พลังประชาชนในบริบทการรัฐประหาร 19 ก.ย.?
คณะปฏิรูปในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ให้เหตุผลในการก่อรัฐประหารว่า
1. การบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาลรักษาการณ์ที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคมไทยอย่างรุนแรงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในสังคมไทย
2. การบริหารราชการแผ่นดินส่อไปในทางทุจริต ประพฤติมิชอบ และเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องอย่างกว้างขวาง
3. อีกทั้ง มีพฤติกรรมแทรกแซงอำนาจขององค์กรอิสระ จนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ หรือแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติให้ลุล่วงไปได้...
4. รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองบางโอกาส ยังหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นต่อพระบรมเดชานุ ภาพแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นที่เคารพเทิดทูนของประชาชนชาวไทย...
(มติชน, 21 ก.ย. 2549)
บนฐานการให้เหตุผลนี้ ประชาชน “ส่วนใหญ่” ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเทเสียงให้แก่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อย่างท่วมท้นจนได้เป็นนายกฯถึงสองสมัย กลับพยักหน้าเห็นด้วย ตลอดจนยินดีปรีดากับการเปลี่ยนนายกฯ ด้วยวิธีการอัน “ไม่ประชาธิปไตย” (หรืออันที่จริงอาจจะเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ?) น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งที่จะคิดเล่นๆว่า หากรัฐประหารครั้งนี้เกิดเมื่อปลายปีที่แล้ว หรือต้นปีนี้ขณะที่ความรักระหว่างคนไทย รวมถึงกลุ่มชนชั้นนำต่างๆ กับท่าน(อดีต)นายกฯ ยังหวานชื่นอยู่บ้าง การแห่แหนชื่นชมรัฐประหารอาจกลายเป็นอื่น?
ภายใต้เหตุผลชุดเดียวกันนี้ ภาคประชาชนได้ต่อสู้กับสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ” ตลอดช่วงครึ่งปีกว่าที่ผ่านมา (หรือบางกลุ่มอาจนานกว่านั้น) แม้จะมีข้อโต้แย้งว่า คนกลุ่มนี้เป็นเพียงชนชั้นกลาง มาประท้วงแก้เหงาดีกว่านั่งเกาพุงอยู่บ้าน หรือกระทั่งถูกชักจูงโดยศัตรูทางการเมืองของท่าน(อดีต)นายกฯก็ตาม แต่ยากจะปฏิเสธได้ว่าคนเรือนแสนบนท้องถนนเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตลอดจนการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ 2 เมษายน ที่ปรากฏคะแนนโนโหวตถึง 9.8 ล้านเสียง และบัตรเสียอีก 3.8 ล้านใบ (นงนุช สิงหเดชะ, “พลังอารยะขัดขืน”, มติชน, 12 เม.ย. 2549) ทั้งยังไม่ต้องเอ่ยถึงปฏิบัติการสันติวิธีต่างๆที่หลายฝ่ายใช้ สามารถงัดอำนาจรัฐบาลและพวกพ้องได้อย่างมหาศาล ทั้งยังถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าอัศจรรย์ใจอย่างยิ่งสำหรับผู้สนใจสันติวิธี รวมถึงผู้ที่เห็นว่าสันติวิธีไร้น้ำยา
ตารางต่อไปนี้แสดงข้อมูลการใช้สันติวิธีเพื่อกดดันให้ (อดีต)นายกฯทักษิณลาออก ซึ่งผู้เขียนเก็บรวบรวมในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน 2549 เท่านั้น
ประเภท ปฏิบัติการสันติวิธี
1. โน้มน้าว/ชักจูง (Persuasion)
1.1 คำประกาศอย่างเป็นทางการ
1.2 สื่อสารกับสังคมในวงกว้าง
1.3 ชุมนุมในที่สาธารณะ
1.4 เดินขบวน
1.5 ปฏิบัติการเชิงสัญลักษณ์
1.6 ละคร/ ดนตรี/ ตลกหรือกิจกรรมเสียดสี - การยื่นหนังสือ และคู่มือการชุมนุมต่อตำรวจ
- การออกแถลงการณ์ให้ลาออก
- การอ่านคำประกาศไล่
- การยื่นจดหมายแก่สถานทูตสิงคโปร์และคุณหญิงพจมาน
- การแจกคู่มือการชุมนุม
- การแจกคู่มือคว่ำบาตรสินค้าสิงคโปร์
- การถ่ายทอดสดการชุมนุมประท้วงนายกฯ
- การติดป้ายตามสถานที่สาธารณะ
- การจัดเวทีสัมมนาทางวิชาการ
- การแจกใบปลิว
- การเทศน์
- การรณรงค์ “งดออกเสีย” ในการเลือกตั้ง 2 เมษา
- การใช้วลี “ทักษิณ-ออกไป” ตลอดการชุมนุมและเดินขบวน
- การชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 4 ก.พ., 26 ก.พ., และ 14-15 มี.ค. 2549
- การชุมนุมบริเวณสะพานมัฆวานและหน้าทำเนียบรัฐบาลหลังจากวันที่ 15 มี.ค. 2549
- การชุมนุมย่อยตามที่ต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สถานที่ซึ่งเป็น ผลประโยชน์ของตระกูลชินวัตร และตามจังหวัดต่างๆ
- การเดินขบวนมายังท้องสนามหลวง
- การเดินขบวนประท้วงไปยังกระทรวงแรงงานและทำเนียบรัฐบาล
- การเดินขบวนจากสนามหลวงมายังทำเนียบรัฐบาลเพื่อปักหลักชุมนุมประท้วง
-การเดินขบวนจากทำเนียบรัฐบาลไปยังห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน สยามแสควร์ และดิเอ็มโพเรียม
- การใช้วลี “ทักษิณ-ออกไป”
- การเผาโลงศพ และหุ่นจำลอง
- การวางพวงหรีดแสดงความไม่พอใจ
- การตั้งศาลจำลอง หรือ “ศาลประชาชน”
- การผลิตและใช้ธง หมวก ผ้าโพกศีรษะ เข็มกลัดและเสื้อ ที่มีข้อความขับไล่ ล้อเลียน หรือเสียดสีนายกฯ และรัฐบาล
- นำโคที่พ.ต.ท.ทักษิณเคยเทียม ประดับตกแต่งดัวยป้ายขับไล่
- การแต่งชุดดำไปทำงาน
- การสวดมนต์แผ่เมตตา
- การเปิดไฟหน้ารถยนต์
- การวาดภาพล้อเลียนนายกฯ
- มอบดอกไม้แก่เจ้าหน้าที่
- การออกข้อสอบ “ล้อการเมือง” ที่เสียดสีกรณีการทุจริตของพ.ต.ท. ครอบครัว และพรรคไทยรักไทย
- การแสดงดนตรีและ “งิ้วล้อการเมือง”
- การแสดงตลกล้อเลียนการเมือง
- การจัดทำพจนานุกรมเรียบเรียงและให้ความหมายศัพท์ที่ใช้ล้อเลียนเสียดสี
- การจัดมวยจำลอง
2. การไม่ให้ความร่วมมือ
(Non-cooperation) - การล่ารายชื่อถอดถอน
- การคว่ำบาตรการเลือกตั้ง
- สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจขู่หยุดงานและขู่ลาออก
- การคว่ำบาตรสินค้าสิงคโปร์ และสินค้าในธุรกิจของกลุ่มชินฯ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องการนักการเมืองในพรรคไทยรักไทย
-สหภาพแรงงานการบินไทยเสนอให้พนักงานใช้เทคนิคลาป่วย / อ้างว่าเครื่องบินเสียไม่สามารถให้บริการ หรือทำให้เครื่องบินออกช้ากว่ากำหนด
3. การแทรกแซงโดยตรง
(Direct Intervention) - การนั่งประท้วงเจ้าหน้าที่บนถนน เนื่องจากถูกกักระหว่างการเดินทางเข้ากรุงเทพฯเพื่อสบทบกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
- การใช้เส้นทางถนนบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อชุมนุมประท้วง ทำให้ถนนเส้นดังกล่าวถูกปิดไปโดยปริยาย
หมายเหตุ: ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์มติชน และเดลินิวส์
การแบ่งประเภทสันติวิธีอ้างอิงจาก ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ และคมสัน หุตะแพทย์ (แปล), ไพศาล วงศ์วรสิทธิ์ (บรรณาธิการ), ยีน ชาร์ป (เขียน), อำนาจและยุทธวิธีไร้ความรุนแรง (กรุงเพทฯ: โกมลคีมทอง, 2529)
อาจจริงดังที่หลายคนแอบกระซิบกันว่ารัฐประหาร หรือ “การปฏิรูปการเมือง” ครั้งนี้เป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำ เกิดขึ้นโดยชนชั้นนำ และดังนั้นเป็นเรื่องของชนชั้นนำ กระนั้น การเห็นว่าสาเหตุนี้เป็นสาเหตุเดียวที่อำนวยให้การรัฐประหารเกิดขึ้นได้ท่ามกลางความปีติยินดีของผู้คนได้ ก็เป็นเรื่องน่าเศร้ายิ่งนัก
เพราะนั่นเป็นอาการหลงลืม เข้าขั้นความจำเสื่อม ว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่นานเท่าใด ประชาชนคนธรรมดา (ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นลอยฟ้า ชั้นกลาง ชั้นล่าง หรือชั้นใต้ดิน) มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการถอนความชอบธรรมของรัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้ง และเมื่อการเกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. ความชอบธรรมดังกล่าวก็ถูกถ่ายโอนไปยังคณะปฏิรูปฯ พร้อมดอกไม้ อาหาร และการกลายเป็นดาราของทหารผู้ประจำการอยู่ตามจุดต่างๆ
อย่างไรก็ดี ข้อมูลข้างต้นน่าจะทำให้เห็นว่าหากกิจกรรมเหล่านี้ดำเนินต่อไปจนเสียงซึ่งไม่เห็นด้วย คัดค้าน ต่อต้านกับพฤติกรรมและ/หรือนโยบายของ(อดีต) นายกฯทักษิณ พวกพ้อง และพรรคไทยรักไทย ดังขึ้นเรื่อยๆ ความนิยมอันเป็นฐานความชอบธรรมของ(อดีต)ผู้นำท่านนี้ย่อมลดลงเป็นอัตราผกผัน นั่นหมายความว่า ท่าน(อดีต)นายกฯ อาจระเห็จออกจากตำแหน่งได้ด้วยน้ำมือประชาชน หรือมิเช่นนั้นก็อยู่ในตำแหน่งด้วยอาการกระอักกระอ่วน เนื่องจากถูกตรวจสอบจากผู้คนในสังคมอย่างเข้มงวด (โปรดพิจารณา ผาสุก พงษ์ไพจิตร, “สมมุติว่ารัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ไม่ได้เกิดขึ้น”, มติชน, 29 ก.ย. 2549, หน้า 6)
แต่แล้ว กระบอกปืนกับรถถังก็หยิบยื่นแกมบังคับทางเลือกทางการเมืองใหม่ให้เพียงชั่วข้ามคืน ขณะที่คนไทย มิเพียงไม่ต่อต้านขัดขืนใดๆ กลับเห็นว่าหนทางนี้ช่วยตัดตอนปัญหาได้อย่างน่ามหัศจรรย์ เพราะอย่างน้อยความแตกแยกในบ้านเมืองก็ถูกระงับลง(ชั่วคราว) และ(หวังว่า)อะไรๆในอนาคตจะดีขึ้นเอง ทว่าการเห็นดีเห็นงามเช่นนี้ เท่ากับสังคมไทยได้ปฏิเสธโอกาสในการเรียนรู้ว่าตนมีพละกำลังงัดง้างอำนาจทรราชย์เพียงไร... หรือบางทีวิ่งหลบหลังฮีโร่ แล้วร้องไชโยเมื่อก๊อตซิล่าตายอาจง่ายกว่า?
จันจิรา สมบัติพูนศิริ
ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ
มูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาธิปไตยและการพัฒนา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น