วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เซอร์เบีย...ไม่ใช่ไซบีเรีย (2)

ตรรกะในเมืองของประเทศสังคมนิยม/คอมมิวนิสต์เก่า
วันที่สองที่มาอยู่ที่นี่ เราพยายามออกไปซื้อข้าวของเข้าบ้าน เวลาไปอยู่ต่างแดน “ผังเมือง” และความเป็นเมืองย่อมต่างจากสิ่งที่เราคุ้นชิน อันนี้ก็พอเข้าใจ ตอนไปอเมริกา เกาหลี หรือตอนอยู่ออสเตรเลียใหม่ๆ ก็ต้องทำความเข้าใจ “ความเป็นเมือง” และแผนที่ของเมืองนั้นๆ ก่อนถึงจะรู้ว่าต้องไปซื้ออะไรที่ไหนอย่างไร วัฒนธรรมการกินอยู่ของคนที่นี่เป็นอย่างไร บ้านเมืองมีผังแบบไหน ผู้คนอยู่กันอย่างไร ข้อต่างระหว่างประเทศเหล่านี้กับเซอร์เบียมีอย่างเดียว (ที่จริงมีหลายอย่าง แต่ทุกอย่างมีเหตุผลเบื้องหลังอย่างเดียวกัน...เราว่า) คือเซอร์เบียเป็นประเทศสังคมนิยม/คอมมิวนิสต์เก่า ตั้งแต่เป็นรัฐชาติยูโกสลาเวียตอนหลังสงครามโลกครั้งที่สองก็เป็นสังคมนิยม/คอมมิวนิสต์ (ต่างจากประเทศคอมมิวนิสต์อย่างโซเวียตและจีนคือ ยูโกสลาเวียมีระบบเศรษฐกิจแบบเปิดมากกว่า ผู้คนเดินทางไปไหนมาไหนได้ แม้รัฐไม่ให้เสรีภาพทางการเมืองเต็มใบ เช่นไม่มีการเลือกตั้ง แต่รัฐดูแลแบ่งปันทรัพยากรให้ผู้คน แต่ก็ให้เสรีภาพในการแสดงความเห็นทางการเมืองอยู่บ้าง สถานบันทางวัฒนธรรมมีอิสระในการดำเนินกิจกรรมของตนเอง รวมถึงวิพากษ์รัฐบาลบางครั้ง) เบลเกรดจึงเป็นเมืองหลวงที่ถูกออกแบบมาให้ตรงกับประโยชน์ใช้สอยของระบอบสังคมนิยม/คอมมิวนิสต์ ต่อมาเมื่อ Tito เสียชีวิตเมื่อปลายศตวรรษที่ 1980 เซอร์เบีย หรือยูโกสลาเวียก็ไม่ได้กลายเป็นประเทศประชาธิปไตยที่อ้าแขนรับระบบทุนนิยมเป็นเต็มที่เหมือนประเทศในยุโรปตะวันออกประเทศอื่นๆ ที่เป็นอิสระจากระบอบคอมมิวนิสต์โซเวียตในช่วงเดียวกัน แต่เซอร์เบียนั่งไทม์แมชชีนกลับไปยังประวัติศาสตร์ (ปั้นแต่ง) ชนิดที่เชื่อว่าเซอร์เบียเป็นประเทศของชาว “เซริ์บ” เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น และถูกกระทำโดยชนชาติต่างๆ ที่เช้ามายึดครองดินแดนในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นโรมัน ต่อมาเป็นเตริ์กในช่วงยุคกลางของยุโรป ต่อมาเป็นจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี และช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเป็นนาซีเยอรมันนี ส่วนชนชาติอื่นๆ ที่เอาเข้าจริงอยู่ร่วมกันมา (อย่างโครแอต บอสเนียน หรืออัลเบเนียน) ล้วนแต่เป็นตัวก่อความทุกข์ร้อนให้ชาวเซริ์บทั้งสิ้น เมื่อคิดเช่นนี้ เซอร์เบียในช่วงรอยต่อศตวรรษที่ 1980 ถึง 1990 จึงกลายเป็นประเทศสังคมนิยม (เพราะรัฐบาลที่ขึ้นครองอำนาจคือ สโลโบดาน มิโลเซวิช มาจากพรรคสังคมนิยมเซอร์เบีย – Socialist Party of Serbia, SPS) ที่ค่อนไปทางอำนาจนิยม และอาศัยฐานชาตินิยมเป็นตัวกระตุ้นความสนับสนุนของประชาชนต่อผู้นำ
ถ้าจะให้ร่ายยาวเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองของยูโกสลาเวีย/เซอร์เบียในช่วงทศวรรษที่ 1990 คงต้องใช้หน้ากระดาษจำนวนมาก เอาไว้ค่อยๆ เล่ากันดีกว่า แต่ที่เกริ่นถึงระบอบการเมืองของดินแดนแห่งนี้ก็เพราะว่าวันที่สองที่มาที่นี่ จำไม่ได้ว่าบ้านตัวเองคือหลังไหน สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากเราไม่ได้จำเลขที่บ้าน (ซึ่งไม่แปลกใจ เพราะปกติเป็นคนโก๊ะกังแบบนี้อยู่แล้ว) ที่สาเหตุอีกส่วนมาจากอาคารที่อยู่อาศัยแถวนี้หน้าตาเหมือนกันหมด อารมณ์ตึกแถวบ้านเรา แต่อันนี้เป็นความเหมือนยิ่งว่าฝาแฝดจากไข่ใบเดียวกัน คือเรากำลังเดินออกไปซื้อของ พอเดินไปได้หน่อย จำได้ว่าต้องเอาอะไรบางอย่างไปด้วย เลยเดินกลับไปที่อพาร์ทเมนต์ ที่นี่เพราะจำเลขที่อาคารไม่ได้ เลยอาศัยว่าน่าจะจำลักษณะของอาคารได้ ปรากฏว่าเดินเข้าไปในอาคารนึงที่คิดว่าน่าจะเป็นอพาร์ทเมนต์เรา ปรากฏว่าเดินไปถึงชั้นสาม (ชั้นที่เราอยู่) “เอ๊ะทำไมกุญแจที่มีมันเปิดประตูห้องไม่ได้ (ฟะ)” มองประตูห้องอีกที “เอ๊ะทำไม ไม่คุ้น” ลองเดินขึ้นอีกหน่อย “เอ๊ะ ทำไมมันมีหลายชั้นเกิน ที่จริงอาคารเรามันมีห้าชั้นนี่หน่า” ลองเดินออกไปนอกอาคาร “แมร่งหน้าตาเหมือนกันนี่หว่า” (คือมีป้ายร้านหมอฟัน มีประตูสีขาวๆ บันไดที่เข้าอาคารเหมือนกัน อาคารเป็นทรงเดียวกัน บันไดโค้งเหมือนกัน ลิฟท์ยืนประจำตำแหน่งเดียวกัน ตู้จดหมายหน้าตาเหมือนกัน “แต่ห้องตูหายไปหนายยยยยย” เดินวนอยู่นาน กว่าจะเริ่มเข้าใจว่าอาคารทุกหลัง ไม่ใช่เพียงข้างนอกหน้าตาคล้ายกัน แต่ข้างในยังคล้ายกันด้วย ฉะนั้นถ้าจำเลชอาคารไม่ได้ และมาจากดาวอังคารอย่างอีชั้น ก็จะตกอยู่ในสภาพเจ๊กหลงเมืองเช่นนี้ เดินอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมง เข้าอาคารนู้น ออกอาคารนี้ กว่าจะเจอตึกของตัวเองก็เล่นเอาเมื่อยตาตุ่ม...แต่ก็ยังไม่ได้เอะใจว่าทำไมอาคารทุกหลังถึงเหมือนกันได้ขนาดนี้ คือไม่ใช่แค่เหมือนกันทางกายภาพนะ (การออกแบบ ตกแต่ง...ถ้ามีการตกแต่งจริงๆ) แต่ความรู้สึกเวลาอยู่ในอาคารเหล่านี้ยังเหมือนกันอย่างน่าประหลาด คือเวลาเดินขึ้นบันได รู้สึกมีเมฆดำทะมึนลอยอยู่บนกบาลตามเราไปตลอดบันไดที่ม้วนวน ลิฟท์นี่น่าสนใจที่สุด ให้นึกสภาพลิพท์ในเรือไททานิค (คือมันนึกหนังเรื่องอื่นไม่ออก) ลิพท์แบบสมัยต้นศตวรรษที่ยี่สิบ แบบเพิ่งประดิษฐ์ก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งได้นิดหน่อย เป็นลิพท์เล็กๆ ประตู “อัตโนมือ” เปิดออกมาหนึ่งชั้น แล้วต้องเปิดบานประตูเข้าไปอีกหนึ่งชั้น พื้นที่ในลิพท์จุคนได้อย่างมากก็สองคนครึ่ง แต่ทางที่ดีอย่าพยายามขึ้นไปเกินคนเดียว (และควรเป็นคนเดียวที่มีน้ำหนักตัวไม่เกิน 70 กิโล... เป็นลิพท์ที่กีดกันคนน้ำหนักเกินมาก) เพราะไม่แน่ใจว่ามันจะยกคุณขึ้นไปไหวหรือไม่ พอขึ้นลิพท์ และลิพท์ตัดสินใจแล้วว่ามันยกคุณไหว มันก็จะเคลื่อนตัวไปอย่างช้าๆ (ขอเน้นว่าช้ามากจริงๆ ถ้าใช้ลิพท์แบบนี้กับตึกใบหนก คงมช้เวลายี่สิบสองวันกับสิบแปดชั่วโมง เพื่อไต่ไปให้ถึงยอดตึก) ประตูลิพท์มีหน้าต่างกระจกเล็กๆ ให้เราเห็นกำแพงตึกเก่าๆ และให้เราสำเนียกว่าลิพท์มันเคลื่อนตัวอยู่นะ คือถ้าเป็นลิพท์ใหม่หน่อย (จะว่าใหม่ซะทีเดียวก็ไม่ใช่ เอาเป็นว่าเรียกเป็นลิพท์ที่ผลิตหลังสงครามโลกครั้งที่สองแล้วกัน) ประตูมันก็จะปิดทึบ ไม่ให้เราเป็นบรรยากาศภายนอก เราไม่ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าลิพท์ขยับกายไปถึงไหนแล้ว อันนี้เรียกเป็นข้อดีของลิพท์รุ่น Tito ได้มั๊ยหนอ? พอลิพท์เคลื่อนตัวผ่านกำแพง เราก็จะได้กลิ่นอับชื้นของปูนและอิฐ เรียกได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่อำนวยให้เราได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า ประสาทสัมผัสที่ “หก” อาจจำเป็นถ้าเริ่มเห็นเงาประหลาดๆ หรือได้กลิ่น “ซาก” ในลิพท์
สำหรับคนที่เติบโตมากับระบบทุนนิยม ความไม่สะดวกในการอยู่ประเทสังคมนิยม/คอมมิวนิสต์เก่าอีกอย่างคือ การจับจ่ายซื้อของ ของที่ปกติหาซื้อในซุปเปอร์มาเกตได้กลับกลายเป็นหาซื้อไม่ได้ เช่นของพื้นฐานอย่างกิ๊บหนีบผ้าและเขียง ถูกต้องแล้ว นักศึกษาปริญญาเอก ร่ำเรียนมาเกือบตลอดชีวิต อ่านหนังสือทฤษฎีอยากๆ มาก็จำนวนหนึ่งแต่กลับหาซื้อกิ๊บหนีบผ้าและเขียงไม่ได้ เดินไปซิ...เดินทั่วซุปเปอร์มาเกตแล้ว เดินในเมืองก็แล้ว เจอของสารพัดอย่าง แต่ไม่ใช่กิ๊บหนีบผ้ากับเขียง พอไม่มีของสองอย่างนี้ก็เริ่มรู้สึกว่าชีวิตลำบากขึ้น กิ๊บหนีบผ้าเป็นของจำเป็นอย่างมหาศาลในบ้านเมืองที่ออกแบบราวตากผ้าให้ยื่นออกไปนอกระเบียง ทุกห้องมีราวที่ยื่นออกไปนอกระเบียงเหมือนกัน ดังนั้นถ้าไร้ซึ่งทักษะในการตากผ้ากับนวัตกรรมราวตากผ้าเช่นนี้ ก็อาจทำชุดชั้นในหรือกกน. ตกไปหาเพื่อนบ้านชั้นล่างได้ หรือถ้าไม่มีกิ๊บตากผ้า (คือปกติเมืองไทยมันเป็นที่ตากผ้าตั้งกับพื้น หรือไม่ก็ราวที่อยู่ในอาคารบ้านเรือน เราเลยใช้ไม้แขนเสื้อตากผ้าได้) อันทรงพลังเสื้อผ้าเราก็จะกลายเป็นของเพื่อนบ้านชั้นล่างได้อีกเช่นกัน... ปัญหาโลกแตกหล่ะคราวนี้... ผ่านไปสองสามวัน อิชั้นก็ยังคงหากิ๊บหนีบผ้าไม่ได้ เลยตัดสินใจส่งข้อความไปถามเจ๊เจ้าของอพาร์ทเมนต์ว่าชาวบ้านแถวนี้เค้าหาซื้อกิ๊บหนีบผ้ากันจากที่ไหน หรือเค้าใช้กำลังภายในอะไรกันในการตากผ้านอกระเบียง เจ๊เจ้าของบ้านน่ารักมาก บึ่งรถเอากี๊บผนีบผ้าของตัวเองมาเผื่อแ แผ่ให้เรา พอเราถามว่าซื้อจากไหนได้ เจ๊แกพยักไหล่แล้วตอกกลับว่า “ก็ร้านขายของทั่วไป” อิชั้นนึกในใจ “สาบานให้เจ้าแม่กวนอิมลงโทษได้เลยว่าอิชั้นเดินหาเกือบทั่วเมืองแล้ว แต่หาไม่เจอ (โว้ย)”
ของอีกอย่างที่หาไม่เจอคือเขียง เด็กที่เติบโตมากับระบบทุนนิยมก็จะมีสมมุติฐานว่าของใช้ทุกอย่างมันต้องอยู่รวมกันในซุปเปอร์เกต (เหมือนที่ท๊อปส์ไง!) รวมถึงเครื่องใช้ในครัว ซุปเปอร์มาเกตขนาดกลางที่นี่ก็เป็นอย่างนั้น มี (เกือบ) ทุกอย่าง (ยกเว้นกิ๊บหนีบผ้า) เครื่องใช้ในครัวก็มีจาน ชาม ช้อน ส้อม มีด ตะลิว กะทะ หม้อ รวมถึงอุปกรณ์เบเกอรี่ แต่ไม่มีเขียง! เป็นไปได้ยังไง ไอเราก็เดินหามันเข้าไป หามันเกือบทุกห้างในเมืองที่มี แต่ก็ยังไม่ได้ถามพนักงานเพราะพนักงานไม่พูดภาษาอังกฤษ และทักษะภาษาเซอร์เบียนของอิชั้นก็ยังไม่เหนือชั้นขนาดรู้ศัพท์คำว่า “เขียง” เดินเข้าออกตามซุปเปอร์มาเกตมากมาย ก็ยังหาไม่เจอ ที่นี้พอเดินหาซื้อของมากๆ เข้า ก็ได้ข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า ร้านรวงที่นี่เป็นร้านขนาดเล็ก และขายของเฉพาะเจาะจง เช่น ร้านที่ขายเครื่องใช้ในครัว ก็จะขายเครื่องใช้ในครัวอย่างเดียว (ยกเว้นซุปเปอร์มาเกต ที่ขายของแบบ “แกงโฮะ” อยู่บ้าง แต่ยังโฮะเท่าซุปเปอร์มาเกตในโลกทุนนิยมแบบเต็มตัว) ร้านที่ร้านเครื่องสุขภัณฑ์ หรือของตกแต่งบ้าน ก็ขายแค่จำพวกนี้ ร้านเครื่องสำอางค์และร้านขายผลิตภัณฑ์บำรุงผิวของคุณสุภาพสตรีทั้งหลาย ก็ขายอยู่อย่างเดียว (ไม่มีการขายครีมกวนอิม และแถมซาลาเปาเหมือนเซเว่นบ้านเรา) มีกระทั่งร้านขายเฉพาะแค่ถุงเท้า หมอนและม่าน ถ่านกล้อง และอื่นๆ คือจะขายอะไรก็ขายไปอย่างเดียว ขาดการ “บูรณาการ”
พอไม่มีเขียง ชีวิตทางโภชนาการก็เริ่มลำบาก ต้องไปหั่นหมู หั่นไกในจาน หั่นก็ไม่สะดวก จะสับก็ไม่ได้ กลัวจานเค้าแตก จะหั่นผักที่มีขนาดใหญ่กว่ากระเทียมก็ลำบาก หั่นผิดรูปทรงไปก็กระทบถึงรสชาดของอาหาร ฯลฯ ทำยังไงดี? วันหนึ่งเพื่อนชาวเซอร์เบียนมากินข้าวที่บ้าน เราก็เลยตามเค้าไปว่าคนแถวนี้เค้าใช้เขียงกันมั๊ย เพื่อนก็บอกว่าใช้ เราก็เลยถามว่า “อ้าว แล้วไปซื้อที่ไหน เพราะเราเดินหาแทบตาย หาไม่เจอ” เพื่อนบอกว่าให้ไปซื้อร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน หรือเครื่องใช้ในครัวโดยเฉพาะ... เอาหล่ะ จันจิราก็ตั้งมั่นว่าคราวนี้ต้องซื้อเขียงให้ได้ เพราะเรารู้ว่าไอ้ถนนเส้นบาลข่านสกีเนี่ย มันมีร้านขายเครื่องใช้ในบ้าน ที่เราเคยพยายามเข้าไปถามหาเขียงแล้ว แต่เจ้าของร้านไม่เข้าในภาษาอังกฤษ เย็นวันฟ้าโปร่งวันหนึ่งจันจิราก็เดินถือดิคทชันนารี พร้อมเปิดศัพท์คำว่า “หั่น” ให้มั่นไว้ (คือเปิดคำว่าเขียงแล้ว ขนาดดิคทฯ ยังไม่มีในสารระบบ) พอถึงร้าน ก็เปล่งออกไปว่า “Zdravo” (สวัสดี) เจ้าของร้านจะได้รู้ว่าเราพูดภาษาเค้าได้หน่อย จากนั้นก็ยื่นดิคทที่เปิดค้างไว้ให้ดู แล้วทำมือเป็นเขียง จากนั้นทำท่าหั่น เจ้าของร้านยืนงงอยู่นิดนึง คงคิดในใจว่า “ยัยเจ๊กนี่มันทำอะไรของมัน” จากนั้นก็เข้าใจว่าเราต้องการอุปกรณ์หั่นอาหาร เลยเดินไปหยิบ “มูลิเน็กซ์” ให้ เราเลยรีบส่ายไปพร้อมบอกว่า “Ne ne” แล้วมือเป็นเขียง และทำท่าหั่น เจ้าของร้านถึงบางอ้อ เดินไปหยิบเขียงอันเล็กๆ มาให้... จันจิราดีใจแทบกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ ด้วยความปลื้มปิติว่าในที่สุดความพยายามก็สำฤทธิ์ผล ตรูได้หั่นผัก หั่นหมู อย่างมีความสุขแล้ว!... เจ้าของร้านเห็นเราหน้าตาดีใจจัดเลยบอกให้เดินตามไปหน้าร้าน แล้วไปชี้เขียงอันใหญ่ให้ดู...ใหญ่มากจริงๆ จะเอาไปหั่นควายหรือคะพี่... พร้อมว่า “complex” เออ อีตอนตรูถามหาตอนแรก ทำเป็นไม่เข้าใจ ตอนนี้จะมาขายของเชียว แต่ความสงสัยจะไม่จางหายไป อิชั้นเลยถามเจ้าของร้านไปว่า “คนแถวนี้เค้าไม่ใช้เขียงกันเหรอ ทำไมหาซื้อยากจัง” เจ้าของร้านเหมือนเข้าใจภาษาอังกฤษ ปนไทย ปนเซอร์เบียน เลยชี้ไปที่ “มูลิเน็กซ์”...อืม อย่าได้ติดสินความก้าวหน้าของประเทศจากความล้าหลังของลิพท์เชียว
อะไรคือข้อสรุปจากการหากิ๊บหนีบผ้าและเขียงไม่เจอ? นอกจากเรื่องภาษา และความไม่คุ้นเคยพื้นที่ เราคิดว่าเป็นเพราะเราเติบโตมากับระบบทุนนิยมเต็มใบ เวลาไปจับจ่าย ของทุกอย่างกระจุกตัวอยู่ในซุปเปอร์มาเกตขนาดใหญ่ หรือห้างสรรพสินค้ามหึมาใจกลางเมือง ซึ่งเสนอสินค้าไม่เพียงครบครัน แต่เต็มไปด้วย “ตัวเลือก” เช่น เวลาซื้อแชมพู ก็มีประมาณห้าล้านกว่ายี่ห้อให้เลือก (เวอร์ไปนิด แต่นึกภาพเวลาคุณยืนเลือกยาสระผมในซุปเปอร์มาเกตท๊อปส์ แล้วไม่รู้จะเลือกยี่ห้ออะไรดี เพราะดูเหมือนมีตัวเลือกเต็มเป็นไปหมด แต่ก็ไม่รู้ว่าแต่ละตัวเลือกต่างกันอย่างไร ยี่ห้อไหนดีกว่า สูตรไหรเหมาะกับเรา เพราะยาสระผมทุกวันนี้เริ่มเหมือนยาเทวดาหมอมี ด้วยการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณว่ารักษาอาการผิดปกติของเส้นผมและหนังศีรษะได้เกือบทุกอย่าง... ยกเว้นโรครอยหยักในสมองขาดแคลน) แต่เวลาซื้อของแถวนี้ ต้องเข้าไปตามร้านรวงเล็กๆ เพราะไม่มีห้างใหญ่ๆ จะซื้ออะไร ก็ต้องไปร้านเฉพาะของสินค้าประเภทนั้นๆ สำหรับคนที่โตมากับเมืองทุนนิยมอย่างเรา วัฒนธรรมเช่นนี้สร้างความลำบากให้กับเรามากโข เพราะต้องเดินเข้าออกร้านนั้น ร้านนี้ ยิบย่อยไปหมด แต่คิดอีกที หรือนี่อาจเป็นสัญญาณ “ที่ดี” ว่าอย่างน้อยระบบตลาดชนิดที่ทุนใหญ่ (ในนามของห้างใหญ่) ยังคลืบคลานมาไม่ถึง (แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มา) ผู้คนยังเป็นเจ้าของกิจการ มีอิสระในการทำมาหากิน โดยไม่ต้องขึ้นกับบริษัทข้ามชาติขนาดยักษ์ อยากปิดเปิดร้านไปนั่งกินกาแฟ หรือเล่นหมากรุกกับเพื่อนเมื่อไหร่ ก็ทำตามอารมณ์กันไป ทำยอดรายเดือนไม่ถึงเป้าก็ไม่ถูกไล่ออก อย่างมากก็กินขนมปังแข็ง แบบขาดโปรตีนไปเดือนนึง หรืออดกินกาแฟไปครึ่งเดือน อิสรภาพในการทำมาหากินยังหลงเหลือร่องรอยอยู่บ้างในเมืองที่เคยตกอยู่ใต้ม่านหมอกของระบบสังคมนิยม/คอมมิวนิสต์... ยอกย้อนดีเหมือนกัน
ถ้าคิดอย่างนั้นตลอดเวลา จันจิราก็ดูจะเป็นนักสังคมศาสตร์ที่มี “จริยศาสตร์” เกินความจำเป็น มีบางเวลาที่อยากให้ซุปเปอร์มาเกตท๊อปส์ หรือห้างพารากอนมาเปิดสาขาแถวนี้บ้างนะ...ฮืออออออ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น