหลี่ยมๆกลมๆ เหมือนชายเกาหลี ก็จะสร้างมลพิษทางสายตาแต่ผู้พบเห็น จะว่าเป็นเรื่องความงามหรือแฟชั่นก็ไม่น่าใช่ เพราะใจความของแฟชั่นคือ “ความชั่วคราว” แต่ดูเหมือนผมทรงลานบินจะเป็นที่นิยมมายาวนาน ย้อนกลับไปดูหนังสือพิมพ์เมื่อสิบปีที่แล้ว ผมทรงนี้ก็ปรากฏราวกับว่าเป็นที่นิยมมาตั้งแต่ชาวเซริ์บตั้งรกรากในคาบสมุทรบอลข่าน เมื่อผมทรงลานบินค่อนข้างเป็นที่แพร่หลาย จนอาจปักหลักกลายเป็นทรงผมชายประจำชาติอย่างถาวร เหตุผลด้านแฟชั่นจึงตกไป

 มาถึงเสื้อผ้า รสนิยมใมนการแต่งตัวของผู้ชายเซอร์เบียยิ่งทำให้ช่องว่างทางความงามระหว่างเพศชายและหญิงในประเทศห่างกันออกไปโข ถ้าสาวชาวเซริ์บ “จัดเต็ม” แม้กระทั่งตอนเดินออกไปซื้อบุหรี่ปากซอยบ้าน กริยาดังกล่าวอาจไม่ปรากฏในพจนานุกรมแฟชั่นของบุรุษชาวเซริ์บเลย โดยมากผู้ชายเซอร์เบียใส่เสื้อผ้าอยู่สองประเภท (ในฤดูหนาว) หนึ่งคือชุดกีฬาสีและทรงเข้ากัน ถ้าเสื้อแจ็คเก๊ตเป็นสีเทามีลายทางสีดำที่ไหล่ กางเกงย่อมต้องมีสีเทามีลายทางที่ข้างขาเช่นกัน (การใส่ชุดกีฬาเข้าสีทรงเช่นนี้ปรากฏในหมู่อิสตรีเช่นกัน ซ้ำยังมีลักษณะทางแฟชั่นที่เป็นมลพิษกว่า ถ้าพบกลุ่มสาวชาวเซริ์บใส่ชุดกีฬาเข้าสีทรงเมื่อไหร่ พวกเธอมักใส่สีชมพูแปร๋น ส้ม แดง หรือม่วงสะท้อนแสง ผ้าที่ใช้ตัดชุดกีฬาเหล่านี้เป็นผ้ากำมะหยี่ เข้าใจว่าผู้คิดค้นมีจุดประสงค์ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน เมื่อเธอเหล่านั้นเดินข้ามทางม้าลายยามค่ำคืน) ประเภทที่สองคือเสื้อแจ็คเก็ตหนังตัวใหญ่มาก ย้ำว่าใหญ่มากจริงๆ เหมือนไปเอาหนังควายทั้งตัวมาตัด โดยมากเป็นเสื้อสีดำ เมื่อนำใบหน้าไร้รอยยิ้มของชายในเบลเกรด บวกกับผมทรงลานบิน บวกกับเสื้อหนังตัวใหญ่มาก เราจะได้ “จิ๋กโก๋ทวงหนี้” แบบไร้ที่ติ เพียงเดินไปยืนจังก้าหน้าลูกหนี้ เจ้าหนี้อาจได้หนี้คืนมาง่ายดาย โดยไม่ต้องสาธยายคำขู่กรรโชกให้เมื่อยกราม เรามั่นใจว่าผู้ชายเซอร์เบียแต่งตัวประมาณนี้ถึงร้อยละ 70 ของประชากรชายทั้งประเทศ การหลุดฟอร์มการแต่งกายเช่นนี้เกิดเป็นหย่อมๆ ในหมู่วัยรุ่นเท่านั้น ที่หลงไหลแฟชั่นการแต่งกายตามสมัยเพียงชั่วครู่ที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เมื่ออายุมากขึ้นชายส่วนใหญ่กลับไปตายรังที่ “ยูนิฟอร์ม” แบบเซริ์บๆ คือเสื้อชุดกีฬาและแจ็คเก็ตหนังขนาดใหญ่แบบที่ใช้กันฝนสาดอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิได้

 สุดท้ายคือกระเป๋า อันนี้เป็นทีเด็ด ตอนแรกเราไม่เคยสังเกตแฟชั่นกระเป๋าของผู้ชายแถวนี้ จนกระทั่งวันหนึ่งเราเรียนภาษาเซอร์เบียเบื้องต้นร่วมห้องกับเพื่อนสาวลูกครึ่งสวีดิชและเซริ์บชื่อลิเดีย เธอตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับกระเป๋าของผู้ชายในเซอร์เบียขึ้นมา “ทำไมผู้ชายแถวนี้มักใช้กระเป๋าหนังใบเล็ก แบบเป็นเข็มขัดหนีบเอ็วได้” ลิเดียถามพลางเอียงคอทำหน้าฉงน อาจารย์สาวชาวเซอร์เบียฉงนกว่ากับคำถามแบบผ่าหมาก เธอไม่ตอบอะไร ได้แต่เปลี่ยนหัวข้อสนทนาเป็นการแก้เขิน แต่สำหรับเรานี่เป็นคำถามงานวิจัยอันยิ่งใหญ่ เรียกร้องให้นักวิจัยต่างถิ่นต้องพยายามหาคำตอบอย่างขะมักขะเม่นอีกครั้ง เอาละสิ ที่นี่เวลาเดินไปไหน ไปพบใคร คุยกับใคร นั่งที่ไหน ถ้าบุคคลนั้นเป็นประชากรชาย หรือผู้คนที่เดินผ่านไปมาเป็นเพศชาย เราจะพยายามสังเกตว่าเขาใช้กระเป๋าแบบไหน ทำไปได้สักพัก เราก็ค้นพบคำตอบอันน่ามหัศจรรย์...แม่เจ้า ผู้ชายแถวนี้นิยมใช่กระเป๋าเหมือนแม่ค้าขายเงาะบ้านเรา... เคยสังเกตไหมว่าแม่ค้าขายเงาะใช้กระเป๋าแบบไหน? ส่วนใหญ่เป็นกระเป๋าเหน็บเอว เพราะจะได้หยิบเงินทอนได้สะดวกโดยเฉพาะเวลาที่มีลูกค้ามุงซื้อเงาะให้ชุลมุน ผู้ชายเซอร์เบียใช้กระเป๋าเหน็บเอวในลักษณะเดียวกัน เพียงแต่ทำมาจากวัสดุหนังสีดำ (เข้าใจว่าเพื่อให้เข้ากับเสื้อแจ็คเก็ต) จะว่าไปนี่ถือเป็นไอเดียอัจฉริยะ เพราะเอกสาร ของกระจุกกระจิกทุกอย่างสามารถบรรจุในกระเป๋าขนาดย่อมนี้ได้ ทั้งยังไม่ต้องสะพายหลังหรือไหล่ให้ปวดกล้ามเนื้อ เพราะเหน็บเอวไปได้สบาย กล้ามเนื้อสะโพกย่อมแข็งแรงกว่ากล้ามเนื้อหลังและไหล่เป็นไหนๆ แต่ที่น่าสนใจไม่แพ้กระเป๋าแม่ค้าขายเงาะคือกระเป๋าหนังที่ใหญ่กว่ากระเป๋าเงินผู้หญิงหน่อย มีช่องจำนวนมาก ถ้าเปิดออกจะพบเอกสารเต็มไปหมด เหมือนคนแถวนั้นพกทะเบียนบ้าน ใบเกิด ในเปลี่ยนชื่อ ทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า ใบขับขี่ บัตรประชาชนรวมถึงพาสปอร์ต - ถ้าเป็นบ้านเราคงมีใบทำบุญโลงศพรวมอยู่ด้วย – ไปไหนมาไหนตลอดเวลา ตำแหน่งแห่งที่ของกระเป๋าหนังลูกพี่กระเป๋าสตางค์นี้คือ “จักกะแร้” อย่าหาว่าทะลึ่ง นี่เป็นข้อเท็จจริง เห็นมาแล้วกับตา ผู้ชายเซอร์เบียมักเหน็บกระเป๋านี้ที่จักกะแร้ เพราะมันไม่มีที่คาดเอวหรือสายสะพายไหล่เหมือนกระเป๋าผู้หญิง มันเลยต้องอาศัยพลัง “บีบ” ระหว่างแขนและสีข้าง เวลาไปไหนมาไหน เราก็จะเห็นผู้ชายเซริ์บเหน็บกระเป๋าหนังนี้ที่ใต้จักกะแร้ราวกับเป็นไข่ในหิน

ที่น่ารักมากคือเวลาไปผับ กระเป๋าหนังนี้ยังรักษาตำแหน่งแห่งที่ของมันตามร่างกายของชายชาวเซร์บได้ ถึงเวลาแดนซ์ก็ไม่มีปัญหา เพราะคนส่วนใหญ่ฝึกทักษะการเหน็บกระเป๋ามาอย่างช่ำชอง จึงแดนซ์ไปเหน็บไป กระเป๋าไม่มีตกให้ทะเบียนบ้านปลิ้นออกมาหกหล่นตามพื้นได้ แฟชั่นกระเป๋าชายนี้ หาวัฒนธรรมใดเสมอเหมือนได้ยาก ตอนไปเที่ยวอิตาลี เห็นพนักงานเสริ์ฟเหน็บกระเป๋าหนังไว้เก็บเงินทอนเงินบ้าง แต่ยังไม่แพร่หลายในหมู่ประชากรชายทั่วไปเหมือนที่เซอร์เบีย ส่วนที่อื่นของยุโรป วัฒนธรรมดังกล่าวยังไม่ประจักษ์ต่อสายตาเรา ฉะนั้นกระเป๋าเหน็บเอวและหนีบใต้จักกะแร้ อาจถือเป็น “โอท็อป” จากคาบสมุทรบอลข่านของจริง

เราคิดว่าช่องว่างทางวัฒนธรรมการแต่งตัวระหว่างประชากรชายและหญิงเซอร์เบียต้องมีเหตุผลบางอย่างรองรับ โดยทั่วไปผู้หญิงต้องพยายามทำให้ตัวเองดูสวยงาม เพื่อให้เพศตรงข้ามบริโภคความงามจากตน บางทฤษฎีอาจเห็นว่านี่เป็นไปเพื่อการบริโภคความงามในหมู่อิสตรีด้วยกัน ก็อาจฟังขึ้น ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้หญิงในเซอร์เบียจัดเต็มกับการแต่งกายมากกว่าฝ่ายชาย เพื่อนสนิทลูกครึ่งโครแอต เซริ์บ และมีเสี้ยวฮังกาเรียนให้เหตุผลต่างออกไป เธอบอกว่าที่ผู้ชายแต่งตัวเหมือนๆ กัน (ตัดผมทรงลานบินเหมือนกัน ใส่ชุดกีฬาและเสื้อแจ็คเก็ตหนังแบบเดียวกัน หรือใช้กระเป๋าเหน็บเอวรูปแบบเดียวกัน) เป็นเพราะสมัยที่ยูโกสลาเวียอยู่ภายใต้ระบบสังคมนิยม รัฐเป็นผู้แจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ประชาชน ดังนั้นผู้จึงได้ของใช้เหมือนๆ กัน ทั้งรัฐยังเผยแพร่วัฒนธรรมแบบ “รวมหมู่” (collectivism) ผู้คนจึงมีแนวโน้มทำอะไรให้เหมือนกับคนอื่นในชุมชนเข้าไว้ รวมถึงการเลือกทรงผม กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ “แฟชั่น” เสื้อผ้าและทรงผมที่ดูเหมือนหลากหลาย และเราเลือกได้ตาม “สไตล์” ที่เราอยากเป็น มีค่านิยม “ปัจเจกบุคคล” (individualism) แฝงฝังอยู่ บางที เราพยายามแต่งตัวต่างจากคนอื่น เพราะเราคิดว่าเราได้เลือกสิ่งที่เป็นเรามากที่สุด ทว่าการเลือกนั้นถูกควบคุมไว้ด้วยตรรกะทางวัฒนธรรมการเมืองบางอย่าง แต่ถ้าคำอธิบายนี้ถูก เหตุใดการแต่งตัวเหมือนกัน หรือตัดผมทรงเดียวกันจึงเกิดขึ้นในหมู่ประชากรชายเท่านั้น ไม่เกิดในหมู่ประชากรหญิงในเซอร์เบีย ลองคิดอีกทีว่าผมทรงลานบินมีที่มาจากกองทัพ การแต่งตัวเหมือนกัน หรือใช้กระเป๋าไม่ผิดแผกจากกลุ่มฝูงของตน ก็มีรากมาจากการติด “ยูนิฟอร์ม” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมข้าราชการ โดยเฉพาะในหมู่ตำรวจและทหาร และถ้าคิดต่อไปว่าเซอร์เบียเป็นประเทศที่ผ่านสงครามมาตลอดศตวรรษที่ 20 และสงครามถี่มากขึ้นในช่วงปลายศตวรรษ รัฐที่พันตูในสงครามย่อมต้องระดมพลเมืองชายให้สู้รบกับศัตรู ฉะนั้นความแพร่หลายของวัฒนธรรมทหารที่สะท้อนในทรงผม เสื้อผ้า และกระเป๋า อาจเกี่ยวพันกับประสบการณ์สงครามซึ่งผู้คนในแถบนี้ผ่านมาอย่างโชกโชน ถ้าเรื่องเสื้อผ้าหน้าผมและกระเป๋าเหน็บเอวยังสื่อประเด็นนี้ได้ไม่ชัด เรื่อง “อาหาร” อาจเผยให้เราเห็นความเชื่อมโยงได้มากขึ้น...ติดตามต่อไปในตอนหน้า