วันอังคารที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เซอร์เบียไม่ใช่ไซบีเรีย: เริ่มต้น ณ จุดเริ่มต้น

"เกือบตกรถไฟ”

นักศึกษาปริญญาเอกอายุสิบยี่ค่อนปลายจากประเทศโลกที่สาม และร่ำเรียนในดินแดนขั้วโลกใต้ ออกเดินทางไปยุโรปครั้งแรกเพื่อสำรวจพื้นที่เพื่อกรุยทางให้กับการเก็บข้อมูลเขียนวิทยานิพนธ์ ประเทศที่เธอตัดสินใจไปเยี่ยมชมศิวิไลซ์ และต้นกำเนิดของประชาธิปไตยขาดวิ่นในประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของเธอ มิใช่กรีก อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมันนี หรือมหาอำนาจบิ๊กบังอื่นๆ แต่คือ โรมาเนียและเซอร์เบีย ที่เป็นโรมาเนีย เพราะนักศึกษาต้องไปเสนองานเขียนส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ในงานประชุมนานาชาติเกี่ยวกับ “การเมืองของอารมณ์ขัน” ที่เมืองกาลาต (Galaţi) นอกเหนือจากเหตุผลทางวิชาการ เธอต้องการเห็นบ้านเกิดเมืองนอนของแดร็กคิวล่า ผู้ให้กำเนิดน้ำตกซกเล็ก อาหารประจำถิ่นอีสานบ้านเฮา ส่วนที่เป็นเซอร์เบียเพราะเธอศึกษากลุ่มประท้วงที่ใช้ “ตลกเสียดสี” ในฐานะปฏิบัติการไร้ความรุนแรง (nonviolent action) และประสบความสำเร็จในการโค่นล้มรัฐบาลสโลโบดาน มิโลเชวิทช ถามว่าเหตุใดถึงเป็นกลุ่มนี้ นักศึกษาปริญญาเอกที่ได้คุณภาพคับกล่องควรตอบว่าเป็นเพราะงานศึกษาก่อนหน้านี้ชี้ว่ากลุ่มประท้วงในเซอร์เบียดังกล่าวเป็นกรณีศึกษาโดดเด่น ขณะที่คำตอบของนักศึกษาซึ่งคิดถึงการเขียนวิทยานิพนธ์เสมือนการผจญภัยในโลกกว้างควรเป็น เพราะอยากรู้ว่าประชาชนไทยในประชาคมอาเซียนอย่างเราจะผ่าเหล่าผ่ากอทำวิจัยในดินแดนมหัศจรรย์ซึ่งตั้งอยู่สุดขอบฟ้าได้รอดหรือไม่... เหตุผลง่ายๆ มันส์ๆ ก็แค่นั้น

หนังสือประวัติศศาสตร์ประเทศโรมาเนียเล่มหนึ่งอ้างว่าประชากรในประเทศนี้เป็นลูกหลานสืบสกุลมาจากอาณาจักรโรมัน (Romania มาจากภาษาลาตินว่า romanus ซึ่งแปลว่า “ประชากรของกรุงโรม”) ยังไม่ทันอ่านต่อว่าปัจจุบันประเทศโรมาเนียมีสภาพเป็นเช่นไร ความศิวิไลซ์จากเมื่อพันปีที่แล้วยังเหลือเศษซากให้โลกจดจำอีกหรือไม่ เราก็ด่วนสรุปไปทันทีว่ากำลังจะได้ไปประเทศพัฒนาแบบยุโรปฝั่งตะวันตก บ้านเมืองต้องสะอาดหมดจด เป็นระเบียบเรียบเชียบ รถไฟตรงเวลา และที่สำคัญไม่มีคนขับแท็กซี่หัวหมอ


วินาทีที่ประตูสนามบินออตโตเปนี (Otopeni) แห่งเมืองหลวงบูคาเรสของโรมาเนียเปิดออก พี่โชเฟอร์แทกซี่ก็วิ่งปรี่เข้าหาเหยื่อนักท่องเที่ยวผู้กำลังมึนเครื่องบินอย่างขมีขมัน เราคิดในใจดังๆ “เอาหล่ะ โรมาเนียกับกรุงเทพฯ อาจไม่ต่างกันมากอย่างที่ตั้งข้อสมมุติฐานไว้” และแล้วข้อสมมุติฐานก็ได้รับการพิสูจน์เชิงประจักษ์ พี่แท็กซี่ที่รับเราไปส่งที่โฮสเตลวิ่งอ้อมเมืองสักแปดรอบ หลังจากทำไก๋ไม่เข้าใจภาษาปะกิตที่เราใส่เป็นชุดเพื่อทักท้วงแกมต่อว่าว่าทำไมไม่ถึงที่พักสักที พี่แท็กซี่มาจอดหน้าโฮสเตลหน้าตาเฉย แล้วเอานิ้วชี้ป้ายไปที่มิตเตอร์ซึ่งตอนแรกถูกบังด้วยเกียร์รถ ค่าแท็กซี่ปาไป 30 ยูโร อยากจะร้องให้แข่งกับพระแม่ธรณีกรรแสง ปริญญาเอกไม่ได้ช่วยให้มนุษย์อย่างข้าพเจ้าหลักแหลมขึ้นนัก

วันที่ไปถึงบูคาเรสเป็นวัน “หดหู่” แห่งชาติโรมาเนีย เพราะฝนตกไม่ยอมหยุด อากาศก็หนาวถึงขั้วตับ ลมแรงพัดตาตุ่มแทบยุบเรียบ ซวยแล้ว... ที่วางแผนว่าจะไปเที่ยวชมเมือง โดยเฉพาะจุดที่ผู้นำเผด็จการนิโคเล เชาเชสคุ (Nicolae Ceauşescu) ถูกประชาชนวิสามัญเมื่อตอนล้มล้างระบบคอมมิวนิสต์เมื่อปีค.ศ. 1989 ก็เป็นอันต้องล้มพับไป วันที่สอง วันที่สามก็แล้ว พายุฝนก็ไม่มีทีท่าจะหยุด เราพยายามเดินดูเมืองเรื่อยเปื่อย หลอกตัวเองว่ากำลังอยู่ในฤดูใบไม้ผลิ ทว่าการสร้างมายาคติให้กับตัวเองล้มเหลวน่าดู ฝนโพรยพรำตลอดวันพร้อมอากาศยะเยือกปอดคอยย้ำเตือนว่าเรากำลังติดอยู่ในช่วงวันหดหู่แห่งชาติโรมาเนีย วันที่สี่ในโรมาเนียเราต้องออกเดินทางไปเมืองกาลาต ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานประชุม อยู่ทางตะวันออกของบูคาเรส และมีแม่น้ำดานูบไหลผ่านเพื่อออกไปยังทะเลดำ (Black Sea) ต้องจากบูคาเรสไปทั้งที่ยังไม่ได้ชมเมือง น่าเศร้าใจไม่น้อย เราได้แต่ไปนั่งกร่อยที่สถานีรถไฟเมืองหลวง ซึ่งเอาเข้าจริงหัวลำโพงที่สร้างตั้งแต่รัชกาลที่ห้าบ้านเรายังดูน่าอภิรมย์กว่า 

เคราะห์ดีที่สภาพในรถไฟของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอย่างโรมาเนีย ต่างจากรถไฟในเมืองไทยมากหลายกระบุง เราเดินแบกระเป๋าพะรุงพะรังเข้าไปหาที่นั่ง ผู้โดยสารทุกคนมองตรงมาที่เราเหมือนเป็นมนุษย์ต่างด้าวมาจากดาวตาตี่ดั้งแบน บ้างมองพลางเคี้ยวข้าวเหนียว เอ้ย...ขนมปังยัดเบคอนไปพลาง เรานั่งข้างแม่ลูกอ่อน เด็กน้อยมองเราตาแป๋ว (คงสงสัยว่ายัยนี่ตัวอะไร) ส่วนแม่นั่งตัวเกร็ง คงบ่นในใจว่าทำถึงได้ตั๋วนั่งข้างชาวเอเชียหน้าแปลก

จากบูคาเรสมาถึงเมืองกาลาต ใช้เวลาประมาณสี่ชั่วโมงกว่า อากาศหนาวน้อยลงขณะที่ลมชื้นและกลิ่นทะเลลอยมาสะกิดไหล่เรา  นักศึกษาอาสาสมัครจากมหาวิทยาลัยดูนาเรีย เดอ โยส (Universitatae Dunarea de jos Galati) ซึ่งเป็นเจ้าภาพในการจัดงานมารอรับเราที่สถานีรถไฟ เมื่อเห็นเรา สาวน้อยดีใจมาก เธอสารภาพว่า “ฉันตื่นเต้นมากเลย คุณเป็นคนจีนคนแรกที่ฉันเคยเจอ” เรายิ้มละไมด้วยไมตรีจิต ตอบกลับไป “ฉันอาจทำให้เธอผิดหวังนะ ฉันมาจากประเทศไทย” นักศึกษากุลีกุจอถามต่อ “อ้าวคนจีนไม่ได้อยู่ในประเทศไทยเหรอ” เรายิ้มแบบมีน้ำอดน้ำทน ตอบกลับอีกทีว่า “ปล่าวจ๊ะ นั่นมันเรียกไทหวัน มิใช่ไทแลนด์” จากนั้นความเงียบเข้าแทรกบทสนทนาของเราพักใหญ่ก่อนที่น้องนักศึกษาจะรวบรวมความมั่นใจได้อีกครั้งและเริ่มเล่าประวัติเมือง รวมถึงชี้ชวนเราดูสถานที่ต่างๆ ระหว่างทางไปยังที่พัก

เมืองกาลาตเป็นเมืองเล็กๆ ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว ซ้ำร้ายยังมีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งเรียงรายนอกเขตเทศบาล นอกจากโบสถ์คริสเตียนออธอดอกซ์ และศาสนสถานสำคัญสองสามแห่ง เมืองเล็กๆ แห่งนี้ ไม่มีสถาปัตยกรรมประดับประดาเหมือนเมืองใหญ่อื่นๆ ในยุโรป ทว่าสถานที่เหล่านี้ยังคงสภาพดั้งเดิม (จากคำบอกเล่าของน้องนักศึกษา) เพราะรอดพ้นจากการทำลายล้างในช่วงประวัติศาตร์นองเลือดของยุโรปต่างกาลนับตั้งแต่สงครามศักดิ์สิทธิ์ช่วงกลางศตวรรษที่ 17 สงครามคาบสมุทรบอลข่าน สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามโลกครั้งที่สอง หรือกระทั่งระบอบคอมมิวนิสต์ของผู้นำชาวเชสคุก็มิอาจเปลี่ยนทำนองเพลงอันเนิบนาบที่บรรเลงขับเคลื่อนเมืองนี้ได้ สรุปว่าประวัติศาสตร์ของเมืองกาลาตนองเลือดน้อยกว่าเมืองใหญ่ๆ ของยุโรป แม้ไม่อาจทัดเทียมเรื่องความงามของสถาปัตยกรรมได้ 

กว่าเราจะค้นพบว่าความงามของเมืองนี้คือสายน้ำไหลเอื่อยคละเคล้ากับแดดรำไร และอากาศอุ่นกำลังดี ก็ปาเข้าไปวันสุดท้ายของงานประชุม ทีมงานพาผู้เข้าร่วมงานประชุม (ซึ่งเหลือหน่วยกล้าตายประมาณ 10 ชีวิต) ร่องเรือดูแม่น้ำดานูบ จิบไวน์ท้องถิ่นไปพลาง พูดกันตามตรง แต่ไม่พูดต่อหน้าคนจัดงานเพราะเกรงจะถูกชก งานประชุมเกือบล้มเหลวไม่เป็นท่าเพราะวัฒนธรรมการทำงานแบบ “ชิว เอาท์” ของชาวยุโรปในแถบอุษาคเนย์ ทว่าทริปล่องเรือนี้เป็นยาขจัดความหงุดหงิดอย่างดี นอกเหนือจากแม่น้ำดานูบ เย็นวันนั้นเราได้เห็นงานแต่งของคนท้องถิ่น แบบโรมันปนตริสเตียนออธอดอกซ์ ผู้ร่วมงาน บ่าวสาวและญาติเต้นล้อมเป็นวงกลม เตะเท้าซ้ายทีขวาที ดนตรีประกอบครึกครื้นคล้ายงานรื่นเริงในต่างจังหวัดแถวบ้านเรา อาหารไม่เยอะ แขกไม่ต้องแยะ แต่ดีกรีความรื่นเริงจากงานแต่งเล็กๆ ในห้องอาหารลึกลับ ก็ทำให้คู่สมรสได้รับคำอวยพรอันอบอุ่น... โอปป้า!

จากเมืองกาลาตทางตะวันออกของประเทศ เรานั่งรถไปข้ามภูมิภาคไปยังภาคเหนือตอนล่างแถบเทือกเขาคาร์ปาเทียน (Carpathian) แห่งเขตทรานซิลเวเนีย (Transylvania)เพื่อเริ่มปฏิบัติการตามรอยท่านเคาท์แดร็กคิวล่า แน่นอนว่าปฏิบัติการย่อมขาดรสชาดหากนักผจญภัยอย่างเราไม่ซุ่มซ่ามจนลงรถไฟผิดป้าย ต้องนอนค้างในเมืองลับแลหนึ่งคืนเพราะไม่มีรถไฟไปเมืองจุดหมายปลายทางบราชอพ (Braşov) ทว่าเมื่อดั้นด้นมาถึงเมืองท่านเคาท์ได้ในเช้าวันรุ่งขึ้น เราก็ไม่ผิดหวังเลย ศูนย์กลางเมือง (city centre) ของเมืองบราชอพ ยังคงความเก่าแก่และมนต์ขลังของเมืองยุคกลางได้แทบไม่มีที่ติ เราเดินรอบเมืองพูดคุยกับผู้คนแปลกหน้า พยายามเกลือกกลั้วตัวเองไปกับฝูงคนที่เดินจับจ่ายในเมืองช่วงบ่ายวันศุกร์ และแล้วเสียงเจื้อยแจ้ว ความหมายคุ้นหูก็ดังทะลุฝูงคนแปลกหน้ามากระแทกหลังเรา “เดี๋ยวเราไปซ็อปปิ้งที่ไหนต่อดีอ่ะตัวเอง”... เฮ้ย! อุตส่าห์หลบมาตั้งไกล ยังหนีไม่พ้นพี่ไทยขี้ช็อปเหรอ... ไม่ได้การ ต้องหนี 


รุ่งสางของวันใหม่ เราซื้อทัวร์ไปดูบ้านท่านเคาท์แดร็กคิวล่าที่เมืองบราน (Bran) ซึ่งดูยังไง๊ยังไงก็มีบรรยากาศคล้ายอยุธยา คือเป็นเมืองที่พยายาม “เก่า” เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่เสพสุขจากการท่องอดีตแบบประดิษฐ์อย่างเรา เมื่อปลอมมา เราก็ปลอมกลับตามน้ำไป การฝืนบรรยากาศแห่งความเสแสร้ง อาจทำให้เราเป็นโรคเครียด เกลียดโลก หน้าสูงวัยกว่าตัวเลขอายุจริง 
เชื่อกันว่าปราสาทบราน (Bran Castle) เป็นที่พำนักของท่านเคาท์แดร็กคิวล่า หรือท้าววลาด นักเสียบ (Vlad the Impaler – ที่จริงคำแปลภาษาไทยไม่ค่อยสะท้อนที่มาของชื่อท่านเค้าท์เท่าไหร่ ตำนาน “ผีดูดเลือด” ของเค้าท์วลาดมีที่มาจากวิธีการทรมานศัตรูด้วยการเสียบร่างกายของศัตรูด้วยเหล็กแหลม จนเลือดหมดตัวเสียชีวิต) จากเจ้าชายในประวัติศาสตร์ยุคกลางของโรมาเนีย ท่านเค้าท์กลายเป็นตัวละเอกในนิยายชื่อดังของแบรม สโตเกอร์ (Bram Stoker) เราคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เห็นที่พักของแดร็กคิวล่าเป็นบุญตาสักกครั้งในชีวิต เมื่อไปถึง กาลกลับกลายเป็นว่าปราสาทหลังนี้เป็นที่อาศัยของเจ้าหญิงเจ้าชาย ขุนเนื้อขุนนางทั้งจากมองโกล อาณาจักรออตโตมัน (ตุรกีปัจจุบัน) และฮังการี... ยกเว้นท่านเคาท์! โดนหลอกกันหล่ะคราวนี้ มิใช่เพียงข้าพเจ้าคนเดียวที่ถูกต้มจนเปื่อย ยังมีเพื่อนร่วมเส้นทางแห่งความเขลาอีกหลายสิบชีวิต นี่ยังไม่นับพวกที่ถูกหลอกมาก่อนหน้านี้ เราเดินทางกลับที่พักในเมืองบราชอพด้วยความชอกช้ำ แต่ไม่หมดหวัง กลับไปนั่งหาข้อมูลว่าบ้านที่เคาท์ (ของจริง) อยู่ไหนกันแน่ ปรากฏว่าอยู่อีกเมืองใกล้ๆ กัน ชื่อว่า “ซิงจิชัวร่า” (Singhişoara) วันรุ่งขึ้นเราจัดแจงนั่งรถตู้ไปเสาะหาบ้านท่านเคาท์ของจริง (แต่แอบระแวงเล็กน้อยว่าจะถูกหลอกอีก) เมื่อถึง เราพุ่งตรงไปสถานที่ซึ่งแผนที่ระบุว่าเคยเป็นบ้านของเค้าท์วลาดในวัยเยาว์
เรามองไปยังอาคารสีส้มอ่อน สองชั้น ตกแต่งด้วยสถาปัตยกรรมอันเรียบง่าย บนกำแพงหน้าบ้านมีป้ายชื่อซึ่งมิใคร่โดดเด่นเขียนว่า “บ้านเค้าท์วลาด” เรางง...ทำไมเป็นท่านถึงขุนข้ำขุนนาง แต่อยู่ในกระต็อบโบกปูน แถมชั้นแรกของอาคารถูกเปลี่ยนเป็น “คาเฟ่” (ในแถบคาบสมุทรบอลข่าน คาเฟ่เป็นทั้งร้านกาแฟและร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์) ส่วนชั้นสองจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เก็บของใช้ส่วนตัวของท่านเคาท์นับจำนวนชิ้นได้ เราเดินวนไปมาพักใหญ่ แล้วออกจากอาคารด้วยความงุนงงเล็กน้อย... เอ หรือว่าท่านเคาท์ยึดในหลักเศรษฐกิจพอเพียง ถึงได้อาศัยในสถานที่ขนาดย่อมเช่นนี้? หลายคำถามในโลกนี้มิมีคำตอบ นักเดินทางจึงเดินทางเพื่อค้นคว้าหาความงุนงงต่อไป



การเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางต่างๆ ในโรมาเนียยาวนานเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด อาจเพราะรถไฟแล่นเฉื่อยฉึกฉักไม่รวดเร็วทันใจเหมือนรถไฟด่วนเตเชเวในฝรั่งเศส หรืออาจเป็นเพราะเราคือนักเดินทางแปลกถิ่นย่ำท่องบนท้องถนนอันไม่คุ้นเคย เส้นทางสั้นๆ จึงดูเหมือนใช้เวลาเดินทางชั่วกัลป์กัล จากซิงจิชัวรามากลับมายังบราชอฟ ตามแผนตอนแรก เราต้องนั่งรถตู้กลับ เพราะมัวแต่เถลไถล เลยมาท่ารถตู้ไม่ทันรถคันสุดท้าย ทางเลือกสุดท้ายคือรถไฟท้องถิ่น ผู้โดยสารซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านสามัญ (ตั้งแต่ชาวสวน พ่อค้า ไปยังคนเลี้ยงแกะ) แม้พยายามเพลิดเพลินกับการสังเกตวัฒนธรรมท้องถิ่นในหมู่ผู้โดยสารเพียงใด แต่สายตาทุกคู่ซึ่งจ้องตรงมาที่เราก็ทำให้อึดอัดไม่น้อย ฉะนั้นเวลาชั่วโมงกว่าในรถไฟจึงผ่านไปช้าเหลือเกิน

วันต่อมาเรานั่งรถไฟจากบราชอฟกลับมายังฝั่งตะวันออกเพื่อผ่านไปยังเมืองชายฝั่งทะเลดำ (Black Sea) ที่ชื่อว่าคอนสตันซา  (Constança) ทว่าบรรยากาศในรถไฟน่ารื่นรมย์กว่ามาก ผู้ร่วมเดินทางในโบกี้เดียวกัน สงสัยใครรู้ว่าเรามาจากไหน มาทำอะไร แล้วจะไปไหนต่อ เลยส่งตัวแทนเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งส่งภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว ให้มาสืบประวัติจากนักท่องเที่ยวเอเชียตาตี่ผิวเหลือง ทำไปทำมา คนทั้งโบกี้ก็รู้ชีวประวัติเราอย่างถ่องแท้ เพราะแม่สาวเธอแปลทุกคำพูดและทุกเรื่องที่เล่าออกจากปากเรา (สังเกตจากเวลายาวนานที่เธอใช้ในการแปลภาษาอังกฤษกลับเป็นภาษาท้องถิ่น) กลายเป็นว่าพื้นที่ส่วนตัวซึ่งคนจากเมืองหลวงอย่างเราหวงนักหนา ได้ถูกทะลุทะลวงด้วยความใคร่รู้ของผู้คนซึ่งมิอาจสื่อสารกับเราด้วยภาษาอื่นนอกเหนือจากภาษาโรมาเนียได้ แม้มีบทสนทนาช่วยฆ่าเวลา แต่การนั่งรถไฟเจ็ดถึงแปดชั่วโมง ก็ยาวนานจนเกือบทนไม่ได้ แต่เมื่อถึงเมืองคอนซตานซา อันเป็นจุดหมาย ความเหนื่อยหน่ายจากความเอื่อยเฉื่อยของรถไฟก็เกือบมลาย เราวิ่งปรี่ไปยัง “ทะเลดำ” แต่แล้วก็ต้องชะงักงัน เมื่อพบว่าทะเลดำ ไม่มีสีดำอย่างที่จินตนาการไว้! ชื่อ “ทะเลดำ” เกี่ยวข้องกับตำนานปรัมปราของอาณาจักรโรมันมากกว่าสีของน้ำ บ้างร่ำลือว่าคำว่า “ดำ” มีนัยถึงอากาศแปรปรวนในท้องทะเลที่ทำให้เดินเรือยาก หรือมีที่มาจากชนเผ่าป่าเถื่อนตามชายฝั่ง... ทะเลดำที่ไม่มีสีดำจึงทำให้เราผิดหวังรอบสอง (ถัดจากเรื่องปราสาทท่านเค้าท์)

ในที่สุดเราก็ได้กลับมาที่บูคาเรสก่อนออกเดินทางไปเซอร์เบีย วันนั้นอากาศปลอดโปร่ง เลยได้เดินเที่ยวทั่วเมือง และที่สำคัญมาก คือได้เยี่ยมชมที่ทำการรัฐสภา และที่พำนักของประธานาธิบดีชาวเชสคุ รวมถึงระเบียงคฤหาสซึ่งเป็นจุดที่อดีตประธานาธิบดีถูกมวลสั่งวิสามัญ มีเรื่องเล่ากันว่าครั้งหนึ่งป้าไมเคิล แจ็คสัน ผู้ล่วงลับของเรามาทัวร์คอนเสริ์ตที่โรมาเนีย เธอมายืน ณ ระเบียง แห่งนี้ แล้วโพล่งออกไปด้วยความมั่นใจว่า “สวัสดีชาวเมืองบูดาเปส”... พี่คะ นั่นมันชื่อเมืองหลวงของประเทศฮังการี 
จากตัวเมืองบูคาเรสมายังสถานีรถไฟเพื่อเดินทางต่อไปยังนครหลวงเบลเกรด “เราเกือบตกรถไฟ” เพราะคนขับรถเมล์ดันไม่บอกว่าเรานั่งรถเลยป้าย ถามไป พี่แกก็ฟังภาษาอังกฤษไม่กระดิก จนเราต้องลงรถและหารถแท็กซี่ย้อนกลับมาที่สถานีรถไฟ แต่ในที่สุดพระเจ้าก็เห็นความมุ่งมั่นและความ “ถึก” ของนักศึกษาจากโลกที่สามอย่างเรา บันดาลให้มาถึงสถานีรถไฟทันเวลาพอดี ลองจินตนาการว่า หากเราตกรถไฟที่บูคาเรสครั้งนั้น คงไม่มีเรื่องราวมันส์ๆ ที่จะเล่าให้ฟังให้ในตอนต่อๆ ไป แล้วพบกันในเบลเกรด




วันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เซอร์เบียไม่ใช่ไซบีเรีย (5): เสื้อผ้า หน้า ผม...และกระเป๋าเหน็บเอว


กิจกรรมที่คุณควรทำเมื่อเยือนเซอร์เบีย คือ “มองมนุษย์” หากพลาดกิจกรรมนี้ถือว่ามิได้มาเหยียบปฐพีที่เป็นหัวใจของคาบสมุทรบาลข่าน สถานที่เหมาะในการทำกิจกรรมนี้คือถนนคนเดินคเนซ มิไคโลวา อันเป็นหน้าตาของนครเบลเกรด ตอนบ่ายแดดร่มลมตกของฤดูใบไม้ร่วง ถนนแห่งนี้คับคั่งไปด้วยชายหนุ่มหญิงสาว บ้างออกมาเดินชอปทางสายตา (ประมาณว่าเหมือนเวลาเราไปพารากอน แล้วซื้ออะไรจากห้างให้เป็นเนื้อเป็นหนังไม่ได้ นอกจากไส้อั่วหนึ่งไม้ราคาร้อยกว่าบาท) บ้างออกมาจิบกาแฟ บางคนมาเป็นคู่ เดินเกี่ยวแขนอี๋อ๋อให้พวกคนโสดสะเทือนใจ เราใช้เวลาส่วนใหญ่ช่วงที่ไม่ต้องวิ่งหูลู่ตามสัมภาษณ์ผู้คนเพื่อเขียนวิทยานิพนธ์ นั่งดูประชาชนชาวเซริ์บและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เดินทอดน่องที่ถนนแห่งนี้

สังเกตสังเกาสังคังได้พักใหญ่ เราถึงสังเคราะห์ “ช่องว่างระหว่างความงาม” ระหว่างชายและหญิงชาวเซอร์เบียได้ สาวเซอร์เบียนเป็นอาหารชนิดที่ว่ามองไปมา ไม่ต้องกินข้าวก็อิ่มได้ โดยเฉลี่ย บรรดาสาวๆ สูงประมาณ 170 ซ.ม. (นี่เป็นสถิติที่ครูสอนภาษาเซอร์เบียนคำนวนมาให้ เธอปรารภว่า “ชั้นเตี้ยไปสำหรับมาตรฐานสาวในเซอร์เบีย เพราะมีส่วนสูงแค่ 170”) โดยมากขายาว มีหน้าอกหน้าใจ ต่างจากสาวเอเชียที่มีน้อยใช้น้อยค่อยประหยัด เอวคอด สะโพกผาย... คิดว่าถ้าบรรยายเลยเถิดไปกว่า เราอาจได้ผันอาชีพจากนักวิจัยไปเขียนคอลัมน์วาบหวิวในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ก็เป็นได้... นอกจากทรวดทรงที่น่ามองจนหญิงรักชายอย่างเรา (คืออยากเน้นว่าที่เขียนทำนองนี้ไม่ได้เป็นหญิงรักหญิงแต่อย่างใด) ยังนั่งน้ำลายสอ สาวแถวนี้รักการแต่งตัวให้หมดจดเมื่อออกจากบ้านเป็นชีวิตจิตใจ ในฐานะผู้หญิงคนหนึ่ง เราพอเข้าใจว่าเวลาออกจากบ้าน การแต่งตัวให้หมามองแล้วไม่เมิน หรือไม่อ้วกเลอะถนน เป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวด แต่ผู้สาวในเบลเกรดเธอก้าวไปอีกขั้น เราเคยนัดเจ๊เจ้าของบ้านเช่ามองเม้ากินกาแฟกันที่หน้าปากซอย ห่างจากอพาร์ทเมนต์เราและเค้าไม่ถึง 500 เมตร อีชั้นเห็นว่าใกล้ เลยใส่กางเกงนอนตัวเก่า เสื้อแจ็คเก็ตสีหม่น รองเท้าวิ่งส้นสึก หน้าก็ขี้เกียจแต่ง ส่องกระจกแล้วดูคล้ายอาอึ้มจากซัวเถาขาวเผือดเหมือนขาดวิตามินดี สภาพซอมซ่อของเราดูขัดแย้งกับเจ๊เจ้าของบ้านเช่ามาก แค่ออกมากินกาแฟหน้าปากซอย เจ๊แก “จัดเต็ม” อากาศขณะนั้นประมาณ 15 องศา แบบปลายฤดูใบไม้ผลิต้นฤดูหนาว แต่เจ๊ลากเสื้อขนมิ้งลายเสือตัวหนาเหมือนเธอจะไปมอสโคว์ช่วงเกิดพายุหิมะ แม้ข้างบนเตรียมรับฤดูหนาวอันหฤโหด แต่ท่อนล่างเธอเป็นกระโปรงสั้น สีดำ ตอกย้ำความแนวด้วยถุงน่องตาข่ายเป็นรูๆ ดูแล้วยังไงก็ไม่กันกระทั่งลมมรสุมแถวบ้านเรา รองเท้านี่เด็ดสุด คือเป็นส้นเข็มชนิดที่เดินผ่านพื้นซีเมนต์ พื้นเป็นรู หน้าและผมของเจ๊เค้าก็ไม่ซีดเผือดหรือรกเป็นรังนกอย่างเรา เธอวาดคิ้วโกร่งดั่งสะพานข้ามแม่น้ำสะแกกรัง กรีดอายไลน์เนอร์ ปัดมัสคารา ระบายหนังตาด้วยอายเชโดว์ โปะด้วยกากเพชรเล็กน้อยพอให้สะท้อนแดดแล้วคู่สนทนาแสบตายิบยับ ทั้งยังทารองพื้นกลบรอบตีนกา และจัดการทาริมฝีปากด้วยลิปสีแดงข้นปนเลื่อมมัน เรานั่งกินกาแฟไป ปากขยับเม้าเรื่องเรื่อยเปื่อย แต่ในใจพลางคิดว่า “เป็นบาปกรรมของตรูรึเปล่าที่ชวนเจ๊เค้ามากินกาแฟ ทำให้เค้าต้องเสียเวลาแต่งตัวเหมือนมาออกงานกาล่าที่สภากาชาด แล้วนี่ถ้าตรูชวนเจ๊เค้าไปกินข้าวร้านข้างถนน เจ๊เค้าต้องจ้างช่างแต่งหน้า และตัดชุดราตรีใหม่เลยไหมหนอ...”

ไม่ได้การ เราเป็นนักวิจัยต่างถิ่น ไม่ควรล่วงเกินคนท้องถิ่นด้วยการละเลยต่อวัฒนธรรมเสื้อผ้าหน้าผม ว่าแล้วจึงดั้นด้นไปถามเพื่อนสาวชาวเซอร์เบีย (คือที่จริงไม่ได้ดั้นด้นอะไร พอดีเค้ามาจากอีกเมืองเพื่อเยี่ยมเราที่เบลเกรดพอดี) เมื่อเล่าสถานการณ์ไป เพื่อนมองหน้าด้วยสายตาสงสัย คล้ายไม่เข้าใจว่าการแต่งตัวแบบ “จัดเต็ม” อย่างเจ๊เจ้าของบ้านเป็นเรื่องผิดแผกอะไร ผ่านไปสามวินาที เพื่อนจึงเข้าใจว่าสำหรับชาวต่างด้าวอย่างเรา อาการจัดเต็มเช่นนั้นคงไม่ใช่เรื่องปกติเท่าไหร่ เธอจึงเฉลยว่า “ผู้หญิงแถวนี้เวลาออกจากบ้าน ทุกคนต้องแต่งตัวให้หมดจด ถือเป็นมารยาททางสังคมเลยทีเดียว เวลาที่คนซี่งเรานัดพบ แต่งตัวเช่นนี้ ถือเป็นการให้เกรียติ” เราเลยถามต่อไปว่า แล้วอย่างนี้เวลานัดเจอกันมีใครกล้าลากรองเท้าแตะ (คล้ายๆ พี่ไทย) ไปมั๊ย เพื่อนสวนกลับทันที “โอ.. นั่นถือว่าหยาบคายมาก การเผยเท้าของเธอให้คนที่ไม่สนิทเห็น ถือว่าไม่ใช่เรื่องสุภาพนัก” ได้ฟังอย่างนี้ เราจึงถึงบางอ้อว้า อันที่จริงวัฒนธรรมเรื่อง “อารยะ” (civility) ในแต่ละท้องที่มีตัวกำหนดแตกต่างกันออกไป ในเซอร์เบียการแต่งตัวแบบจัดเต็ม คือการแสดงออกถึง “อารยะปฏิบัติ” (civil practice) เพราะผู้แต่งกายกำลังสื่อสารกับอีกฝ่ายว่าตนให้เกรียติ ทั้งเห็นว่าอีกฝ่ายสมควรได้รับเกรียตินั้น หากอีกฝ่ายแต่งกายจัดเต็มไม่ต่างกัน บทสนทนาระหว่างสองฝ่ายจึงเริ่มต้นบนฐานการให้และการรับเกรียติลักษณะต่างตอบแทนกัน การสานสายสัมพันธ์ต่อจึงเป็นเรื่องง่ายขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าการแต่งกายแบบหมดจดในวัฒนธรรมเซอร์เบียคือ “รหัส” แห่งมิตรภาพ แต่ข้อสังเกตถัดไปของเราคืออาการ “จัดเต็ม” นี้เกิดขึ้นเฉพาะในหมู่อิสตรีเท่านั้น...การแต่งตัวของผู้ชายเซอร์เบียสะท้อนช่องว่างทาง “แฟชั่น” ระหว่างเพศอันไพศาล

เริ่มจากผม ผู้ชายเซอร์นิยมไว้ผมทรงลานบิน คือแถด้านข้างให้หัวเลี่ยนเตียน ส่วนที่พอจะมีเกศาประปรายอยู่บ้างคือด้านบนของศีรษะ เอาไว้จอดเฮลิคอปเตอร์ จึงเป็นที่มาของผมทรงลานบิน ผมทรงนี้นิยมมากในหมู่ทหาร บ้านเราคงเห็นได้จากนักเรียนชายร.ด. แต่ที่เซอร์เบียประชากรชายไว้ผมทรงนี้กันแทบทุกคน (ไม่เวอร์นะ อันนี้ทำการวิจัยสุ่มตัวอย่างเป็นเรื่องเป็นราว วันหนึ่งเคยไปนั่งที่ร้านกาแฟในเมืองประมาณห้าชั่วโมง มีบุรษเดินผ่านไปมาเรือนร้อย ประมาณแปดสิบเปอร์เซนต์ไว้ผมทรงลานบิน) ราวกับว่ามันเป็นบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งรัฐ อย่าไปหวังว่าจะได้เห็นผู้ชายไว้ผมยาว แสกข้างตรงหว่างหูให้ผมมันเป๋ไปข้าง จนร่างกายเสียสมดุล ต้องเดินตัวเอียง เหมือนจัสติน บีเบอร์ หรือเด็กแว้นบ้านเรา ชายชาวเซริ์บจงรักภักดีกับผมทรงลานบินเท่านั้น เราคิดหาเหตุผลสะระตะว่าเหตุใดปมทรงนี้จึงเป็นที่นิยม จะเป็นทรงที่เหมาะกับสภาพอากาศแถวนั้นรึก็ไม่น่าใช่ เพราะมันหนาวถึงรูขุมขนหัวใจเมื่อเหมันต์มาเยือน ยิ่งตัดผมสั้น ก็ยิ่งเพิ่มความหนาว เพราะฉะนั้นเหตุผลทางภูมิศาสตร์และสภาพอากาศจึงตกไป จะว่าเป็นเหตุเรื่องความงาม ก็ไม่แน่ใจว่าจะใช่ เพราะคนที่ตัดผมทรงลานบินได้ ต้องมีกะโหลกที่สวยเรียว จะมาเหลี่ยมๆกลมๆ เหมือนชายเกาหลี ก็จะสร้างมลพิษทางสายตาแต่ผู้พบเห็น จะว่าเป็นเรื่องความงามหรือแฟชั่นก็ไม่น่าใช่ เพราะใจความของแฟชั่นคือ “ความชั่วคราว” แต่ดูเหมือนผมทรงลานบินจะเป็นที่นิยมมายาวนาน ย้อนกลับไปดูหนังสือพิมพ์เมื่อสิบปีที่แล้ว ผมทรงนี้ก็ปรากฏราวกับว่าเป็นที่นิยมมาตั้งแต่ชาวเซริ์บตั้งรกรากในคาบสมุทรบอลข่าน เมื่อผมทรงลานบินค่อนข้างเป็นที่แพร่หลาย จนอาจปักหลักกลายเป็นทรงผมชายประจำชาติอย่างถาวร เหตุผลด้านแฟชั่นจึงตกไป

 มาถึงเสื้อผ้า รสนิยมใมนการแต่งตัวของผู้ชายเซอร์เบียยิ่งทำให้ช่องว่างทางความงามระหว่างเพศชายและหญิงในประเทศห่างกันออกไปโข ถ้าสาวชาวเซริ์บ “จัดเต็ม” แม้กระทั่งตอนเดินออกไปซื้อบุหรี่ปากซอยบ้าน กริยาดังกล่าวอาจไม่ปรากฏในพจนานุกรมแฟชั่นของบุรุษชาวเซริ์บเลย โดยมากผู้ชายเซอร์เบียใส่เสื้อผ้าอยู่สองประเภท (ในฤดูหนาว) หนึ่งคือชุดกีฬาสีและทรงเข้ากัน ถ้าเสื้อแจ็คเก๊ตเป็นสีเทามีลายทางสีดำที่ไหล่ กางเกงย่อมต้องมีสีเทามีลายทางที่ข้างขาเช่นกัน (การใส่ชุดกีฬาเข้าสีทรงเช่นนี้ปรากฏในหมู่อิสตรีเช่นกัน ซ้ำยังมีลักษณะทางแฟชั่นที่เป็นมลพิษกว่า ถ้าพบกลุ่มสาวชาวเซริ์บใส่ชุดกีฬาเข้าสีทรงเมื่อไหร่ พวกเธอมักใส่สีชมพูแปร๋น ส้ม แดง หรือม่วงสะท้อนแสง ผ้าที่ใช้ตัดชุดกีฬาเหล่านี้เป็นผ้ากำมะหยี่ เข้าใจว่าผู้คิดค้นมีจุดประสงค์ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน เมื่อเธอเหล่านั้นเดินข้ามทางม้าลายยามค่ำคืน) ประเภทที่สองคือเสื้อแจ็คเก็ตหนังตัวใหญ่มาก ย้ำว่าใหญ่มากจริงๆ เหมือนไปเอาหนังควายทั้งตัวมาตัด โดยมากเป็นเสื้อสีดำ เมื่อนำใบหน้าไร้รอยยิ้มของชายในเบลเกรด บวกกับผมทรงลานบิน บวกกับเสื้อหนังตัวใหญ่มาก เราจะได้ “จิ๋กโก๋ทวงหนี้” แบบไร้ที่ติ เพียงเดินไปยืนจังก้าหน้าลูกหนี้ เจ้าหนี้อาจได้หนี้คืนมาง่ายดาย โดยไม่ต้องสาธยายคำขู่กรรโชกให้เมื่อยกราม เรามั่นใจว่าผู้ชายเซอร์เบียแต่งตัวประมาณนี้ถึงร้อยละ 70 ของประชากรชายทั้งประเทศ การหลุดฟอร์มการแต่งกายเช่นนี้เกิดเป็นหย่อมๆ ในหมู่วัยรุ่นเท่านั้น ที่หลงไหลแฟชั่นการแต่งกายตามสมัยเพียงชั่วครู่ที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เมื่ออายุมากขึ้นชายส่วนใหญ่กลับไปตายรังที่ “ยูนิฟอร์ม” แบบเซริ์บๆ คือเสื้อชุดกีฬาและแจ็คเก็ตหนังขนาดใหญ่แบบที่ใช้กันฝนสาดอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิได้

 สุดท้ายคือกระเป๋า อันนี้เป็นทีเด็ด ตอนแรกเราไม่เคยสังเกตแฟชั่นกระเป๋าของผู้ชายแถวนี้ จนกระทั่งวันหนึ่งเราเรียนภาษาเซอร์เบียเบื้องต้นร่วมห้องกับเพื่อนสาวลูกครึ่งสวีดิชและเซริ์บชื่อลิเดีย เธอตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับกระเป๋าของผู้ชายในเซอร์เบียขึ้นมา “ทำไมผู้ชายแถวนี้มักใช้กระเป๋าหนังใบเล็ก แบบเป็นเข็มขัดหนีบเอ็วได้” ลิเดียถามพลางเอียงคอทำหน้าฉงน อาจารย์สาวชาวเซอร์เบียฉงนกว่ากับคำถามแบบผ่าหมาก เธอไม่ตอบอะไร ได้แต่เปลี่ยนหัวข้อสนทนาเป็นการแก้เขิน แต่สำหรับเรานี่เป็นคำถามงานวิจัยอันยิ่งใหญ่ เรียกร้องให้นักวิจัยต่างถิ่นต้องพยายามหาคำตอบอย่างขะมักขะเม่นอีกครั้ง เอาละสิ ที่นี่เวลาเดินไปไหน ไปพบใคร คุยกับใคร นั่งที่ไหน ถ้าบุคคลนั้นเป็นประชากรชาย หรือผู้คนที่เดินผ่านไปมาเป็นเพศชาย เราจะพยายามสังเกตว่าเขาใช้กระเป๋าแบบไหน ทำไปได้สักพัก เราก็ค้นพบคำตอบอันน่ามหัศจรรย์...แม่เจ้า ผู้ชายแถวนี้นิยมใช่กระเป๋าเหมือนแม่ค้าขายเงาะบ้านเรา... เคยสังเกตไหมว่าแม่ค้าขายเงาะใช้กระเป๋าแบบไหน? ส่วนใหญ่เป็นกระเป๋าเหน็บเอว เพราะจะได้หยิบเงินทอนได้สะดวกโดยเฉพาะเวลาที่มีลูกค้ามุงซื้อเงาะให้ชุลมุน ผู้ชายเซอร์เบียใช้กระเป๋าเหน็บเอวในลักษณะเดียวกัน เพียงแต่ทำมาจากวัสดุหนังสีดำ (เข้าใจว่าเพื่อให้เข้ากับเสื้อแจ็คเก็ต) จะว่าไปนี่ถือเป็นไอเดียอัจฉริยะ เพราะเอกสาร ของกระจุกกระจิกทุกอย่างสามารถบรรจุในกระเป๋าขนาดย่อมนี้ได้ ทั้งยังไม่ต้องสะพายหลังหรือไหล่ให้ปวดกล้ามเนื้อ เพราะเหน็บเอวไปได้สบาย กล้ามเนื้อสะโพกย่อมแข็งแรงกว่ากล้ามเนื้อหลังและไหล่เป็นไหนๆ แต่ที่น่าสนใจไม่แพ้กระเป๋าแม่ค้าขายเงาะคือกระเป๋าหนังที่ใหญ่กว่ากระเป๋าเงินผู้หญิงหน่อย มีช่องจำนวนมาก ถ้าเปิดออกจะพบเอกสารเต็มไปหมด เหมือนคนแถวนั้นพกทะเบียนบ้าน ใบเกิด ในเปลี่ยนชื่อ ทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า ใบขับขี่ บัตรประชาชนรวมถึงพาสปอร์ต - ถ้าเป็นบ้านเราคงมีใบทำบุญโลงศพรวมอยู่ด้วย – ไปไหนมาไหนตลอดเวลา ตำแหน่งแห่งที่ของกระเป๋าหนังลูกพี่กระเป๋าสตางค์นี้คือ “จักกะแร้” อย่าหาว่าทะลึ่ง นี่เป็นข้อเท็จจริง เห็นมาแล้วกับตา ผู้ชายเซอร์เบียมักเหน็บกระเป๋านี้ที่จักกะแร้ เพราะมันไม่มีที่คาดเอวหรือสายสะพายไหล่เหมือนกระเป๋าผู้หญิง มันเลยต้องอาศัยพลัง “บีบ” ระหว่างแขนและสีข้าง เวลาไปไหนมาไหน เราก็จะเห็นผู้ชายเซริ์บเหน็บกระเป๋าหนังนี้ที่ใต้จักกะแร้ราวกับเป็นไข่ในหิน

ที่น่ารักมากคือเวลาไปผับ กระเป๋าหนังนี้ยังรักษาตำแหน่งแห่งที่ของมันตามร่างกายของชายชาวเซร์บได้ ถึงเวลาแดนซ์ก็ไม่มีปัญหา เพราะคนส่วนใหญ่ฝึกทักษะการเหน็บกระเป๋ามาอย่างช่ำชอง จึงแดนซ์ไปเหน็บไป กระเป๋าไม่มีตกให้ทะเบียนบ้านปลิ้นออกมาหกหล่นตามพื้นได้ แฟชั่นกระเป๋าชายนี้ หาวัฒนธรรมใดเสมอเหมือนได้ยาก ตอนไปเที่ยวอิตาลี เห็นพนักงานเสริ์ฟเหน็บกระเป๋าหนังไว้เก็บเงินทอนเงินบ้าง แต่ยังไม่แพร่หลายในหมู่ประชากรชายทั่วไปเหมือนที่เซอร์เบีย ส่วนที่อื่นของยุโรป วัฒนธรรมดังกล่าวยังไม่ประจักษ์ต่อสายตาเรา ฉะนั้นกระเป๋าเหน็บเอวและหนีบใต้จักกะแร้ อาจถือเป็น “โอท็อป” จากคาบสมุทรบอลข่านของจริง

เราคิดว่าช่องว่างทางวัฒนธรรมการแต่งตัวระหว่างประชากรชายและหญิงเซอร์เบียต้องมีเหตุผลบางอย่างรองรับ โดยทั่วไปผู้หญิงต้องพยายามทำให้ตัวเองดูสวยงาม เพื่อให้เพศตรงข้ามบริโภคความงามจากตน บางทฤษฎีอาจเห็นว่านี่เป็นไปเพื่อการบริโภคความงามในหมู่อิสตรีด้วยกัน ก็อาจฟังขึ้น ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้หญิงในเซอร์เบียจัดเต็มกับการแต่งกายมากกว่าฝ่ายชาย เพื่อนสนิทลูกครึ่งโครแอต เซริ์บ และมีเสี้ยวฮังกาเรียนให้เหตุผลต่างออกไป เธอบอกว่าที่ผู้ชายแต่งตัวเหมือนๆ กัน (ตัดผมทรงลานบินเหมือนกัน ใส่ชุดกีฬาและเสื้อแจ็คเก็ตหนังแบบเดียวกัน หรือใช้กระเป๋าเหน็บเอวรูปแบบเดียวกัน) เป็นเพราะสมัยที่ยูโกสลาเวียอยู่ภายใต้ระบบสังคมนิยม รัฐเป็นผู้แจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ประชาชน ดังนั้นผู้จึงได้ของใช้เหมือนๆ กัน ทั้งรัฐยังเผยแพร่วัฒนธรรมแบบ “รวมหมู่” (collectivism) ผู้คนจึงมีแนวโน้มทำอะไรให้เหมือนกับคนอื่นในชุมชนเข้าไว้ รวมถึงการเลือกทรงผม กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ “แฟชั่น” เสื้อผ้าและทรงผมที่ดูเหมือนหลากหลาย และเราเลือกได้ตาม “สไตล์” ที่เราอยากเป็น มีค่านิยม “ปัจเจกบุคคล” (individualism) แฝงฝังอยู่ บางที เราพยายามแต่งตัวต่างจากคนอื่น เพราะเราคิดว่าเราได้เลือกสิ่งที่เป็นเรามากที่สุด ทว่าการเลือกนั้นถูกควบคุมไว้ด้วยตรรกะทางวัฒนธรรมการเมืองบางอย่าง แต่ถ้าคำอธิบายนี้ถูก เหตุใดการแต่งตัวเหมือนกัน หรือตัดผมทรงเดียวกันจึงเกิดขึ้นในหมู่ประชากรชายเท่านั้น ไม่เกิดในหมู่ประชากรหญิงในเซอร์เบีย ลองคิดอีกทีว่าผมทรงลานบินมีที่มาจากกองทัพ การแต่งตัวเหมือนกัน หรือใช้กระเป๋าไม่ผิดแผกจากกลุ่มฝูงของตน ก็มีรากมาจากการติด “ยูนิฟอร์ม” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมข้าราชการ โดยเฉพาะในหมู่ตำรวจและทหาร และถ้าคิดต่อไปว่าเซอร์เบียเป็นประเทศที่ผ่านสงครามมาตลอดศตวรรษที่ 20 และสงครามถี่มากขึ้นในช่วงปลายศตวรรษ รัฐที่พันตูในสงครามย่อมต้องระดมพลเมืองชายให้สู้รบกับศัตรู ฉะนั้นความแพร่หลายของวัฒนธรรมทหารที่สะท้อนในทรงผม เสื้อผ้า และกระเป๋า อาจเกี่ยวพันกับประสบการณ์สงครามซึ่งผู้คนในแถบนี้ผ่านมาอย่างโชกโชน ถ้าเรื่องเสื้อผ้าหน้าผมและกระเป๋าเหน็บเอวยังสื่อประเด็นนี้ได้ไม่ชัด เรื่อง “อาหาร” อาจเผยให้เราเห็นความเชื่อมโยงได้มากขึ้น...ติดตามต่อไปในตอนหน้า

วันศุกร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2555

เซอร์เบีย...ไม่ใช่ไซบีเรีย (4): ความวัวหายไปแล้ว ความควายก็หายตาม (ต่อ)



ของอย่างที่มักมีชะตาพลัดพรากจากเราไปคือ กุญแจบ้าน โดยมากเราเป็นพวกชอบลืมเอากุญแจบ้านติดตัวออกจากบ้านมาด้วย ตอนเรียนที่ออสเตรเลีย เคยลืมกุญแจบ้านนับสิบครั้ง ครั้งแรกไม่รู้จะแก้ปัญหายังไง เลยตัดสินใจปีนเข้าบ้านจากทางหน้าต่าง คิดเพียงแต่ว่าอย่างน้อยตกลงมา บริษัทประกันย่อมจ่ายค่ารักษาให้ ภายหลังรู้ว่า เราไม่ต้องพยายามแย่งอาชีพสตันท์หญิงขนาดนั้น เพียงแต่ต้อง “รวย” เวลาลืมพกกุญแจบ้าน เพราะมี locksmith ผู้ดูแลกุญเจวิเศษสามารถเปิดเข้าบ้านทุกบ้านได้ ค่าบริการ locksmith ก็เหนาะๆ ครั้งละแค่ 50 เหรียญออสซี่ หรือประมาณ 1,500 บาทเท่านั้น

หลังจากกระเป๋าเงินหายที่เซอร์เบียได้หนึ่งเดือน เราทำกุญแจอพารท์เมนต์ตัวเองหาย นี่ถือเป็นอิทธิฤทธิ์ ต้องฝึกปรือเข้าขั้นโป้ยเซียนเท่านั้นถึงจะเสกให้สรรพสิ่งหายไปในเวลาอันสั้น ติดต่อกัน ขนาดนี้ได้ เรื่องมันมีอยู่ว่า เช้าวันหิมะเกือบตกวันหนึ่ง เรานัดกินกาแฟกับมิตรใหม่ชาวเซอร์เบียน ที่กำลังจะเดินทางกลับไปเรียนต่อที่เวียนนา เวลานัดคือหกโมงเช้า เวลานัดหมายรุ่งอรุณเช่นนี้อาจถือว่าผิดกฎหมาย (ทางวัฒนธรรม) ของพี่เซิร์บได้ อย่างที่เคยเล่าว่าเวลาเช้าของที่นี่คือเที่ยงวัน ก่อนออกจากที่พักเรามั่นใจว่าเอากุญแจอพารท์เมนท์ ซึ่งมีขนาดยาวเกือบเท่าเสาตะเคียนตกน้ำมัน หน้าตาคล้ายกับกุญแจไขหีบสมบัติฝรั่งโบราณ เสียบไว้ที่กระเป๋ากางเกงยีนส์ข้างหลัง ระบบความรอบคอบของสมองปิดการทำงานอย่างสิ้นเชิง เลยไม่ได้เอะใจว่ากระเป๋าหลังของกางเกงมิใช่ที่อยู่อันสมของกุญแจขนาดใหญ่เท่าเสาบ้านเช่นนี้

หลังจากกินกาแฟเสร็จ เราเดินกลับบ้าน ฮัมเพลงพลาง วางแผนตารางการทำงานในสมองไปพลาง เมื่อถึงหน้าห้องพัก มือขวาล้วงเข้าไปยังกระเป๋ากางเกงยีนส์ด้านขวาฝั่งหลัง มือพบเพียงความว่างเปล่า และผ้ายีนส์กระด้างบาดมือ เรายังคงทำใจเย็น ควานหากุญแจในกระเป๋าช่องต่างๆ และกระเป๋าย่าม ในรองเท้าบู๊ท (เผื่อกุญแจอยากเปลี่ยนที่อยู่จากกางเกงไปรองเท้า) ตามซอกหลืบต่างๆ ของร่างกายที่กุญแจสามารถแฝงกายอยู่ได้... “ชิ้บหาย” อีกครั้ง

แม้ตื่นตระหนก แต่ตัว “สติ” ที่หลบลี้ในหลืบหนึ่งของสมองกระซิบข้างหูว่าเราน่าทำกุญแจตกระหว่างเดินทางกลับจากร้านกาแฟมายังอพารท์เมนต์ โชคที่ดีระยะทางนี้ยาวไม่เกิน 500 เมตร เราเลยเดินตามรอยกลับไป ตาส่องหาโลหะหน้าตาคล้ายกุญแจ คิดในใจว่าถ้ากุญแจมีฟังค์ชั่นเหมือนมือถือก็ดี เราจะได้โทรตาให้มันกลับมาหาเรา อนิจจา ความคิดเช่นนี้เป็นเพียงจินตนาการปลอบใจคนซุ่มซ่ามเท่านั้น จากอาพารท์เมนต์ผ่านไปยังร้านขนมปังหรือ “เปการ่า” จากเปการ่าผ่านยังถนนใหญ่ ป้านรถเมล์ คนรอรถเมล์ รถเมล์กระป๋องวิ่งผ่านหน้า ท้ายสุดเรากลับมายืนหน้าสถานีรถไฟ ใกล้ร้านกาแฟ สถานที่นัดพบกับเพื่อนเมื่อเช้า กุญแจยังไม่กลับมาหาเจ้าของ “กะหลั่วๆ” อย่างเรา ทว่าเจ้าของมันไม่ยอมแพ้ง่าย พาสองขา กับหน้าหนาๆ เข้าไปถามเจ้าหน้าที่ในสถานีรถไฟว่าเห็นกุญแจบ้านเรามั๊ย... คนพวกนี้ทำหน้าฉงนงงงวยเป็นอย่างยิ่ง เพราะในตั้งแต่เกิดมาคงไม่เคยเจอใครมาถามหากุญแจบ้านของตัวเองที่สถานีรถไฟ เจ้าหน้าที่ทำความสะอาดรายหนึ่งถึงกับนินทากับเพื่อนต่อหน้าเรา แม้เราฟังไม่รู้เรื่องครบประโยค แต่จับใจความได้ว่า “เฮ้ย... ใครวะมันบ้าทำกุญแจบ้านหาย” ... เออ กูนี่หล่ะ!!

เสน่ห์อย่างหนึ่งของประเทศเซอร์เบียคือ พนักงานผู้ทำงานในสถานที่ที่น่าได้พบเจอชาวต่างชาติอย่างสถานีรถไฟ หรือไปรษณีย์ ไร้ซึ่งความกระเสือกกระสนพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ ขนาดอังกฤษขั้นพื้นฐานระดับป้าขายเต้าฮวยแถวถนนข้าวสารบ้านเราสื่อสารกับฝรั่งได้ พี่พนักงานเซริ์บก็ไม่กระดิก ฉะนั้นเวลาเรามีความจำเป็นต้องติดต่อกับคนเหล่านี้ (คือถ้าไม่จำเป็น จะพยายามหลีกเลี่ยง) เราต้องอาศัยกำลังภายในชนิดที่อี้ก๊วยยังแพ้... ในวาระดิถีนี้เช่นกัน เราไม่สามารถอธิบายให้พนักงานที่สถานีรถไฟเข้าใจได้ว่าเราทำกุญแจบ้านหาย และกำลังตามหามัน ทุกคนพยายามบอกให้เราไปแจ้งความ เราอยากเข้าไปเขย่าคนเหล่านี้ ให้เลือดมาเลี้ยงสมอง แล้วบอกว่า “พี่คะ ในโลกนี้มันมีคดีทำกุญแจบ้านหายมั๊ย ถ้าวันหนึ่งการทำกุญแจหายเป็นอาชญากรรม ดิฉันคงติดตารางปีละสองสามหน” เมื่อสื่อสารเองไม่ได้เรื่อง เราต้องจึงงัดกำลังภายในมาใช้ ด้วยการส่งข้อความไปหาเพื่อนคนที่เพิ่งนัดเจอกันว่าเราทำกุญแจบ้านหาย และขอให้เค้าส่งข้อความภาษาเซียเบียนกลับมาประมาณว่า “ดิฉันชื่อจันจิรา ทำกุญแจบ้านหาย ไม่ทราบว่าคุณเห็นมันตกแถวนี้บ้างมั๊ย” (ขอบอกว่าทุกวันนี้ยังบันทึกข้อความนี้อยู่ในโทรศัพท์มือถือ เหมือนเป็นเครื่องรางของขลังอย่างไรอย่างนั้น) นี่ถือเป็นข้อความขายขี้หน้า เหมือนประจานตัวเองว่า “ดิฉันโง่มากค่ะ ที่ทำกุญแจบ้านตกหาย ช่วยอนุเคราะห์ซื้อวิตามินบี 12 ให้ดิฉันทานแก้โง่ด้วย”

ทายสิว่าชะตากรรมระหว่างเรากับกุญแจบ้านเป็นอย่างไรต่อไป? ปิงป่อง! ถูกต้องแล้วว่าหาไม่เจอ สสารในโลกนี้เมื่อมันตัดสินใจทิ้งเจ้าของมันแล้ว หาให้ตามยังไง ก็ไม่มีทางหาเจอ (ดังนั้นอย่าได้เชื่อทฤษฎีไอนสไตน์เชียว) เราเดินคอตก หูพับ กลับไปยังอพาร์ทเมนต์ที่ไม่รู้จะเข้าไปได้ยังไง โทรหาเจ้าของอาคาร เค้าบอกว่ากุญแจสำรองอยู่กับสามีเก่า ซึ่งต้องนั่งรถออกนอกเมืองไปเจอที่บ้าน ทั้งยังไม่รวมเวลาที่ต้องใช้เพื่อก้าวข้าม “ดราม่า” กับฝาละมีเก่า คิดสารตะแล้ว เจ้าของบ้านอาจเอากุญแจสำรองมาให้เราได้ภายในห้าชั่วโมง (เป็นการประเมินที่อยู่บนข้อสันนิษฐานที่ว่าสามีเก่ายังเก็บกุญแจสำรองอยู่ ไม่ได้ทิ้งกุญแจเพราะน้อยใจภรรเมียที่ทิ้งตนไป) ระหว่างรอ เราควรอยู่ที่ไหน? จะสมัครเข้าร่วมสมาคมคนไร้บ้านเลยดีมั๊ย? หรือควรไปพึ่งพาสถานทูตดี? แต่ในเซอร์เบีย สถานทูตตัวแทนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเพียงสถานทูตอินโดนีเซียเท่านั้น ฉะนั้น ประชากรไทยอย่างเราเท่ากับมีสถานะเป็น “คนไร้รัฐพลัดถิ่น” ด้วยหรือไม่? องค์ความรู้สังคมศาสตร์ที่สะสมมาทั้งชีวิตกลายเป็นคำอธิบายที่ซ้ำเติมเคราะห์กรรมของผู้พลัดพรากจากกุญแจบ้านอย่างเรา




เราเดินไว้อาลัยกุญแจ กลับไปนั่งยองๆ หน้าประตูอพาร์ทเมนต์ ราวกับวิงวอนให้สิ่งศักดิ์ช่วยดลบันดาลให้ประตูเปิดออกเอง หรือให้เรามีเวทมนต์เปิดประตูเช่นอาละดิน ไร้ผล... สิ่งศักดิ์สิทธิ์คงไม่ได้เรียนเรื่อง “อภัยวิถี” มา ความเมตตาต่อมนุษย์อย่างเราจึงมีจำกัด ผ่านไปห้านาที หญิงสูงอายุซึ่งที่อยู่ถัดจากห้องพักเรา แง้มประตูห้องแกออกมสำรวจว่าตัวอะไรป้วนเปี้ยนอยู่หน้าห้องแก เราเงยหน้าขึ้นไปมอง หญิงชราเอ่ยด้วยน้ำเสียงอบอุ่น เป็นภาษาอังกฤษประโยคสั้นๆ “เข้ามาดื่มชาในห้องชั้นมั๊ย?”

ห้องพักของหญิงชราดูเล็ก เพราะมีของสะสมต่างๆ วางตามชั้น โต๊ะ และพื้นเท่าที่เนื้อที่ของห้องอำนวยให้วางของเหล่านี้ได้ ของสะสมเหล่านี้เป็นเครื่องปั้นดินเผาจำนวนมาก และมีรูปภาพหญิงสาวหน้าตาคมขำ แต่งตัวเข้ายุคสมัย ถ่ายในหลากประเทศในยุโรป บางรูปหญิงสาวถือเครื่องปั้นดินเผาของตน บางรูปเธอถือถ้วยรางวัล สายตาสอดส่องของเราไม่รอดพ้นสายตาอันเปี่ยมล้นด้วยเมตตาของหญิงชรา “ชั้นเป็นนักปั้นเครื่องเซรามิค” ประโยคภาษาอังกฤษสั้นๆ สำเนียงเซอร์เบียนไขข้อข้องใจ ซึ่งสะท้อนบนใบหน้าอันฉงนสงสัยของชั้น ชั้นยิ้มกว้างกลับให้เธอและตอบว่า “คุณสวยมากเลยนะในรูปเหล่านี้ เครื่องปั้นที่วางอยู่ในห้องของคุณ เป็นฝีมือคุณด้วยหรือเปล่า” หญิงชราพยักหน้า และยิ้มละไม

คุณยายชื่อ “ดรากานา” บ้านเกิดอยู่ที่เมือง “ปันเจช-โว” ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเซอร์เบีย ห้าสิบปีที่แล้ว สมัยที่ยูโกสลาเวีย ภายใต้การนำของจอมพลติโต คุณยายเป็นนักปั้นเครื่องเซเรมิคมือฉมัง เดินทางรอบยุโรป ตั้งแต่ลอนดอนถึง บราเซโลนา จากปารีสถึงเบอร์ลิน จากออสโลถึงอัมสเตอร์ดัม จากซาเกรบถึงมอสโคว ขณะที่ชีวิตกำลังรุ่งโรจน์ สามีของคุณยายป่วยด้วยโรคมะเร็ง และเสียชีวิตในเวลาไม่กี่ปีต่อมา อีกไม่นานลูกชายแกประสบอุบัติเหตุ กลายเป็นเจ้าชายนิทรา คุณยายพยายามหาทางรักษาลูกชายอย่างสุดกำลัง สุดท้ายแกส่งลูกสายไปรักษากับหมอที่กรุงมอสโคว ประเทศรัสเซีย (หรือสหภาพโซเวียตในขณะนั้น) รักษาได้สองสามปี ในวันฟ้าโปร่ง ปาฏิหารย์เป็นใจ ลูกชายแกฟื้น และมีอาการดีขึ้นตามลำดับ จนถึงขั้นใช้ชีวิตได้ตามปกติ คุณยายตัดสินใจลงหลักปักฐานที่มอสโคว ส่วนลูกชายแกเริ่มเรียนภาษารัสเซียเพื่อเตรียมเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย

เวลาที่เรารำพึงเล่นๆ ว่า “ชะตากรรมมักเล่นตลก” เมื่อชะตากรรมเช่นนี้เกิดขึ้นกับเราจริงๆ การเล่นตลกมักบังเกิดในลักษณะโศกนาฏกรรม ลูกชายของคุณยายถูกฆาตกรรมชิงทรัพย์ ขณะเดินทางกลับบ้านยามค่ำในกรุงมอสโคว... เมื่อเล่าถึงตรงนี้ คุณยายหยุด และขอไปตัวไปห้องน้ำ เราเดาว่าการเล่าเรื่องประสบการณ์การสูญเสียให้คนแปลกหน้าฟังคงไม่ใช่เรื่องน่าปรีดานัก แม้เวลาผ่านไปสี่ทศวรรษ ฝันร้ายยังกลับมาหลอกหลอนเรื่อยไป เราเดาต่อไปว่าหลังจากลูกชายคุณยายเสียชีวิต แกคงเดินทางกลับมาเบลเกรด และเพราะไม่มีพี่น้องอาศัยในเบลเกรด (บ้านเกิดคุณยายอยู่ต่างเมือง) คุณยายจึงอาศัยเพียงลำพัง เราคงได้แต่เดาเรื่องราวต่อจากการตายของลูกชายคุณยายไป ในสถานการณ์เช่นนี้ การเดาอาจเป็นปฏิบัติการทางจริยธรรมที่เหมาะสมมากกว่าการสอบถามเพื่อขุดคุ้ยความจริง และตอบสนองความกระหายใคร่รู้ส่วนตัว

จากวันที่กุญแจบ้านหาย เรา “พบ” เพื่อนใหม่ แม้ต่างวัย เมื่อใดที่เราทำอาหารไทย (แบบใช้ผงกะทิชาวเกาะ และเครื่องแกงสำเร็จรูปตราโลโบ) เรามักนำไปให้คุณยายเสมอ คุณยายทานเผ็ดไม่ได้ แต่รับกับข้าวเราไว้เพื่อถนอมน้ำใจ หลายครา แกแนะนำสถานที่ซื้อของจำเป็นที่เราไม่เคยหาเจอเลยในเมืองเบลเกรด วันหนึ่งเราทั้งสองนัดออกไปจ่ายตลาดด้วยกัน วันนั้นเป็นวันหะมิตกหนัก อุณหภูมิติดลบสิบ ระหว่างเดินไปตลาด คุณยายเป่ามือตนเองให้อุ่น จากนั้นเอื้อมมาจับมือเราแล้วบอกว่า “อย่าปล่อยให้มือเย็น เธอจะเป็นหวัด”

ก่อนเราออกเดินทางจากเบลเกรด ด้วยเสร็จภาระกิจการเก็บข้อมูลงานวิจัย เราถามคุณยายว่าแกสนใจเรียนทำอาหารไทยมั๊ย แววตาอันเฉยชากลับมามีชีวิต ราวกลับเป็นคำตอบรับบัตรเชิญ... เราสอนคุณยายทำแกงเขียวหวาน (แบบเผ็ดน้อย และแบบเครื่องปรุงจำกัด) แกเดินมาห้องเราพร้อมสมุดจดหนึ่งเล่ม ดินสอหนึ่งด้าม ดิคชันนารีภาษาอังกฤษ-เซอร์เบียน และพาย “บูเรค” – อาหารประจำคาบสมุทรบอลข่าน – ระหว่างสาธิต เราพยายามอธิบายเป็นภาษาอังกฤษช้าๆ เวลาใช้ศัพท์เทคนิค เราเปิดดิคฯ ให้คุณยายดูว่าภาษาเซอร์เบียนควรเป็นคำว่าอะไร คุณยายเป็นนักเรียนชั้นยอด แกจดทุกอย่างที่เราพูด และถามเมื่อไม่เข้าใจ เมื่อสาธิตเสร็จ คุณยายอ่านทวนสูตรที่แกจดให้เราฟัง เพื่อตรวจสอบว่าแกเข้าใจถูกต้องหรือไม่ จากนั้นแกเอ่ยขอบคุณ และบอกว่าแกอาจมีชีวิตอยู่ไม่นาน ดังนั้นแกดีใจมากที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับอาหารไทยสักครั้งในชีวิต... เราบอกแกว่านี่เป็นครั้งแรกที่เราสอนคนทำกับข้าวเหมือนกัน รู้สึกเป็นเกรียติอย่างยิ่งที่ได้ลูกศิษย์แบบคุณยาย... จากนั้นคุณยายให้สูตรทำพาย “บูเรค” กับเรา พวกเราแลกเปลี่ยนบทสนทนาเกี่ยวกับอาหารประจำชาติตนอยู่นานสองนาน เราไม่ได้ถามเรื่องครอบครัวของคุณยายอีกเลย

การพบปะของหญิงสองตน ต่างวัย ต่างวัฒนธรรม กลายเป็นประสบการณ์ไม่รู้ลืม อย่างน้อยในชีวิตของเรา วันที่เราออกเดินทางจากเบลเกรดคุณยายมอบหนังสือให้เราสองสามเล่ม และชอคโกแลตหนึ่งแท่ง หนึ่งในหนังสือเหล่านั้นคือวารสารข่าว ฉบับที่ตีพิมพ์การแข่งขันปั้นเครื่องเซรามิตที่ปารีส ซึ่งคุณยายดรากานาเป็นผู้ชนะ ส่วนชอคโกแลต ตอนแรกเราไม่แน่ใจว่าเหตุใดคุณยาย รวมถึงเพื่อนคนอื่นในเซอร์เบียจึงระดมให้ชอคโกแลตเรา ก่อนเราออกเดินทาง เราเรียนรู้ภายหลังเมื่อได้รับชอคโกแลตจาก “คนหนึ่ง” ก่อนออกเดินทางว่า อย่างน้อยในวัฒนธรรมเซอร์เบียกับผู้ที่กำลังออกเดินทางไกล เป็นสัญลักษณ์ถึงความรัก และความหวังว่าสักวันเราจะกลับมาเจอกัน... จากเบลเกรด สู่เมลเบริ์น และกลับมาจากยัง “บ้าน” ที่กรุงเทพฯ ทุกวันนี้เราคิดถึงคุณยายเป็นครั้งคราว ทุกครั้งความคิดถึงคละเคล้าความอัศจรรย์ใจในเหตุการณ์ที่ทำให้เราและคุณยายได้พบ จนกลายเป็นเพื่อนกัน บางทีเราตีความไปว่ากุญแจบ้านที่หายไป ไม่ได้หายไปอย่างที่คิด แต่มันคงปักติดกับประตูลี้ลับบางอย่าง และเปิดโลกอีกใบให้เราเห็น แม้โลกใบนี้อยู่ห่างเพียงแค่เอื้อม แต่เราไม่เคยคิดใส่ใจเปิดมัน กุญแจที่หายไปจึงช่วยเปิดประตูแห่งมิตรภาพระหว่างคนแปลกหน้าสองคน ซึ่งอาศัยรั้วเดียวกัน ที่สำคัญ กุญแจเปิดประตูแห่งความ “ใส่ใจ” ให้เราอาทรต่อคนแปลกหน้ามากขึ้น

วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2555

เซอร์เบีย...ไม่ใช่ไซบีเรีย (4): ความวัวหายไปแล้ว ความควายก็หายตาม




ถ้าโลกนี้มีการแข่งโอลิมปิกส์เพื่อชิง “แชมป์” ทำของหาย เราคงเป็นตัวแทนชาติไทยไชโย คว้าเหรียญทองมาสู่อ้อมอกพ่อแม่พี่น้องเฉกเช่นสมรักษ์ คำสิงห์ ตั้งแต่เกิดมา เราทำสมบัติที่บุพการีหามาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรง หรือที่ตัวเองได้มาด้วยหยาดเหงื่อแรงงานหายไปหลายชิ้นอยู่ แต่ไม่เคยคาดคิดว่าความสามารถพิเศษในการทำของหายจะนำพามาซึ่งความ “ชิ้บหาย” หลายครั้งหลายคราตอนทำวิจัยที่เซอร์เบีย และขณะเดินทางในประเทศอื่นๆ ในยุโรป แต่ดูเหมือนทุกครั้งที่บางสิ่งหาย เรากลับ “เจอ” ความหมายของสัมพันธภาพในชีวิตที่เรามักละเลย หรือแสร้งมองไม่เห็น

เมื่อเก็บข้อมูลทำวิทยานิพนธ์ไปได้ครึ่งทาง เราตัดสินใจเดินทางไปข้ามพรมแดนจากเซอร์เบียตอนเหนือไปยังบูดาเปส (ฮังการี), เวียนนา (ออสเตรีย), พัสเซา (ชายแดนเยอรมันนี-ออสเตรีย) และจบที่ปราค (สาธารณรัฐเชค) ตั๋วเดินทางนี้ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการเรียนเลย เป็นตัณหาส่วนตัวล้วนๆ... ก่อนเดินทาง เราสัมภาษณ์คนแบบมาราธอนที่เมืองต่างๆ ทางตอนเหนือของเซอร์เบีย เริ่มจากนอวิ สาด, ซเรมสกา มิตโตรวิทซา และลัดเลาะต่อไปยังเมืองชายแดนเซอร์เบีย-ฮังการี ที่ชื่อว่าซุบโบติซา (คราวหน้าค่อยเล่าถึงการผจญภัยในเมืองออก ตก เหนือ ใต้ ของเซอร์เบีย นี่เป็นมหากาพย์เทียบได้กับ “อลิซในแดนมหัศจรรย์”) ที่ซุบปโบติซาเรามีสัมภาษณ์นักกิจกรรม หรือแอคติวิสต์สองคน บังเอิญว่าคนที่สำคัญ แกดันย้ายไปอยู่เมืองชายแดนของชายแดน ชื่อว่า “คา-นยีชา” ที่เมืองนี้ผู้คนแทบไม่ใช้ภาษาเซอร์โบ-โครเอเชียเลย แต่ใช้ภาษาฮังการีเป็นหลัก เพราะเพิ่งถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของเซอร์เบียเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่สองเท่านั้น การนั่งรถเมล์จากซุบโบติซาไปยังคายนีชา ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณห้าสิบกิโล ถือเป็นความบันเทิงอย่างหนึ่ง...ไม่ใช่ความบันเทิงของเรา แต่เป็นความบันเทิงของพี่เซริ์บและ “มาคย่า” (Magyar - คือคนฮังกาเรียนเค้าเรียกตัวเองด้วยชื่อนี้) คนเหล่านี้ไม่เคยเห็นหญิงชาวเอเชีย ระบุสัญชาติลำบาก แบบตัดสินไม่ได้ว่ามันเป็นเจ็ก ลาว ไทย เกาหลี ญี่ปุ่น หรือเวียดนาม เดินทางอย่างบ้าบิ่น โดยสารรถเมล์ท้องถิ่น แบบไม่สนใจขอบเขตความสามารถทางภาษาของตัวเอง...ทุกคนในรถมองเราเหมือนเป็นสัตว์ประหลาด หลุดออกมาจากสวนสัตว์ ณ ดาวบางยี่ขัน พอพูดภาษาเค้าไม่ได้ เราก็ลงรถเลยป้าย เพราะกระเป๋ารถเมล์อาจคิดว่าวลีที่เราพยายามสื่อสาร “โดสเล่ อู คา-นยีชา” (เป็นภาษาเซริ์บไวยกรณ์ผิดเพี้ยน แปลว่า “ลงที่คา-นยีชา”) คงหมายถึง “กูไม่ลงป้ายหน้า” สุดท้ายแล้วมันให้กรูไปลงป้ายสุดท้าย...)

จากคา-นยีชา เรากลับมาค้างโรงแรมที่ซุบโบติซา สำหรับผู้ที่ทึกทักไปว่าโรงแรมโดยทั่วไปน่ามีสามัญสำนึกแยกระหว่างห้องสูบบุหรี่และไม่สูบบุหรี่ ควรสำเหนียกว่าสามัญสำนึกของท่านผิด ในเซอร์เบียมาตรการดังกล่าวเป็นธรรมเนียมต่างด้าว เราเข้าพักในโรงแรมจำนวนหนึ่งในเซอร์เบีย ทุกครั้งต้องนอนดมกลิ่นบุหรี่ เสมือนเป็นน้ำหอมประจำห้อง แม้คิดว่าชินชาแล้ว ที่ในโรงแรมที่ซุบโบติชา เป็นขั้น “เหนือเทพ” ของโรงแรมไร้สามัญสำนึก ตลอดคืนที่นอน รู้สึกเหมือนอีห้องข้างๆ ติดท่อดูดควันบุหรี่มาที่ห้องเราด้วย เราขอเปลี่ยนห้องก็แล้ว แจ้งพนักงานก็แล้ว (พนักงานทำหน้าประหลับประเหลือกเหมือนกำลังด่าในใจว่า “แค่ควันบุหรี่ ทำไมดัดจริตทนไม่ได้”) ไม่สัมฤทธิ์ผล เหมือนท่อดูดควันนั้นตามมาทุกชาติไป สุดท้ายต้องพยายามอดทนนอนและคิดในใจว่า “เอาน่ามะเร็งปอด ไม่ใช่เอดส์” ...ก็แม่สอนให้มองโลกในแง่ดี

ตื่นเช้ามารู้สึกเหมือนถูกพิษนางพญาบุหรี่ไร้เงา มึนงง ปวดหัว และหงุดหงิดหงุมหงิม กัดฟันไปท่ารถเมล์เพื่อเดินทางไปบูดาเปส พยายามจินตนาการภาพปราสาทราชวังอลังการ และการเดินทางพักผ่อนอันน่าตื่นเต้น หลังจากเหน็ดเหนื่อยจากวิจัยภาคสนามมาเกือบสองเดือน... ฉไนเราจะล่วงรู้ได้ว่า ความคาดหวังเช่นนั้นคือการประมาทความซุ่มซ่าม นิสัยเลินเล่อชอบทำของหายของตัวเอง
อยู่บูดาเปสสองสามวัน ต่อรถบัสไปเวียนนา เหตุการณ์ทั่วไปดูเหมือนราบเรียบ (เว้นแต่โดนโรคจิตเดินตามที่เวียนนา) จากนั้นนั่งรถไฟไปเยี่ยมเพื่อนสมัยป.ตรีที่รัฐศาสตร์ และตอนนี้เรียนป.เอกอยู่พาสเซา เยอรมัน เพื่อนเลี้ยงดูปูเสื่ออย่างดี จนวางใจไปว่า เอาหล่ะการเดินทางครั้งนี้ไม่น่ามีอะไรผิดพลาด สัตว์ประหลาดแห่งความโชคร้ายคงไม่โผล่มา ทว่า “ความประมาทอยู่ไหน ความซวยอยู่ที่นั่น” พระท่านว่าไว้ (...ทำนองนี้มั้ง?) จุดหมายสุดท้ายของการเดินทางคือ “ปราค” นครหลวงแห่งสาธารณรัฐเชค วันที่ไปถึงเป็นวันแดดจ้า อากาศดีผิดปกติจากวันฟ้าทะมึนโดยทั่วไปของฤดูใบไม้ร่วง เราเพลิดเพลินกับการถ่ายรูปสถานที่สำคัญต่างๆ เช่น Wenceslas Square (จตุรัสสำคัญทางประวัติศาสตร์ เป็นเสมือน “ตลาด” การปฏิวัติของประเทศ เพราะพี่เชคมักรวมรวมตัว ณ จตุรัสแห่งนี้เพื่อต่อต้านผู้ปกครอง หรือกองกำลังต่างชาติที่เข้ายึดครองเมืองของตน โดยเฉพาะช่วงสงครามมเย็นที่สหภาพโซเวียตเข้ายึดครองเชคโกสโลวัคเกีย) และหอนาฬิกาเมือง รวมถึงโรงละครเก่าแก่ ซึ่งเป็นทั้งที่ทำงาน และฐานวางยุทธศาสตร์ของวาสคลาฟ ฮาเวล ศิลปินผู้เขียนบทละครเวที และช่วยรอยต่อสงครามเย็นได้กลายเป็นผู้นำชาวเชคโค่นล้มจักรวรรดิโซเวียตในประเทศตน

วันแรกผ่านไปอย่างไร้ความซวย พอถึงวันที่สอง อากาศสดใสเช่นเดิม ราวกับพระเจ้ากำลังใช้กลลวงล่อให้มนุษย์ซุ่มซ่ามอย่างเราตายใจ... เราเดินไปในย่านเมืองเก่า (Old Town) ซึ่งมีงานเทศกาลอาหารนานาชาติ ตามประสาคนชอบผจญภัยไปกับการดื่มกิน ลิ้มรสอาหารชาติพันธุ์ต่างๆ งานนี้ถือเป็นที่ละลานตา จันจิราจึถือโอกาส “เดินไปชิมไป” สุดท้ายได้ “กูลาช” ซึ่งเป็นอาหารแห่งชาติของผู้คนแถวยุโรปตะวันออก (เทียบได้กับส้มตำในบ้านเฮา) มาให้ลิ้นได้ลิ้มลอง จากร้านขายกูลาช กลิ่นไส้กรอกและขาหมูย่างเตะจมูก เชื้อชวนให้เดินมายังร้านที่มีผู้คนต่อแถวแน่นขนัด มีหรือที่มนุษย์ผู้คลั่งไคล้อาหารต่างชาติอย่างเราจะย่อท้อ เราตรงปรี่เข้าไปต่อแถวทันที พอใกล้ถึงคิวสั่งไว้กรอก เราควักกระเป๋าเงินออกมาเพื่อหาเศษเหรียญยูโร จากนั้นเก็บกระเป๋าเงินเข้าไปในกระเป๋าสะพาย พอถึงคิว เจ๊คนขายบอกว่าราคาไส้กรอกอันเป็นที่ต้องการนั้นราคามากกว่าจำนวนเงินที่เตรียมไว้ เราควานหากระเป๋าเงินในกระเป๋าสะพาย ควานอยู่สองสามนาที จนเจ๊ขายไส้กรอก เริ่มหมั่นไส้ เรามิได้สนใจ ควานหากระเป๋าเงินต่อไป... “ฉิบหาย” อันที่จริงต้องอุทานว่า “เงินหายมากกว่า” ...หายไปเลย ทั้งกระเป๋าเงินและ “ใจ” ช่วงสามวินาทีแรกสมองตื้อ ไม่แน่ใจว่าจะทำยังไงกับชีวิตต่อไป สามวินาทีถัดมา เจ้าความคิดแผลงๆ ผุดขึ้น “เฮ้ย กระเป๋าตังค์หายนี่เป็นหลักไมล์ของนักเดินทางผจญภัยนี่หว่า” ...ไม่เจียมตัวจริงๆ
โชคดีที่ชาวบ้านแถวนั้นสงสารเจ๊กตาดำๆ เลยช่วยควาญหากระเป๋าตามพื้น ความใจดีมีอายุได้สามวินาทีครึ่ง ผู้คนจริงสรุปว่าเราโดนล้วงกระเป๋าแน่ๆ ถ้าเป็นอย่างนั้น อย่าพยายามหามันเลย เพราะไม่มีทางเจอ เจ๊ร้านขายไส้กรอกมีระดับความใจดีมากกว่า “เชคมุง” นิดหน่อย เสนอไส้กรอกสองอันมาให้กินฟรี ผู้หญิงอีกคนที่ยืนข้างๆ เห็นหน้าเราเหมือนก้ำกึ่งระหว่างจะร้องไห้และตะโกนด่าพวก “เชคมุง” เลยอาสาพาเราไปสถานีตำรวจ เพื่อแจ้งความ




ชาวไทยทั่วไปที่มาเที่ยวเชคคงหวังเห็นปราสาท ราชวัง หรือตักตวงบรรยากาส “โรกะติก” กับคนรัก ทว่าเรามิเคยเป็นหนึ่งในคนธรรมดาเหล่านั้น ฉะนั้นมีหรือที่เราสามารถท่องเที่ยวแบบสามัญได้ ในสถานการณ์คับขันเช่นนี้ เราถือโอกาอันดีเข้าเยี่ยมชมสถานีตำรวจแห่งนครหลวงปราค สิ่งหนึ่งที่คนไทยอย่างเราควรเรียนรู้เกี่ยวกับสถานีตำรวจเชคคือ ระบบราชการอันเป็นมรดกจากระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ฉะนั้นอย่าได้หวังว่าเจ้าหน้าที่จะใจดีสงสารนักท่องเที่ยวต่างชาติผู้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรในประเทศตน และอย่าหวังว่าการแจ้งความจะช่วยคลี่คลายคดีความ หรือเอื้อให้กระเป๋าที่หายไปกลับมาหาเจ้าของมันได้ถูกทาง... ระบบราชการตำรวจแบบสืบทอดจากระบอบคอมนิวนิสต์คือราชการซึ่งมีหน้าที่ “บันทึก”...บันทึกประวัติศาสตร์ความเดือดร้อนของประชาชน การบันทึกช่วยให้เราจำอะไรได้ง่ายขึ้น ไม่หลงลืมว่าเกิดภัยพิบัติอะไรในอดีต แต่การบันทึกต่างการบรรเทาภัยอาชญากรรมซึ่งเป็นหน้าที่พื้นฐานของตำรวจ ข่าวดีสำหรับประชากรชาวไทยคือ แม้เราจะอ้างว่าพี่ไทยเป็นประชาธิปไตย (แบบอณุญาติให้ทหารนำรัฐประหารบ้างเป็นครั้งคราว) แต่ระบบราชการเช่นนี้อยู่คู่แผ่นดินไทยมาตั้งแต่ปู่ย่าตาทวดจำความได้ ดังนั้นชาวไทยอย่างเราเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์เผชิญหน้ากับตำรวจเชค จึงได้โอกาสใช้ทักษะพิเศษ “ทึกทน” กับราชการตำรวจซึ่งฝึกปรือมาจากสังคมไทยให้เป็นประโยชน์

เจ้าหน้าที่เพียงคนเดียวในสถานีตำรวจเมืองเก่าปราคที่สื่อสารภาษาอังกฤษได้ เป็นผู้หญิง หน้าตาคล้ายแม่ไจแอนท์ ในการ์ตูนโดราเอมอน แม่ไจแอนท์...เอ้ยเจ้าพนักงานหญิงถามว่ากระเป๋าตังค์เราอันตรธารไปได้อย่างไร หลังจากเราเล่ารายเอียดให้ฟัง เจ๊แกมองหน้าเราสักพักด้วยความสมเพช ปนสมน้ำหน้า แล้วแหกปาก น้ำลายกระเด็นใส่ตาข้างซ้ายเราว่า “ยูโง่รึเปล่าเนี่ย ที่ทำกระเป๋าเงินหายแบบนั้นได้” ...น่าน... เป็นบาปกรรมของกรูเองที่ดันมาแจ้งความ น่าจะให้มันหายรู้แล้วรู้แรดไป

เราทัศนศึกษาที่สถานตำรวจอยู่นานถึงสี่ช่วงโมง เวลาส่วนมากใช้ไปกับการรอ...รอ...และรอ และเล่าเรื่องช้ำซาก กรอกเอกสารเดิมๆ เป็นขั้นตอนอันคุ้นเคย ชาวไทยอย่างเราฝึกวิทยายุทธเช่นนี้มาอย่างดี มีหรือจะคณากับสี่ชั่วโมงที่หายไปในวันอากาศดี ซึ่งควรใช้ไปกับการท่องเที่ยวในเมืองประวัติศาสตร์แห่งนี้... ไม่เลย ไม่เสียดาย ไม่เสียใจ แค่เกือบเสียสติ

โชคดีที่เราจ่ายค่าที่พักและค่าตั๋วรถไฟเดินทางกลับเบลเกรดเพื่อเก็บข้อมูลวิจัยต่อไปแล้ว และโชคดีที่เรากลับเบลเกรดวันรุ่งขึ้น ดังนั้นจึงไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรมาก โรงแรมที่อยู่มีอาหารเช้าให้ ส่วนกูลาชซึ่งเป็น the last supper ก็อยู่ท้องได้จากกลางวันจนถึงเย็น (อืม ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าอิ่มกูลาช หรือเอือมกับหน้าเจ๊เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เราทนอยู่ด้วยถึงสี่ชั่วโมง) เราติดต่อทางบ้านให้โอนเงินสดฉุกเฉินมาให้ ซึ่งจะได้วันรุ่งขึ้น ดูเหมือนเราแก้วิกฤตได้ระดับหนึ่ง แต่กระเป๋าตังค์ที่หายไปเป็นดั่งตัวแทน “ความมั่นคง” ของคนเดินทางต่างถิ่นอย่างเรา กระเป๋าตังค์หายจึงมากกว่าเงินหาย แต่ความรู้สึกมั่นใจกับอนาคตข้างหน้า ความเชื่อใจกับคนแปลกหน้ารอบข้าง ก็หายไปด้วย... แม้สติปัญญา (ที่เหลืออยู่บ้าง) จะพยายามคิดหาหนทางใช้ชีวิตในเบลเกรด และทำงานวิจัยต่อให้ได้ ระหว่างที่รอให้ธนาคารทางออสเตรเลียส่งบัตรเครดิตที่หายไปมาให้ใหม่ เราไม่ใจว่า “อาการใจหาย” จะรักษาได้ด้วยสติปัญญา

หลังจากกระเป๋าเงินหายที่ปราค เราต้องแก้ปัญหาอีกจำนวนมากที่ตามมากจากเอกสารที่หายไปกับกระเป๋าเงิน เรากลายเป็น “ผู้ขาดทุนทรัพย์” อย่างเป็นทางการ แม้เป็นเวลาชั่วคราวก็ตาม ช่วงสองสามวันแรกที่กลับไปถึงเบลเกรด แทบไม่มีเงินเลย บางวันต้องอดมื้อกินมื้อ ท่ามกลางความลำบากทางกาย และไม่สบายใจเหล่านี้ เราเรียนรู้ถึงความหมายของ “ความไม่มี” เป็นครั้งแรกในชีวิต แม้ที่บ้านเราไม่ได้ร่ำรวย แต่ตั้งแต่เกิดมาพ่อแม่ไม่เคยปล่อยให้เราไม่มีแม้เงินแดงเดียวเพื่อดำรงชีวิต หรือยอมให้เราไม่มีอาหารตกถึงท้อง ที่สำคัญกว่าความเข้าใจถึง “ความไม่มี” คือเรารู้ซึ้งถึงมิตรภาพของเพื่อนที่ค่อยเป็นห่วงเป็นใย และให้คำปรึกษาอันชาญฉลาดในยามวิกฤต เพื่อนนักศึกษาปริญญาเอกชาวออสซี่คนหนึ่ง ที่ตอนนี้กลายเป็นเพื่อนคู่ทุกข์ยาก ส่งกำลังใจมาให้เสมอและคอยถามไถ่ถึงสถานการณ์วิกฤตของเราว่าคลี่คลายไปได้มากน้อยเพียงใด ทั้งยังช่วยหาทางเคลมประกันกับทางมหาลัยเพื่อให้เราได้รับเงินชดเชยเท่ากับจำนวนเงินที่หายไปกับกระเป๋าสตางค์ อาจารย์ผู้เป็นดั่งบุพการีในเมืองไทยถึงกับเอ่ยปากเสนอโอนเงินให้เราใช้จ่ายระหว่างรอบัตรเครดิต เพื่อนผู้ซึ่งรู้จักกันเพียงไม่กี่เดือนในเบลเกรดอาสาขับรถพาเราไปสัมภาษณ์คนในที่ต่างๆ โดยออกค่าน้ำมันให้ และบางครั้งเลี้ยงอาหารเรา ที่สำคัญที่สุดคือคนในครอบครัวเรา ทั้งพ่อแม่และน้องสาวที่พยายามทุกวิถีทางเพื่อโอนเงินให้เรา มายังประเทศที่พวกเขาไม่แน่ใจกระทั่งว่าตั้งอยู่ตำแหน่งแห่งหนใดของโลกใบนี้

แม้กระเป๋าเงินหาย เราได้ค้นพบความหมายของสัมพันธภาพของผู้คนในชีวิตเรา หลายคราเราแสร้างว่าความสัมพันธ์เป็นเหล่านี้เป็น “given” คือมันอยู่ตรงนั้น นานวันจนเรามองไม่เป็นคุณค่าของมัน หรือไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันมีตัวตน เราใช้ชีวิตกับคนใกล้ชิดแต่ละวันโดยไม่สะท้านว่า ที่เราดำรงชีวิตอยู่ได้เพราะมีสายใยโอบอุ้ม มีผู้คนจำนวนหนึ่งเสียสละส่วนเสี้ยวของชีวิต (ในกรณีพ่อแม่ อาจเป็นเกือบทั้งหมดของชีวิต) เพื่อให้เราได้ทำในสิ่งที่ต้องการ และเดินทางในผจญภัยในเส้นทางแห่งความฝันได้ อาจเปรียบได้ว่าสายใยแห่งความสัมพันธ์เหล่านี้คืออาภรณ์อันเหมาะสมต่อการเดินทาง รองเท้าที่ใส่สบายเพื่อให้เดินทางไกลได้ ทั้งในยามแข้งขาอ่อนแรง ยังเป็นไม้เท้าค้ำจุน ประคองให้สองขาเดินต่อไป และเมื่อฝนตกลมแรง สัมพันธภาพในชีวิตเป็นเสมือนเสื้อกันฝน หรือกระทั่งศาลาริมทาง ปกป้องและเป็นที่พักให้เราจนกว่าฝนหยุด ท้องฟ้าเอื้อต่อการเดินทางอีกครั้ง หากไร้ซึ่งสายสัมพันธ์ในชีวิตเหล่านี้ นักเดินทาง ผู้เห็นอิสรภาพและความสันโดษเป็นหลักชัยในชีวิต คงมิอาจเดินทางถึงจุดหมาย ให้ผู้คนสถาปนาตนเป็นนักเดินทางที่แท้จริงได้
เรื่องราวความวัวหาย ความควายก็หายจะไม่จบเท่านี้ ความซุ่มซ่ามและความซวยไม่เคยปราณีคนอย่างเราอยู่แล้ว... โปรดติดตามตอนต่อไป

วันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เซอร์เบีย...ไม่ใช่ไซบีเรีย (3): เซริ์บ บาร์ยิปซี และความน้อยใจแห่งชาติ

เราเป็นคนตื่นเช้า เข้านอนเร็ว กิจวัตรเช่นนี้เป็นภัยต่อการใช้ชีวิตให้คุ้มค่าในเบลเกรด เพราะ “รุ่งอรุณ” ของคนแถวนี้เริ่มตั้งแต่บ่ายสามเป็นต้นไป และราตรีคือช่วงเวลาที่ผู้คนเริ่มออกเดิมตามท้องถนน พบปะเพื่อนฝูงในคาเฟ่ คนต่างถิ่นอาจแปลกใจที่ชาวเมืองเบลเกรดเริ่มมื้อกลางวันเมื่อนาฬิกาตีบอกเวลาเที่ยงคืนLonely Planet ซึ่งถือเป็น “พระคัมภีร์” ของนักเดินทางประเภทแบกเป้ (คือพวกซาดิตส์ที่ยอมเป็นโรคหลังชำรุดเมื่อชรา) โบกรถเที่ยว ค่ำไหนนอนนั่น จัดอันดับให้เบลเกรดเป็นนครแห่งที่ “ปาร์ตี้” สุดสวิงจิงโก้ อันดับต้นๆ อย่าได้ไปเถียงพระคัมภีร์เชียว เพราะ “บัญญัติ” นี้มีมูลความจริงอยู่ไม่น้อย


สมัยยังเยาว์วัยกว่านี้ เราชอบบรรยากาศร้านเหล้า วงเหล้า ผับ บาร์ (ย้อนแย้งกับนิสัยตื่นเช้ายังไงไม่รู้)... เมื่อตอนเรียนปริญญาโทที่เมืองบริสเบนประเทศออสเตรเลีย ได้เรียนรู้วัฒนธรรมการ “ปาร์ตี้” ของฝรั่งมา ซวยหล่ะคราวนี้ เพราะเมื่อไหร่ที่ว่าง เพื่อนก็ชอบนัดปาร์ตี้ ส่วนเราก็ชอบไปปาร์ตี้ บางอาทิตย์ที่ไม่ต้องทำรายงาน (ซึ่งนับไปมาไม่น่าจะเกินสองอาทิตย์ต่อเทอม!) เคยไปงานปาร์ตี้ติดกันสามงานต่อคืน...บ้าคลั่งมาก แต่เพราะหนึ่งเท้ากับอีกสามนิ้วเท้าของอีกข้างพาตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกวิชาการ เราจึงอดไม่ได้ที่จะ “theorise” วัฒนธรรมการไปปาร์ตี้ ไม่ว่าจะเป็นตามบ้าน ตามร้านอาหาร หรือตามผับบาร์ เช่น ในผับเมืองไทย “pub goers” จะชอบเกาะกันเป็นฝูง ยืนอิเหระเขะขะ อยู่รอบโต๊ะตัวน้อยนิด พื้นที่จำกัด ไม่มีใครอยากมีปฏิสัมพันธ์กับโต๊ะอื่นเท่าไหร่ (ยกเว้นตอนไปขอเบอร์หนุ่ม/สาวโต๊ะข้างๆ) ไม่ต้องพูดถึงว่าหน้าไหนกล้ามาผับคนเดียว แบบดื่มเอง เต้นเอง มันส์เอง ที่เป็นเช่นนี้เพราะสังคมไทยได้รับอิทธิพล “วัฒนธรรมฝูง” อยูไม่น้อย (หรือจะเรียก “โขลง” ก็ได้ เพื่อให้สอดรับกับนโยบายส่งเสริมวัฒนนธรรมไทย
ของกระทรวงวัฒนธรรม) ฉะนั้นยังขาดการปลูกฝังความมั่นใจแบบดื่มเอง เต้นเอง มันส์เอง ขณะที่ในหมู่ฝรั่งมังคุด ความมั่นใจเช่นนี้พัฒนาถึงขั้นที่ผู้คนสามารถไปนั่ง “กึ่ม” เพียงลำพังได้ หรือหากยังขโยงไปกับกลุ่มเพื่อน พอถึงผับ กลุ่มมักไม่เกาะแน่นเหมือนพี่ไทย คนส่วนใหญ่ยืนถือเบียร์หนึ่งขวด แล้วเมาส์กับคนทั่งผับ (ยังดีที่ไม่เข้าไปในครัว คุยกับพนักงานล้างจาน) นี่อาจสะท้อนวัฒนธรรม “ปัจเจก” ของฝรั่งฝั่งตะวันตก

แล้วที่เบลเกรด นครหลวงแห่งเซอร์เบียหล่ะ? เราคิดว่าผับบาร์เป็นที่ระบายความอัดอั้น น้อยเนื้อต่ำใจทางวัฒนธรรมของชาวเซอร์เบียน ผู้อาศัยที่ประเทศที่รายล้อมไปด้วยประเทศพัฒนา มี “ศิวิไลซ์” ในทวีปยุโรป

แต่ก่อนอื่น เราควรรู้ว่าผับบาร์ในเซอร์เบียมีหลายประเภท ประเภทที่เปิดตอนกลางวันคือ “คาเฟ่” ซึ่งมิได้ขายเฉพาะกาแฟเท่านั้น แต่รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นานาชนิดด้วย หรือทั้งกาแฟและสุราผสมกันไปเลย บางคนมานั่งที่คาเฟ่แต่เช้า ที่เห็นนั่งจิบกาแฟ ก็อาจเป็นภาพลวงตา เพราะนั่นอาจเป็นการร่ำสุราควบคู่อาหารเช้า พอบ่ายคล้อย ที่คาเฟ่เริ่มมีผู้คนนั่งจิบเบียร์ สูบบุหรี่... เหนือคาเฟ่ ยังมี “คาฟาน่า” คาฟาน่าคือบาร์โบราณ จุดเด่นสำคัญคือวงดนตรียิปซี โดยมากมีนักดนตรีสองหรือสามคน (ทรัมเปต อคอร์เดียน และบางทีมีเชลโลผุๆ อีกตัว) และนักร้องหนึ่งหรือสองคน เล่นประโลมใจนักดื่ม เมื่อมีดนตรี ก็ต้องมีคนเต้น หากคุณอยู่ในคาฟาน่า แล้วทำตัวไม่เข้าพวกเต้นท่ามาดอนนา อาจถือเป็นตราบาป เพราะท่าเต้นที่ถูกต้อง คือการจับมือเป็นวงกลม สะบัดขาตามเสต็ปพื้นบ้าน (ขอสารภาพว่าทุกวันนี้ก็ยังเต้นไม่ได้) ซึ่งทำให้วงกลมนั้นหมุนไปมา เหมือนที่วางอาหารแบบหมุนได้ในร้านอาหารจีน ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อมีดนตรี และคนเต้น ย่อมต้องมีคนร้อง แต่ที่คาฟาน่า ผู้คนร้องเพลงแบบไม่กลัวขายหน้า คือขอใช้คำว่า “แหกปากประสานเสียง” เลยดีกว่า เท่านั้นไม่สะใจพอ คนร้องต้องทำคล้ายพี่อี๊ด วงฟลาย (ขออภัยผู้อ่านที่เกิดไม่ทัน หรือท่านที่เกิดสมัยสุรชัย สมบัติเจริญโด่งดัง) คือร้องแล้วเอามือตะกายฟ้า เหมือนวิญญาณกำลังลอยล่องออกจากร่าง แล้วต้องถ่างมือ เรียกมันกลับมา คนในร้านคาฟาน่าเหมือนถูกสะกดจิตด้วยมนตราแห่งดนตรียิปซี




ผับอีกแบบ พวกเราคงรู้จักดี คือผับสมัยใหม่ ที่คนไปดื่ม เต้นยักแย่ยักหยั่น แบบไร้สเต็ป สิ่งที่น่าสนใจสำหรับผับแบบนี้ในเซอร์เบียคือเวลาเปิดปิด เนื่องจากบ้านเรามีมาตรการคุมเวลา ดังนั้นผับส่วนมากเปิดหัววัน ประมาณหนึ่งหรือสองทุ่ม และปิดประมาณตีหนึ่ง ที่เซอร์เบีย ถ้ายังไม่เที่ยงคืนอย่าได้ไปหาผับที่ไหน อย่างมากก็ไปนั่งเตรียมตัวเมาที่คาเฟ่ หรือคาฟาน่าก่อน ผับบาร์เปิดหลังเที่ยงคืน ปิดหกโมงเช้า และเราพบว่าผู้คนไม่ได้ไปผับเฉพาะคืนศุกร์เสาร์เท่านั้น (เหมือนพวกฝรั่ง) แต่สามารถไปได้ทุกวัน...แม่เจ้า...นี่คือวัฒนธรรมเที่ยวผับแห่งชาติจริงๆ ตอนวันเกิดเรา แกงค์เพื่อนสาวชาวอินโดนีเซียน พยายามพาท่องราตรี เพื่อให้เราเล่าสู่ลูกหลานไทยในอนาคตได้ว่า “กรูมาเบลเกรดแล้วจริงๆ” พวกเรานัดกันสามทุ่ม คิดว่าสายแล้ว ผับน่าจะเปิด ปรากฏว่าทุกที่ แม้แต่พนักงานเปิดประตูยังไม่มาเลย! อย่ากระนั้นเลย เราเริ่มตั้งวงมันจากคาเฟ่กินกาแฟผสมสุราพลางๆ ไปก่อน พอสี่ทุ่มก็เปลี่ยนไปคลับละติน (คือคนที่มาเป็นนักเต้นละตินจังหวะซัลซ่า ก็มีพวกเราหัวดำเนี่ยหล่ะ ที่นั่งดูตาสลอน เพราะรำวงเป็นอย่างเดียว ซัลซ่าบ่ได้) พอเที่ยงคืนเราถึงไปเริ่มต้นไปผับของแท้ สถานที่ตั้งผับในเบลเกรดยิ่งน่าสนใจกว่าเวลาปิดเปิด เพราะผับจำนวนมากเป็นเพียงห้องเช่า อยู่ในอาคารที่ดูภายนอกแล้วเหมือนโรงเรียนกวดวิชาแถวสยาม เพียงแง้มประตูเข้า ก็เหมือนโลกอีกใบ (เว่อร์นะ) มีบาร์เหล้า แสงไฟสลัว เวทีนักดนตรี ลานตรงกลางสำหรับนักเต้น ผับที่ใหญ่จำนวนมาก อยู่ไกลจากศูนย์กลางเมือง (city center) แต่ผู้คนก็ไม่ย่นย่อถ่อกันมา ผับใหญ่ก็แน่นขนัด

พวกเราก็เบียดเข้าไป เดินมันอยู่รอบผับจนครบสามรอบ และเราเริ่มเคลิ้มไปว่า ฤข้ากำลังเดินเวียนเทียน ก็ยังไม่เจอแม้แต่พื้นที่ 0.4 ตารางเมตรที่จะให้หัวแม่โป้งหยัดยืนกับพื้นพสุธาได้ ในที่สุดพวกเราต้องอาศัยไปยืนเบียดกับบาร์เทนเดอร์ จนทำเค้ารำคาญ แต่ด่าอะไรไม่ออก เพราะภาษาปะกิตอ่อนแอ หรือพูดอีกอย่าง คือเค้าด่าเป็นภาษาท้องถิ่น แต่เราตั้งใจเข้าใจเป็นอังกฤษผิดแกรมม่า
แม้ว่าวัฒนธรรมเที่ยวผับบางประการอาจต่าง แต่บนความต่างย่อมมีความเหมือน สาวๆ ขาแดนซ์นุ่งน้อยห่มน้อยเหมือนสาวไทย แต่ “สมบัติแห่งชาติ” เค้ามีเยอะกว่า อันนี้สาวไทยสู้ไม่ได้จริงๆ เว้นแต่จะไปยัญฮี สิ่งหนึ่งที่เราไม่เคยเข้าใจสตรีนักเที่ยวในเมืองหนาว ทั้งในเบลเกรด และในเมลเบริ์นที่เราใช้ชีวิตอยู่สองสามปี คืออากาศข้างนอกหนาวมาก ดิชั้นใช้เสื้อผ้าสี่ชั้น บวกหมวก ถุงมือ บู๊ต ยังไม่หายหนาว แต่บรรดาสาวเหล่านี้ สามารถใส่เกาะอก กระโปรงสั้นกุดได้!!! และที่แย่ไปกว่านั้นขึ้นรองเท้าส้นจิก...เจ๊คะ คือแค่พวกเจ๊ใส่สายเดี่ยว เสื้อซีธรู ท่ามกลางอุณภูมิติดลบ หิมะตกโครมคราม ดิชั้นก็ซูฮกให้เป็นซูสีแล้ว ยังใส่ส้นจิกให้มันทรมานส้นทีนอีก...ถือว่ามีจิตวิญญาณนักเที่ยวขั้นอรหันต์ นับถือๆ

ถ้าเราคิดถึงผับเหล่านี้ในฐานะพื้นที่ทางวัฒนธรรม เราเห็นอะไร? คล้ายกับเทศกาล งานรื่นเริง หรือคาลนิวาล ผับทำหน้าที่เป็นพื้นที่ “ต่อต้านโครงสร้าง” (anti-structure) เรียกแบบลงจากหอคอยงาช้าง คือในผับ ผู้คนทำตัวต่อต้านสังคมได้ เช่นคนมีความรู้ มีอาชีพเป็นที่นับหน้าถือตา เมื่อเที่ยวผับ อาจกลายเป็นคนละคน แต่ก็ไม่มีใครถือสา เพราะผับเป็นพื้นที่ยกเว้นความคาดหวังต่อบทบาททางสังคม (แต่ถ้าต่อยกันในผับ ก็เป็นอีกเรื่อง) ในกรุงเทพฯ คนจำนวนมากมาผับเพื่อเกี้ยวพาราสีโดยเฉพาะ เพราะในพื้นที่ผับ ไม่ต้องการพิธีรีตองในการจีบมาก มองตา เลี้ยงเหล้าสักแก้ว เต้นกันคลอเคลีย จากนั้นก็แลกเบอร์ (หรืออาจตามมาด้วยกิจกรรมอื่นๆ...) ขณะที่เมื่ออยู่นอกพื้นที่ผับ พฤติกรรมเช่นนี้อาจไม่สำเร็จผลดังหวังเสมอไป กฏเกณฑ์ที่กำกับการเกี้ยวพาราสีเป็นอีกแบบ

ในเซอร์เบีย ผับเป็นพื้นที่ปลดเปลื้องอารมณ์ “น้อยใจแห่งชาติ” เซอร์เบียเป็นประเทศที่ถูกรายล้อมไปด้วยชาติยุโรป “ศิวิไลซ์” ทางเหนือเป็นออสเตรีย ตะวันตกเป็นเยอรมัน ไล่ไปถึงฝรั่งเศส หรือตะวันออกเฉียงเหนือเป็นประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ในทางประวัติศาสตร์ ชาวเซริ์บตกเป็นเมืองขึ้นของจักรวรรดิออตโตมัน (ตุรกีในปัจจุบัน) ราวหกร้อยปี จากนั้นถูกครอบครองโดยจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และนาซีเยอรมันระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อรัฐชาติยุโรปพัฒนาให้เป็นสมัยใหม่ เซอร์เบียซึ่งเพิ่งหลุดออกจากฐานะเบี้ยล่างมหาอำนาจ ก็พบว่าตน “ด้อยพัฒนา” เมื่อเทียบกับประเทศเหล่านี้ ผลทางวัฒนธรรมการเมืองคือผู้คนในเซอร์เบีย รวมถึงชาติอื่นๆ ในคาบสมุทรบอลข่านซึ่งตกเป็นอาณานิคมจักรวัติออตโตมันมายาวนานเช่นกัน (อย่างมาเซโดเนีย บอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา อัลแบเนีย บุลกาเรีย และโรมาเนีย) มองไปที่ยุโรปตะวันตก และอยากศิวิไลซ์เช่นนั้นบ้าง ในภาษาเซอร์โบ-โครเอเชีย ศัพท์คำว่า “ฟีนี ลูดิ” (น่าจะแปลเป็นไทยว่า “ผู้ดี”) สะท้อนความ “อยาก” ทางวัฒนธรรมเช่นนี้ คนในเมืองส่วนมากเห็นว่าตนเป็น “ผู้ดี” ส่วนพวกชาวนาบ้านนอกเป็นพวกด้อยความเป็นยุโรป ทว่าอันที่จริง เซอร์เบียพัฒนาระบบเมืองล้าหลังกว่าประเทศอื่นๆ ในยุโรปตะวันตกมาก ฉะนั้นผู้ที่สถาปนาตนเป็น “ผู้ดี” จึงเพิ่งสลัดคราบ “บ้านนอก” มาสดๆ ร้อนๆ ทั้งยังมีญาติพี่น้องเกือบทั้งตระกูลตั้งรกรากในพื้นที่ที่ตนดูแคลนว่าไม่ศิวิไลซ์เอาซะเลย วัฒนธรรมผู้ดีแบบบกพร่องเช่นนี้ยังถูกเชื่อมโยงกับ “ยิปซี” หรือ “โรมา” ซึ่งเป็นชนชาติ “พเนจร” ในยุโรป และเป็นที่รังเกียจเดียดฉันท์โดยชนส่วนใหญ่ในสังคมนนั้นๆ ว่าเป็นพวกด้อย ของความด้อย ของความด้อยทางวัฒนธรรม



ในเซอร์เบียความรังเกียจยิปซีสิ้นสุดใน “คาฟาน่า” บาร์ประเภทนี้อาศัยดนตรียิปซีเป็นหลัก ปรากฏว่าผู้คนจำนวนมากดั้นด้นมาจากแดนไกล เดินทางฝ่าถนนลูกรังเข้าไปในหมู่บ้านเล็กๆ เพื่อฟังวงดนตรียิปซีชื่อดังในคาฟาน่า แม้ในชีวิตประจำวันนอกพื้นที่บาร์ ชาวเซริ์บโดยทั่วไปไม่อยากแม้กระทั่งสนทนาหรือยิ้มให้ยิปซี พฤติกรรมเหล่านี้กลับตาละปัตในคาฟาน่า นักเที่ยวบาร์สำราญไปกับดนตรียิปซี บ้างร้องเพลงแบบซึ้งถึงอกถึงใจ บ้างให้ทิปนักดนตรียกใหญ่ บ้างกอดคอร้องไห้ไปกับยิปซี นักเที่ยวเหล่านี้เข้าถึง “จิตใจ” ของยิปซีเป็นอย่างดี เพราะเพลงยิปซีจำนวนมากรำพันถึงชีวิตอันแสนเศร้า (แย้งกับทำนองดนตรีที่คึกคักเร้าใจ) ต้องทนถูกเหยีดยามจากผู้คนในสังคมที่ตนพักพิงว่าเป็นชนชาติไร้ซึ้งพัฒนาการทางวัฒนธรรม คำร้องเช่นนี้กินใจชาวเซริ์บนักเที่ยว เพราะพวกเขาได้ตัดพ้อโชคชะตา และระบาย “อาการน้อยใจแห่งชาติ” ผ่านเพลง กล่าวอีกอย่างได้ว่า ดนตรียิปซีเป็นร่างทรงให้ชาวเชริ์บได้ปลดเปลื้องอาภรณ์ “ผู้ดี” ที่ตนสวมใส่ เมื่อยามอยู่นอกพื้นที่บาร์คาฟาน่า ในสถานเริงรมย์เช่นนี้ ไม่มีใครเรียกร้องให้ต้อง “ศิวิไลซ์” และ “ความป่าเถื่อน” (เช่น การร้องเพลงแบบ "แหกปากประสานเสียง" เอาขวดเหล้าฟาดโต๊ะ พูดจานักเลงหาเรื่องโต๊ะเพื่อนบ้าน หรือกระทั่งขากลงพื้น) ถือเป็นธรรมเนียม ณ คาฟาน่า บาร์ยิปซีซึ่งเป็นพื้นที่ต่อต้านโครงสร้างในเซอร์เบีย และโครงสร้างที่ว่านี้คืออาภรณ์ "ผู้ดี" ที่ชาวเซริ์บอย่างสวมใส่เป็นชนชาติยุโรปตะวันตกอื่นๆ ทว่าอาภรณ์กลับไม่พอดีกับร่าง สวมแล้วอึดอัด คับข้องใจ ยิ่งทำให้อาการไม่เป็น "ผู้ดี" ชัดแจ้งมากขึ้น

วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เซอร์เบีย...ไม่ใช่ไซบีเรีย (2)

ตรรกะในเมืองของประเทศสังคมนิยม/คอมมิวนิสต์เก่า
วันที่สองที่มาอยู่ที่นี่ เราพยายามออกไปซื้อข้าวของเข้าบ้าน เวลาไปอยู่ต่างแดน “ผังเมือง” และความเป็นเมืองย่อมต่างจากสิ่งที่เราคุ้นชิน อันนี้ก็พอเข้าใจ ตอนไปอเมริกา เกาหลี หรือตอนอยู่ออสเตรเลียใหม่ๆ ก็ต้องทำความเข้าใจ “ความเป็นเมือง” และแผนที่ของเมืองนั้นๆ ก่อนถึงจะรู้ว่าต้องไปซื้ออะไรที่ไหนอย่างไร วัฒนธรรมการกินอยู่ของคนที่นี่เป็นอย่างไร บ้านเมืองมีผังแบบไหน ผู้คนอยู่กันอย่างไร ข้อต่างระหว่างประเทศเหล่านี้กับเซอร์เบียมีอย่างเดียว (ที่จริงมีหลายอย่าง แต่ทุกอย่างมีเหตุผลเบื้องหลังอย่างเดียวกัน...เราว่า) คือเซอร์เบียเป็นประเทศสังคมนิยม/คอมมิวนิสต์เก่า ตั้งแต่เป็นรัฐชาติยูโกสลาเวียตอนหลังสงครามโลกครั้งที่สองก็เป็นสังคมนิยม/คอมมิวนิสต์ (ต่างจากประเทศคอมมิวนิสต์อย่างโซเวียตและจีนคือ ยูโกสลาเวียมีระบบเศรษฐกิจแบบเปิดมากกว่า ผู้คนเดินทางไปไหนมาไหนได้ แม้รัฐไม่ให้เสรีภาพทางการเมืองเต็มใบ เช่นไม่มีการเลือกตั้ง แต่รัฐดูแลแบ่งปันทรัพยากรให้ผู้คน แต่ก็ให้เสรีภาพในการแสดงความเห็นทางการเมืองอยู่บ้าง สถานบันทางวัฒนธรรมมีอิสระในการดำเนินกิจกรรมของตนเอง รวมถึงวิพากษ์รัฐบาลบางครั้ง) เบลเกรดจึงเป็นเมืองหลวงที่ถูกออกแบบมาให้ตรงกับประโยชน์ใช้สอยของระบอบสังคมนิยม/คอมมิวนิสต์ ต่อมาเมื่อ Tito เสียชีวิตเมื่อปลายศตวรรษที่ 1980 เซอร์เบีย หรือยูโกสลาเวียก็ไม่ได้กลายเป็นประเทศประชาธิปไตยที่อ้าแขนรับระบบทุนนิยมเป็นเต็มที่เหมือนประเทศในยุโรปตะวันออกประเทศอื่นๆ ที่เป็นอิสระจากระบอบคอมมิวนิสต์โซเวียตในช่วงเดียวกัน แต่เซอร์เบียนั่งไทม์แมชชีนกลับไปยังประวัติศาสตร์ (ปั้นแต่ง) ชนิดที่เชื่อว่าเซอร์เบียเป็นประเทศของชาว “เซริ์บ” เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น และถูกกระทำโดยชนชาติต่างๆ ที่เช้ามายึดครองดินแดนในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นโรมัน ต่อมาเป็นเตริ์กในช่วงยุคกลางของยุโรป ต่อมาเป็นจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี และช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเป็นนาซีเยอรมันนี ส่วนชนชาติอื่นๆ ที่เอาเข้าจริงอยู่ร่วมกันมา (อย่างโครแอต บอสเนียน หรืออัลเบเนียน) ล้วนแต่เป็นตัวก่อความทุกข์ร้อนให้ชาวเซริ์บทั้งสิ้น เมื่อคิดเช่นนี้ เซอร์เบียในช่วงรอยต่อศตวรรษที่ 1980 ถึง 1990 จึงกลายเป็นประเทศสังคมนิยม (เพราะรัฐบาลที่ขึ้นครองอำนาจคือ สโลโบดาน มิโลเซวิช มาจากพรรคสังคมนิยมเซอร์เบีย – Socialist Party of Serbia, SPS) ที่ค่อนไปทางอำนาจนิยม และอาศัยฐานชาตินิยมเป็นตัวกระตุ้นความสนับสนุนของประชาชนต่อผู้นำ
ถ้าจะให้ร่ายยาวเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองของยูโกสลาเวีย/เซอร์เบียในช่วงทศวรรษที่ 1990 คงต้องใช้หน้ากระดาษจำนวนมาก เอาไว้ค่อยๆ เล่ากันดีกว่า แต่ที่เกริ่นถึงระบอบการเมืองของดินแดนแห่งนี้ก็เพราะว่าวันที่สองที่มาที่นี่ จำไม่ได้ว่าบ้านตัวเองคือหลังไหน สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากเราไม่ได้จำเลขที่บ้าน (ซึ่งไม่แปลกใจ เพราะปกติเป็นคนโก๊ะกังแบบนี้อยู่แล้ว) ที่สาเหตุอีกส่วนมาจากอาคารที่อยู่อาศัยแถวนี้หน้าตาเหมือนกันหมด อารมณ์ตึกแถวบ้านเรา แต่อันนี้เป็นความเหมือนยิ่งว่าฝาแฝดจากไข่ใบเดียวกัน คือเรากำลังเดินออกไปซื้อของ พอเดินไปได้หน่อย จำได้ว่าต้องเอาอะไรบางอย่างไปด้วย เลยเดินกลับไปที่อพาร์ทเมนต์ ที่นี่เพราะจำเลขที่อาคารไม่ได้ เลยอาศัยว่าน่าจะจำลักษณะของอาคารได้ ปรากฏว่าเดินเข้าไปในอาคารนึงที่คิดว่าน่าจะเป็นอพาร์ทเมนต์เรา ปรากฏว่าเดินไปถึงชั้นสาม (ชั้นที่เราอยู่) “เอ๊ะทำไมกุญแจที่มีมันเปิดประตูห้องไม่ได้ (ฟะ)” มองประตูห้องอีกที “เอ๊ะทำไม ไม่คุ้น” ลองเดินขึ้นอีกหน่อย “เอ๊ะ ทำไมมันมีหลายชั้นเกิน ที่จริงอาคารเรามันมีห้าชั้นนี่หน่า” ลองเดินออกไปนอกอาคาร “แมร่งหน้าตาเหมือนกันนี่หว่า” (คือมีป้ายร้านหมอฟัน มีประตูสีขาวๆ บันไดที่เข้าอาคารเหมือนกัน อาคารเป็นทรงเดียวกัน บันไดโค้งเหมือนกัน ลิฟท์ยืนประจำตำแหน่งเดียวกัน ตู้จดหมายหน้าตาเหมือนกัน “แต่ห้องตูหายไปหนายยยยยย” เดินวนอยู่นาน กว่าจะเริ่มเข้าใจว่าอาคารทุกหลัง ไม่ใช่เพียงข้างนอกหน้าตาคล้ายกัน แต่ข้างในยังคล้ายกันด้วย ฉะนั้นถ้าจำเลชอาคารไม่ได้ และมาจากดาวอังคารอย่างอีชั้น ก็จะตกอยู่ในสภาพเจ๊กหลงเมืองเช่นนี้ เดินอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมง เข้าอาคารนู้น ออกอาคารนี้ กว่าจะเจอตึกของตัวเองก็เล่นเอาเมื่อยตาตุ่ม...แต่ก็ยังไม่ได้เอะใจว่าทำไมอาคารทุกหลังถึงเหมือนกันได้ขนาดนี้ คือไม่ใช่แค่เหมือนกันทางกายภาพนะ (การออกแบบ ตกแต่ง...ถ้ามีการตกแต่งจริงๆ) แต่ความรู้สึกเวลาอยู่ในอาคารเหล่านี้ยังเหมือนกันอย่างน่าประหลาด คือเวลาเดินขึ้นบันได รู้สึกมีเมฆดำทะมึนลอยอยู่บนกบาลตามเราไปตลอดบันไดที่ม้วนวน ลิฟท์นี่น่าสนใจที่สุด ให้นึกสภาพลิพท์ในเรือไททานิค (คือมันนึกหนังเรื่องอื่นไม่ออก) ลิพท์แบบสมัยต้นศตวรรษที่ยี่สิบ แบบเพิ่งประดิษฐ์ก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งได้นิดหน่อย เป็นลิพท์เล็กๆ ประตู “อัตโนมือ” เปิดออกมาหนึ่งชั้น แล้วต้องเปิดบานประตูเข้าไปอีกหนึ่งชั้น พื้นที่ในลิพท์จุคนได้อย่างมากก็สองคนครึ่ง แต่ทางที่ดีอย่าพยายามขึ้นไปเกินคนเดียว (และควรเป็นคนเดียวที่มีน้ำหนักตัวไม่เกิน 70 กิโล... เป็นลิพท์ที่กีดกันคนน้ำหนักเกินมาก) เพราะไม่แน่ใจว่ามันจะยกคุณขึ้นไปไหวหรือไม่ พอขึ้นลิพท์ และลิพท์ตัดสินใจแล้วว่ามันยกคุณไหว มันก็จะเคลื่อนตัวไปอย่างช้าๆ (ขอเน้นว่าช้ามากจริงๆ ถ้าใช้ลิพท์แบบนี้กับตึกใบหนก คงมช้เวลายี่สิบสองวันกับสิบแปดชั่วโมง เพื่อไต่ไปให้ถึงยอดตึก) ประตูลิพท์มีหน้าต่างกระจกเล็กๆ ให้เราเห็นกำแพงตึกเก่าๆ และให้เราสำเนียกว่าลิพท์มันเคลื่อนตัวอยู่นะ คือถ้าเป็นลิพท์ใหม่หน่อย (จะว่าใหม่ซะทีเดียวก็ไม่ใช่ เอาเป็นว่าเรียกเป็นลิพท์ที่ผลิตหลังสงครามโลกครั้งที่สองแล้วกัน) ประตูมันก็จะปิดทึบ ไม่ให้เราเป็นบรรยากาศภายนอก เราไม่ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าลิพท์ขยับกายไปถึงไหนแล้ว อันนี้เรียกเป็นข้อดีของลิพท์รุ่น Tito ได้มั๊ยหนอ? พอลิพท์เคลื่อนตัวผ่านกำแพง เราก็จะได้กลิ่นอับชื้นของปูนและอิฐ เรียกได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่อำนวยให้เราได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า ประสาทสัมผัสที่ “หก” อาจจำเป็นถ้าเริ่มเห็นเงาประหลาดๆ หรือได้กลิ่น “ซาก” ในลิพท์
สำหรับคนที่เติบโตมากับระบบทุนนิยม ความไม่สะดวกในการอยู่ประเทสังคมนิยม/คอมมิวนิสต์เก่าอีกอย่างคือ การจับจ่ายซื้อของ ของที่ปกติหาซื้อในซุปเปอร์มาเกตได้กลับกลายเป็นหาซื้อไม่ได้ เช่นของพื้นฐานอย่างกิ๊บหนีบผ้าและเขียง ถูกต้องแล้ว นักศึกษาปริญญาเอก ร่ำเรียนมาเกือบตลอดชีวิต อ่านหนังสือทฤษฎีอยากๆ มาก็จำนวนหนึ่งแต่กลับหาซื้อกิ๊บหนีบผ้าและเขียงไม่ได้ เดินไปซิ...เดินทั่วซุปเปอร์มาเกตแล้ว เดินในเมืองก็แล้ว เจอของสารพัดอย่าง แต่ไม่ใช่กิ๊บหนีบผ้ากับเขียง พอไม่มีของสองอย่างนี้ก็เริ่มรู้สึกว่าชีวิตลำบากขึ้น กิ๊บหนีบผ้าเป็นของจำเป็นอย่างมหาศาลในบ้านเมืองที่ออกแบบราวตากผ้าให้ยื่นออกไปนอกระเบียง ทุกห้องมีราวที่ยื่นออกไปนอกระเบียงเหมือนกัน ดังนั้นถ้าไร้ซึ่งทักษะในการตากผ้ากับนวัตกรรมราวตากผ้าเช่นนี้ ก็อาจทำชุดชั้นในหรือกกน. ตกไปหาเพื่อนบ้านชั้นล่างได้ หรือถ้าไม่มีกิ๊บตากผ้า (คือปกติเมืองไทยมันเป็นที่ตากผ้าตั้งกับพื้น หรือไม่ก็ราวที่อยู่ในอาคารบ้านเรือน เราเลยใช้ไม้แขนเสื้อตากผ้าได้) อันทรงพลังเสื้อผ้าเราก็จะกลายเป็นของเพื่อนบ้านชั้นล่างได้อีกเช่นกัน... ปัญหาโลกแตกหล่ะคราวนี้... ผ่านไปสองสามวัน อิชั้นก็ยังคงหากิ๊บหนีบผ้าไม่ได้ เลยตัดสินใจส่งข้อความไปถามเจ๊เจ้าของอพาร์ทเมนต์ว่าชาวบ้านแถวนี้เค้าหาซื้อกิ๊บหนีบผ้ากันจากที่ไหน หรือเค้าใช้กำลังภายในอะไรกันในการตากผ้านอกระเบียง เจ๊เจ้าของบ้านน่ารักมาก บึ่งรถเอากี๊บผนีบผ้าของตัวเองมาเผื่อแ แผ่ให้เรา พอเราถามว่าซื้อจากไหนได้ เจ๊แกพยักไหล่แล้วตอกกลับว่า “ก็ร้านขายของทั่วไป” อิชั้นนึกในใจ “สาบานให้เจ้าแม่กวนอิมลงโทษได้เลยว่าอิชั้นเดินหาเกือบทั่วเมืองแล้ว แต่หาไม่เจอ (โว้ย)”
ของอีกอย่างที่หาไม่เจอคือเขียง เด็กที่เติบโตมากับระบบทุนนิยมก็จะมีสมมุติฐานว่าของใช้ทุกอย่างมันต้องอยู่รวมกันในซุปเปอร์เกต (เหมือนที่ท๊อปส์ไง!) รวมถึงเครื่องใช้ในครัว ซุปเปอร์มาเกตขนาดกลางที่นี่ก็เป็นอย่างนั้น มี (เกือบ) ทุกอย่าง (ยกเว้นกิ๊บหนีบผ้า) เครื่องใช้ในครัวก็มีจาน ชาม ช้อน ส้อม มีด ตะลิว กะทะ หม้อ รวมถึงอุปกรณ์เบเกอรี่ แต่ไม่มีเขียง! เป็นไปได้ยังไง ไอเราก็เดินหามันเข้าไป หามันเกือบทุกห้างในเมืองที่มี แต่ก็ยังไม่ได้ถามพนักงานเพราะพนักงานไม่พูดภาษาอังกฤษ และทักษะภาษาเซอร์เบียนของอิชั้นก็ยังไม่เหนือชั้นขนาดรู้ศัพท์คำว่า “เขียง” เดินเข้าออกตามซุปเปอร์มาเกตมากมาย ก็ยังหาไม่เจอ ที่นี้พอเดินหาซื้อของมากๆ เข้า ก็ได้ข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า ร้านรวงที่นี่เป็นร้านขนาดเล็ก และขายของเฉพาะเจาะจง เช่น ร้านที่ขายเครื่องใช้ในครัว ก็จะขายเครื่องใช้ในครัวอย่างเดียว (ยกเว้นซุปเปอร์มาเกต ที่ขายของแบบ “แกงโฮะ” อยู่บ้าง แต่ยังโฮะเท่าซุปเปอร์มาเกตในโลกทุนนิยมแบบเต็มตัว) ร้านที่ร้านเครื่องสุขภัณฑ์ หรือของตกแต่งบ้าน ก็ขายแค่จำพวกนี้ ร้านเครื่องสำอางค์และร้านขายผลิตภัณฑ์บำรุงผิวของคุณสุภาพสตรีทั้งหลาย ก็ขายอยู่อย่างเดียว (ไม่มีการขายครีมกวนอิม และแถมซาลาเปาเหมือนเซเว่นบ้านเรา) มีกระทั่งร้านขายเฉพาะแค่ถุงเท้า หมอนและม่าน ถ่านกล้อง และอื่นๆ คือจะขายอะไรก็ขายไปอย่างเดียว ขาดการ “บูรณาการ”
พอไม่มีเขียง ชีวิตทางโภชนาการก็เริ่มลำบาก ต้องไปหั่นหมู หั่นไกในจาน หั่นก็ไม่สะดวก จะสับก็ไม่ได้ กลัวจานเค้าแตก จะหั่นผักที่มีขนาดใหญ่กว่ากระเทียมก็ลำบาก หั่นผิดรูปทรงไปก็กระทบถึงรสชาดของอาหาร ฯลฯ ทำยังไงดี? วันหนึ่งเพื่อนชาวเซอร์เบียนมากินข้าวที่บ้าน เราก็เลยตามเค้าไปว่าคนแถวนี้เค้าใช้เขียงกันมั๊ย เพื่อนก็บอกว่าใช้ เราก็เลยถามว่า “อ้าว แล้วไปซื้อที่ไหน เพราะเราเดินหาแทบตาย หาไม่เจอ” เพื่อนบอกว่าให้ไปซื้อร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน หรือเครื่องใช้ในครัวโดยเฉพาะ... เอาหล่ะ จันจิราก็ตั้งมั่นว่าคราวนี้ต้องซื้อเขียงให้ได้ เพราะเรารู้ว่าไอ้ถนนเส้นบาลข่านสกีเนี่ย มันมีร้านขายเครื่องใช้ในบ้าน ที่เราเคยพยายามเข้าไปถามหาเขียงแล้ว แต่เจ้าของร้านไม่เข้าในภาษาอังกฤษ เย็นวันฟ้าโปร่งวันหนึ่งจันจิราก็เดินถือดิคทชันนารี พร้อมเปิดศัพท์คำว่า “หั่น” ให้มั่นไว้ (คือเปิดคำว่าเขียงแล้ว ขนาดดิคทฯ ยังไม่มีในสารระบบ) พอถึงร้าน ก็เปล่งออกไปว่า “Zdravo” (สวัสดี) เจ้าของร้านจะได้รู้ว่าเราพูดภาษาเค้าได้หน่อย จากนั้นก็ยื่นดิคทที่เปิดค้างไว้ให้ดู แล้วทำมือเป็นเขียง จากนั้นทำท่าหั่น เจ้าของร้านยืนงงอยู่นิดนึง คงคิดในใจว่า “ยัยเจ๊กนี่มันทำอะไรของมัน” จากนั้นก็เข้าใจว่าเราต้องการอุปกรณ์หั่นอาหาร เลยเดินไปหยิบ “มูลิเน็กซ์” ให้ เราเลยรีบส่ายไปพร้อมบอกว่า “Ne ne” แล้วมือเป็นเขียง และทำท่าหั่น เจ้าของร้านถึงบางอ้อ เดินไปหยิบเขียงอันเล็กๆ มาให้... จันจิราดีใจแทบกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ ด้วยความปลื้มปิติว่าในที่สุดความพยายามก็สำฤทธิ์ผล ตรูได้หั่นผัก หั่นหมู อย่างมีความสุขแล้ว!... เจ้าของร้านเห็นเราหน้าตาดีใจจัดเลยบอกให้เดินตามไปหน้าร้าน แล้วไปชี้เขียงอันใหญ่ให้ดู...ใหญ่มากจริงๆ จะเอาไปหั่นควายหรือคะพี่... พร้อมว่า “complex” เออ อีตอนตรูถามหาตอนแรก ทำเป็นไม่เข้าใจ ตอนนี้จะมาขายของเชียว แต่ความสงสัยจะไม่จางหายไป อิชั้นเลยถามเจ้าของร้านไปว่า “คนแถวนี้เค้าไม่ใช้เขียงกันเหรอ ทำไมหาซื้อยากจัง” เจ้าของร้านเหมือนเข้าใจภาษาอังกฤษ ปนไทย ปนเซอร์เบียน เลยชี้ไปที่ “มูลิเน็กซ์”...อืม อย่าได้ติดสินความก้าวหน้าของประเทศจากความล้าหลังของลิพท์เชียว
อะไรคือข้อสรุปจากการหากิ๊บหนีบผ้าและเขียงไม่เจอ? นอกจากเรื่องภาษา และความไม่คุ้นเคยพื้นที่ เราคิดว่าเป็นเพราะเราเติบโตมากับระบบทุนนิยมเต็มใบ เวลาไปจับจ่าย ของทุกอย่างกระจุกตัวอยู่ในซุปเปอร์มาเกตขนาดใหญ่ หรือห้างสรรพสินค้ามหึมาใจกลางเมือง ซึ่งเสนอสินค้าไม่เพียงครบครัน แต่เต็มไปด้วย “ตัวเลือก” เช่น เวลาซื้อแชมพู ก็มีประมาณห้าล้านกว่ายี่ห้อให้เลือก (เวอร์ไปนิด แต่นึกภาพเวลาคุณยืนเลือกยาสระผมในซุปเปอร์มาเกตท๊อปส์ แล้วไม่รู้จะเลือกยี่ห้ออะไรดี เพราะดูเหมือนมีตัวเลือกเต็มเป็นไปหมด แต่ก็ไม่รู้ว่าแต่ละตัวเลือกต่างกันอย่างไร ยี่ห้อไหนดีกว่า สูตรไหรเหมาะกับเรา เพราะยาสระผมทุกวันนี้เริ่มเหมือนยาเทวดาหมอมี ด้วยการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณว่ารักษาอาการผิดปกติของเส้นผมและหนังศีรษะได้เกือบทุกอย่าง... ยกเว้นโรครอยหยักในสมองขาดแคลน) แต่เวลาซื้อของแถวนี้ ต้องเข้าไปตามร้านรวงเล็กๆ เพราะไม่มีห้างใหญ่ๆ จะซื้ออะไร ก็ต้องไปร้านเฉพาะของสินค้าประเภทนั้นๆ สำหรับคนที่โตมากับเมืองทุนนิยมอย่างเรา วัฒนธรรมเช่นนี้สร้างความลำบากให้กับเรามากโข เพราะต้องเดินเข้าออกร้านนั้น ร้านนี้ ยิบย่อยไปหมด แต่คิดอีกที หรือนี่อาจเป็นสัญญาณ “ที่ดี” ว่าอย่างน้อยระบบตลาดชนิดที่ทุนใหญ่ (ในนามของห้างใหญ่) ยังคลืบคลานมาไม่ถึง (แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มา) ผู้คนยังเป็นเจ้าของกิจการ มีอิสระในการทำมาหากิน โดยไม่ต้องขึ้นกับบริษัทข้ามชาติขนาดยักษ์ อยากปิดเปิดร้านไปนั่งกินกาแฟ หรือเล่นหมากรุกกับเพื่อนเมื่อไหร่ ก็ทำตามอารมณ์กันไป ทำยอดรายเดือนไม่ถึงเป้าก็ไม่ถูกไล่ออก อย่างมากก็กินขนมปังแข็ง แบบขาดโปรตีนไปเดือนนึง หรืออดกินกาแฟไปครึ่งเดือน อิสรภาพในการทำมาหากินยังหลงเหลือร่องรอยอยู่บ้างในเมืองที่เคยตกอยู่ใต้ม่านหมอกของระบบสังคมนิยม/คอมมิวนิสต์... ยอกย้อนดีเหมือนกัน
ถ้าคิดอย่างนั้นตลอดเวลา จันจิราก็ดูจะเป็นนักสังคมศาสตร์ที่มี “จริยศาสตร์” เกินความจำเป็น มีบางเวลาที่อยากให้ซุปเปอร์มาเกตท๊อปส์ หรือห้างพารากอนมาเปิดสาขาแถวนี้บ้างนะ...ฮืออออออ

เซอร์เบีย...ไม่ใช่ไซบีเรีย

เดินในเมือง “สีขาว” (beo = ขาว, grad = เมือง -> Beograd / Belgrade)
วันแรกที่มาถึงเบลเกรดอากาศไม่เลวร้ายนัก เมื่อเทียบกับครั้งที่แล้วที่มา (ปีที่แล้วเดือนพฤศจิกายน...คงไม่มีใครบ้าคลั่งมายุโรปช่วงย่างหน้าหนาวเหมือนอิชั้นอีกแล้ว) เป็นครั้งที่แรกที่เข้าเมืองมาทางพาหนะทางอากาศ (ครั้งแล้วที่มาทางรถไฟจากโรมาเนีย) ด่านตรวจคนเข้าเมืองขนาดย่อมเยา เตือนใจให้เรานึกท่าอากาศยานของเพื่อนบ้านอย่างลาวไงไม่รู้ หรือว่าเพราะเราเพิ่งมาจากแฟรงเฟริ์ต ทุกอย่างมันเลยดูเล็กไปหมด? อืม เป็นไปได้ ความเนียนของเราทำให้น้ำพริกตาแดง น้ำปลายย่าง เครื่องแกงต่างๆ และใบมะกรูดที่แม่แพคมาให้ผ่านด่านศุลกากรพี่เซริ์บมาได้...รอดชีวิต (จากอาหารเชอร์เบียน) ไปได้อีกสี่เดือน
พี่คนขับแทกซี่ยืนรอหน้าแป้น พร้อมด้วยชื่อภาษาไทยยาวเหยียด ที่ทุกวันที่ชาวบ้านแถวนี้ก็ยังเรียกว่า “ยานยีรา” ทั้งที่อุตส่าห์ย้ำแล้วว่าให้ออกเสียง “จัน” = Ćan ไม่ใช่ “ยาน” = Jan สงสัยต้องให้อธิบายความกันว่า “ยาน” ในภาษาไทยหมายความว่าอะไรได้บ้าง
พี่คนขับแทกซี่พูดภาษาปะกิตไม่ได้ อิชั้นก็เว่าภาษาเซอร์เบียนแบบงูๆ ปลาๆ (การเรียนด้วยตัวเองมาห้าเดือนไม่ได้ช่วยให้สื่อสารกับมนุษยษ์แถวนี้ได้ค่ะท่านผู้ชม) อีสองคนเลยพยายามนั่งคุยกันด้วยภาษาที่ตัวเองไม่ถนัด...มันส์ไปอีกแบบ
เบลเกรดปีนี้ไม่ต่างจากปีที่แล้ว จากเบลเกรดใหม่ (Novi Beograd) ซึ่งเป็นที่พำนักของคนจำนวนมากและย่านธุรกิจ (รวมถึง China Town! – มีเสียงเล่าลือกันว่าชาวบ้านแถวนี้ไม่ชอบคนจีนเท่าไหร่นัก เพราะเข้ามาแบบไม่ได้รับเชิญ คือช่วงที่รัฐบาลสโลโบดานมิโลเซวิชครองอำนาจ รัฐบาลจีนเป็นมิตรเพียงประเทศเดียวที่เหลือ ส่วนประเทศฝรั่งทั้งหลายพากันคว่ำบาตรเซอร์เบีย เพราะเที่ยวทำตัวเกะกะระราน ก่อสงครามไปทั่วคาบสมุทรบาลข่าน) ถึงเบลเกรดเก่า (Stari Beograd) รถยังขวักไขว่ไม่เป็นระเรียบเหมือนที่กรุงเทพฯ ช่วงห้าโมงเย็นอย่าได้หวังว่าได้เดินทางคล่องว่องไว เพราะรถติดบานตะไท ส่วนที่แทกซี่ก็ขับรถได้ศิวิไลซ์คล้ายแทกซี่บ้านเรา (แต่ทักษะการปาดของแทกซี่บ้านเราเหนือชั้นกว่ามาก) พี่นึกอย่างกลับรถก็กลับมันตรงนั้นเลย หรือว่าถ้าเจอเพื่อนแทกซี่ข้างๆ ก็หยุดรถคุยกันซะงั้น
คุยกับคนขับแทกซี่เพลิน (ทั้งๆ ที่ไม่แน่ใจว่าคุยกันรู้เรื่อง) ซักพักก็มาถึงอพาร์ทเมนต์ที่ติดต่อขอเช่าไว้ พอรถจอดปั๊ป ไอ้เราก็มองหามิตเตอร์ แต่ก็แอบมองโลกในแง่ดีว่า นี่อาจเป็นบริการจากบริษัทนายหน้าหาบ้านที่เราติดต่อไป (เพราะเค้าเสนอเองว่าจะให้คนขับรถมารับ) แต่เวรกรรมย่อมตามทันพวกมองโลกในแง่ดีเกินเหตุ เพราะพี่แทกซี่เอื้อมมือมาหยิบหมวกข้างอิชั้น ที่ดูเหมือนครอบอะไรอยู่ไว้ออก...ทะด้า!!! มิตเตอร์อยู่นั่น ล่อกรูเข้าไป 20 ยูโร... อยากจะร้องไห้ แต่ต้องฝืนยิ้ม เพราะเดี๋ยวชาวบ้านแถวนี้จะจับรังสีความโก๊ะกังของประชากรชาวไทยได้
โชคที่เอเยนท์ที่มารับเราหน้าอพาร์ทเมนต์หน้าตาดี – ถือเป็นประชากรเซิร์บชายหน้าตาดีคนแรกที่เราเคยเห็นมา – ช่วยผ่อนอาการช็อคค่ารถแทกซี่ไปได้หน่อย
ที่อยู่ใหม่ถูกชะตากันดี เจ้าของเดิมหน้ารัก แม้ว่าเจ๊แกจะอึ้งเล็กน้อยเมื่อเราบอกว่าเราไม่มีเงินสดจ่ายค่าบ้านทั้งสามเดือนครึ่ง (1,400 ยูโร) พอในวันที่มาถึง แหม..เจ๊คะใครมันจะพกเงินสดขึ้นเครื่องบินเดินทางข้ามทวีปมาเป็นหมื่นๆ
หลังจากคุยนู้นนี่กันเรียบร้อย (ขอเน้นว่าคุยกันเยอะจริงๆ โดยเฉพาะกับเอเยนต์คนนั้น...ฮุฮุ) อิชั้นก็ได้อพาร์ทเมนต์อันแสนน่ารักมาครอบครองเป็นเวลาสามเดือนครึ่ง อพาร์ทเมนต์ตั้งอยู่ในทำเลที่ดีมาก ข้างหลังเป็นที่ทำการรัฐบาล ข้างๆ เป็นกระทรวงสารสนเทศ เดินออกไปหน่อยเป็นตึกกระทรวงกลาโหมเก่าที่โดนนาโต้ถล่มเมื่อปี 1998 (กรณีโคโซโว – จะพูดถึงตึกนี้อีกครั้งเมื่อโอกาสอำนวย เป็นปริศนาที่ทุกวันนี้เรายังไม่ได้คำตอบชัดๆ จากชาวบ้านแถวนี้ว่าทำไมรัฐบาลเค้าไม่ยอมทุกซากตึกทิ้งแล้วสร้างของใหม่ทับ...ตึกที่โดนระเบิดถล่มยับเยินเลยตั้งหรากลางเมืองเหมือนเป็นจุดชักภาพของนักท่องเที่ยวอีกจุดหนี่งในเบลเกรด) เดินออกไปถนนอีกเส้นเป็นทางลัดเข้าเมือง โดยผ่าน “ย่านประตูน้ำ” คือเป็นย่านไอทีของที่นี่ จะไปทะลุออกโรงเรมมอสโคว ซึ่งเป็นโรงแรมเก่าแก่ของที่นี่ (ชอคโกแลตร้อนและเค้กอร่อยมาก ขอบอก) พอออกจากซอยโรงแรมมอสโควก็เป็นย่านใจกลางเมือง เดินไปทางขวาอีกนิดก็จะถึงถนนคนเดินชื่อว่า “คเนซ มิไคโลวา” (“Knez Mihajlova”) ถนนสายนี้เต็มไปด้วยร้านรวงแบรนด์เนมต่างๆ ผู้คนก็ชอบมาเดินวินโดว์ชอปปิ้งกันแถวนี้ (แต่ไม่มีเงินซื้อเหมือนผู้เขียน ว่ากันว่าเศรษฐกิจเซอร์เบียร์ยังไม่ฟื้นตัวจากสงครามเท่าไหร่นัก ทั้งที่ผ่านมากว่าทศวรรษแล้ว ผู้คนมีเงินเดือนเฉลี่ย 300 ยูโรต่อเดือน หรือประมาณหมื่นสี่พันบาท แต่ข้าวของแถวนี้แพงกว่าแถวบ้านเรามากอยู่) ร้านรวงเหล่านี้ดูดีแต่ไม่มีประโยชน์ วันรุ่งขึ้นเราพยายามหาซื้อของเข้าบ้าน ของจำเป็นที่ผู้คนต้องใช้ไม่ปรากฏแถวนี้เลย
แต่ถ้าไม่มองจากมุมพวก “ประโยชน์นิยม” ร้านรวงเหล่านี้ก็เป็นแกดเจตให้กับถนนคนเดินคเนซ มิไคโลวาได้อย่างดี เพราะเป็นถนนคนเดินไง เลยต้องมีร้านเอาไว้ให้คนมอง คือมองได้อย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีปัจจัยซื้อ พอคนเดินไปมองไป การเดินก็ช้าลง เวลา ณ ถนนคนเดินเลยช้าลงไปด้วย กิจกรรมต่างๆ เพื่อการบริโภคทางจักษุจึงเกิดขึ้นตามมา ไม่ว่าจะเป็นการขายงานศิลปะแบกะดิน ศิลปินร้องรำทำเพลงกลางถนน หนุ่มสาวเดินชำเลืองหาคู่ (และกิ๊ก) กัน ร้านกาแฟที่ผุดขึ้นตามมุมถนนเต็มไปด้วยผู้คน บางคนกินกาแฟแก้วเดียว แต่นั่งเม้ากับเพื่อนอยู่สองชั่วยาม ฯลฯ
นอกจากร้านรวงและกิจกรรมเพื่อความเพลิดเพลินบนถนนแล้ว คเนซ มิไคโลวายังเป็นที่ตั้งของบางคณะของมหาวิทยาลัยเบลเกรด คณะที่สำคัญและมีบทบาททางการเมืองเรื่อยมาอย่างคณะปรัชญา คณะภาษาศาสตร์ คณะการละคร และคณะวิศวกรรมและเครื่องกลศาสตร์ ก็ตั้งอยู่บนถนนคนเดินเส้นนี้ด้วย นับตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี Josip Broz Tito ยังครองอำนาจ และยูโกสลาเวียยังเป็นรวมเป็นหนึ่งภายใต้ระบอบสังคมนิยม นักศึกษารวมตัวกันประท้วงในปี 1968 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของนักศึกษา และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมระหว่างชนชั้นนำ (รวมถึงชนชั้นกลางซึ่งกำลังเติบโตในขณะนั้น) และชนชั้นแรงงาน เมื่อยูโกสลาเวียแยกออกเป็นประเทศต่างๆ เช่น สโลวีเนีย โครเอเชีย บอสเนีย-เฮอเซโกวีนา (ล่าสุดคือโคโซโว) และเซอร์เบีย (ซึ่งเหลือหัวเดียวกระเทียมลีบ และกลายเป็นประเทศ “แลนด์ล็อค” – ไม่ติดทะเล – โดยอัตโนมัติ) ตกอยู่ในท่านหมอกของชาตินิยมแบบสุดขั้ว ขณะที่รัฐบาลอำนาจนิยมภายใต้การนำของสโลโบดานมิโลเซวิช โหนกระแสชาตินิยมเพื่อสร้างฐานอำนาจให้ตัวเอง นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเบลเกรดก็เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการประท้วงต่อต้านรัฐบาลในช่วงทศวรรษ 1990 ไล่ตั้งแต่การประท้วงต่อต้านสงครามซึ่งเริ่มต้นในโครเอเวียปี 1990 ในบอสเนีย-เฮอเซโกวีนา ปี 1992-4 รวมถึงการประท้วงมาราธอนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 1996 ถึงปลายเดือนมีนาคมปี 1997 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล (และศาลสูงสุด) ยอมรับผลการเลือกตั้งระดับภูมิภาคที่พรรคฝ่ายค้านได้รับชัยขนะอย่างขาดลอย ขบวนการโค่นล้มรัฐบาลด้วยปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรงช่วงปลายทศวรรษ 1990 ที่ทำให้ “ระบอบมิโลเซวิช” ล่มสลายอย่างไม่เป็นท่าก็เป็นพัฒนาการของขบวนการนักศึกษาเช่นกัน
คเนซ มิไคโลว่าพาคนเดินเท้าทั้งหลายมุ่งตรงไปยังอุทยานประวัติศาสตร์ “คเลเมกดาน” (Kalemegdan) อันที่จริงคเลเมกดานเป็นทั้งสวนสาธารณะที่ชาวบ้านแถวนี้มาเดินชิวเอาท์ยามเช้าและเย็น พวกที่ไม่เดินก็นั่งเล่นหมากรุกกันไป (อย่าแปลกใจเชียวถ้าเดินไปไหนมาไหนแถวนี้แล้วจะเห็นคนเล่นหมากรุกกันอย่างตั้งอกตั้งใจ...ตั้งใจกว่าทำมาหากินอีก) หรือสมาคมอาม่าอากงทั้งหลายก็มารวมตัวกันเต้นรำ ปีที่แล้วที่เรามา ไปยืนถ่ายรูปเค้า เค้าเลยชวนเราเข้าไปร่วมวงเต้นรำด้วย...ไอเราก็เกือบแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมด้วยการเอารำวงเข้าไปแจมแล้ว... บางพื้นที่ของอุทยานก็อุทิศให้กับนิทรรศการภาพถ่าย บางส่วนก็จัดเป็นพื้นที่นิทรรศการอาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะหากไม่นับประวัติศาสตร์สงครามหลายระลอกของดินแดนแห่งนี้ อุทธยานประวัติศาสตร์คเลเมกดานอันที่จริงเป็นป้อมปราการป้องกันเมืองเบลเกรดจากการรุนรานทางนาวาจากกองทัพต่างชาติ ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นรูปปั้นชาย (ตัวเขียว...สถานที่ประวัติศาสตร์ที่นี่ทุกที่เป็นสีเขียว...เออ ทำไมหว่า) สูงใหญ่ ยืนไพล่ขา เรือนร่างเปลือยป่าว พร้อมเอานิ้วขี้ไปข้างหน้า ก็ไม่รู้ว่าตั้งใจให้รูปปั้นออกอีโรติก หรือที่ออตโตมัน (เตริ์ก) ยึดครองดินแดนในช่วงศตวรรษที่สิบสามถึงสิบหก ยึดผ้าผ่อนคนแถวนี้ไปด้วย??? เป็นปริศนาอีกข้อที่ชาวไทยจีนอย่างเราต้องทำความเข้าใจประวัติศาสตร์พี่เซริ์บต่อไป
สิ่งที่งดงามที่สุดของคเลเมกดานสำหรับเราคือ ทำเลที่ตั้งซึ่งทำให้ป้อมปราการแห่งนี้เป็นประจักษ์พยานแห่งการบรรจบกันของแม่น้ำซาลวา ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของเซอร์เบียและแม่น้ำดานูบ ซึ่งเดินทางยาวไกลมาตั้งแต่ทวีปแอฟริกามาหาทวีปยุโรป มนุษย์หน้าไหนที่ได้ยืนเผชิญหน้ากับจุดบรรจบของแม่น้ำทั้งสองแล้วไม่รู้สึกว่ากำลังถูกประวัติศาตร์ซัดสาดให้กลับไปยุคกลางยุโรปอาจถือได้ว่าต่อมประวัติศาสตร์บกพร่อง ไม่เช่นนั้นก็อุดตัน
ถ้าเดินทะลุคเลเมกดานออกไปทางซ้าย ทะลุซอกเล็กซอกน้อย ซึ่งมีเต็มไปหมดในเบลเกรด (ว่ากันว่าผังเมืองในยุโรปส่วนใหญ่เป็นแบบนี้คือซอกเล็กซอยน้อยทะลุถึงกันไปหมด) ก็จะเจอสะพานบรังโก (Branko) ซึ่งเป็นหนึ่งในสองสะพานหลักที่ทอดตัวเชื่อมสองฝั่งของแม่น้ำซาวา (อีกสะพานหนึ่งคือ “สตาริ ซาฟสกิ”) เพื่อให้ผู้คนจากเมืองเบลเกรดเก่าและใหม่ได้เดินทางหากันได้ ถ้าจะเดินกลับแหล่งพำนักใหม่ของเราก็ต้องเดินสวนทางกับสะพานบรังโก โดยพาคตัวเองให้ผ่านท่า ขสมก.ของเบลเกรด จากนั้นเดินลงไปที่ถนคายลิซ นาตาเลีย (Kaljice Natalije) เพื่อให้เจอสีแยกร้านสีแดง (คือมันเป็นสี่แยกที่มีแต่ร้านทาสีแดงเต็มไปหมด) แล้วจะเห็นถนนบาลข่านสกา (Balkanska) ซึ่งชันมาก ผู้คนแถวนี้เล่าว่าถนนบาลข่านสกาเป็นถนนที่เก่าแก่ที่สุดของเบลเกรดเส้นหนึ่ง มีกองทัพต่างชาติที่เคยเข้ามายึดเมืองแห่งนี้มาพำนักอาศัย ที่ชื่อว่า “บาลข่านสกา” ก็เพราะว่าชุมชนเตริ์กเคยตั้งรกราอยู่แถวนี้ช่วงที่ยึดครองเบลเกรดในศตวรรษที่สิบสามถึงสิบหก ความเก่าแก่ของถนนสังเกตได้จากพื้นถนนทำจากวัสดุหินวางเรียงรายเป็นก้อนๆ (ถนนบางเส้นในเมืองเก่าแก่ในยุโรปมักมีลักษณะเช่นนี้ รวมถึงฟุตบาทบางที่ในเมลเบริ์น ออสเตรเลีย) เวลาเดินผ่านถนนเส้นนี้ ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นร้านรวงท้องถิ่นจำนวนมาก เช่นร้านทำหมวก ร้านทำรองเท้า ร้านเบเกอรี่ (pekara) และคาเฟ่ (kaffa - ซึ่งเป็นทั้งร้านขายกาแฟและขายเครื่องดืมแอลกอฮอล์...ต่างจาก “คาเฟ่” ในความเข้าใจของบ้านเรา ซึ่งมีนัยถึงแหล่งซ่องสุมแห่งเมรัยและนารี... วันหลังจะเล่าให้ฟังถึงวัฒนธรรมคาเฟ่ของคนแถวนี้ให้ฟังอีกที) เวลาเดินลงถนนสนุกมาก เพราะได้ดูร้านเก่าๆ แต่เวลาขึ้นไม่สนุกเท่าไหร่ เพราะเหมือนเดินขึ้นภูสอยดาว (ตอนแรกว่าจะเปรียบกับภูกระดึง แต่ไม่เคยไปภูกระดึง เปรียบกับภูสอยดาวไปแล้วกัน) อย่าพยายามใส่ส้นสูงเดินขึ้นถนนเส้นนี้เชียว หรือถ้าใส่ ต้องไปฝึกใส่ส้นสูงปีนเขามาให้ชำนาญเหมือนสาวๆ แถวนี้ก่อน พอเดินสุดถนนบาลข่านสกา ก็เจอสี่แยก ถนนที่ตัดแยกคืออัดมิราลา เกปราตา เดินไปทางซ้ายถึงตึกเบอร์หกก็อพาร์ทเมนต์