วันอังคารที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เซอร์เบียไม่ใช่ไซบีเรีย: เริ่มต้น ณ จุดเริ่มต้น

"เกือบตกรถไฟ”

นักศึกษาปริญญาเอกอายุสิบยี่ค่อนปลายจากประเทศโลกที่สาม และร่ำเรียนในดินแดนขั้วโลกใต้ ออกเดินทางไปยุโรปครั้งแรกเพื่อสำรวจพื้นที่เพื่อกรุยทางให้กับการเก็บข้อมูลเขียนวิทยานิพนธ์ ประเทศที่เธอตัดสินใจไปเยี่ยมชมศิวิไลซ์ และต้นกำเนิดของประชาธิปไตยขาดวิ่นในประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของเธอ มิใช่กรีก อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมันนี หรือมหาอำนาจบิ๊กบังอื่นๆ แต่คือ โรมาเนียและเซอร์เบีย ที่เป็นโรมาเนีย เพราะนักศึกษาต้องไปเสนองานเขียนส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ในงานประชุมนานาชาติเกี่ยวกับ “การเมืองของอารมณ์ขัน” ที่เมืองกาลาต (Galaţi) นอกเหนือจากเหตุผลทางวิชาการ เธอต้องการเห็นบ้านเกิดเมืองนอนของแดร็กคิวล่า ผู้ให้กำเนิดน้ำตกซกเล็ก อาหารประจำถิ่นอีสานบ้านเฮา ส่วนที่เป็นเซอร์เบียเพราะเธอศึกษากลุ่มประท้วงที่ใช้ “ตลกเสียดสี” ในฐานะปฏิบัติการไร้ความรุนแรง (nonviolent action) และประสบความสำเร็จในการโค่นล้มรัฐบาลสโลโบดาน มิโลเชวิทช ถามว่าเหตุใดถึงเป็นกลุ่มนี้ นักศึกษาปริญญาเอกที่ได้คุณภาพคับกล่องควรตอบว่าเป็นเพราะงานศึกษาก่อนหน้านี้ชี้ว่ากลุ่มประท้วงในเซอร์เบียดังกล่าวเป็นกรณีศึกษาโดดเด่น ขณะที่คำตอบของนักศึกษาซึ่งคิดถึงการเขียนวิทยานิพนธ์เสมือนการผจญภัยในโลกกว้างควรเป็น เพราะอยากรู้ว่าประชาชนไทยในประชาคมอาเซียนอย่างเราจะผ่าเหล่าผ่ากอทำวิจัยในดินแดนมหัศจรรย์ซึ่งตั้งอยู่สุดขอบฟ้าได้รอดหรือไม่... เหตุผลง่ายๆ มันส์ๆ ก็แค่นั้น

หนังสือประวัติศศาสตร์ประเทศโรมาเนียเล่มหนึ่งอ้างว่าประชากรในประเทศนี้เป็นลูกหลานสืบสกุลมาจากอาณาจักรโรมัน (Romania มาจากภาษาลาตินว่า romanus ซึ่งแปลว่า “ประชากรของกรุงโรม”) ยังไม่ทันอ่านต่อว่าปัจจุบันประเทศโรมาเนียมีสภาพเป็นเช่นไร ความศิวิไลซ์จากเมื่อพันปีที่แล้วยังเหลือเศษซากให้โลกจดจำอีกหรือไม่ เราก็ด่วนสรุปไปทันทีว่ากำลังจะได้ไปประเทศพัฒนาแบบยุโรปฝั่งตะวันตก บ้านเมืองต้องสะอาดหมดจด เป็นระเบียบเรียบเชียบ รถไฟตรงเวลา และที่สำคัญไม่มีคนขับแท็กซี่หัวหมอ


วินาทีที่ประตูสนามบินออตโตเปนี (Otopeni) แห่งเมืองหลวงบูคาเรสของโรมาเนียเปิดออก พี่โชเฟอร์แทกซี่ก็วิ่งปรี่เข้าหาเหยื่อนักท่องเที่ยวผู้กำลังมึนเครื่องบินอย่างขมีขมัน เราคิดในใจดังๆ “เอาหล่ะ โรมาเนียกับกรุงเทพฯ อาจไม่ต่างกันมากอย่างที่ตั้งข้อสมมุติฐานไว้” และแล้วข้อสมมุติฐานก็ได้รับการพิสูจน์เชิงประจักษ์ พี่แท็กซี่ที่รับเราไปส่งที่โฮสเตลวิ่งอ้อมเมืองสักแปดรอบ หลังจากทำไก๋ไม่เข้าใจภาษาปะกิตที่เราใส่เป็นชุดเพื่อทักท้วงแกมต่อว่าว่าทำไมไม่ถึงที่พักสักที พี่แท็กซี่มาจอดหน้าโฮสเตลหน้าตาเฉย แล้วเอานิ้วชี้ป้ายไปที่มิตเตอร์ซึ่งตอนแรกถูกบังด้วยเกียร์รถ ค่าแท็กซี่ปาไป 30 ยูโร อยากจะร้องให้แข่งกับพระแม่ธรณีกรรแสง ปริญญาเอกไม่ได้ช่วยให้มนุษย์อย่างข้าพเจ้าหลักแหลมขึ้นนัก

วันที่ไปถึงบูคาเรสเป็นวัน “หดหู่” แห่งชาติโรมาเนีย เพราะฝนตกไม่ยอมหยุด อากาศก็หนาวถึงขั้วตับ ลมแรงพัดตาตุ่มแทบยุบเรียบ ซวยแล้ว... ที่วางแผนว่าจะไปเที่ยวชมเมือง โดยเฉพาะจุดที่ผู้นำเผด็จการนิโคเล เชาเชสคุ (Nicolae Ceauşescu) ถูกประชาชนวิสามัญเมื่อตอนล้มล้างระบบคอมมิวนิสต์เมื่อปีค.ศ. 1989 ก็เป็นอันต้องล้มพับไป วันที่สอง วันที่สามก็แล้ว พายุฝนก็ไม่มีทีท่าจะหยุด เราพยายามเดินดูเมืองเรื่อยเปื่อย หลอกตัวเองว่ากำลังอยู่ในฤดูใบไม้ผลิ ทว่าการสร้างมายาคติให้กับตัวเองล้มเหลวน่าดู ฝนโพรยพรำตลอดวันพร้อมอากาศยะเยือกปอดคอยย้ำเตือนว่าเรากำลังติดอยู่ในช่วงวันหดหู่แห่งชาติโรมาเนีย วันที่สี่ในโรมาเนียเราต้องออกเดินทางไปเมืองกาลาต ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานประชุม อยู่ทางตะวันออกของบูคาเรส และมีแม่น้ำดานูบไหลผ่านเพื่อออกไปยังทะเลดำ (Black Sea) ต้องจากบูคาเรสไปทั้งที่ยังไม่ได้ชมเมือง น่าเศร้าใจไม่น้อย เราได้แต่ไปนั่งกร่อยที่สถานีรถไฟเมืองหลวง ซึ่งเอาเข้าจริงหัวลำโพงที่สร้างตั้งแต่รัชกาลที่ห้าบ้านเรายังดูน่าอภิรมย์กว่า 

เคราะห์ดีที่สภาพในรถไฟของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอย่างโรมาเนีย ต่างจากรถไฟในเมืองไทยมากหลายกระบุง เราเดินแบกระเป๋าพะรุงพะรังเข้าไปหาที่นั่ง ผู้โดยสารทุกคนมองตรงมาที่เราเหมือนเป็นมนุษย์ต่างด้าวมาจากดาวตาตี่ดั้งแบน บ้างมองพลางเคี้ยวข้าวเหนียว เอ้ย...ขนมปังยัดเบคอนไปพลาง เรานั่งข้างแม่ลูกอ่อน เด็กน้อยมองเราตาแป๋ว (คงสงสัยว่ายัยนี่ตัวอะไร) ส่วนแม่นั่งตัวเกร็ง คงบ่นในใจว่าทำถึงได้ตั๋วนั่งข้างชาวเอเชียหน้าแปลก

จากบูคาเรสมาถึงเมืองกาลาต ใช้เวลาประมาณสี่ชั่วโมงกว่า อากาศหนาวน้อยลงขณะที่ลมชื้นและกลิ่นทะเลลอยมาสะกิดไหล่เรา  นักศึกษาอาสาสมัครจากมหาวิทยาลัยดูนาเรีย เดอ โยส (Universitatae Dunarea de jos Galati) ซึ่งเป็นเจ้าภาพในการจัดงานมารอรับเราที่สถานีรถไฟ เมื่อเห็นเรา สาวน้อยดีใจมาก เธอสารภาพว่า “ฉันตื่นเต้นมากเลย คุณเป็นคนจีนคนแรกที่ฉันเคยเจอ” เรายิ้มละไมด้วยไมตรีจิต ตอบกลับไป “ฉันอาจทำให้เธอผิดหวังนะ ฉันมาจากประเทศไทย” นักศึกษากุลีกุจอถามต่อ “อ้าวคนจีนไม่ได้อยู่ในประเทศไทยเหรอ” เรายิ้มแบบมีน้ำอดน้ำทน ตอบกลับอีกทีว่า “ปล่าวจ๊ะ นั่นมันเรียกไทหวัน มิใช่ไทแลนด์” จากนั้นความเงียบเข้าแทรกบทสนทนาของเราพักใหญ่ก่อนที่น้องนักศึกษาจะรวบรวมความมั่นใจได้อีกครั้งและเริ่มเล่าประวัติเมือง รวมถึงชี้ชวนเราดูสถานที่ต่างๆ ระหว่างทางไปยังที่พัก

เมืองกาลาตเป็นเมืองเล็กๆ ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว ซ้ำร้ายยังมีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งเรียงรายนอกเขตเทศบาล นอกจากโบสถ์คริสเตียนออธอดอกซ์ และศาสนสถานสำคัญสองสามแห่ง เมืองเล็กๆ แห่งนี้ ไม่มีสถาปัตยกรรมประดับประดาเหมือนเมืองใหญ่อื่นๆ ในยุโรป ทว่าสถานที่เหล่านี้ยังคงสภาพดั้งเดิม (จากคำบอกเล่าของน้องนักศึกษา) เพราะรอดพ้นจากการทำลายล้างในช่วงประวัติศาตร์นองเลือดของยุโรปต่างกาลนับตั้งแต่สงครามศักดิ์สิทธิ์ช่วงกลางศตวรรษที่ 17 สงครามคาบสมุทรบอลข่าน สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามโลกครั้งที่สอง หรือกระทั่งระบอบคอมมิวนิสต์ของผู้นำชาวเชสคุก็มิอาจเปลี่ยนทำนองเพลงอันเนิบนาบที่บรรเลงขับเคลื่อนเมืองนี้ได้ สรุปว่าประวัติศาสตร์ของเมืองกาลาตนองเลือดน้อยกว่าเมืองใหญ่ๆ ของยุโรป แม้ไม่อาจทัดเทียมเรื่องความงามของสถาปัตยกรรมได้ 

กว่าเราจะค้นพบว่าความงามของเมืองนี้คือสายน้ำไหลเอื่อยคละเคล้ากับแดดรำไร และอากาศอุ่นกำลังดี ก็ปาเข้าไปวันสุดท้ายของงานประชุม ทีมงานพาผู้เข้าร่วมงานประชุม (ซึ่งเหลือหน่วยกล้าตายประมาณ 10 ชีวิต) ร่องเรือดูแม่น้ำดานูบ จิบไวน์ท้องถิ่นไปพลาง พูดกันตามตรง แต่ไม่พูดต่อหน้าคนจัดงานเพราะเกรงจะถูกชก งานประชุมเกือบล้มเหลวไม่เป็นท่าเพราะวัฒนธรรมการทำงานแบบ “ชิว เอาท์” ของชาวยุโรปในแถบอุษาคเนย์ ทว่าทริปล่องเรือนี้เป็นยาขจัดความหงุดหงิดอย่างดี นอกเหนือจากแม่น้ำดานูบ เย็นวันนั้นเราได้เห็นงานแต่งของคนท้องถิ่น แบบโรมันปนตริสเตียนออธอดอกซ์ ผู้ร่วมงาน บ่าวสาวและญาติเต้นล้อมเป็นวงกลม เตะเท้าซ้ายทีขวาที ดนตรีประกอบครึกครื้นคล้ายงานรื่นเริงในต่างจังหวัดแถวบ้านเรา อาหารไม่เยอะ แขกไม่ต้องแยะ แต่ดีกรีความรื่นเริงจากงานแต่งเล็กๆ ในห้องอาหารลึกลับ ก็ทำให้คู่สมรสได้รับคำอวยพรอันอบอุ่น... โอปป้า!

จากเมืองกาลาตทางตะวันออกของประเทศ เรานั่งรถไปข้ามภูมิภาคไปยังภาคเหนือตอนล่างแถบเทือกเขาคาร์ปาเทียน (Carpathian) แห่งเขตทรานซิลเวเนีย (Transylvania)เพื่อเริ่มปฏิบัติการตามรอยท่านเคาท์แดร็กคิวล่า แน่นอนว่าปฏิบัติการย่อมขาดรสชาดหากนักผจญภัยอย่างเราไม่ซุ่มซ่ามจนลงรถไฟผิดป้าย ต้องนอนค้างในเมืองลับแลหนึ่งคืนเพราะไม่มีรถไฟไปเมืองจุดหมายปลายทางบราชอพ (Braşov) ทว่าเมื่อดั้นด้นมาถึงเมืองท่านเคาท์ได้ในเช้าวันรุ่งขึ้น เราก็ไม่ผิดหวังเลย ศูนย์กลางเมือง (city centre) ของเมืองบราชอพ ยังคงความเก่าแก่และมนต์ขลังของเมืองยุคกลางได้แทบไม่มีที่ติ เราเดินรอบเมืองพูดคุยกับผู้คนแปลกหน้า พยายามเกลือกกลั้วตัวเองไปกับฝูงคนที่เดินจับจ่ายในเมืองช่วงบ่ายวันศุกร์ และแล้วเสียงเจื้อยแจ้ว ความหมายคุ้นหูก็ดังทะลุฝูงคนแปลกหน้ามากระแทกหลังเรา “เดี๋ยวเราไปซ็อปปิ้งที่ไหนต่อดีอ่ะตัวเอง”... เฮ้ย! อุตส่าห์หลบมาตั้งไกล ยังหนีไม่พ้นพี่ไทยขี้ช็อปเหรอ... ไม่ได้การ ต้องหนี 


รุ่งสางของวันใหม่ เราซื้อทัวร์ไปดูบ้านท่านเคาท์แดร็กคิวล่าที่เมืองบราน (Bran) ซึ่งดูยังไง๊ยังไงก็มีบรรยากาศคล้ายอยุธยา คือเป็นเมืองที่พยายาม “เก่า” เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่เสพสุขจากการท่องอดีตแบบประดิษฐ์อย่างเรา เมื่อปลอมมา เราก็ปลอมกลับตามน้ำไป การฝืนบรรยากาศแห่งความเสแสร้ง อาจทำให้เราเป็นโรคเครียด เกลียดโลก หน้าสูงวัยกว่าตัวเลขอายุจริง 
เชื่อกันว่าปราสาทบราน (Bran Castle) เป็นที่พำนักของท่านเคาท์แดร็กคิวล่า หรือท้าววลาด นักเสียบ (Vlad the Impaler – ที่จริงคำแปลภาษาไทยไม่ค่อยสะท้อนที่มาของชื่อท่านเค้าท์เท่าไหร่ ตำนาน “ผีดูดเลือด” ของเค้าท์วลาดมีที่มาจากวิธีการทรมานศัตรูด้วยการเสียบร่างกายของศัตรูด้วยเหล็กแหลม จนเลือดหมดตัวเสียชีวิต) จากเจ้าชายในประวัติศาสตร์ยุคกลางของโรมาเนีย ท่านเค้าท์กลายเป็นตัวละเอกในนิยายชื่อดังของแบรม สโตเกอร์ (Bram Stoker) เราคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เห็นที่พักของแดร็กคิวล่าเป็นบุญตาสักกครั้งในชีวิต เมื่อไปถึง กาลกลับกลายเป็นว่าปราสาทหลังนี้เป็นที่อาศัยของเจ้าหญิงเจ้าชาย ขุนเนื้อขุนนางทั้งจากมองโกล อาณาจักรออตโตมัน (ตุรกีปัจจุบัน) และฮังการี... ยกเว้นท่านเคาท์! โดนหลอกกันหล่ะคราวนี้ มิใช่เพียงข้าพเจ้าคนเดียวที่ถูกต้มจนเปื่อย ยังมีเพื่อนร่วมเส้นทางแห่งความเขลาอีกหลายสิบชีวิต นี่ยังไม่นับพวกที่ถูกหลอกมาก่อนหน้านี้ เราเดินทางกลับที่พักในเมืองบราชอพด้วยความชอกช้ำ แต่ไม่หมดหวัง กลับไปนั่งหาข้อมูลว่าบ้านที่เคาท์ (ของจริง) อยู่ไหนกันแน่ ปรากฏว่าอยู่อีกเมืองใกล้ๆ กัน ชื่อว่า “ซิงจิชัวร่า” (Singhişoara) วันรุ่งขึ้นเราจัดแจงนั่งรถตู้ไปเสาะหาบ้านท่านเคาท์ของจริง (แต่แอบระแวงเล็กน้อยว่าจะถูกหลอกอีก) เมื่อถึง เราพุ่งตรงไปสถานที่ซึ่งแผนที่ระบุว่าเคยเป็นบ้านของเค้าท์วลาดในวัยเยาว์
เรามองไปยังอาคารสีส้มอ่อน สองชั้น ตกแต่งด้วยสถาปัตยกรรมอันเรียบง่าย บนกำแพงหน้าบ้านมีป้ายชื่อซึ่งมิใคร่โดดเด่นเขียนว่า “บ้านเค้าท์วลาด” เรางง...ทำไมเป็นท่านถึงขุนข้ำขุนนาง แต่อยู่ในกระต็อบโบกปูน แถมชั้นแรกของอาคารถูกเปลี่ยนเป็น “คาเฟ่” (ในแถบคาบสมุทรบอลข่าน คาเฟ่เป็นทั้งร้านกาแฟและร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์) ส่วนชั้นสองจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เก็บของใช้ส่วนตัวของท่านเคาท์นับจำนวนชิ้นได้ เราเดินวนไปมาพักใหญ่ แล้วออกจากอาคารด้วยความงุนงงเล็กน้อย... เอ หรือว่าท่านเคาท์ยึดในหลักเศรษฐกิจพอเพียง ถึงได้อาศัยในสถานที่ขนาดย่อมเช่นนี้? หลายคำถามในโลกนี้มิมีคำตอบ นักเดินทางจึงเดินทางเพื่อค้นคว้าหาความงุนงงต่อไป



การเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางต่างๆ ในโรมาเนียยาวนานเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด อาจเพราะรถไฟแล่นเฉื่อยฉึกฉักไม่รวดเร็วทันใจเหมือนรถไฟด่วนเตเชเวในฝรั่งเศส หรืออาจเป็นเพราะเราคือนักเดินทางแปลกถิ่นย่ำท่องบนท้องถนนอันไม่คุ้นเคย เส้นทางสั้นๆ จึงดูเหมือนใช้เวลาเดินทางชั่วกัลป์กัล จากซิงจิชัวรามากลับมายังบราชอฟ ตามแผนตอนแรก เราต้องนั่งรถตู้กลับ เพราะมัวแต่เถลไถล เลยมาท่ารถตู้ไม่ทันรถคันสุดท้าย ทางเลือกสุดท้ายคือรถไฟท้องถิ่น ผู้โดยสารซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านสามัญ (ตั้งแต่ชาวสวน พ่อค้า ไปยังคนเลี้ยงแกะ) แม้พยายามเพลิดเพลินกับการสังเกตวัฒนธรรมท้องถิ่นในหมู่ผู้โดยสารเพียงใด แต่สายตาทุกคู่ซึ่งจ้องตรงมาที่เราก็ทำให้อึดอัดไม่น้อย ฉะนั้นเวลาชั่วโมงกว่าในรถไฟจึงผ่านไปช้าเหลือเกิน

วันต่อมาเรานั่งรถไฟจากบราชอฟกลับมายังฝั่งตะวันออกเพื่อผ่านไปยังเมืองชายฝั่งทะเลดำ (Black Sea) ที่ชื่อว่าคอนสตันซา  (Constança) ทว่าบรรยากาศในรถไฟน่ารื่นรมย์กว่ามาก ผู้ร่วมเดินทางในโบกี้เดียวกัน สงสัยใครรู้ว่าเรามาจากไหน มาทำอะไร แล้วจะไปไหนต่อ เลยส่งตัวแทนเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งส่งภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว ให้มาสืบประวัติจากนักท่องเที่ยวเอเชียตาตี่ผิวเหลือง ทำไปทำมา คนทั้งโบกี้ก็รู้ชีวประวัติเราอย่างถ่องแท้ เพราะแม่สาวเธอแปลทุกคำพูดและทุกเรื่องที่เล่าออกจากปากเรา (สังเกตจากเวลายาวนานที่เธอใช้ในการแปลภาษาอังกฤษกลับเป็นภาษาท้องถิ่น) กลายเป็นว่าพื้นที่ส่วนตัวซึ่งคนจากเมืองหลวงอย่างเราหวงนักหนา ได้ถูกทะลุทะลวงด้วยความใคร่รู้ของผู้คนซึ่งมิอาจสื่อสารกับเราด้วยภาษาอื่นนอกเหนือจากภาษาโรมาเนียได้ แม้มีบทสนทนาช่วยฆ่าเวลา แต่การนั่งรถไฟเจ็ดถึงแปดชั่วโมง ก็ยาวนานจนเกือบทนไม่ได้ แต่เมื่อถึงเมืองคอนซตานซา อันเป็นจุดหมาย ความเหนื่อยหน่ายจากความเอื่อยเฉื่อยของรถไฟก็เกือบมลาย เราวิ่งปรี่ไปยัง “ทะเลดำ” แต่แล้วก็ต้องชะงักงัน เมื่อพบว่าทะเลดำ ไม่มีสีดำอย่างที่จินตนาการไว้! ชื่อ “ทะเลดำ” เกี่ยวข้องกับตำนานปรัมปราของอาณาจักรโรมันมากกว่าสีของน้ำ บ้างร่ำลือว่าคำว่า “ดำ” มีนัยถึงอากาศแปรปรวนในท้องทะเลที่ทำให้เดินเรือยาก หรือมีที่มาจากชนเผ่าป่าเถื่อนตามชายฝั่ง... ทะเลดำที่ไม่มีสีดำจึงทำให้เราผิดหวังรอบสอง (ถัดจากเรื่องปราสาทท่านเค้าท์)

ในที่สุดเราก็ได้กลับมาที่บูคาเรสก่อนออกเดินทางไปเซอร์เบีย วันนั้นอากาศปลอดโปร่ง เลยได้เดินเที่ยวทั่วเมือง และที่สำคัญมาก คือได้เยี่ยมชมที่ทำการรัฐสภา และที่พำนักของประธานาธิบดีชาวเชสคุ รวมถึงระเบียงคฤหาสซึ่งเป็นจุดที่อดีตประธานาธิบดีถูกมวลสั่งวิสามัญ มีเรื่องเล่ากันว่าครั้งหนึ่งป้าไมเคิล แจ็คสัน ผู้ล่วงลับของเรามาทัวร์คอนเสริ์ตที่โรมาเนีย เธอมายืน ณ ระเบียง แห่งนี้ แล้วโพล่งออกไปด้วยความมั่นใจว่า “สวัสดีชาวเมืองบูดาเปส”... พี่คะ นั่นมันชื่อเมืองหลวงของประเทศฮังการี 
จากตัวเมืองบูคาเรสมายังสถานีรถไฟเพื่อเดินทางต่อไปยังนครหลวงเบลเกรด “เราเกือบตกรถไฟ” เพราะคนขับรถเมล์ดันไม่บอกว่าเรานั่งรถเลยป้าย ถามไป พี่แกก็ฟังภาษาอังกฤษไม่กระดิก จนเราต้องลงรถและหารถแท็กซี่ย้อนกลับมาที่สถานีรถไฟ แต่ในที่สุดพระเจ้าก็เห็นความมุ่งมั่นและความ “ถึก” ของนักศึกษาจากโลกที่สามอย่างเรา บันดาลให้มาถึงสถานีรถไฟทันเวลาพอดี ลองจินตนาการว่า หากเราตกรถไฟที่บูคาเรสครั้งนั้น คงไม่มีเรื่องราวมันส์ๆ ที่จะเล่าให้ฟังให้ในตอนต่อๆ ไป แล้วพบกันในเบลเกรด




วันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เซอร์เบียไม่ใช่ไซบีเรีย (5): เสื้อผ้า หน้า ผม...และกระเป๋าเหน็บเอว


กิจกรรมที่คุณควรทำเมื่อเยือนเซอร์เบีย คือ “มองมนุษย์” หากพลาดกิจกรรมนี้ถือว่ามิได้มาเหยียบปฐพีที่เป็นหัวใจของคาบสมุทรบาลข่าน สถานที่เหมาะในการทำกิจกรรมนี้คือถนนคนเดินคเนซ มิไคโลวา อันเป็นหน้าตาของนครเบลเกรด ตอนบ่ายแดดร่มลมตกของฤดูใบไม้ร่วง ถนนแห่งนี้คับคั่งไปด้วยชายหนุ่มหญิงสาว บ้างออกมาเดินชอปทางสายตา (ประมาณว่าเหมือนเวลาเราไปพารากอน แล้วซื้ออะไรจากห้างให้เป็นเนื้อเป็นหนังไม่ได้ นอกจากไส้อั่วหนึ่งไม้ราคาร้อยกว่าบาท) บ้างออกมาจิบกาแฟ บางคนมาเป็นคู่ เดินเกี่ยวแขนอี๋อ๋อให้พวกคนโสดสะเทือนใจ เราใช้เวลาส่วนใหญ่ช่วงที่ไม่ต้องวิ่งหูลู่ตามสัมภาษณ์ผู้คนเพื่อเขียนวิทยานิพนธ์ นั่งดูประชาชนชาวเซริ์บและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เดินทอดน่องที่ถนนแห่งนี้

สังเกตสังเกาสังคังได้พักใหญ่ เราถึงสังเคราะห์ “ช่องว่างระหว่างความงาม” ระหว่างชายและหญิงชาวเซอร์เบียได้ สาวเซอร์เบียนเป็นอาหารชนิดที่ว่ามองไปมา ไม่ต้องกินข้าวก็อิ่มได้ โดยเฉลี่ย บรรดาสาวๆ สูงประมาณ 170 ซ.ม. (นี่เป็นสถิติที่ครูสอนภาษาเซอร์เบียนคำนวนมาให้ เธอปรารภว่า “ชั้นเตี้ยไปสำหรับมาตรฐานสาวในเซอร์เบีย เพราะมีส่วนสูงแค่ 170”) โดยมากขายาว มีหน้าอกหน้าใจ ต่างจากสาวเอเชียที่มีน้อยใช้น้อยค่อยประหยัด เอวคอด สะโพกผาย... คิดว่าถ้าบรรยายเลยเถิดไปกว่า เราอาจได้ผันอาชีพจากนักวิจัยไปเขียนคอลัมน์วาบหวิวในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ก็เป็นได้... นอกจากทรวดทรงที่น่ามองจนหญิงรักชายอย่างเรา (คืออยากเน้นว่าที่เขียนทำนองนี้ไม่ได้เป็นหญิงรักหญิงแต่อย่างใด) ยังนั่งน้ำลายสอ สาวแถวนี้รักการแต่งตัวให้หมดจดเมื่อออกจากบ้านเป็นชีวิตจิตใจ ในฐานะผู้หญิงคนหนึ่ง เราพอเข้าใจว่าเวลาออกจากบ้าน การแต่งตัวให้หมามองแล้วไม่เมิน หรือไม่อ้วกเลอะถนน เป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวด แต่ผู้สาวในเบลเกรดเธอก้าวไปอีกขั้น เราเคยนัดเจ๊เจ้าของบ้านเช่ามองเม้ากินกาแฟกันที่หน้าปากซอย ห่างจากอพาร์ทเมนต์เราและเค้าไม่ถึง 500 เมตร อีชั้นเห็นว่าใกล้ เลยใส่กางเกงนอนตัวเก่า เสื้อแจ็คเก็ตสีหม่น รองเท้าวิ่งส้นสึก หน้าก็ขี้เกียจแต่ง ส่องกระจกแล้วดูคล้ายอาอึ้มจากซัวเถาขาวเผือดเหมือนขาดวิตามินดี สภาพซอมซ่อของเราดูขัดแย้งกับเจ๊เจ้าของบ้านเช่ามาก แค่ออกมากินกาแฟหน้าปากซอย เจ๊แก “จัดเต็ม” อากาศขณะนั้นประมาณ 15 องศา แบบปลายฤดูใบไม้ผลิต้นฤดูหนาว แต่เจ๊ลากเสื้อขนมิ้งลายเสือตัวหนาเหมือนเธอจะไปมอสโคว์ช่วงเกิดพายุหิมะ แม้ข้างบนเตรียมรับฤดูหนาวอันหฤโหด แต่ท่อนล่างเธอเป็นกระโปรงสั้น สีดำ ตอกย้ำความแนวด้วยถุงน่องตาข่ายเป็นรูๆ ดูแล้วยังไงก็ไม่กันกระทั่งลมมรสุมแถวบ้านเรา รองเท้านี่เด็ดสุด คือเป็นส้นเข็มชนิดที่เดินผ่านพื้นซีเมนต์ พื้นเป็นรู หน้าและผมของเจ๊เค้าก็ไม่ซีดเผือดหรือรกเป็นรังนกอย่างเรา เธอวาดคิ้วโกร่งดั่งสะพานข้ามแม่น้ำสะแกกรัง กรีดอายไลน์เนอร์ ปัดมัสคารา ระบายหนังตาด้วยอายเชโดว์ โปะด้วยกากเพชรเล็กน้อยพอให้สะท้อนแดดแล้วคู่สนทนาแสบตายิบยับ ทั้งยังทารองพื้นกลบรอบตีนกา และจัดการทาริมฝีปากด้วยลิปสีแดงข้นปนเลื่อมมัน เรานั่งกินกาแฟไป ปากขยับเม้าเรื่องเรื่อยเปื่อย แต่ในใจพลางคิดว่า “เป็นบาปกรรมของตรูรึเปล่าที่ชวนเจ๊เค้ามากินกาแฟ ทำให้เค้าต้องเสียเวลาแต่งตัวเหมือนมาออกงานกาล่าที่สภากาชาด แล้วนี่ถ้าตรูชวนเจ๊เค้าไปกินข้าวร้านข้างถนน เจ๊เค้าต้องจ้างช่างแต่งหน้า และตัดชุดราตรีใหม่เลยไหมหนอ...”

ไม่ได้การ เราเป็นนักวิจัยต่างถิ่น ไม่ควรล่วงเกินคนท้องถิ่นด้วยการละเลยต่อวัฒนธรรมเสื้อผ้าหน้าผม ว่าแล้วจึงดั้นด้นไปถามเพื่อนสาวชาวเซอร์เบีย (คือที่จริงไม่ได้ดั้นด้นอะไร พอดีเค้ามาจากอีกเมืองเพื่อเยี่ยมเราที่เบลเกรดพอดี) เมื่อเล่าสถานการณ์ไป เพื่อนมองหน้าด้วยสายตาสงสัย คล้ายไม่เข้าใจว่าการแต่งตัวแบบ “จัดเต็ม” อย่างเจ๊เจ้าของบ้านเป็นเรื่องผิดแผกอะไร ผ่านไปสามวินาที เพื่อนจึงเข้าใจว่าสำหรับชาวต่างด้าวอย่างเรา อาการจัดเต็มเช่นนั้นคงไม่ใช่เรื่องปกติเท่าไหร่ เธอจึงเฉลยว่า “ผู้หญิงแถวนี้เวลาออกจากบ้าน ทุกคนต้องแต่งตัวให้หมดจด ถือเป็นมารยาททางสังคมเลยทีเดียว เวลาที่คนซี่งเรานัดพบ แต่งตัวเช่นนี้ ถือเป็นการให้เกรียติ” เราเลยถามต่อไปว่า แล้วอย่างนี้เวลานัดเจอกันมีใครกล้าลากรองเท้าแตะ (คล้ายๆ พี่ไทย) ไปมั๊ย เพื่อนสวนกลับทันที “โอ.. นั่นถือว่าหยาบคายมาก การเผยเท้าของเธอให้คนที่ไม่สนิทเห็น ถือว่าไม่ใช่เรื่องสุภาพนัก” ได้ฟังอย่างนี้ เราจึงถึงบางอ้อว้า อันที่จริงวัฒนธรรมเรื่อง “อารยะ” (civility) ในแต่ละท้องที่มีตัวกำหนดแตกต่างกันออกไป ในเซอร์เบียการแต่งตัวแบบจัดเต็ม คือการแสดงออกถึง “อารยะปฏิบัติ” (civil practice) เพราะผู้แต่งกายกำลังสื่อสารกับอีกฝ่ายว่าตนให้เกรียติ ทั้งเห็นว่าอีกฝ่ายสมควรได้รับเกรียตินั้น หากอีกฝ่ายแต่งกายจัดเต็มไม่ต่างกัน บทสนทนาระหว่างสองฝ่ายจึงเริ่มต้นบนฐานการให้และการรับเกรียติลักษณะต่างตอบแทนกัน การสานสายสัมพันธ์ต่อจึงเป็นเรื่องง่ายขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าการแต่งกายแบบหมดจดในวัฒนธรรมเซอร์เบียคือ “รหัส” แห่งมิตรภาพ แต่ข้อสังเกตถัดไปของเราคืออาการ “จัดเต็ม” นี้เกิดขึ้นเฉพาะในหมู่อิสตรีเท่านั้น...การแต่งตัวของผู้ชายเซอร์เบียสะท้อนช่องว่างทาง “แฟชั่น” ระหว่างเพศอันไพศาล

เริ่มจากผม ผู้ชายเซอร์นิยมไว้ผมทรงลานบิน คือแถด้านข้างให้หัวเลี่ยนเตียน ส่วนที่พอจะมีเกศาประปรายอยู่บ้างคือด้านบนของศีรษะ เอาไว้จอดเฮลิคอปเตอร์ จึงเป็นที่มาของผมทรงลานบิน ผมทรงนี้นิยมมากในหมู่ทหาร บ้านเราคงเห็นได้จากนักเรียนชายร.ด. แต่ที่เซอร์เบียประชากรชายไว้ผมทรงนี้กันแทบทุกคน (ไม่เวอร์นะ อันนี้ทำการวิจัยสุ่มตัวอย่างเป็นเรื่องเป็นราว วันหนึ่งเคยไปนั่งที่ร้านกาแฟในเมืองประมาณห้าชั่วโมง มีบุรษเดินผ่านไปมาเรือนร้อย ประมาณแปดสิบเปอร์เซนต์ไว้ผมทรงลานบิน) ราวกับว่ามันเป็นบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งรัฐ อย่าไปหวังว่าจะได้เห็นผู้ชายไว้ผมยาว แสกข้างตรงหว่างหูให้ผมมันเป๋ไปข้าง จนร่างกายเสียสมดุล ต้องเดินตัวเอียง เหมือนจัสติน บีเบอร์ หรือเด็กแว้นบ้านเรา ชายชาวเซริ์บจงรักภักดีกับผมทรงลานบินเท่านั้น เราคิดหาเหตุผลสะระตะว่าเหตุใดปมทรงนี้จึงเป็นที่นิยม จะเป็นทรงที่เหมาะกับสภาพอากาศแถวนั้นรึก็ไม่น่าใช่ เพราะมันหนาวถึงรูขุมขนหัวใจเมื่อเหมันต์มาเยือน ยิ่งตัดผมสั้น ก็ยิ่งเพิ่มความหนาว เพราะฉะนั้นเหตุผลทางภูมิศาสตร์และสภาพอากาศจึงตกไป จะว่าเป็นเหตุเรื่องความงาม ก็ไม่แน่ใจว่าจะใช่ เพราะคนที่ตัดผมทรงลานบินได้ ต้องมีกะโหลกที่สวยเรียว จะมาเหลี่ยมๆกลมๆ เหมือนชายเกาหลี ก็จะสร้างมลพิษทางสายตาแต่ผู้พบเห็น จะว่าเป็นเรื่องความงามหรือแฟชั่นก็ไม่น่าใช่ เพราะใจความของแฟชั่นคือ “ความชั่วคราว” แต่ดูเหมือนผมทรงลานบินจะเป็นที่นิยมมายาวนาน ย้อนกลับไปดูหนังสือพิมพ์เมื่อสิบปีที่แล้ว ผมทรงนี้ก็ปรากฏราวกับว่าเป็นที่นิยมมาตั้งแต่ชาวเซริ์บตั้งรกรากในคาบสมุทรบอลข่าน เมื่อผมทรงลานบินค่อนข้างเป็นที่แพร่หลาย จนอาจปักหลักกลายเป็นทรงผมชายประจำชาติอย่างถาวร เหตุผลด้านแฟชั่นจึงตกไป

 มาถึงเสื้อผ้า รสนิยมใมนการแต่งตัวของผู้ชายเซอร์เบียยิ่งทำให้ช่องว่างทางความงามระหว่างเพศชายและหญิงในประเทศห่างกันออกไปโข ถ้าสาวชาวเซริ์บ “จัดเต็ม” แม้กระทั่งตอนเดินออกไปซื้อบุหรี่ปากซอยบ้าน กริยาดังกล่าวอาจไม่ปรากฏในพจนานุกรมแฟชั่นของบุรุษชาวเซริ์บเลย โดยมากผู้ชายเซอร์เบียใส่เสื้อผ้าอยู่สองประเภท (ในฤดูหนาว) หนึ่งคือชุดกีฬาสีและทรงเข้ากัน ถ้าเสื้อแจ็คเก๊ตเป็นสีเทามีลายทางสีดำที่ไหล่ กางเกงย่อมต้องมีสีเทามีลายทางที่ข้างขาเช่นกัน (การใส่ชุดกีฬาเข้าสีทรงเช่นนี้ปรากฏในหมู่อิสตรีเช่นกัน ซ้ำยังมีลักษณะทางแฟชั่นที่เป็นมลพิษกว่า ถ้าพบกลุ่มสาวชาวเซริ์บใส่ชุดกีฬาเข้าสีทรงเมื่อไหร่ พวกเธอมักใส่สีชมพูแปร๋น ส้ม แดง หรือม่วงสะท้อนแสง ผ้าที่ใช้ตัดชุดกีฬาเหล่านี้เป็นผ้ากำมะหยี่ เข้าใจว่าผู้คิดค้นมีจุดประสงค์ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน เมื่อเธอเหล่านั้นเดินข้ามทางม้าลายยามค่ำคืน) ประเภทที่สองคือเสื้อแจ็คเก็ตหนังตัวใหญ่มาก ย้ำว่าใหญ่มากจริงๆ เหมือนไปเอาหนังควายทั้งตัวมาตัด โดยมากเป็นเสื้อสีดำ เมื่อนำใบหน้าไร้รอยยิ้มของชายในเบลเกรด บวกกับผมทรงลานบิน บวกกับเสื้อหนังตัวใหญ่มาก เราจะได้ “จิ๋กโก๋ทวงหนี้” แบบไร้ที่ติ เพียงเดินไปยืนจังก้าหน้าลูกหนี้ เจ้าหนี้อาจได้หนี้คืนมาง่ายดาย โดยไม่ต้องสาธยายคำขู่กรรโชกให้เมื่อยกราม เรามั่นใจว่าผู้ชายเซอร์เบียแต่งตัวประมาณนี้ถึงร้อยละ 70 ของประชากรชายทั้งประเทศ การหลุดฟอร์มการแต่งกายเช่นนี้เกิดเป็นหย่อมๆ ในหมู่วัยรุ่นเท่านั้น ที่หลงไหลแฟชั่นการแต่งกายตามสมัยเพียงชั่วครู่ที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เมื่ออายุมากขึ้นชายส่วนใหญ่กลับไปตายรังที่ “ยูนิฟอร์ม” แบบเซริ์บๆ คือเสื้อชุดกีฬาและแจ็คเก็ตหนังขนาดใหญ่แบบที่ใช้กันฝนสาดอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิได้

 สุดท้ายคือกระเป๋า อันนี้เป็นทีเด็ด ตอนแรกเราไม่เคยสังเกตแฟชั่นกระเป๋าของผู้ชายแถวนี้ จนกระทั่งวันหนึ่งเราเรียนภาษาเซอร์เบียเบื้องต้นร่วมห้องกับเพื่อนสาวลูกครึ่งสวีดิชและเซริ์บชื่อลิเดีย เธอตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับกระเป๋าของผู้ชายในเซอร์เบียขึ้นมา “ทำไมผู้ชายแถวนี้มักใช้กระเป๋าหนังใบเล็ก แบบเป็นเข็มขัดหนีบเอ็วได้” ลิเดียถามพลางเอียงคอทำหน้าฉงน อาจารย์สาวชาวเซอร์เบียฉงนกว่ากับคำถามแบบผ่าหมาก เธอไม่ตอบอะไร ได้แต่เปลี่ยนหัวข้อสนทนาเป็นการแก้เขิน แต่สำหรับเรานี่เป็นคำถามงานวิจัยอันยิ่งใหญ่ เรียกร้องให้นักวิจัยต่างถิ่นต้องพยายามหาคำตอบอย่างขะมักขะเม่นอีกครั้ง เอาละสิ ที่นี่เวลาเดินไปไหน ไปพบใคร คุยกับใคร นั่งที่ไหน ถ้าบุคคลนั้นเป็นประชากรชาย หรือผู้คนที่เดินผ่านไปมาเป็นเพศชาย เราจะพยายามสังเกตว่าเขาใช้กระเป๋าแบบไหน ทำไปได้สักพัก เราก็ค้นพบคำตอบอันน่ามหัศจรรย์...แม่เจ้า ผู้ชายแถวนี้นิยมใช่กระเป๋าเหมือนแม่ค้าขายเงาะบ้านเรา... เคยสังเกตไหมว่าแม่ค้าขายเงาะใช้กระเป๋าแบบไหน? ส่วนใหญ่เป็นกระเป๋าเหน็บเอว เพราะจะได้หยิบเงินทอนได้สะดวกโดยเฉพาะเวลาที่มีลูกค้ามุงซื้อเงาะให้ชุลมุน ผู้ชายเซอร์เบียใช้กระเป๋าเหน็บเอวในลักษณะเดียวกัน เพียงแต่ทำมาจากวัสดุหนังสีดำ (เข้าใจว่าเพื่อให้เข้ากับเสื้อแจ็คเก็ต) จะว่าไปนี่ถือเป็นไอเดียอัจฉริยะ เพราะเอกสาร ของกระจุกกระจิกทุกอย่างสามารถบรรจุในกระเป๋าขนาดย่อมนี้ได้ ทั้งยังไม่ต้องสะพายหลังหรือไหล่ให้ปวดกล้ามเนื้อ เพราะเหน็บเอวไปได้สบาย กล้ามเนื้อสะโพกย่อมแข็งแรงกว่ากล้ามเนื้อหลังและไหล่เป็นไหนๆ แต่ที่น่าสนใจไม่แพ้กระเป๋าแม่ค้าขายเงาะคือกระเป๋าหนังที่ใหญ่กว่ากระเป๋าเงินผู้หญิงหน่อย มีช่องจำนวนมาก ถ้าเปิดออกจะพบเอกสารเต็มไปหมด เหมือนคนแถวนั้นพกทะเบียนบ้าน ใบเกิด ในเปลี่ยนชื่อ ทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า ใบขับขี่ บัตรประชาชนรวมถึงพาสปอร์ต - ถ้าเป็นบ้านเราคงมีใบทำบุญโลงศพรวมอยู่ด้วย – ไปไหนมาไหนตลอดเวลา ตำแหน่งแห่งที่ของกระเป๋าหนังลูกพี่กระเป๋าสตางค์นี้คือ “จักกะแร้” อย่าหาว่าทะลึ่ง นี่เป็นข้อเท็จจริง เห็นมาแล้วกับตา ผู้ชายเซอร์เบียมักเหน็บกระเป๋านี้ที่จักกะแร้ เพราะมันไม่มีที่คาดเอวหรือสายสะพายไหล่เหมือนกระเป๋าผู้หญิง มันเลยต้องอาศัยพลัง “บีบ” ระหว่างแขนและสีข้าง เวลาไปไหนมาไหน เราก็จะเห็นผู้ชายเซริ์บเหน็บกระเป๋าหนังนี้ที่ใต้จักกะแร้ราวกับเป็นไข่ในหิน

ที่น่ารักมากคือเวลาไปผับ กระเป๋าหนังนี้ยังรักษาตำแหน่งแห่งที่ของมันตามร่างกายของชายชาวเซร์บได้ ถึงเวลาแดนซ์ก็ไม่มีปัญหา เพราะคนส่วนใหญ่ฝึกทักษะการเหน็บกระเป๋ามาอย่างช่ำชอง จึงแดนซ์ไปเหน็บไป กระเป๋าไม่มีตกให้ทะเบียนบ้านปลิ้นออกมาหกหล่นตามพื้นได้ แฟชั่นกระเป๋าชายนี้ หาวัฒนธรรมใดเสมอเหมือนได้ยาก ตอนไปเที่ยวอิตาลี เห็นพนักงานเสริ์ฟเหน็บกระเป๋าหนังไว้เก็บเงินทอนเงินบ้าง แต่ยังไม่แพร่หลายในหมู่ประชากรชายทั่วไปเหมือนที่เซอร์เบีย ส่วนที่อื่นของยุโรป วัฒนธรรมดังกล่าวยังไม่ประจักษ์ต่อสายตาเรา ฉะนั้นกระเป๋าเหน็บเอวและหนีบใต้จักกะแร้ อาจถือเป็น “โอท็อป” จากคาบสมุทรบอลข่านของจริง

เราคิดว่าช่องว่างทางวัฒนธรรมการแต่งตัวระหว่างประชากรชายและหญิงเซอร์เบียต้องมีเหตุผลบางอย่างรองรับ โดยทั่วไปผู้หญิงต้องพยายามทำให้ตัวเองดูสวยงาม เพื่อให้เพศตรงข้ามบริโภคความงามจากตน บางทฤษฎีอาจเห็นว่านี่เป็นไปเพื่อการบริโภคความงามในหมู่อิสตรีด้วยกัน ก็อาจฟังขึ้น ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้หญิงในเซอร์เบียจัดเต็มกับการแต่งกายมากกว่าฝ่ายชาย เพื่อนสนิทลูกครึ่งโครแอต เซริ์บ และมีเสี้ยวฮังกาเรียนให้เหตุผลต่างออกไป เธอบอกว่าที่ผู้ชายแต่งตัวเหมือนๆ กัน (ตัดผมทรงลานบินเหมือนกัน ใส่ชุดกีฬาและเสื้อแจ็คเก็ตหนังแบบเดียวกัน หรือใช้กระเป๋าเหน็บเอวรูปแบบเดียวกัน) เป็นเพราะสมัยที่ยูโกสลาเวียอยู่ภายใต้ระบบสังคมนิยม รัฐเป็นผู้แจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ประชาชน ดังนั้นผู้จึงได้ของใช้เหมือนๆ กัน ทั้งรัฐยังเผยแพร่วัฒนธรรมแบบ “รวมหมู่” (collectivism) ผู้คนจึงมีแนวโน้มทำอะไรให้เหมือนกับคนอื่นในชุมชนเข้าไว้ รวมถึงการเลือกทรงผม กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ “แฟชั่น” เสื้อผ้าและทรงผมที่ดูเหมือนหลากหลาย และเราเลือกได้ตาม “สไตล์” ที่เราอยากเป็น มีค่านิยม “ปัจเจกบุคคล” (individualism) แฝงฝังอยู่ บางที เราพยายามแต่งตัวต่างจากคนอื่น เพราะเราคิดว่าเราได้เลือกสิ่งที่เป็นเรามากที่สุด ทว่าการเลือกนั้นถูกควบคุมไว้ด้วยตรรกะทางวัฒนธรรมการเมืองบางอย่าง แต่ถ้าคำอธิบายนี้ถูก เหตุใดการแต่งตัวเหมือนกัน หรือตัดผมทรงเดียวกันจึงเกิดขึ้นในหมู่ประชากรชายเท่านั้น ไม่เกิดในหมู่ประชากรหญิงในเซอร์เบีย ลองคิดอีกทีว่าผมทรงลานบินมีที่มาจากกองทัพ การแต่งตัวเหมือนกัน หรือใช้กระเป๋าไม่ผิดแผกจากกลุ่มฝูงของตน ก็มีรากมาจากการติด “ยูนิฟอร์ม” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมข้าราชการ โดยเฉพาะในหมู่ตำรวจและทหาร และถ้าคิดต่อไปว่าเซอร์เบียเป็นประเทศที่ผ่านสงครามมาตลอดศตวรรษที่ 20 และสงครามถี่มากขึ้นในช่วงปลายศตวรรษ รัฐที่พันตูในสงครามย่อมต้องระดมพลเมืองชายให้สู้รบกับศัตรู ฉะนั้นความแพร่หลายของวัฒนธรรมทหารที่สะท้อนในทรงผม เสื้อผ้า และกระเป๋า อาจเกี่ยวพันกับประสบการณ์สงครามซึ่งผู้คนในแถบนี้ผ่านมาอย่างโชกโชน ถ้าเรื่องเสื้อผ้าหน้าผมและกระเป๋าเหน็บเอวยังสื่อประเด็นนี้ได้ไม่ชัด เรื่อง “อาหาร” อาจเผยให้เราเห็นความเชื่อมโยงได้มากขึ้น...ติดตามต่อไปในตอนหน้า

วันศุกร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2555

เซอร์เบีย...ไม่ใช่ไซบีเรีย (4): ความวัวหายไปแล้ว ความควายก็หายตาม (ต่อ)



ของอย่างที่มักมีชะตาพลัดพรากจากเราไปคือ กุญแจบ้าน โดยมากเราเป็นพวกชอบลืมเอากุญแจบ้านติดตัวออกจากบ้านมาด้วย ตอนเรียนที่ออสเตรเลีย เคยลืมกุญแจบ้านนับสิบครั้ง ครั้งแรกไม่รู้จะแก้ปัญหายังไง เลยตัดสินใจปีนเข้าบ้านจากทางหน้าต่าง คิดเพียงแต่ว่าอย่างน้อยตกลงมา บริษัทประกันย่อมจ่ายค่ารักษาให้ ภายหลังรู้ว่า เราไม่ต้องพยายามแย่งอาชีพสตันท์หญิงขนาดนั้น เพียงแต่ต้อง “รวย” เวลาลืมพกกุญแจบ้าน เพราะมี locksmith ผู้ดูแลกุญเจวิเศษสามารถเปิดเข้าบ้านทุกบ้านได้ ค่าบริการ locksmith ก็เหนาะๆ ครั้งละแค่ 50 เหรียญออสซี่ หรือประมาณ 1,500 บาทเท่านั้น

หลังจากกระเป๋าเงินหายที่เซอร์เบียได้หนึ่งเดือน เราทำกุญแจอพารท์เมนต์ตัวเองหาย นี่ถือเป็นอิทธิฤทธิ์ ต้องฝึกปรือเข้าขั้นโป้ยเซียนเท่านั้นถึงจะเสกให้สรรพสิ่งหายไปในเวลาอันสั้น ติดต่อกัน ขนาดนี้ได้ เรื่องมันมีอยู่ว่า เช้าวันหิมะเกือบตกวันหนึ่ง เรานัดกินกาแฟกับมิตรใหม่ชาวเซอร์เบียน ที่กำลังจะเดินทางกลับไปเรียนต่อที่เวียนนา เวลานัดคือหกโมงเช้า เวลานัดหมายรุ่งอรุณเช่นนี้อาจถือว่าผิดกฎหมาย (ทางวัฒนธรรม) ของพี่เซิร์บได้ อย่างที่เคยเล่าว่าเวลาเช้าของที่นี่คือเที่ยงวัน ก่อนออกจากที่พักเรามั่นใจว่าเอากุญแจอพารท์เมนท์ ซึ่งมีขนาดยาวเกือบเท่าเสาตะเคียนตกน้ำมัน หน้าตาคล้ายกับกุญแจไขหีบสมบัติฝรั่งโบราณ เสียบไว้ที่กระเป๋ากางเกงยีนส์ข้างหลัง ระบบความรอบคอบของสมองปิดการทำงานอย่างสิ้นเชิง เลยไม่ได้เอะใจว่ากระเป๋าหลังของกางเกงมิใช่ที่อยู่อันสมของกุญแจขนาดใหญ่เท่าเสาบ้านเช่นนี้

หลังจากกินกาแฟเสร็จ เราเดินกลับบ้าน ฮัมเพลงพลาง วางแผนตารางการทำงานในสมองไปพลาง เมื่อถึงหน้าห้องพัก มือขวาล้วงเข้าไปยังกระเป๋ากางเกงยีนส์ด้านขวาฝั่งหลัง มือพบเพียงความว่างเปล่า และผ้ายีนส์กระด้างบาดมือ เรายังคงทำใจเย็น ควานหากุญแจในกระเป๋าช่องต่างๆ และกระเป๋าย่าม ในรองเท้าบู๊ท (เผื่อกุญแจอยากเปลี่ยนที่อยู่จากกางเกงไปรองเท้า) ตามซอกหลืบต่างๆ ของร่างกายที่กุญแจสามารถแฝงกายอยู่ได้... “ชิ้บหาย” อีกครั้ง

แม้ตื่นตระหนก แต่ตัว “สติ” ที่หลบลี้ในหลืบหนึ่งของสมองกระซิบข้างหูว่าเราน่าทำกุญแจตกระหว่างเดินทางกลับจากร้านกาแฟมายังอพารท์เมนต์ โชคที่ดีระยะทางนี้ยาวไม่เกิน 500 เมตร เราเลยเดินตามรอยกลับไป ตาส่องหาโลหะหน้าตาคล้ายกุญแจ คิดในใจว่าถ้ากุญแจมีฟังค์ชั่นเหมือนมือถือก็ดี เราจะได้โทรตาให้มันกลับมาหาเรา อนิจจา ความคิดเช่นนี้เป็นเพียงจินตนาการปลอบใจคนซุ่มซ่ามเท่านั้น จากอาพารท์เมนต์ผ่านไปยังร้านขนมปังหรือ “เปการ่า” จากเปการ่าผ่านยังถนนใหญ่ ป้านรถเมล์ คนรอรถเมล์ รถเมล์กระป๋องวิ่งผ่านหน้า ท้ายสุดเรากลับมายืนหน้าสถานีรถไฟ ใกล้ร้านกาแฟ สถานที่นัดพบกับเพื่อนเมื่อเช้า กุญแจยังไม่กลับมาหาเจ้าของ “กะหลั่วๆ” อย่างเรา ทว่าเจ้าของมันไม่ยอมแพ้ง่าย พาสองขา กับหน้าหนาๆ เข้าไปถามเจ้าหน้าที่ในสถานีรถไฟว่าเห็นกุญแจบ้านเรามั๊ย... คนพวกนี้ทำหน้าฉงนงงงวยเป็นอย่างยิ่ง เพราะในตั้งแต่เกิดมาคงไม่เคยเจอใครมาถามหากุญแจบ้านของตัวเองที่สถานีรถไฟ เจ้าหน้าที่ทำความสะอาดรายหนึ่งถึงกับนินทากับเพื่อนต่อหน้าเรา แม้เราฟังไม่รู้เรื่องครบประโยค แต่จับใจความได้ว่า “เฮ้ย... ใครวะมันบ้าทำกุญแจบ้านหาย” ... เออ กูนี่หล่ะ!!

เสน่ห์อย่างหนึ่งของประเทศเซอร์เบียคือ พนักงานผู้ทำงานในสถานที่ที่น่าได้พบเจอชาวต่างชาติอย่างสถานีรถไฟ หรือไปรษณีย์ ไร้ซึ่งความกระเสือกกระสนพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ ขนาดอังกฤษขั้นพื้นฐานระดับป้าขายเต้าฮวยแถวถนนข้าวสารบ้านเราสื่อสารกับฝรั่งได้ พี่พนักงานเซริ์บก็ไม่กระดิก ฉะนั้นเวลาเรามีความจำเป็นต้องติดต่อกับคนเหล่านี้ (คือถ้าไม่จำเป็น จะพยายามหลีกเลี่ยง) เราต้องอาศัยกำลังภายในชนิดที่อี้ก๊วยยังแพ้... ในวาระดิถีนี้เช่นกัน เราไม่สามารถอธิบายให้พนักงานที่สถานีรถไฟเข้าใจได้ว่าเราทำกุญแจบ้านหาย และกำลังตามหามัน ทุกคนพยายามบอกให้เราไปแจ้งความ เราอยากเข้าไปเขย่าคนเหล่านี้ ให้เลือดมาเลี้ยงสมอง แล้วบอกว่า “พี่คะ ในโลกนี้มันมีคดีทำกุญแจบ้านหายมั๊ย ถ้าวันหนึ่งการทำกุญแจหายเป็นอาชญากรรม ดิฉันคงติดตารางปีละสองสามหน” เมื่อสื่อสารเองไม่ได้เรื่อง เราต้องจึงงัดกำลังภายในมาใช้ ด้วยการส่งข้อความไปหาเพื่อนคนที่เพิ่งนัดเจอกันว่าเราทำกุญแจบ้านหาย และขอให้เค้าส่งข้อความภาษาเซียเบียนกลับมาประมาณว่า “ดิฉันชื่อจันจิรา ทำกุญแจบ้านหาย ไม่ทราบว่าคุณเห็นมันตกแถวนี้บ้างมั๊ย” (ขอบอกว่าทุกวันนี้ยังบันทึกข้อความนี้อยู่ในโทรศัพท์มือถือ เหมือนเป็นเครื่องรางของขลังอย่างไรอย่างนั้น) นี่ถือเป็นข้อความขายขี้หน้า เหมือนประจานตัวเองว่า “ดิฉันโง่มากค่ะ ที่ทำกุญแจบ้านตกหาย ช่วยอนุเคราะห์ซื้อวิตามินบี 12 ให้ดิฉันทานแก้โง่ด้วย”

ทายสิว่าชะตากรรมระหว่างเรากับกุญแจบ้านเป็นอย่างไรต่อไป? ปิงป่อง! ถูกต้องแล้วว่าหาไม่เจอ สสารในโลกนี้เมื่อมันตัดสินใจทิ้งเจ้าของมันแล้ว หาให้ตามยังไง ก็ไม่มีทางหาเจอ (ดังนั้นอย่าได้เชื่อทฤษฎีไอนสไตน์เชียว) เราเดินคอตก หูพับ กลับไปยังอพาร์ทเมนต์ที่ไม่รู้จะเข้าไปได้ยังไง โทรหาเจ้าของอาคาร เค้าบอกว่ากุญแจสำรองอยู่กับสามีเก่า ซึ่งต้องนั่งรถออกนอกเมืองไปเจอที่บ้าน ทั้งยังไม่รวมเวลาที่ต้องใช้เพื่อก้าวข้าม “ดราม่า” กับฝาละมีเก่า คิดสารตะแล้ว เจ้าของบ้านอาจเอากุญแจสำรองมาให้เราได้ภายในห้าชั่วโมง (เป็นการประเมินที่อยู่บนข้อสันนิษฐานที่ว่าสามีเก่ายังเก็บกุญแจสำรองอยู่ ไม่ได้ทิ้งกุญแจเพราะน้อยใจภรรเมียที่ทิ้งตนไป) ระหว่างรอ เราควรอยู่ที่ไหน? จะสมัครเข้าร่วมสมาคมคนไร้บ้านเลยดีมั๊ย? หรือควรไปพึ่งพาสถานทูตดี? แต่ในเซอร์เบีย สถานทูตตัวแทนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเพียงสถานทูตอินโดนีเซียเท่านั้น ฉะนั้น ประชากรไทยอย่างเราเท่ากับมีสถานะเป็น “คนไร้รัฐพลัดถิ่น” ด้วยหรือไม่? องค์ความรู้สังคมศาสตร์ที่สะสมมาทั้งชีวิตกลายเป็นคำอธิบายที่ซ้ำเติมเคราะห์กรรมของผู้พลัดพรากจากกุญแจบ้านอย่างเรา




เราเดินไว้อาลัยกุญแจ กลับไปนั่งยองๆ หน้าประตูอพาร์ทเมนต์ ราวกับวิงวอนให้สิ่งศักดิ์ช่วยดลบันดาลให้ประตูเปิดออกเอง หรือให้เรามีเวทมนต์เปิดประตูเช่นอาละดิน ไร้ผล... สิ่งศักดิ์สิทธิ์คงไม่ได้เรียนเรื่อง “อภัยวิถี” มา ความเมตตาต่อมนุษย์อย่างเราจึงมีจำกัด ผ่านไปห้านาที หญิงสูงอายุซึ่งที่อยู่ถัดจากห้องพักเรา แง้มประตูห้องแกออกมสำรวจว่าตัวอะไรป้วนเปี้ยนอยู่หน้าห้องแก เราเงยหน้าขึ้นไปมอง หญิงชราเอ่ยด้วยน้ำเสียงอบอุ่น เป็นภาษาอังกฤษประโยคสั้นๆ “เข้ามาดื่มชาในห้องชั้นมั๊ย?”

ห้องพักของหญิงชราดูเล็ก เพราะมีของสะสมต่างๆ วางตามชั้น โต๊ะ และพื้นเท่าที่เนื้อที่ของห้องอำนวยให้วางของเหล่านี้ได้ ของสะสมเหล่านี้เป็นเครื่องปั้นดินเผาจำนวนมาก และมีรูปภาพหญิงสาวหน้าตาคมขำ แต่งตัวเข้ายุคสมัย ถ่ายในหลากประเทศในยุโรป บางรูปหญิงสาวถือเครื่องปั้นดินเผาของตน บางรูปเธอถือถ้วยรางวัล สายตาสอดส่องของเราไม่รอดพ้นสายตาอันเปี่ยมล้นด้วยเมตตาของหญิงชรา “ชั้นเป็นนักปั้นเครื่องเซรามิค” ประโยคภาษาอังกฤษสั้นๆ สำเนียงเซอร์เบียนไขข้อข้องใจ ซึ่งสะท้อนบนใบหน้าอันฉงนสงสัยของชั้น ชั้นยิ้มกว้างกลับให้เธอและตอบว่า “คุณสวยมากเลยนะในรูปเหล่านี้ เครื่องปั้นที่วางอยู่ในห้องของคุณ เป็นฝีมือคุณด้วยหรือเปล่า” หญิงชราพยักหน้า และยิ้มละไม

คุณยายชื่อ “ดรากานา” บ้านเกิดอยู่ที่เมือง “ปันเจช-โว” ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเซอร์เบีย ห้าสิบปีที่แล้ว สมัยที่ยูโกสลาเวีย ภายใต้การนำของจอมพลติโต คุณยายเป็นนักปั้นเครื่องเซเรมิคมือฉมัง เดินทางรอบยุโรป ตั้งแต่ลอนดอนถึง บราเซโลนา จากปารีสถึงเบอร์ลิน จากออสโลถึงอัมสเตอร์ดัม จากซาเกรบถึงมอสโคว ขณะที่ชีวิตกำลังรุ่งโรจน์ สามีของคุณยายป่วยด้วยโรคมะเร็ง และเสียชีวิตในเวลาไม่กี่ปีต่อมา อีกไม่นานลูกชายแกประสบอุบัติเหตุ กลายเป็นเจ้าชายนิทรา คุณยายพยายามหาทางรักษาลูกชายอย่างสุดกำลัง สุดท้ายแกส่งลูกสายไปรักษากับหมอที่กรุงมอสโคว ประเทศรัสเซีย (หรือสหภาพโซเวียตในขณะนั้น) รักษาได้สองสามปี ในวันฟ้าโปร่ง ปาฏิหารย์เป็นใจ ลูกชายแกฟื้น และมีอาการดีขึ้นตามลำดับ จนถึงขั้นใช้ชีวิตได้ตามปกติ คุณยายตัดสินใจลงหลักปักฐานที่มอสโคว ส่วนลูกชายแกเริ่มเรียนภาษารัสเซียเพื่อเตรียมเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย

เวลาที่เรารำพึงเล่นๆ ว่า “ชะตากรรมมักเล่นตลก” เมื่อชะตากรรมเช่นนี้เกิดขึ้นกับเราจริงๆ การเล่นตลกมักบังเกิดในลักษณะโศกนาฏกรรม ลูกชายของคุณยายถูกฆาตกรรมชิงทรัพย์ ขณะเดินทางกลับบ้านยามค่ำในกรุงมอสโคว... เมื่อเล่าถึงตรงนี้ คุณยายหยุด และขอไปตัวไปห้องน้ำ เราเดาว่าการเล่าเรื่องประสบการณ์การสูญเสียให้คนแปลกหน้าฟังคงไม่ใช่เรื่องน่าปรีดานัก แม้เวลาผ่านไปสี่ทศวรรษ ฝันร้ายยังกลับมาหลอกหลอนเรื่อยไป เราเดาต่อไปว่าหลังจากลูกชายคุณยายเสียชีวิต แกคงเดินทางกลับมาเบลเกรด และเพราะไม่มีพี่น้องอาศัยในเบลเกรด (บ้านเกิดคุณยายอยู่ต่างเมือง) คุณยายจึงอาศัยเพียงลำพัง เราคงได้แต่เดาเรื่องราวต่อจากการตายของลูกชายคุณยายไป ในสถานการณ์เช่นนี้ การเดาอาจเป็นปฏิบัติการทางจริยธรรมที่เหมาะสมมากกว่าการสอบถามเพื่อขุดคุ้ยความจริง และตอบสนองความกระหายใคร่รู้ส่วนตัว

จากวันที่กุญแจบ้านหาย เรา “พบ” เพื่อนใหม่ แม้ต่างวัย เมื่อใดที่เราทำอาหารไทย (แบบใช้ผงกะทิชาวเกาะ และเครื่องแกงสำเร็จรูปตราโลโบ) เรามักนำไปให้คุณยายเสมอ คุณยายทานเผ็ดไม่ได้ แต่รับกับข้าวเราไว้เพื่อถนอมน้ำใจ หลายครา แกแนะนำสถานที่ซื้อของจำเป็นที่เราไม่เคยหาเจอเลยในเมืองเบลเกรด วันหนึ่งเราทั้งสองนัดออกไปจ่ายตลาดด้วยกัน วันนั้นเป็นวันหะมิตกหนัก อุณหภูมิติดลบสิบ ระหว่างเดินไปตลาด คุณยายเป่ามือตนเองให้อุ่น จากนั้นเอื้อมมาจับมือเราแล้วบอกว่า “อย่าปล่อยให้มือเย็น เธอจะเป็นหวัด”

ก่อนเราออกเดินทางจากเบลเกรด ด้วยเสร็จภาระกิจการเก็บข้อมูลงานวิจัย เราถามคุณยายว่าแกสนใจเรียนทำอาหารไทยมั๊ย แววตาอันเฉยชากลับมามีชีวิต ราวกลับเป็นคำตอบรับบัตรเชิญ... เราสอนคุณยายทำแกงเขียวหวาน (แบบเผ็ดน้อย และแบบเครื่องปรุงจำกัด) แกเดินมาห้องเราพร้อมสมุดจดหนึ่งเล่ม ดินสอหนึ่งด้าม ดิคชันนารีภาษาอังกฤษ-เซอร์เบียน และพาย “บูเรค” – อาหารประจำคาบสมุทรบอลข่าน – ระหว่างสาธิต เราพยายามอธิบายเป็นภาษาอังกฤษช้าๆ เวลาใช้ศัพท์เทคนิค เราเปิดดิคฯ ให้คุณยายดูว่าภาษาเซอร์เบียนควรเป็นคำว่าอะไร คุณยายเป็นนักเรียนชั้นยอด แกจดทุกอย่างที่เราพูด และถามเมื่อไม่เข้าใจ เมื่อสาธิตเสร็จ คุณยายอ่านทวนสูตรที่แกจดให้เราฟัง เพื่อตรวจสอบว่าแกเข้าใจถูกต้องหรือไม่ จากนั้นแกเอ่ยขอบคุณ และบอกว่าแกอาจมีชีวิตอยู่ไม่นาน ดังนั้นแกดีใจมากที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับอาหารไทยสักครั้งในชีวิต... เราบอกแกว่านี่เป็นครั้งแรกที่เราสอนคนทำกับข้าวเหมือนกัน รู้สึกเป็นเกรียติอย่างยิ่งที่ได้ลูกศิษย์แบบคุณยาย... จากนั้นคุณยายให้สูตรทำพาย “บูเรค” กับเรา พวกเราแลกเปลี่ยนบทสนทนาเกี่ยวกับอาหารประจำชาติตนอยู่นานสองนาน เราไม่ได้ถามเรื่องครอบครัวของคุณยายอีกเลย

การพบปะของหญิงสองตน ต่างวัย ต่างวัฒนธรรม กลายเป็นประสบการณ์ไม่รู้ลืม อย่างน้อยในชีวิตของเรา วันที่เราออกเดินทางจากเบลเกรดคุณยายมอบหนังสือให้เราสองสามเล่ม และชอคโกแลตหนึ่งแท่ง หนึ่งในหนังสือเหล่านั้นคือวารสารข่าว ฉบับที่ตีพิมพ์การแข่งขันปั้นเครื่องเซรามิตที่ปารีส ซึ่งคุณยายดรากานาเป็นผู้ชนะ ส่วนชอคโกแลต ตอนแรกเราไม่แน่ใจว่าเหตุใดคุณยาย รวมถึงเพื่อนคนอื่นในเซอร์เบียจึงระดมให้ชอคโกแลตเรา ก่อนเราออกเดินทาง เราเรียนรู้ภายหลังเมื่อได้รับชอคโกแลตจาก “คนหนึ่ง” ก่อนออกเดินทางว่า อย่างน้อยในวัฒนธรรมเซอร์เบียกับผู้ที่กำลังออกเดินทางไกล เป็นสัญลักษณ์ถึงความรัก และความหวังว่าสักวันเราจะกลับมาเจอกัน... จากเบลเกรด สู่เมลเบริ์น และกลับมาจากยัง “บ้าน” ที่กรุงเทพฯ ทุกวันนี้เราคิดถึงคุณยายเป็นครั้งคราว ทุกครั้งความคิดถึงคละเคล้าความอัศจรรย์ใจในเหตุการณ์ที่ทำให้เราและคุณยายได้พบ จนกลายเป็นเพื่อนกัน บางทีเราตีความไปว่ากุญแจบ้านที่หายไป ไม่ได้หายไปอย่างที่คิด แต่มันคงปักติดกับประตูลี้ลับบางอย่าง และเปิดโลกอีกใบให้เราเห็น แม้โลกใบนี้อยู่ห่างเพียงแค่เอื้อม แต่เราไม่เคยคิดใส่ใจเปิดมัน กุญแจที่หายไปจึงช่วยเปิดประตูแห่งมิตรภาพระหว่างคนแปลกหน้าสองคน ซึ่งอาศัยรั้วเดียวกัน ที่สำคัญ กุญแจเปิดประตูแห่งความ “ใส่ใจ” ให้เราอาทรต่อคนแปลกหน้ามากขึ้น