วันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เรื่องเล่าแห่งความกลัว (Narratives of Fear), published in Matichon in 2005

เรื่องเล่าแห่งความกลัว

“เราจะไม่ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ 2 คนตายฟรี” “นี่คือการกระทำของสัตว์เดรัจฉาน” “ท่านผู้ฟังครับ ไอ้พวกนี้มันไม่ใช่คนไทย คนไทยไม่มีทางฆ่าคนไทยด้วยกันเองแบบนี้เด็ดขาด” “ทำไมเจ้าหน้าที่ไม่แก้ปัญหาด้วยการปิดหมู่บ้านและฆ่ามันทั้งหมู่บ้านเลย” ฯลฯ...
วันที่ 22 กันยายน ขณะที่ฉันกำลังออกเดินทางจากกรุงเทพฯสู่นราธิวาส สังคมไทยกำลังเต็มไปด้วยอุณหภูมิแห่งความโกรธาอันเป็นปฏิกริยาต่อเหตุการณ์รุนแรงครั้งล่าสุดที่หมู่บ้านตันหยังลิมอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส sms ที่ปรากฏตามรายการวิเคราะห์ข่าวต่างๆและข้อความในweb board ถือได้ว่าเป็นปรอทวัดอารมณ์ของสังคมไทยในขณะนี้ได้อย่างดี... ปฏิกิริยาเหล่านี้ทำให้ฉันตั้งคำถามต่อความโกรธของผู้คนในสังคม ณ ห้วงเวลานี้ 2 ประการ ประการแรก ฉันไม่แน่ใจว่าการระเบิดอารมณ์โกรธต่อเหตุการณ์รุนแรงที่ตันหยงลิมออยู่บนฐาน “เรื่องเล่า” หลักเพียงเรื่องเดียวอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดหรือไม่? ถ้าใช่ อารมณ์โกรธนั้น ควรถูกสงสัยมากน้อยเพียงใด ประการที่สอง สมมุติว่า “เรื่องเล่า” ของเหตุการณ์นี้มีหลายเรื่อง และแต่ละเรื่องโยงใยกันอย่างสลับซับซ้อนจนไม่สามารถแยกแยะได้ว่าใครคือพระเอกหรือผู้ร้าย ฉันใคร่อยากตั้งคำถามง่ายๆต่อไปว่า เรากำลังโกรธ “ใคร”? และโกรธเพื่อออะไร?
รถตู้แล่นผ่านด่านตรวจทหารปากทางเข้าหมู่บ้านตันหยงลิมอ ทันทีที่รถจอด ทหารนายหนึ่งซึ่งมีสีหน้าเหนื่อยล้าอย่างสุดขีดเดินเข้ามาตรวจตรารถตามหน้าที่ หลังจากที่หนึ่งในทีมงานของเราแสดงหลักฐานการเป็นตัวแทนของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ซึ่งได้รับมอบหมายภาระกิจให้เยี่ยมครอบครัวของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ยิงร้านน้ำชาเมื่อวันที่ 20 กันยายน เจ้าหน้าที่ก็ปล่อยให้พาหนะของพวกเราผ่านเข้าไปอย่างไม่รีรอ... ขณะที่รถกำลังแล่นเข้าหมู่บ้านฉันรู้สึกหายใจติดขัดอย่างบอกไม่ถูก พลันความกลัวก็ปรากฏตัวอยู่ตรงหน้า อาจเพราะ “เรื่องเล่า” กระแสหลักที่ได้รับรู้มีส่วนทำให้ฉันรู้สึกเช่นนั้นไม่น้อย เมื่อลงจากรถ ทีมงานซึ่งเป็นผู้หญิงทั้งหมดเดินตรงไปยังบ้านหลังหนึ่งที่กำลังมองพวกเราด้วยสายตาหวาดระแวง อย่างไรก็ดี ภายหลังจากที่บทสนทนาด้วยภาษาท้องถิ่นเริ่มต้นขึ้น ความหวาดระแวงที่ว่าดูเหมือนจะบรรเทาเบาบางลงไปบ้าง... จากบทสนทนาสั้นๆนำไปสู่เรื่องเล่า ซึ่งเข้าซ้อนทับและสั่นคลอนการครอบงำของเรื่องเล่าหลักว่าด้วย “สังหารโหดนาวิกโยธิน” อย่างมหาศาล ฉันขอเรียกเรื่องเล่าทั้งสามเรื่องต่อไปนี้ว่า “เรื่องเล่าแห่งความกลัว

เรื่องแรก วันที่ 20 กันยายน หลังจากการละหมาดในช่วงหัวค่ำ ชาวบ้านได้ยินเสียงปืนรัวเร็วที่ร้านน้ำชาของหมู่บ้าน หลายคนรีบวิ่งไปดูที่เกิดเหตุ พบผู้ที่ถูกยิง 6 คน หนึ่งในนั้นเสียชีวิตทันที ที่เหลือถูกส่งไปยังโรงพยาบาล ต่อมาเด็กชายวัยเพียง 16 ปี ลูกชายที่น่ารักของครอบครัวเล็กๆครอบครัวหนึ่งได้เสียชีวิตลงท่ามกลางธารน้ำตาของผู้เป็นพ่อแม่ จากนั้นอีก 5 นาที ขบวนรถของเจ้าหน้าที่ก็มาถึง ทั้งที่ยังไม่มีผู้ใดไปแจ้งความ ข่าวแพร่สะพัดไปทั่วหมู่บ้านว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ครั้งนี้ ต่อมามีเสียงประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงที่มัสยิด พร้อมกับการเคาะไม้ทั่วทั้งหมู่บ้าน อันเป็นดั่งสัญญาณเตือนภัย กลุ่มคนกรูออกไปยังที่เกิดเหตุและพบรถของเจ้าหน้าที่ซึ่งมาถึงได้ไม่นานนัก ทั้งหมดรีบกลับขึ้นรถและออกจากหมู่บ้านไปอย่างทันควัน กระนั้นรถยนต์ของนาวิกโยธินสองนายดูเหมือนจะมีปัญหาบางประการจึงออกรถไปไม่ได้ ชาวบ้านจึงเข้าจับตัวนายทหารทั้งสอง ต่อมาเมื่อตรวจภายในรถพบว่ามีปืนเอ็ม16 วางอยู่ที่เบาะ โครงเรื่องแห่งความกลัวที่มีต่อเจ้าหน้าที่อยู่ดั้งเดิมผสานกับการตีความหลักฐานในรถ (ซึ่งภายหลังมีผู้ยืนยันว่าเป็นปืนคนละประเภทกับที่ใช้ก่อเหตุในร้านน้ำชา) รวมถึงอาการ “หนี” ของเจ้าหน้าที่ ทำให้ชาวบ้านตีความการปรากฏตัวของเจ้าหน้าที่ภายหลังเกิดเหตุการณ์เพียง 5 นาที ว่างานนี้คือฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ และหากมิใช่ฝีมือเจ้าหน้าที่ เหตุใดเมื่อชาวบ้านเข้าล้อม จึงต้องรีบรุดออกจากที่เกิดด้วย... ทหารนาวิกโยธินทั้งสองนายได้ถูกนำตัวมาคุมขังในอาคารซึ่งไม่ห่างจากมัสยิดเท่าใดนัก การจับกุมนี้กินเวลายาวนานข้ามคืน โดยมีกลุ่มผู้หญิงและเด็กล้อมบริเวณอาคารไว้ ขณะเดียวกันได้มีการชุมนุมที่ปากทางเข้าหมู่บ้านเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ผู้ที่ถูกยิงในร้านน้ำชาเมื่อคืนวาน นอกจากนี้ ชาวบ้านยังขอให้สื่อมาเลเซียเข้าทำข่าวการชุมนุม ด้วยเกรงความไม่เป็นกลางของสื่อไทย เวลาล่วงเลยไปถึงบ่ายแก่ของวันที่ 21 หลังจากละหมาด มีเสียงประกาศจากมัสยิดว่าทหารได้เข้าล้อมป่ายางและกำลังจะปิดหมู่บ้านเพื่อปราบปราม ผู้หญิงและเด็กที่ล้อมอาคารหลังนั้นอยู่จึงรีบรุดไปที่ป่ายาง โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคือ ทหารนาวิกโยธินสองนายถูกสังหารด้วยอาวุธที่หาได้ง่ายบริเวณที่คุมขัง อย่างไรก็ดี แม้คำอธิบายต่อจุดเปลี่ยนของเหตุการณ์ครั้งนี้จะมีหลายชุด และไม่มีผู้ใดสามารถยืนยันอย่างแน่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงวินาทีนั้นได้ แต่คำอธิบายหนึ่งที่น่าสนใจคือ โศกนาฏกรรมครั้งนี้อาจมีเหตุมาจาก “ความกลัว” กล่าวคือ ข่าวลือที่แพร่สะพัดว่าเจ้าหน้าที่กำลังล้อมปราบจากทางป่ายาง ทำให้ชาวบ้านบางส่วนไม่แน่ใจว่าสิ่งที่จะเผชิญต่อไปคือความเป็นหรือความตาย ทั้งที่อาจไม่มีเจตนาให้การจับกุมนาวิกโยธินสองนายนี้นำไปสู่การฆ่า

เรื่องที่สอง ภายหลังเกิดเหตุกราดยิงที่ร้านน้ำชา เจ้าหน้าที่มายังจุดเกิดเหตุทันทีเพื่อเก็บหลักฐาน ช่วงที่กำลังดำเนินการอยู่นั้นได้มีกลุ่มชาวบ้านมุ่งตรงมายังร้านน้ำชา พร้อมกับมีการประกาศด้วยข้อความบางอย่างเป็นภาษามาลายูที่มัสยิด เจ้าหน้าซึ่งโดยสารรถมาสามคันคือ รถหุ้มเกราะ รถกระบะ (ขาวแดง) และรถยนต์ ตีความลักษณะการกระทำและสายตาของชาวบ้าน ณ วินาทีนั้นว่า มี “สัญญาณแห่งความหวาดระแวง”และมีท่าทีคุกคาม ด้วยความกลัวว่าสัญญาณเช่นนี้อาจนำไปสู่ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยกับเหตุการณ์โจรนินจา เจ้าหน้าที่ทั้งหมดรีบวิ่งกับไปที่รถ ซึ่งในขณะนั้นรถกระบะได้มีคนขับนั่งอยู่ในรถและติดเครื่องเอาไว้พร้อมแล้ว บางส่วนจึงขึ้นไปยังท้ายรถกระบะ จากนั้นจึงขับออกไป ขณะที่นาวิกโยธินสองนายที่เหลืออยู่ต้องไขกุญแจรถ อีกทั้งลักษณะการจอดรถ ไม่สามารถทำให้รถสามารถแล่นออกจากหมู่บ้านได้ในทันที นายทหารทั้งสองจึงถูกกลุ่มชาวบ้านเข้าล้อม และจับเป็นตัวประกันในเวลาต่อมา วันรุ่งขึ้นชาวบ้านได้ชุมนุมบริเวณทางเข้าหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่เห็นว่าเหตุการณ์นี้มีผู้ยุยงปลุกปั่น และมีความพยายามให้ความขัดแย้งขยายเป็นความรุนแรงระหว่างรัฐกับชาวบ้านเช่นเดียวกับเหตุการณ์ตากใบ แม้จะมีความพยายามใข้การเจรจาอย่าง “สันติวิธี” ขณะเดียวกันก็หาวิธีช่วยให้ตัวประกันออกมาอย่างปลอดภัย แต่แล้วชั่วโมงแห่งความตึงเครียดอันยาวนานก็จบลงด้วยความตายของทหารนาวิกโยธินสองนายนี้... นายทหารผู้ใหญ่ท่านหนึ่งกล่าวกับนักฝึกอบรมสันติวิธีซึ่งอยู่ในช่วงท้ายของเหตุการณ์ในวันนั้นว่า “ผมพยายามใช้สันติวิธีมาเป็นเวลา 20 ชั่วโมงแล้ว....” ประโยคขาดห้วนไป มีเพียงสายตาแดงก่ำที่ไม่แน่ใจนักว่าเป็นผลจากความเหนื่อยล้า หรือความเศร้าโศกต่อการจากไปของลูกน้องทั้งสองคน

เรื่องที่สาม ทันทีที่เห็นดวงตาอันเหนื่อยอ่อนและเข็มเกร็งของชาวบ้านซึ่งมองตรงมายังทีมงาน ฉันรู้สึกได้ถึงความตึงเครียดอันเป็นผลจากความกลัวที่ลุกล้ำเข้ายังทุกอณูในหัวใจของผู้คน ขณะที่บทสนทนาระหว่างชาวบ้านละแวกนั้นกับหนึ่งในทีมงานว่าด้วยความกลัวอันเกิดจากการลาดตระเวนของทหารในยามวิกาลที่บ่อยครั้ง ซ้ำร้ายไปกว่านั้นยังมีการบุกค้นบ้านด้วยท่าทีข่มขู่คุกคาม, กำลังดำเนินอยู่ ฉันพลันเหลือบไปเห็นเพื่อนมุสลิมปลุกปลอบเมาะ(ยาย)คนหนึ่งซึ่งกำลังร่ำไห้ ภายหลังเพื่อนคนนี้เล่าให้ฟังว่า เมาะเล่าถึงสภาพในหมู่บ้านว่าตอนนี้ไม่มีใครทำมาหากินได้เลย เพราะทุกคนกลัว สุขภาพกายสุขภาพใจก็แย่ลงทุกวัน บ้านก็อยู่ไม่ได้ ต้องมานอนรวมกันที่บ้านใดบ้านหนึ่ง... ร้องไห้เพราะความคับแค้นใจในชีวิตที่ปกติก็ยากจนค้นแค้นอยู่แล้ว ยังต้องมาเจอกับควานรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิต และความตายที่ไม่รู้ว่าจะมาเคาะประตูบ้านเมื่อไหร่... จากนั้นสายลมแห่งความกลัวพาพวกเราไปยังบ้านของแม่คนหนึ่งที่เพิ่งสูญเสียลูกด้วยน้ำมือมัจจุราชไร้หน้า หญิงวัยกลางคนเล่าถึงคืนเกิดเหตุที่ร้านน้ำชาและความเป็นอยู่หลังจากวันนั้นว่า “หลังจากละหมาดเย็นนั้น ลูกไปร้านน้ำชา และไม่กลับมาอีกเลย... ลูกชายคนนี้เป็นเด็กดี ชอบทำงาน ไม่เคยเที่ยวเตร่ พอหลังจากทำงานก็ไปละหมาดที่มัสยิดทุกวัน... ตอนนี้เครียดมากเรื่องที่ไม่สามารถทำบุญ 7 วันให้ลูกได้ เพราะกลัวว่าถ้าจัดงานอะไรช่วงนี้จะไม่ปลอดภัย” ฉันถามถึงกระบวนการยุติธรรมภายหลังเหตุการณ์ หญิงผู้นั้นตอบด้วยสายตาและสีหน้ากังวลว่า “ไม่อยากให้สอบสวนอะไร มอบให้เป็นหน้าที่ของพระเจ้าไปแล้ว ตอนนี้แค่อยากทำมาหากินตามปกติยังไม่ได้เลย...” ชายอีกคนที่นั่งห่างออกไปเสริมว่า “ตอนกลางคืนกลัวมาก รูไส้เดือนยังอยากจะเข้าไปอยู่เลย พูดเสียงดังก็ไม่ได้ ไม่กล้าพูด เวลานอนก็ต้องมานอนรวมกันหลายๆคนในห้องครัว (ที่ลึกเข้าไปในตัวบ้าน - ผู้เขียน) เพราะกระสุนทะลุกำแพงซีเมนต์ไม่ได้... ตอนนี้ไม่อยากให้ทหารออกมาตอนกลางคืน ถ้าอยู่ก็อยู่ประจำที่ อย่าออกมาเดินเพ่นพ่าน แค่เห็นชุดสีเชียวที่มีปืนห้อย และได้ยินเสียงเฮลิคอปเตอร์บินก็กลัวมากแล้ว”

ฉันเห็นอะไรจากเรื่องเล่าทั้งสามนี้?
อย่างแรก ฉันเห็นตัวตนอันแทบจะว่างเปล่าของสิ่งที่เรียกว่า “ความจริง” เรื่องเล่าที่หนึ่งและสองแสดงให้เห็นว่าผู้คนรับรู้สิ่งต่างๆและตีความตามโครงเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างมี... วลีที่ว่ามนุษย์เราต่างมีโลกใบเล็กคนละใบที่เลือกรับรู้สิ่งต่างๆตามประสบการณ์ที่มีอย่างจำกัดจำเขี่ยของตัวเอง น่าจะพิสูจน์ได้ชัดจากกรณีนี้ กระนั้นก็ตาม ฉันคิดว่าสิ่งหนึ่งเราอาจทำได้เพื่อให้การรับรู้ของเราขยายใหญ่ขึ้นไม่มากก็น้อย คือการสงสัยและตั้งคำถามต่อความเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของเรื่องเล่าที่อ้างตัวว่าเป็น “ความจริง” อีกทั้งพยายามโดดเข้าไปในเรื่องเล่าของผู้อื่นดูบ้าง เผื่อโลกใบเล็กของเราจะมีเรื่องเล่าหลายชุด หลายแบบ
อย่างที่สอง ฉันเห็นการปะทะกันของความหวาดกลัวอันนำไปสู่ความรุนแรงซึ่งต่างฝ่ายต่างเชื่อว่าเป็นวิถีทางที่ดีที่สุดในการออกจากความกลัวนั้น สิ่งที่น่าสนใจคือ ทั้งความกลัวและความรุนแรงทำงานร่วมกันดั่งขดลวดที่ม้วนหมุนไปราวกับไม่มีวันสิ้นสุด ท้ายที่สุดแล้ว ความกลัวอันนำไปสู่การใช้ความรุนแรงนั้นเวียนวนเข้ากัดกินจิตใจของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน หรือทหารที่ดูเหมือนปราศจากซึ่งความหวาดหวั่นต่อภยันตรายด้วยมีอาวุธปกปักษ์อยู่พร้อมสรรพ...
หากสมมุติว่า จากสิ่งที่ฉันเห็นบนฐานเรื่องเล่าทั้งสามทำให้เราก้าวข้ามข้อเท็จจริงที่ไม่ลงตัวทั้งหลายมาด้วยกัน และนำมาสู่ข้อสรุปประการหนึ่งที่ว่าโศกนาฏกรรมครั้งนี้เป็นผลจากการตีความตามโครงเรื่องซึ่งเต็มไปด้วยสาบสางแห่งความหวาดกลัวของแต่ละฝ่าย และด้วยข้อสรุปนี้ ทำให้เราไม่แน่ใจว่าอาจเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งและโยนบาปผิดให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ เนื่องเพราะสภาพความกลัวที่ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ต้องเผชิญล้วนมีหน้าตาคล้ายคลึงกัน อีกทั้งต่างฝ่ายต่างเผชิญกับความเหนื่อยล้าทางร่างกายและจิตใจไม่ต่างกันเท่าใดนัก และที่สำคัญทั้งชาวบ้านและทหารที่ปฏิบัติการในพื้นที่ย่อมต้องการให้ความรุนแรงที่ดำเนินอยู่สิ้นสุดลงในเร็ววันเพื่อกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติเช่นเดิม... สมมุติต่อไปว่า หากความไม่แน่ใจนี้โยงไปสู่ความไม่รู้ว่าจะเอาความโกรธไปวาง ณ ตำแหน่งแห่งหนใด ด้วยเพียงแค่เรื่องเล่าสามเรื่องที่พัวพันซ้อนทับกันอยู่ ยังไม่สามารถทำให้หาเหตุผลอันชอบธรรมให้แก่โทสะโกรธาได้ และหากเรื่องเล่าของเหตุการณ์มีมากกว่านี้ การหาเหตุให้ความโกรธของเรามิยากยิ่งขึ้นหรือ?? มาถึงตรงนี้ ฉันอยากให้ผู้อ่านกลับไปที่ย่อหน้าที่สองของบทความ และทบทวนว่าจะตอบคำถามสองข้อนั้นอย่างไร
ก่อนที่ฉันจะเดินทางออกจากหมู่บ้านตันหยังลิมอมีเรื่องราวเล็กๆที่อยากนำมาเล่าสู่กันฟัง ขอตั้งชื่อเรื่องนี้ว่า “เรื่องเล่าว่าด้วยช่องว่างแห่งความกลัว”
ขณะที่พวกเรากำลังพูดคุยอยู่กับพ่อแม่ของเด็กชายที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ยิงร้านน้ำชา เจ้าหน้าที่ทหารสองนายขี่รถจักรยานยนต์ผ่านมาและเข้ามาถามไถ่ เมื่อเราพยายามกลับไปสนทนากับชาวบ้านต่อ แม่ของเด็กชายเอ่ยขึ้นเป็นภาษามาลายูว่า “ช่วยบอกทหารทีว่าเราเป็นผู้เสียหาย ไม่ใช่คนร้าย ไม่ต้องมาตรวจบ่อย เรากลัว” ภายหลังจากล่ามแปลข้อความดังกล่าวให้เจ้าหน้าที่ฟัง เจ้าหน้าที่จึงตอบกลับว่า “ไม่ต้องกลัวทหารหรอก เพราะทหารมารักษาความปลอดภัยให้ชาวบ้าน” จากนั้นหนึ่งในทีมงานอธิบายต่อเจ้าหน้าที่ว่า “จริงๆแล้วชาวบ้านเค้าไม่ได้กลัวคุณ แต่เค้ากลัวเครื่องแบบกับอาวุธที่คุณถือ”... ฉากเล็กๆนี้ แสดงให้เห็นว่า ทั้งชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ต่างเก็บงำความกลัวไว้ในโลกของตัวเอง ด้วยไม่สามารถพูดคุยหรือสื่อสารได้โดยตรง ผลคือต่างฝ่ายต่างตีความการกระทำของกันและกันตามกรอบความคิดของตนเอง อย่างร้ายที่สุด เจ้าหน้าที่ตีความว่าชาวบ้านมีพฤติกรรมเข้าข้าง “ผู้ก่อการ” หรือกระทั่งเป็น “ผู้ก่อการ” เสียเอง ส่วนชาวบ้านตีความการปรากฏตัวทุกครั้งของเจ้าหน้าที่ว่าเป็นการมาเยือนของมหันตภัยชุดเขียว สิ่งที่สำคัญของบทสนทนาสั้นนี้คือ ในความกลัวมีช่องว่างที่อนุญาตให้ “คนกลาง” หรือ “ฝ่ายที่สาม” ช่วยให้การสื่อสารความคิด ความต้องการของแต่ละฝ่ายเป็นไปได้ นี่เองคือจุดเริ่มต้นของการสัมผัสเรื่องเล่าของผู้อื่นและช่วยให้แต่ละฝ่ายออกจากโลกแห่งการตีความตามการรับรู้ของตัวเอง เพื่อให้เห็นแง่มุมที่หลากหลายของกันและกันมากขึ้น อันนำไปสู่การตัดวงจรแห่งความกลัวอันเป็นฟันเฟืองหนึ่งของความรุนแรงได้ในที่สุด

จันจิรา สมบัติพูนศิริ
ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ
มูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาธิปไตยและการพัฒนา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น