วันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2552

จากยะลาถึงกทม. (From Yala to Bangkok), published in Isara News Agency

จากยะลาถึงกทม… ว่าด้วยสันติวิธี และการเมืองเรื่อง “พื้นที่”

จันจิรา สมบัติพูนศิริ
สันติวิธีสากล และศูนย์ข่าวสารสันติภาพ มูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาธิปไตยและการพัฒนา

ที่หน้าประตูมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา รถราและยานพานหนะจำนวนหลายกระหยิบมือ ถูกเจ้าหน้าที่โบกให้จอด การจราจรที่ปกติไม่ใคร่จะแออัดเพราะสถานการณ์อันไม่ปกติ ก็ดูติดขัดคล้ายบริเวณแยกราชประสงค์แถวกรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่ทหาร ทหารพราน ตำรวจ หน่วยจู่โจม และหน่วยชื่อย่ออื่นๆอีกมากมายที่ผู้เขียนจำชื่อเต็มไม่ได้ เดินกันให้ขวักไขว่ ราวกับว่าประชาชนน่าจะอุ่นใจหากปืนไรเฟิลของพี่ๆเจ้าหน้าที่แกว่งไกวอยู่ใกล้ๆ... ผู้เขียนเองไม่พ้นถูกขอให้ลงจากยานพาหนะซึ่งมีผู้อนุเคราะห์ขับมาส่ง หลังจากเจ้าหน้าที่ตรวจกระเป๋าแล้ว ผู้เขียนก็ไถลกายผ่านเครื่องตรวจระเบิด ครั้นเมื่อเข้ามายังบริเวณมหาวิทยาลัย ผู้เขียนก็อัศจรรย์ใจอย่างสาหัสกับจำนวนเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจพร้อมอาวุธครบมือ (แว่วมาว่ามีประมาณ 1,200 ถึง 1,400 นาย) เพราะไม่แน่ใจว่าตัวเองมางาน “มหกรรมสันติวิธี” หรือปฏิบัติการซ้อมรับมือกลุ่มก่อการร้าย

เมื่อสืบเสาะถึงที่มาของระบบตรวจเข้มเหล่านี้ ผู้เขียนจึงถึงบางอ้อว่างานนี้ท่านอดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ มาเป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถานำ จึงไม่น่าแปลกใจที่บรรยากาศช่วงเช้าของงานวันแรกจึงดูราวกับปฏิบัติการซ้อมรบ... โชคดีที่ได้งานขายสินค้าโอทอปด้านหน้าช่วยบันดาลบรรยากาศให้คึกคัก แม้ผู้เขียนยังไม่อาจเชื่อมโยงได้ว่าสินค้าโอทอปเป็นเครือญาติฝ่ายใดกับสันติวิธีก็ตาม นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการเปิดตัวและแสดงผลงานขององค์กรรัฐ และไม่สังกัดรัฐ รวมถึงกลุ่มประชาสังคมรากหญ้าที่ทำงานด้านสันติวิธี มีภาพวาดเกี่ยวกับสันติภาพและสันติวิธี มีเวทีเสวนาเรื่องสันติวิธีจำนวนมาก มีการแสดงบนเวทีด้านหน้าที่เกี่ยวโยงกับสันติวิธี มีชาชักสันติวิธี ข้าวยำสันติวิธี และไม้เกาหลังยี่ห้อ “สันติวิธี”...

แม้ว่างานนี้ผู้เขียนจะรู้สึกสำเริงสำราญใจไปกับ “สันติวิธี” (จนกลับไปนอนละเมอเพ้อพกด้วยวิธีสันติ) แต่ในฐานะผู้สนใจและนักเรียน “สันติวิธี” สิ่งที่ผู้เขียนเห็นว่างานมหกรรมสันติวิธีครั้งที่สามนี้มีคุณค่ายิ่งนัก คือ “การสร้างพื้นที่แห่งการผ่านพบ” (Space of encounter) นั่นคือ สถานที่ (place) ที่ใช้จัดงาน – มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา – ได้กลายสภาพจากสถานที่ทางกายภาพเป็นพื้นที่ทางสังคม (social space) ซึ่งเอื้อให้ผู้คนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความขัดแย้งรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งปกติไม่ใคร่จะโคจรมาเจอกัน ได้มาอยู่รวมกัน แม้อาจไม่พูดคุย แต่ก็ผ่านพบกัน
เจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะฝ่ายปฏิบัติการะดับล่างที่ถูกระดมมากว่าพันนาย ปกติได้ยินนโยบายสันติวิธีจากนายเท่านั้น แต่อาจไม่แน่ใจว่าไอ้สันติวิธีนี่หน้าตามันเป็นอย่างไร มีหูตาจมูกปากเหมือนมนุษย์เดินดินทั่วไปหรือไม่ อย่างน้อยในงานนี้พวกเขาได้เดินลาดตระเวนผ่านบอร์ดนิทรรศการเกี่ยวกับสันติวิธี หยุดมองบ้าง หยุดอ่านบ้าง ทำหน้าเบ้ไม่เห็นด้วยบ้าง บางคนก็(แอบ)หยุดฟังพวกนักปฏิบัติการสันติวิธีคุยกัน ถึงแม้ไม่ตั้งใจรู้จักสันติวิธี แต่อย่างน้อยก็ได้ผ่านพบกับมัน

ชาวบ้านทั้งไทยพุทธและมลายูมุสลิมได้พูดคุยพบปะ เล่าเรื่องราวสารทุกข์สุขๆดิบๆสู่กันฟัง เรื่องลูกชายจะแต่งงานก็อาจเป็นเรื่องใหญ่ในการสนทนาที่กลบความสำคัญของงานสันติวิธี บางคนที่ไม่เอ่ยปากพูดคุยด้วยเพราะเป็นคนแปลกหน้า และระดับความไว้วางใจที่ลดต่ำ แต่ยังถือว่าเป็นโอกาสดีที่ได้ผ่านพบกัน ณ พื้นที่นี้
บรรดาNGOsที่มักออกแถลงการณ์ประนามเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ได้เห็นมิติความเป็น “มนุษย์ปกติ” ของเจ้าหน้าที่ตัวเล็กตัวน้อย ซึ่งบ้างก็พร่ำบ่นคิดถึงบ้าน บ้างก็ปลีกตัวออกไปสร้างงานศิลปะในลักษณะที่งานซึ่งทำอยู่ไม่อำนวยให้แสดงพรสวรรค์ด้านนี้มากนัก และบ้างก็ปรบมือหัวร่อไปกับการแสดงบนเวที... ภาพเช่นนี้คงไม่ได้เห็นกันง่ายๆ หากมิใช่พื้นที่แห่งการผ่านพบ
นักศึกษาบางคนที่ถูกเพ่งเล็งจากเจ้าหน้าที่รัฐว่าอาจเป็นแนวร่วมกับฝ่ายผู้ก่อการก็เข้าร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับสันติวิธี เจ้าหน้าที่หลายนายไม่ใคร่ละวางความระแวงสงสัยจึงส่ง “สายลับ” มาร่วมกิจกรรมกับนักศึกษาเหล่านี้ด้วย แม้ว่าจบงานนี้ ชื่อของนักกิจกรรมวัยกระเตาะอาจยังคงอยู่ใน blacklist ของเจ้าหน้าที่ แต่มหกรรมสันติวิธีคงเป็นหนึ่งในไม่กี่พื้นที่ที่เขาเหล่านี้ไม่ถูกจับหรือตามล่าเมื่อ “ผ่านพบ” กับเจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนเจ้าหน้าที่เองอย่างน้อยก็ได้มีประสบการณ์ผ่านพบกับแง่มุมแบบนักเคลื่อนไหวด้านสังคมของเยาวชนในพื้นที่ ซึ่งมิใช่ “ผู้ก่อสถานการณ์รุนแรง” เสมอไป
...
จากยะลากลับมากรุงเทพฯ สันติวิธียังคงเป็นอะไรที่...ฮิตติดดาว... พันธมิตรฯขอแจมใช้สันติวิธี รัฐบาลน้าหมักก็อยากร่วมขบวนรถไฟสันติวิธีด้วย กระนั้นก็ดี เหตุปะทะระหว่างพันธมิตรฯและนปช.เมื่อวันที่ 2 กันยายน ส่งผลให้สังคมไทยตั้งคำถามกับตัวตนของสันติวิธี ผู้คนเริ่มไม่แน่ใจว่าการพกปืนผาหน้าไม้ (กอล์ฟ) ของทั้งพันธมิตรฯ และนปช. (แม้จะอ้างว่าเพื่อป้องกันตัว) และการยั่วยุต่อกัน จนนำไปสู่การปะทะ เป็นสันติวิธีที่หลืบไหน ท่ามกลางการใช้ความรุนแรงในนามสันติวิธี กลุ่มคนที่ได้ชื่อว่าเป็น “พลังเงียบ” เริ่มส่งเสียงไม่เห็นด้วยกับสัญญาณการระบาดของความรุนแรงดังกล่าว หนึ่งในนั้นคือบรรดานักปฏิบัติการสันติวิธีที่ผู้เขียนรู้จักมักคุ้นอยู่บ้าง ซึ่งรวมตัวรวมหัวกันเพื่อประกาศ “พื้นที่สันติ”
อันที่จริงแนวคิดในตอนแรกคือการจัดตั้ง buffer zone เพื่อกันไม่ให้เกิดการปะทะระหว่างพันธมิตรฯและนปช.อย่างเมื่อวันที่ 2 กันยา รวมถึงโน้มน้าวให้ทั้งสองฝ่ายปลดอาวุธ แต่ยังสามารถดำเนินการประท้วงต่อไปได้... เมื่อผู้เขียนได้ฟังแนวคิดในหนแรกก็รู้สึก “ปอดแหก” ขึ้นมาตะหงิดๆ ด้วยกลัวว่าศพที่อยู่ระหว่างการปะทะของคนสองกลุ่มที่ไม่เห็นอีกฝ่ายเป็น “คน” อาจดูอุจาดตาเมื่อปรากฏบนหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่ง ประกอบกับยังนึกไม่ออกว่ากิจกรรมนี้จะช่วยลดอุณหภูมิการเมืองได้อย่างไร
“เอาก็เอาวะ!” เป็นเพียงวลีเดียวที่ทำให้ความอยากรู้อยากเห็น ออกหมัดแบบพี่สมจิตรน้อคชนะความปอดแหก จนพาสองขามายังอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ในบ่ายวันศุกร์ที่ 5 กันยายน ได้... เมื่อสองขาพามา สองตาก็กวาดมองไปทั่วห้องประชุม คะเนได้ว่ามีอาสาสมัครราว 30 คน กำลังวางแผนเดินขบวนเพื่อเปิดพื้นที่สันติบริเวณหน้าที่ทำการกองทัพบก ณ จุดที่เกิดนองเลือด เข้าใจว่า “พลังปอดแหก” ของผู้เขียนมีรังสีลี้ลับแรงกล้า จนกลายเป็นว่าในที่สุดแนวคิดการจัดตั้ง buffer zone โดยภาคประชาชนอาจต้องพักไว้ก่อน กิจกรรมหลักตอนนี้คือปฏิบัติการสันติวิธีเชิงสัญลักษณ์ เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการใช้อาวุธและความรุนแรงในการต่อสู้ทางการเมือง และเรียกร้องให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายคำนึงถึงผลกระทบของความรุนแรงต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์...
หากใครเดินผ่านไปมาบนท้องถนนราชดำเนินเมื่อบ่ายวันที่ 5 กันยา คงเห็นคนจำนวนหนึ่งเดินถือป้ายผ้าสีขาว “พื้นที่สันติ” แจกแผ่นสติกเกอร์ “ไม่เอาความรุนแรง” และพักหอบแฮ่กๆเป็นระยะเนื่องด้วยวัยวุฒิที่เพิ่มขึ้นแปรผกผันกับสภาพร่างกาย ระหว่างทาง ประชาชนรอบข้างทั้งให้กำลังใจและเย้าแหย่ (อาแปะคนหนึ่งแกยื่นสติกเกอร์ “ไม่เอาความรุนแรง” ให้เพื่อน แล้วเอ่ยแกมหยอกว่า “อ่ะ... เอาไปให้เมียที่บ้าน”) ในที่สุดพวกเราก็มาถึงหน้าที่ทำการกองทัพบก ด้วยความร่วมมือของพี่ๆตำรวจจราจรและหน่วยควบคุมฝูงชนที่เข้าใจดีว่าพวกเรามาด้วยเจตนาสันติ แม้ดูหน้าแล้วบางคนอาจยังฉงนว่าไอ้พวกนี้แบกป้ายผ้าเดินมาตั้งไกล แถมยังมีกล้วยไม้สีขาว จะมาไหว้เจ้าที่หรือไร...

สายฝนเริ่มโปรยปราย อาสามัครทั้งหมดยืนล้อมรอบป้ายผ้า “พื้นที่สันติ” เป็นวงกลม นารี เจริญผลพิริยะ (หรือที่รู้จักกันในหมู่ชาวบ้านว่า “คุ้งบางกรวย”) นักปฏิบัติการและนักฝึกอบรมสันติวิธีผู้คร่ำหวอดในวงการ ให้สัญญาณแรกจากระฆังประจำกาย พวกเราทั้งหมดยืนสงบนิ่ง (ยกเว้นลิ่งค่างอย่างผู้เขียนที่ยังคงรัวชัตเตอร์กล้องถ่ายรูปต่อไป) เมื่อเสียง “กริ๊ง” ครั้งที่สองดังขึ้น ทีมงานจึงโปรยดอกกล้วยไม้สีขาวที่เตรียมมา พร้อมกับสายฝนที่ยังคงตกพรำ ดอกกล้วยไม้สีขาวเข้าครอบครองพื้นที่ตรงกลางวงกลม ราวกับกำลังเปลี่ยนความทรงจำของความรุนแรงและความตาย ณ ที่นี้ ให้กลายเป็นความหวังที่ทุกฝ่ายจะเห็นคุณค่าของชีวิต... หลังจากนั้นพี่นารี จึงกล่าวไว้อาลัยแต่คุณณรงค์ศักดิ์ กรอบไธสง ผู้ตกเป็นเหยื่อในเหตุปะทะเมื่อวันที่ 2 กันยา และย้ำเตือนให้เห็นว่าการใช้ความรุนแรงในการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งทางการเมืองรังแต่จะนำมาซึ่งความสูญเสีย

แม้ว่าเป้าหมายของกิจกรรมครั้งนี้คือการประกาศเจตนารมย์ของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง รวมถึงการกำหนดให้พื้นที่ที่เกิดการปะทะไปแล้วหรือมีแนวโน้มจะเกิดการปะทะ เป็นพื้นที่สันติ ผู้เขียนกลับเห็นว่า ในอีกทางหนึ่งปฏิบัติการครั้งนี้เป็นปฏิบัติการแย่งชิงความหมายของพื้นที่ นั่นคือ การประกาศว่าการปะทะบริเวณหน้ากองทัพบกมิใช่ความยิ่งใหญ่ หรือชัยชนะของคู่กรณีไม่ว่าฝ่ายไหน แต่เป็นความพ่ายแพ้... พ่ายแพ้ในการพิทักษ์ชีวิตผู้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองของฝ่ายตน พ่ายแพ้ที่ปล่อยให้ความเกลียดชังเข้าครอบงำจิตใจตน พ่ายแพ้ที่ไม่มิอาจโอบอุ้มสันติวิธี (ที่แต่ละฝ่ายอ้าง) ให้เป็นพลังอันชอบธรรมในการต่อสู้ทางการเมืองได้... ปฏิบัติการโดยคนธรรมดาไม่มากกว่า 30 คน ต่างหากกลับกลายเป็นพลังกู่ก้องให้กับผู้คนในสังคมได้รู้ว่า ต่อจากนี้ พื้นที่ไร้ความรุนแรง จะขยายจากบริเวณซึ่งเกิดการปะทะเมื่อวันที่ 2 กันยา ไปยังที่อื่นๆของประเทศ ตลอดจนความขัดแย้งจะต้องไม่นำไปสู่ความเกลียดชังและการลดทอนความเป็นมนุษย์ของฝ่ายตรงข้าม

จากยะลาถึงกทม... หลายคราผู้เขียนลังเลต่อการปลาบปลื้มกับสันติวิธีที่นับวันจะกลายเป็น cliché แห่งชาติ สันติวิธีที่เป็นวลีโก้เก๋ซึ่งทำให้การจัดนิทรรศการและการเสวนาทางวิชาการดูอินเทรนด์ไม่หยอก รวมถึงสันติวิธีที่แยกไม่ออกระหว่างการนั่งประท้วงกับการใช้ปืนปะทะ แต่ก็อีกหลายคราที่ผู้เขียนยังคงเชื่อว่าสันติวิธีเป็นพลังซึ่งเปิดพื้นที่-ทางออกอันสร้างสรรค์ให้กับสังคมการเมือง
ประสบการณ์จากมหกรรมสันติวิธีที่ยะลาแสดงให้เห็นว่าที่จริงแล้ว “งานสันติวิธี” อาจมิใช่เพียงการออกร้าน นิทรรศการและมหรสพทางวิชาการ แต่อาจรวมนัยที่ลึกซึ้งกว่านั้น นั่นคือการสร้างพื้นที่แห่งการผ่านพบ ซึ่งเอื้อให้เกี่ยวกับข้องกับปัญหาความขัดแย้งรุนแรง ได้มาอยู่ในสถานที่เดียวกัน เปิดพื้นที่แห่งการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ตลอดจนเป็นแรงบันดาลใจในการก้าวข้ามความเป็นศัตรูต่อกัน... เรื่องราวจากนักปฏิบัติการสันติวิธีเพื่อสร้างพื้นที่สันตินั้น ช่วยให้เห็นถึงการต่อสู้เพื่อแย่งชิงความหมายของพื้นที่ และช่วงชิงความทรงพลังของสันติวิธี กล่าวคือ การพลิกฟื้นพื้นที่ที่เคยเกิดเหตุการณ์นองเลือดนับเป็นปฏิบัติการสันติวิธี ขณะเดียวกันสันติวิธีชนิดที่เห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ถือเป็นสันติวิธีที่ทรงพลังยิ่งกว่าแบบที่ผูกตนเองอยู่กับความเกลียดชัง... และนี่คือพื้นที่ทางเลือกซึ่งเปิดให้กับการมองสันติวิธีในฐานะ “ทางเลือก” เพื่อออกจากกับดักแห่งความรุนแรง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น