ของอย่างที่มักมีชะตาพลัดพรากจากเราไปคือ กุญแจบ้าน โดยมากเราเป็นพวกชอบลืมเอากุญแจบ้านติดตัวออกจากบ้านมาด้วย ตอนเรียนที่ออสเตรเลีย เคยลืมกุญแจบ้านนับสิบครั้ง ครั้งแรกไม่รู้จะแก้ปัญหายังไง เลยตัดสินใจปีนเข้าบ้านจากทางหน้าต่าง คิดเพียงแต่ว่าอย่างน้อยตกลงมา บริษัทประกันย่อมจ่ายค่ารักษาให้ ภายหลังรู้ว่า เราไม่ต้องพยายามแย่งอาชีพสตันท์หญิงขนาดนั้น เพียงแต่ต้อง “รวย” เวลาลืมพกกุญแจบ้าน เพราะมี locksmith ผู้ดูแลกุญเจวิเศษสามารถเปิดเข้าบ้านทุกบ้านได้ ค่าบริการ locksmith ก็เหนาะๆ ครั้งละแค่ 50 เหรียญออสซี่ หรือประมาณ 1,500 บาทเท่านั้น
หลังจากกระเป๋าเงินหายที่เซอร์เบียได้หนึ่งเดือน เราทำกุญแจอพารท์เมนต์ตัวเองหาย นี่ถือเป็นอิทธิฤทธิ์ ต้องฝึกปรือเข้าขั้นโป้ยเซียนเท่านั้นถึงจะเสกให้สรรพสิ่งหายไปในเวลาอันสั้น ติดต่อกัน ขนาดนี้ได้ เรื่องมันมีอยู่ว่า เช้าวันหิมะเกือบตกวันหนึ่ง เรานัดกินกาแฟกับมิตรใหม่ชาวเซอร์เบียน ที่กำลังจะเดินทางกลับไปเรียนต่อที่เวียนนา เวลานัดคือหกโมงเช้า เวลานัดหมายรุ่งอรุณเช่นนี้อาจถือว่าผิดกฎหมาย (ทางวัฒนธรรม) ของพี่เซิร์บได้ อย่างที่เคยเล่าว่าเวลาเช้าของที่นี่คือเที่ยงวัน ก่อนออกจากที่พักเรามั่นใจว่าเอากุญแจอพารท์เมนท์ ซึ่งมีขนาดยาวเกือบเท่าเสาตะเคียนตกน้ำมัน หน้าตาคล้ายกับกุญแจไขหีบสมบัติฝรั่งโบราณ เสียบไว้ที่กระเป๋ากางเกงยีนส์ข้างหลัง ระบบความรอบคอบของสมองปิดการทำงานอย่างสิ้นเชิง เลยไม่ได้เอะใจว่ากระเป๋าหลังของกางเกงมิใช่ที่อยู่อันสมของกุญแจขนาดใหญ่เท่าเสาบ้านเช่นนี้
หลังจากกินกาแฟเสร็จ เราเดินกลับบ้าน ฮัมเพลงพลาง วางแผนตารางการทำงานในสมองไปพลาง เมื่อถึงหน้าห้องพัก มือขวาล้วงเข้าไปยังกระเป๋ากางเกงยีนส์ด้านขวาฝั่งหลัง มือพบเพียงความว่างเปล่า และผ้ายีนส์กระด้างบาดมือ เรายังคงทำใจเย็น ควานหากุญแจในกระเป๋าช่องต่างๆ และกระเป๋าย่าม ในรองเท้าบู๊ท (เผื่อกุญแจอยากเปลี่ยนที่อยู่จากกางเกงไปรองเท้า) ตามซอกหลืบต่างๆ ของร่างกายที่กุญแจสามารถแฝงกายอยู่ได้... “ชิ้บหาย” อีกครั้ง
แม้ตื่นตระหนก แต่ตัว “สติ” ที่หลบลี้ในหลืบหนึ่งของสมองกระซิบข้างหูว่าเราน่าทำกุญแจตกระหว่างเดินทางกลับจากร้านกาแฟมายังอพารท์เมนต์ โชคที่ดีระยะทางนี้ยาวไม่เกิน 500 เมตร เราเลยเดินตามรอยกลับไป ตาส่องหาโลหะหน้าตาคล้ายกุญแจ คิดในใจว่าถ้ากุญแจมีฟังค์ชั่นเหมือนมือถือก็ดี เราจะได้โทรตาให้มันกลับมาหาเรา อนิจจา ความคิดเช่นนี้เป็นเพียงจินตนาการปลอบใจคนซุ่มซ่ามเท่านั้น จากอาพารท์เมนต์ผ่านไปยังร้านขนมปังหรือ “เปการ่า” จากเปการ่าผ่านยังถนนใหญ่ ป้านรถเมล์ คนรอรถเมล์ รถเมล์กระป๋องวิ่งผ่านหน้า ท้ายสุดเรากลับมายืนหน้าสถานีรถไฟ ใกล้ร้านกาแฟ สถานที่นัดพบกับเพื่อนเมื่อเช้า กุญแจยังไม่กลับมาหาเจ้าของ “กะหลั่วๆ” อย่างเรา ทว่าเจ้าของมันไม่ยอมแพ้ง่าย พาสองขา กับหน้าหนาๆ เข้าไปถามเจ้าหน้าที่ในสถานีรถไฟว่าเห็นกุญแจบ้านเรามั๊ย... คนพวกนี้ทำหน้าฉงนงงงวยเป็นอย่างยิ่ง เพราะในตั้งแต่เกิดมาคงไม่เคยเจอใครมาถามหากุญแจบ้านของตัวเองที่สถานีรถไฟ เจ้าหน้าที่ทำความสะอาดรายหนึ่งถึงกับนินทากับเพื่อนต่อหน้าเรา แม้เราฟังไม่รู้เรื่องครบประโยค แต่จับใจความได้ว่า “เฮ้ย... ใครวะมันบ้าทำกุญแจบ้านหาย” ... เออ กูนี่หล่ะ!!
เสน่ห์อย่างหนึ่งของประเทศเซอร์เบียคือ พนักงานผู้ทำงานในสถานที่ที่น่าได้พบเจอชาวต่างชาติอย่างสถานีรถไฟ หรือไปรษณีย์ ไร้ซึ่งความกระเสือกกระสนพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ ขนาดอังกฤษขั้นพื้นฐานระดับป้าขายเต้าฮวยแถวถนนข้าวสารบ้านเราสื่อสารกับฝรั่งได้ พี่พนักงานเซริ์บก็ไม่กระดิก ฉะนั้นเวลาเรามีความจำเป็นต้องติดต่อกับคนเหล่านี้ (คือถ้าไม่จำเป็น จะพยายามหลีกเลี่ยง) เราต้องอาศัยกำลังภายในชนิดที่อี้ก๊วยยังแพ้... ในวาระดิถีนี้เช่นกัน เราไม่สามารถอธิบายให้พนักงานที่สถานีรถไฟเข้าใจได้ว่าเราทำกุญแจบ้านหาย และกำลังตามหามัน ทุกคนพยายามบอกให้เราไปแจ้งความ เราอยากเข้าไปเขย่าคนเหล่านี้ ให้เลือดมาเลี้ยงสมอง แล้วบอกว่า “พี่คะ ในโลกนี้มันมีคดีทำกุญแจบ้านหายมั๊ย ถ้าวันหนึ่งการทำกุญแจหายเป็นอาชญากรรม ดิฉันคงติดตารางปีละสองสามหน” เมื่อสื่อสารเองไม่ได้เรื่อง เราต้องจึงงัดกำลังภายในมาใช้ ด้วยการส่งข้อความไปหาเพื่อนคนที่เพิ่งนัดเจอกันว่าเราทำกุญแจบ้านหาย และขอให้เค้าส่งข้อความภาษาเซียเบียนกลับมาประมาณว่า “ดิฉันชื่อจันจิรา ทำกุญแจบ้านหาย ไม่ทราบว่าคุณเห็นมันตกแถวนี้บ้างมั๊ย” (ขอบอกว่าทุกวันนี้ยังบันทึกข้อความนี้อยู่ในโทรศัพท์มือถือ เหมือนเป็นเครื่องรางของขลังอย่างไรอย่างนั้น) นี่ถือเป็นข้อความขายขี้หน้า เหมือนประจานตัวเองว่า “ดิฉันโง่มากค่ะ ที่ทำกุญแจบ้านตกหาย ช่วยอนุเคราะห์ซื้อวิตามินบี 12 ให้ดิฉันทานแก้โง่ด้วย”
ทายสิว่าชะตากรรมระหว่างเรากับกุญแจบ้านเป็นอย่างไรต่อไป? ปิงป่อง! ถูกต้องแล้วว่าหาไม่เจอ สสารในโลกนี้เมื่อมันตัดสินใจทิ้งเจ้าของมันแล้ว หาให้ตามยังไง ก็ไม่มีทางหาเจอ (ดังนั้นอย่าได้เชื่อทฤษฎีไอนสไตน์เชียว) เราเดินคอตก หูพับ กลับไปยังอพาร์ทเมนต์ที่ไม่รู้จะเข้าไปได้ยังไง โทรหาเจ้าของอาคาร เค้าบอกว่ากุญแจสำรองอยู่กับสามีเก่า ซึ่งต้องนั่งรถออกนอกเมืองไปเจอที่บ้าน ทั้งยังไม่รวมเวลาที่ต้องใช้เพื่อก้าวข้าม “ดราม่า” กับฝาละมีเก่า คิดสารตะแล้ว เจ้าของบ้านอาจเอากุญแจสำรองมาให้เราได้ภายในห้าชั่วโมง (เป็นการประเมินที่อยู่บนข้อสันนิษฐานที่ว่าสามีเก่ายังเก็บกุญแจสำรองอยู่ ไม่ได้ทิ้งกุญแจเพราะน้อยใจภรรเมียที่ทิ้งตนไป) ระหว่างรอ เราควรอยู่ที่ไหน? จะสมัครเข้าร่วมสมาคมคนไร้บ้านเลยดีมั๊ย? หรือควรไปพึ่งพาสถานทูตดี? แต่ในเซอร์เบีย สถานทูตตัวแทนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเพียงสถานทูตอินโดนีเซียเท่านั้น ฉะนั้น ประชากรไทยอย่างเราเท่ากับมีสถานะเป็น “คนไร้รัฐพลัดถิ่น” ด้วยหรือไม่? องค์ความรู้สังคมศาสตร์ที่สะสมมาทั้งชีวิตกลายเป็นคำอธิบายที่ซ้ำเติมเคราะห์กรรมของผู้พลัดพรากจากกุญแจบ้านอย่างเรา
เราเดินไว้อาลัยกุญแจ กลับไปนั่งยองๆ หน้าประตูอพาร์ทเมนต์ ราวกับวิงวอนให้สิ่งศักดิ์ช่วยดลบันดาลให้ประตูเปิดออกเอง หรือให้เรามีเวทมนต์เปิดประตูเช่นอาละดิน ไร้ผล... สิ่งศักดิ์สิทธิ์คงไม่ได้เรียนเรื่อง “อภัยวิถี” มา ความเมตตาต่อมนุษย์อย่างเราจึงมีจำกัด ผ่านไปห้านาที หญิงสูงอายุซึ่งที่อยู่ถัดจากห้องพักเรา แง้มประตูห้องแกออกมสำรวจว่าตัวอะไรป้วนเปี้ยนอยู่หน้าห้องแก เราเงยหน้าขึ้นไปมอง หญิงชราเอ่ยด้วยน้ำเสียงอบอุ่น เป็นภาษาอังกฤษประโยคสั้นๆ “เข้ามาดื่มชาในห้องชั้นมั๊ย?”
ห้องพักของหญิงชราดูเล็ก เพราะมีของสะสมต่างๆ วางตามชั้น โต๊ะ และพื้นเท่าที่เนื้อที่ของห้องอำนวยให้วางของเหล่านี้ได้ ของสะสมเหล่านี้เป็นเครื่องปั้นดินเผาจำนวนมาก และมีรูปภาพหญิงสาวหน้าตาคมขำ แต่งตัวเข้ายุคสมัย ถ่ายในหลากประเทศในยุโรป บางรูปหญิงสาวถือเครื่องปั้นดินเผาของตน บางรูปเธอถือถ้วยรางวัล สายตาสอดส่องของเราไม่รอดพ้นสายตาอันเปี่ยมล้นด้วยเมตตาของหญิงชรา “ชั้นเป็นนักปั้นเครื่องเซรามิค” ประโยคภาษาอังกฤษสั้นๆ สำเนียงเซอร์เบียนไขข้อข้องใจ ซึ่งสะท้อนบนใบหน้าอันฉงนสงสัยของชั้น ชั้นยิ้มกว้างกลับให้เธอและตอบว่า “คุณสวยมากเลยนะในรูปเหล่านี้ เครื่องปั้นที่วางอยู่ในห้องของคุณ เป็นฝีมือคุณด้วยหรือเปล่า” หญิงชราพยักหน้า และยิ้มละไม
คุณยายชื่อ “ดรากานา” บ้านเกิดอยู่ที่เมือง “ปันเจช-โว” ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเซอร์เบีย ห้าสิบปีที่แล้ว สมัยที่ยูโกสลาเวีย ภายใต้การนำของจอมพลติโต คุณยายเป็นนักปั้นเครื่องเซเรมิคมือฉมัง เดินทางรอบยุโรป ตั้งแต่ลอนดอนถึง บราเซโลนา จากปารีสถึงเบอร์ลิน จากออสโลถึงอัมสเตอร์ดัม จากซาเกรบถึงมอสโคว ขณะที่ชีวิตกำลังรุ่งโรจน์ สามีของคุณยายป่วยด้วยโรคมะเร็ง และเสียชีวิตในเวลาไม่กี่ปีต่อมา อีกไม่นานลูกชายแกประสบอุบัติเหตุ กลายเป็นเจ้าชายนิทรา คุณยายพยายามหาทางรักษาลูกชายอย่างสุดกำลัง สุดท้ายแกส่งลูกสายไปรักษากับหมอที่กรุงมอสโคว ประเทศรัสเซีย (หรือสหภาพโซเวียตในขณะนั้น) รักษาได้สองสามปี ในวันฟ้าโปร่ง ปาฏิหารย์เป็นใจ ลูกชายแกฟื้น และมีอาการดีขึ้นตามลำดับ จนถึงขั้นใช้ชีวิตได้ตามปกติ คุณยายตัดสินใจลงหลักปักฐานที่มอสโคว ส่วนลูกชายแกเริ่มเรียนภาษารัสเซียเพื่อเตรียมเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย
เวลาที่เรารำพึงเล่นๆ ว่า “ชะตากรรมมักเล่นตลก” เมื่อชะตากรรมเช่นนี้เกิดขึ้นกับเราจริงๆ การเล่นตลกมักบังเกิดในลักษณะโศกนาฏกรรม ลูกชายของคุณยายถูกฆาตกรรมชิงทรัพย์ ขณะเดินทางกลับบ้านยามค่ำในกรุงมอสโคว... เมื่อเล่าถึงตรงนี้ คุณยายหยุด และขอไปตัวไปห้องน้ำ เราเดาว่าการเล่าเรื่องประสบการณ์การสูญเสียให้คนแปลกหน้าฟังคงไม่ใช่เรื่องน่าปรีดานัก แม้เวลาผ่านไปสี่ทศวรรษ ฝันร้ายยังกลับมาหลอกหลอนเรื่อยไป เราเดาต่อไปว่าหลังจากลูกชายคุณยายเสียชีวิต แกคงเดินทางกลับมาเบลเกรด และเพราะไม่มีพี่น้องอาศัยในเบลเกรด (บ้านเกิดคุณยายอยู่ต่างเมือง) คุณยายจึงอาศัยเพียงลำพัง เราคงได้แต่เดาเรื่องราวต่อจากการตายของลูกชายคุณยายไป ในสถานการณ์เช่นนี้ การเดาอาจเป็นปฏิบัติการทางจริยธรรมที่เหมาะสมมากกว่าการสอบถามเพื่อขุดคุ้ยความจริง และตอบสนองความกระหายใคร่รู้ส่วนตัว
จากวันที่กุญแจบ้านหาย เรา “พบ” เพื่อนใหม่ แม้ต่างวัย เมื่อใดที่เราทำอาหารไทย (แบบใช้ผงกะทิชาวเกาะ และเครื่องแกงสำเร็จรูปตราโลโบ) เรามักนำไปให้คุณยายเสมอ คุณยายทานเผ็ดไม่ได้ แต่รับกับข้าวเราไว้เพื่อถนอมน้ำใจ หลายครา แกแนะนำสถานที่ซื้อของจำเป็นที่เราไม่เคยหาเจอเลยในเมืองเบลเกรด วันหนึ่งเราทั้งสองนัดออกไปจ่ายตลาดด้วยกัน วันนั้นเป็นวันหะมิตกหนัก อุณหภูมิติดลบสิบ ระหว่างเดินไปตลาด คุณยายเป่ามือตนเองให้อุ่น จากนั้นเอื้อมมาจับมือเราแล้วบอกว่า “อย่าปล่อยให้มือเย็น เธอจะเป็นหวัด”
ก่อนเราออกเดินทางจากเบลเกรด ด้วยเสร็จภาระกิจการเก็บข้อมูลงานวิจัย เราถามคุณยายว่าแกสนใจเรียนทำอาหารไทยมั๊ย แววตาอันเฉยชากลับมามีชีวิต ราวกลับเป็นคำตอบรับบัตรเชิญ... เราสอนคุณยายทำแกงเขียวหวาน (แบบเผ็ดน้อย และแบบเครื่องปรุงจำกัด) แกเดินมาห้องเราพร้อมสมุดจดหนึ่งเล่ม ดินสอหนึ่งด้าม ดิคชันนารีภาษาอังกฤษ-เซอร์เบียน และพาย “บูเรค” – อาหารประจำคาบสมุทรบอลข่าน – ระหว่างสาธิต เราพยายามอธิบายเป็นภาษาอังกฤษช้าๆ เวลาใช้ศัพท์เทคนิค เราเปิดดิคฯ ให้คุณยายดูว่าภาษาเซอร์เบียนควรเป็นคำว่าอะไร คุณยายเป็นนักเรียนชั้นยอด แกจดทุกอย่างที่เราพูด และถามเมื่อไม่เข้าใจ เมื่อสาธิตเสร็จ คุณยายอ่านทวนสูตรที่แกจดให้เราฟัง เพื่อตรวจสอบว่าแกเข้าใจถูกต้องหรือไม่ จากนั้นแกเอ่ยขอบคุณ และบอกว่าแกอาจมีชีวิตอยู่ไม่นาน ดังนั้นแกดีใจมากที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับอาหารไทยสักครั้งในชีวิต... เราบอกแกว่านี่เป็นครั้งแรกที่เราสอนคนทำกับข้าวเหมือนกัน รู้สึกเป็นเกรียติอย่างยิ่งที่ได้ลูกศิษย์แบบคุณยาย... จากนั้นคุณยายให้สูตรทำพาย “บูเรค” กับเรา พวกเราแลกเปลี่ยนบทสนทนาเกี่ยวกับอาหารประจำชาติตนอยู่นานสองนาน เราไม่ได้ถามเรื่องครอบครัวของคุณยายอีกเลย
การพบปะของหญิงสองตน ต่างวัย ต่างวัฒนธรรม กลายเป็นประสบการณ์ไม่รู้ลืม อย่างน้อยในชีวิตของเรา วันที่เราออกเดินทางจากเบลเกรดคุณยายมอบหนังสือให้เราสองสามเล่ม และชอคโกแลตหนึ่งแท่ง หนึ่งในหนังสือเหล่านั้นคือวารสารข่าว ฉบับที่ตีพิมพ์การแข่งขันปั้นเครื่องเซรามิตที่ปารีส ซึ่งคุณยายดรากานาเป็นผู้ชนะ ส่วนชอคโกแลต ตอนแรกเราไม่แน่ใจว่าเหตุใดคุณยาย รวมถึงเพื่อนคนอื่นในเซอร์เบียจึงระดมให้ชอคโกแลตเรา ก่อนเราออกเดินทาง เราเรียนรู้ภายหลังเมื่อได้รับชอคโกแลตจาก “คนหนึ่ง” ก่อนออกเดินทางว่า อย่างน้อยในวัฒนธรรมเซอร์เบียกับผู้ที่กำลังออกเดินทางไกล เป็นสัญลักษณ์ถึงความรัก และความหวังว่าสักวันเราจะกลับมาเจอกัน... จากเบลเกรด สู่เมลเบริ์น และกลับมาจากยัง “บ้าน” ที่กรุงเทพฯ ทุกวันนี้เราคิดถึงคุณยายเป็นครั้งคราว ทุกครั้งความคิดถึงคละเคล้าความอัศจรรย์ใจในเหตุการณ์ที่ทำให้เราและคุณยายได้พบ จนกลายเป็นเพื่อนกัน บางทีเราตีความไปว่ากุญแจบ้านที่หายไป ไม่ได้หายไปอย่างที่คิด แต่มันคงปักติดกับประตูลี้ลับบางอย่าง และเปิดโลกอีกใบให้เราเห็น แม้โลกใบนี้อยู่ห่างเพียงแค่เอื้อม แต่เราไม่เคยคิดใส่ใจเปิดมัน กุญแจที่หายไปจึงช่วยเปิดประตูแห่งมิตรภาพระหว่างคนแปลกหน้าสองคน ซึ่งอาศัยรั้วเดียวกัน ที่สำคัญ กุญแจเปิดประตูแห่งความ “ใส่ใจ” ให้เราอาทรต่อคนแปลกหน้ามากขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น