วันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ความเคยชินและน้ำตา (Tears and Getting Used to It), published in Matichon Newspaper in 2004

ความเคยชินและน้ำตา
“ระเบิดหน่ะเหรอ...ชินซะแล้ว มันเกิดขึ้นทุกวันจนเป็นเรื่องปกติ วันไหนไม่มีนี่สิผิดปกติ”
“ถามว่ากลัวมั้ย...มันชินมากกว่า ถ้ามัวแต่กลัวก็ไม่ต้องทำอะไรพอดี”

ในช่วงเวลานี้ หากใครสักคนเริ่มต้นทักทายผู้คนในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ ด้วยคำถามเกี่ยวกับสถานการณ์และความรู้สึกเกี่ยวกับเหตุการณ์รุนแรงที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง คำตอบที่ได้ถ้าไม่ใช่ประโยคข้างต้นก็ใกล้เคียง...ผู้เขียนได้ยินท่วงถ้อยแห่งความเคยชินนี้เป็นครั้งแรกในวงสนทนาตามประสาผู้หญิง หลังการรับประทานอาหารกลางวันในงานสัมมนา “สานใจ ห่วงใยครอบครัว และชุมชนใต้” กระนั้น บทสนทนาเนื่องด้วยความเคยชินจากเหตุรุนแรงดังกล่าว มิได้เจือปนด้วยน้ำเสียงโศกสลดแต่ย่างใด ตรงกันข้ามกลับกลายเป็นตลกขำขัน ซึ่งช่วยย่อยอาหารกลางวันมื้ออร่อยที่เพิ่งผ่านพ้นไป...ใช่ มันอาจตลก แต่ก็เป็น “ตลกร้ายที่น่าเศร้า”...
ลองคิดดูเล่นๆว่า ตอนเด็ก เราต้องใช้เวลาเรียนรู้ในการแปรงฟันและปฏิบัติเป็นประจำ นานเท่าใดกว่าจะกลายมาเป็นความเคยชิน จนเป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำวัน ถ้านึกไม่ออก...สำหรับคนในเมือง ลองสมมุติว่าหากต้องอยู่บ้านที่ติดถนนใหญ่ซึ่งเต็มไปด้วยเสียงรถรา เสียงโหวกเหวกของผู้คน ร้านค้า และเครื่องจักร...นานเท่าไหร่กว่าจะคุ้นชิน จนรู้สึกว่าหากไม่ได้ยินเสียงที่ว่านี้วันใด ก็เหมือนขาดอะไรบางอย่าง จนถึงขั้นนอนไม่หลับก็เป็นได้...จากมุมมองของคนสามัญธรรมดา คงเข้าใจได้ไม่ยากว่า “ความเคยชิน” ย่อมเกิดจากการกระทำ หรือถูกกระทำ ซ้ำๆ ย้ำๆ เป็นประจำ จนอาจจะถึงวันละหลายๆครั้ง และในที่สุดสิ่งนั้นได้กลายเป็น “ความปกติ” หรือเป็นส่วนหนึ่งในกิจวัตรประจำวันของชีวิต ซึ่ง “ความปกติ” ดังกล่าวมีลักษณะเหมือน “Present Perfect” คือ เกิดขึ้นเป็นประจำตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน และมีแนวโน้มว่าจะดำรงต่อไปในอนาคต...
คำถามคือ เสียงปืน ระเบิด และการข่มขู่ อันนำมาซึ่งความหวาดกลัวจนถึงความสูญเสีย เป็นสิ่งที่ “พึง” เคยชินหรือไม่? หรือเอาเข้าจริงแล้ว มนุษย์เราแทบไม่มีทางเลือกเลยว่าจะคุ้นชินหรือไม่คุ้นชินกับสิ่งใด ตรงกันข้ามความคุ้นชินที่บังเกิดขึ้นกลับ “shape” ตัวตนและวิถีชีวิตของเรามากกว่า...
ในช่วงเวลาสั้นๆ (1-2 วัน) ที่ผู้เขียนมีโอกาสใช้ชีวิตในจังหวัดยะลาเป็นครั้งแรก...ภาพความวุ่นวายอันเกิดจากเหตุวิสัญญีรายวันที่สื่อนำเสนอนั้น ได้ถูกชะล้างและแทนที่ด้วยความสงบเรียบง่ายของวิถีชีวิตผู้คนที่นี่...ภาพในยามเย็นที่ผู้คนทุกเพศทุกวัยมุ่งหน้าสู่สวนสาธารณะเพื่ออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจ (ที่น่ารักที่สุดเห็นจะเป็นผู้หญิงมุสลิมคลุมฮิญาบเต้นแอโรบิก...) รวมถึงบ้านเมืองที่สะอาด พร้อมด้วยอากาศที่แสนสดชื่น พอๆกับรอยยิ้มและมิตรจิตมิตรใจที่ชาวบ้านละแวกนั้นมอบให้แด่ผู้เขียนซึ่งเป็นคนแปลกหน้าในพื้นที่ สิ่งเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำวิถีชีวิตที่แสนปกติของผู้คนที่นี่...
อย่างไรก็ดี “ความปกติ” ที่ว่านี่ ต่างจาก “ความเคยชิน” ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น เนื่องเพราะภายใต้ความชาชินต่อเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นประจำในพื้นที่ ยังมีเรื่องเล่าและเสียงร้องเบาๆจากผู้คนตัวเล็กตัวน้อยที่ที่ถูกกระสุนปืนและความตายคร่าการดำรงชีวิตที่เคยเป็น “ปกติ” อันส่งผลให้ ความสูญเสียและความขาดหายเข้ามาแทนที่ สิ่งเหล่านี้ที่ชาวบ้านในพื้นที่กำลังบอกกับเราว่า “เขาชิน” ...ต่อไปนี้คือเรืองราวที่กำลังจะกลายเป็นความเคยชิน
...หญิงคนหนึ่งสูญเสียสามีจากการลอบยิง โดยขณะนี้ยังไม่สามารถจับตัวคนร้ายได้ เธอกลายเป็นหม้ายและลูกเป็นกำพร้า นอกจากนี้ สองแม่ลูกยังประสบกับภาวะ “aftershock” กล่าวคือ สามี (ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ) มักกลับจากการออกเวรในช่วงราวๆตี2เป็นประจำ ทำให้เธอและลูกมักสะดุ้งตื่นในช่วงเวลานี้เนื่องจากคิดว่าสามีหรือพ่อกลับมาบ้าน เธอกล่าวด้วยน้ำตาเจิ่งนองบนใบหน้าว่า... “อยากให้คนที่ทำร้ายและฆ่าสามีมารับรู้ความรู้สึก...เค้าไม่มีหัวใจหรือไง...หัวใจเค้าทำด้วยอะไร”
...หญิงอีกคน สามีถูกทำร้ายด้วยอาวุธมีดและได้เสียชีวิตที่โรงพยาบาล ทันทีที่รู้เรื่องเธอรีบตามไปโรงพยาบาล ด้วยความหวังอันริบหรี่ ทั้งๆที่ขณะนั้นสามีของเธอได้เสียชีวิตแล้วแต่ไม่มีใครกล้าบอกเธอ เมื่อถึงโรงพยาบาล เธอเห็นสามีนอนอยู่บนเตียง และคิดว่าเขากำลังเข้าสู่ห้วงสุดท้ายของชีวิต เธอพยายามช่วยให้สามีกล่าวบทสวดตามหลักศาสนาอิสลามก่อนสิ้นใจ เพื่อจะได้ขึ้นสวรรค์ไปพบพระเจ้า แต่เธอสังเกตว่าลิ้นของผู้ที่เป็นสามีแข็งราวกับคนตาย และทันใดนั้นเธอได้ยินเสียงวิทยุตำรวจจากเพื่อนของสามีที่ยืนอยู่ข้างๆรายงานว่าสามีของเธอได้เสียชีวิตแล้ว หัวใจของเธอเหมือนถูกตัวขั้วเมื่อพบว่าตนเองไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้แม้กระทั่งหน้าที่สุดท้ายของภรรยา... “รู้ซึ้งในคราวนี้ว่าการสูญเสียสามีเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่...แล้วต่อไปนี้เรากับลูกจะอยู่อย่างไร” เธอถ่ายทอดเรื่องราวด้วยเสียงอันสั่นเทา
...ขณะฟังเรื่องราวของหญิงทั้งสองคน เด็กชายอายุราว 12 ปี ที่นั่งอยู่ด้านหลัง ฟุบหน้าลงและร้องไห้ ในตอนแรกผู้เขียนเข้าใจว่าเด็กเป็นลูกของหญิงคนใดคนหนึ่งที่กำลังเล่าเรื่องอยู่ แต่หลังจากได้พูดคุย กลับได้พบความจริงที่น่าสะเทือนใจพอๆกันว่า พ่อของเด็กซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านถูกยิงเสียชีวิตไปเมื่อ ปี 2545 และเมื่อได้ยินเรื่องราวที่คล้ายคลึงกัน จึงคิดถึงพ่อขึ้นมาจับใจ รวมทั้งยังสะท้อนภาพวินาทีสุดท้ายที่ตัวเองได้เห็นขณะพ่อขณะสิ้นลม ราวกับตะกอนนอนก้นที่ถูกกวนให้ขุ่นขึ้นมาอีกครั้ง
ระหว่างที่เรื่องราวเหล่านี้ถูกถ่ายทอด ผู้คนในห้องต่างนั่งฟังด้วยความนิ่งเงียบ ท่ามกลางน้ำตาที่หลากหลั่งของทั้งเพื่อนในพื้นที่ 3 จังหวัด และคนต่างถิ่นจากกรุงเทพฯอย่างพวกเรา...คำถามต่อจากข้อกังขาต่อความเคยชินที่ผู้เขียนได้ตั้งไว้ข้างต้น คือ หากน้ำตาเป็นตัวแทนแห่งความเห็นอกเห็นใจ และเป็นสายใยเชื่อมโยงเรื่องราวทุกข์เศร้าของปัจเจกและผู้คนในสังคมไว้ “ความเคยชิน” กับน้ำตาย่อมเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันอย่างยิ่ง เนื่องเพราะ หากผู้คน “ชาชิน” กับความสูญเสีย ย่อมไม่มีอารมณ์โศกสลดใดๆ จนถึงขั้นต้องหลั่งน้ำตาร้องไห้ออกมา อีกทั้งผู้เขียนเห็นว่า “ความเคยชิน” เป็นฆาตรกรชั้นดีที่ฆ่าความเห็นอกเห็นใจซึ่งมนุษย์พึงมีให้กันอย่างเลือดเย็น... เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่น่าเป็นไปได้ว่าผู้คนในพื้นที่จะชาชินต่อความรุนแรงที่ดำรงอย่างต่อเนื่องตลอดมา หากแต่เป็นการบดบังและกดทับความโศกเศร้าอันเกิดจากความสูญเสีย รวมถึงความเครียดและความหวาดระแวงซึ่งทวีขึ้นเรื่อยๆ และรอวันที่จะระเบิดออกมา ผู้เขียนได้แต่ภาวนาขออย่าให้มีวันนั้นเลย

“ A life in which people made do, made their own, lived off the land, lived between the ground and God. It’s lost, not only to this world but also to memory”
- Garrison Keiller
Hog Slaughter -

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น