เดินในเมือง “สีขาว” (beo = ขาว, grad = เมือง -> Beograd / Belgrade)
วันแรกที่มาถึงเบลเกรดอากาศไม่เลวร้ายนัก เมื่อเทียบกับครั้งที่แล้วที่มา (ปีที่แล้วเดือนพฤศจิกายน...คงไม่มีใครบ้าคลั่งมายุโรปช่วงย่างหน้าหนาวเหมือนอิชั้นอีกแล้ว) เป็นครั้งที่แรกที่เข้าเมืองมาทางพาหนะทางอากาศ (ครั้งแล้วที่มาทางรถไฟจากโรมาเนีย) ด่านตรวจคนเข้าเมืองขนาดย่อมเยา เตือนใจให้เรานึกท่าอากาศยานของเพื่อนบ้านอย่างลาวไงไม่รู้ หรือว่าเพราะเราเพิ่งมาจากแฟรงเฟริ์ต ทุกอย่างมันเลยดูเล็กไปหมด? อืม เป็นไปได้ ความเนียนของเราทำให้น้ำพริกตาแดง น้ำปลายย่าง เครื่องแกงต่างๆ และใบมะกรูดที่แม่แพคมาให้ผ่านด่านศุลกากรพี่เซริ์บมาได้...รอดชีวิต (จากอาหารเชอร์เบียน) ไปได้อีกสี่เดือน
พี่คนขับแทกซี่ยืนรอหน้าแป้น พร้อมด้วยชื่อภาษาไทยยาวเหยียด ที่ทุกวันที่ชาวบ้านแถวนี้ก็ยังเรียกว่า “ยานยีรา” ทั้งที่อุตส่าห์ย้ำแล้วว่าให้ออกเสียง “จัน” = Ćan ไม่ใช่ “ยาน” = Jan สงสัยต้องให้อธิบายความกันว่า “ยาน” ในภาษาไทยหมายความว่าอะไรได้บ้าง
พี่คนขับแทกซี่พูดภาษาปะกิตไม่ได้ อิชั้นก็เว่าภาษาเซอร์เบียนแบบงูๆ ปลาๆ (การเรียนด้วยตัวเองมาห้าเดือนไม่ได้ช่วยให้สื่อสารกับมนุษยษ์แถวนี้ได้ค่ะท่านผู้ชม) อีสองคนเลยพยายามนั่งคุยกันด้วยภาษาที่ตัวเองไม่ถนัด...มันส์ไปอีกแบบ
เบลเกรดปีนี้ไม่ต่างจากปีที่แล้ว จากเบลเกรดใหม่ (Novi Beograd) ซึ่งเป็นที่พำนักของคนจำนวนมากและย่านธุรกิจ (รวมถึง China Town! – มีเสียงเล่าลือกันว่าชาวบ้านแถวนี้ไม่ชอบคนจีนเท่าไหร่นัก เพราะเข้ามาแบบไม่ได้รับเชิญ คือช่วงที่รัฐบาลสโลโบดานมิโลเซวิชครองอำนาจ รัฐบาลจีนเป็นมิตรเพียงประเทศเดียวที่เหลือ ส่วนประเทศฝรั่งทั้งหลายพากันคว่ำบาตรเซอร์เบีย เพราะเที่ยวทำตัวเกะกะระราน ก่อสงครามไปทั่วคาบสมุทรบาลข่าน) ถึงเบลเกรดเก่า (Stari Beograd) รถยังขวักไขว่ไม่เป็นระเรียบเหมือนที่กรุงเทพฯ ช่วงห้าโมงเย็นอย่าได้หวังว่าได้เดินทางคล่องว่องไว เพราะรถติดบานตะไท ส่วนที่แทกซี่ก็ขับรถได้ศิวิไลซ์คล้ายแทกซี่บ้านเรา (แต่ทักษะการปาดของแทกซี่บ้านเราเหนือชั้นกว่ามาก) พี่นึกอย่างกลับรถก็กลับมันตรงนั้นเลย หรือว่าถ้าเจอเพื่อนแทกซี่ข้างๆ ก็หยุดรถคุยกันซะงั้น
คุยกับคนขับแทกซี่เพลิน (ทั้งๆ ที่ไม่แน่ใจว่าคุยกันรู้เรื่อง) ซักพักก็มาถึงอพาร์ทเมนต์ที่ติดต่อขอเช่าไว้ พอรถจอดปั๊ป ไอ้เราก็มองหามิตเตอร์ แต่ก็แอบมองโลกในแง่ดีว่า นี่อาจเป็นบริการจากบริษัทนายหน้าหาบ้านที่เราติดต่อไป (เพราะเค้าเสนอเองว่าจะให้คนขับรถมารับ) แต่เวรกรรมย่อมตามทันพวกมองโลกในแง่ดีเกินเหตุ เพราะพี่แทกซี่เอื้อมมือมาหยิบหมวกข้างอิชั้น ที่ดูเหมือนครอบอะไรอยู่ไว้ออก...ทะด้า!!! มิตเตอร์อยู่นั่น ล่อกรูเข้าไป 20 ยูโร... อยากจะร้องไห้ แต่ต้องฝืนยิ้ม เพราะเดี๋ยวชาวบ้านแถวนี้จะจับรังสีความโก๊ะกังของประชากรชาวไทยได้
โชคที่เอเยนท์ที่มารับเราหน้าอพาร์ทเมนต์หน้าตาดี – ถือเป็นประชากรเซิร์บชายหน้าตาดีคนแรกที่เราเคยเห็นมา – ช่วยผ่อนอาการช็อคค่ารถแทกซี่ไปได้หน่อย
ที่อยู่ใหม่ถูกชะตากันดี เจ้าของเดิมหน้ารัก แม้ว่าเจ๊แกจะอึ้งเล็กน้อยเมื่อเราบอกว่าเราไม่มีเงินสดจ่ายค่าบ้านทั้งสามเดือนครึ่ง (1,400 ยูโร) พอในวันที่มาถึง แหม..เจ๊คะใครมันจะพกเงินสดขึ้นเครื่องบินเดินทางข้ามทวีปมาเป็นหมื่นๆ
หลังจากคุยนู้นนี่กันเรียบร้อย (ขอเน้นว่าคุยกันเยอะจริงๆ โดยเฉพาะกับเอเยนต์คนนั้น...ฮุฮุ) อิชั้นก็ได้อพาร์ทเมนต์อันแสนน่ารักมาครอบครองเป็นเวลาสามเดือนครึ่ง อพาร์ทเมนต์ตั้งอยู่ในทำเลที่ดีมาก ข้างหลังเป็นที่ทำการรัฐบาล ข้างๆ เป็นกระทรวงสารสนเทศ เดินออกไปหน่อยเป็นตึกกระทรวงกลาโหมเก่าที่โดนนาโต้ถล่มเมื่อปี 1998 (กรณีโคโซโว – จะพูดถึงตึกนี้อีกครั้งเมื่อโอกาสอำนวย เป็นปริศนาที่ทุกวันนี้เรายังไม่ได้คำตอบชัดๆ จากชาวบ้านแถวนี้ว่าทำไมรัฐบาลเค้าไม่ยอมทุกซากตึกทิ้งแล้วสร้างของใหม่ทับ...ตึกที่โดนระเบิดถล่มยับเยินเลยตั้งหรากลางเมืองเหมือนเป็นจุดชักภาพของนักท่องเที่ยวอีกจุดหนี่งในเบลเกรด) เดินออกไปถนนอีกเส้นเป็นทางลัดเข้าเมือง โดยผ่าน “ย่านประตูน้ำ” คือเป็นย่านไอทีของที่นี่ จะไปทะลุออกโรงเรมมอสโคว ซึ่งเป็นโรงแรมเก่าแก่ของที่นี่ (ชอคโกแลตร้อนและเค้กอร่อยมาก ขอบอก) พอออกจากซอยโรงแรมมอสโควก็เป็นย่านใจกลางเมือง เดินไปทางขวาอีกนิดก็จะถึงถนนคนเดินชื่อว่า “คเนซ มิไคโลวา” (“Knez Mihajlova”) ถนนสายนี้เต็มไปด้วยร้านรวงแบรนด์เนมต่างๆ ผู้คนก็ชอบมาเดินวินโดว์ชอปปิ้งกันแถวนี้ (แต่ไม่มีเงินซื้อเหมือนผู้เขียน ว่ากันว่าเศรษฐกิจเซอร์เบียร์ยังไม่ฟื้นตัวจากสงครามเท่าไหร่นัก ทั้งที่ผ่านมากว่าทศวรรษแล้ว ผู้คนมีเงินเดือนเฉลี่ย 300 ยูโรต่อเดือน หรือประมาณหมื่นสี่พันบาท แต่ข้าวของแถวนี้แพงกว่าแถวบ้านเรามากอยู่) ร้านรวงเหล่านี้ดูดีแต่ไม่มีประโยชน์ วันรุ่งขึ้นเราพยายามหาซื้อของเข้าบ้าน ของจำเป็นที่ผู้คนต้องใช้ไม่ปรากฏแถวนี้เลย
แต่ถ้าไม่มองจากมุมพวก “ประโยชน์นิยม” ร้านรวงเหล่านี้ก็เป็นแกดเจตให้กับถนนคนเดินคเนซ มิไคโลวาได้อย่างดี เพราะเป็นถนนคนเดินไง เลยต้องมีร้านเอาไว้ให้คนมอง คือมองได้อย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีปัจจัยซื้อ พอคนเดินไปมองไป การเดินก็ช้าลง เวลา ณ ถนนคนเดินเลยช้าลงไปด้วย กิจกรรมต่างๆ เพื่อการบริโภคทางจักษุจึงเกิดขึ้นตามมา ไม่ว่าจะเป็นการขายงานศิลปะแบกะดิน ศิลปินร้องรำทำเพลงกลางถนน หนุ่มสาวเดินชำเลืองหาคู่ (และกิ๊ก) กัน ร้านกาแฟที่ผุดขึ้นตามมุมถนนเต็มไปด้วยผู้คน บางคนกินกาแฟแก้วเดียว แต่นั่งเม้ากับเพื่อนอยู่สองชั่วยาม ฯลฯ
นอกจากร้านรวงและกิจกรรมเพื่อความเพลิดเพลินบนถนนแล้ว คเนซ มิไคโลวายังเป็นที่ตั้งของบางคณะของมหาวิทยาลัยเบลเกรด คณะที่สำคัญและมีบทบาททางการเมืองเรื่อยมาอย่างคณะปรัชญา คณะภาษาศาสตร์ คณะการละคร และคณะวิศวกรรมและเครื่องกลศาสตร์ ก็ตั้งอยู่บนถนนคนเดินเส้นนี้ด้วย นับตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี Josip Broz Tito ยังครองอำนาจ และยูโกสลาเวียยังเป็นรวมเป็นหนึ่งภายใต้ระบอบสังคมนิยม นักศึกษารวมตัวกันประท้วงในปี 1968 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของนักศึกษา และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมระหว่างชนชั้นนำ (รวมถึงชนชั้นกลางซึ่งกำลังเติบโตในขณะนั้น) และชนชั้นแรงงาน เมื่อยูโกสลาเวียแยกออกเป็นประเทศต่างๆ เช่น สโลวีเนีย โครเอเชีย บอสเนีย-เฮอเซโกวีนา (ล่าสุดคือโคโซโว) และเซอร์เบีย (ซึ่งเหลือหัวเดียวกระเทียมลีบ และกลายเป็นประเทศ “แลนด์ล็อค” – ไม่ติดทะเล – โดยอัตโนมัติ) ตกอยู่ในท่านหมอกของชาตินิยมแบบสุดขั้ว ขณะที่รัฐบาลอำนาจนิยมภายใต้การนำของสโลโบดานมิโลเซวิช โหนกระแสชาตินิยมเพื่อสร้างฐานอำนาจให้ตัวเอง นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเบลเกรดก็เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการประท้วงต่อต้านรัฐบาลในช่วงทศวรรษ 1990 ไล่ตั้งแต่การประท้วงต่อต้านสงครามซึ่งเริ่มต้นในโครเอเวียปี 1990 ในบอสเนีย-เฮอเซโกวีนา ปี 1992-4 รวมถึงการประท้วงมาราธอนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 1996 ถึงปลายเดือนมีนาคมปี 1997 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล (และศาลสูงสุด) ยอมรับผลการเลือกตั้งระดับภูมิภาคที่พรรคฝ่ายค้านได้รับชัยขนะอย่างขาดลอย ขบวนการโค่นล้มรัฐบาลด้วยปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรงช่วงปลายทศวรรษ 1990 ที่ทำให้ “ระบอบมิโลเซวิช” ล่มสลายอย่างไม่เป็นท่าก็เป็นพัฒนาการของขบวนการนักศึกษาเช่นกัน
คเนซ มิไคโลว่าพาคนเดินเท้าทั้งหลายมุ่งตรงไปยังอุทยานประวัติศาสตร์ “คเลเมกดาน” (Kalemegdan) อันที่จริงคเลเมกดานเป็นทั้งสวนสาธารณะที่ชาวบ้านแถวนี้มาเดินชิวเอาท์ยามเช้าและเย็น พวกที่ไม่เดินก็นั่งเล่นหมากรุกกันไป (อย่าแปลกใจเชียวถ้าเดินไปไหนมาไหนแถวนี้แล้วจะเห็นคนเล่นหมากรุกกันอย่างตั้งอกตั้งใจ...ตั้งใจกว่าทำมาหากินอีก) หรือสมาคมอาม่าอากงทั้งหลายก็มารวมตัวกันเต้นรำ ปีที่แล้วที่เรามา ไปยืนถ่ายรูปเค้า เค้าเลยชวนเราเข้าไปร่วมวงเต้นรำด้วย...ไอเราก็เกือบแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมด้วยการเอารำวงเข้าไปแจมแล้ว... บางพื้นที่ของอุทยานก็อุทิศให้กับนิทรรศการภาพถ่าย บางส่วนก็จัดเป็นพื้นที่นิทรรศการอาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะหากไม่นับประวัติศาสตร์สงครามหลายระลอกของดินแดนแห่งนี้ อุทธยานประวัติศาสตร์คเลเมกดานอันที่จริงเป็นป้อมปราการป้องกันเมืองเบลเกรดจากการรุนรานทางนาวาจากกองทัพต่างชาติ ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นรูปปั้นชาย (ตัวเขียว...สถานที่ประวัติศาสตร์ที่นี่ทุกที่เป็นสีเขียว...เออ ทำไมหว่า) สูงใหญ่ ยืนไพล่ขา เรือนร่างเปลือยป่าว พร้อมเอานิ้วขี้ไปข้างหน้า ก็ไม่รู้ว่าตั้งใจให้รูปปั้นออกอีโรติก หรือที่ออตโตมัน (เตริ์ก) ยึดครองดินแดนในช่วงศตวรรษที่สิบสามถึงสิบหก ยึดผ้าผ่อนคนแถวนี้ไปด้วย??? เป็นปริศนาอีกข้อที่ชาวไทยจีนอย่างเราต้องทำความเข้าใจประวัติศาสตร์พี่เซริ์บต่อไป
สิ่งที่งดงามที่สุดของคเลเมกดานสำหรับเราคือ ทำเลที่ตั้งซึ่งทำให้ป้อมปราการแห่งนี้เป็นประจักษ์พยานแห่งการบรรจบกันของแม่น้ำซาลวา ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของเซอร์เบียและแม่น้ำดานูบ ซึ่งเดินทางยาวไกลมาตั้งแต่ทวีปแอฟริกามาหาทวีปยุโรป มนุษย์หน้าไหนที่ได้ยืนเผชิญหน้ากับจุดบรรจบของแม่น้ำทั้งสองแล้วไม่รู้สึกว่ากำลังถูกประวัติศาตร์ซัดสาดให้กลับไปยุคกลางยุโรปอาจถือได้ว่าต่อมประวัติศาสตร์บกพร่อง ไม่เช่นนั้นก็อุดตัน
ถ้าเดินทะลุคเลเมกดานออกไปทางซ้าย ทะลุซอกเล็กซอกน้อย ซึ่งมีเต็มไปหมดในเบลเกรด (ว่ากันว่าผังเมืองในยุโรปส่วนใหญ่เป็นแบบนี้คือซอกเล็กซอยน้อยทะลุถึงกันไปหมด) ก็จะเจอสะพานบรังโก (Branko) ซึ่งเป็นหนึ่งในสองสะพานหลักที่ทอดตัวเชื่อมสองฝั่งของแม่น้ำซาวา (อีกสะพานหนึ่งคือ “สตาริ ซาฟสกิ”) เพื่อให้ผู้คนจากเมืองเบลเกรดเก่าและใหม่ได้เดินทางหากันได้ ถ้าจะเดินกลับแหล่งพำนักใหม่ของเราก็ต้องเดินสวนทางกับสะพานบรังโก โดยพาคตัวเองให้ผ่านท่า ขสมก.ของเบลเกรด จากนั้นเดินลงไปที่ถนคายลิซ นาตาเลีย (Kaljice Natalije) เพื่อให้เจอสีแยกร้านสีแดง (คือมันเป็นสี่แยกที่มีแต่ร้านทาสีแดงเต็มไปหมด) แล้วจะเห็นถนนบาลข่านสกา (Balkanska) ซึ่งชันมาก ผู้คนแถวนี้เล่าว่าถนนบาลข่านสกาเป็นถนนที่เก่าแก่ที่สุดของเบลเกรดเส้นหนึ่ง มีกองทัพต่างชาติที่เคยเข้ามายึดเมืองแห่งนี้มาพำนักอาศัย ที่ชื่อว่า “บาลข่านสกา” ก็เพราะว่าชุมชนเตริ์กเคยตั้งรกราอยู่แถวนี้ช่วงที่ยึดครองเบลเกรดในศตวรรษที่สิบสามถึงสิบหก ความเก่าแก่ของถนนสังเกตได้จากพื้นถนนทำจากวัสดุหินวางเรียงรายเป็นก้อนๆ (ถนนบางเส้นในเมืองเก่าแก่ในยุโรปมักมีลักษณะเช่นนี้ รวมถึงฟุตบาทบางที่ในเมลเบริ์น ออสเตรเลีย) เวลาเดินผ่านถนนเส้นนี้ ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นร้านรวงท้องถิ่นจำนวนมาก เช่นร้านทำหมวก ร้านทำรองเท้า ร้านเบเกอรี่ (pekara) และคาเฟ่ (kaffa - ซึ่งเป็นทั้งร้านขายกาแฟและขายเครื่องดืมแอลกอฮอล์...ต่างจาก “คาเฟ่” ในความเข้าใจของบ้านเรา ซึ่งมีนัยถึงแหล่งซ่องสุมแห่งเมรัยและนารี... วันหลังจะเล่าให้ฟังถึงวัฒนธรรมคาเฟ่ของคนแถวนี้ให้ฟังอีกที) เวลาเดินลงถนนสนุกมาก เพราะได้ดูร้านเก่าๆ แต่เวลาขึ้นไม่สนุกเท่าไหร่ เพราะเหมือนเดินขึ้นภูสอยดาว (ตอนแรกว่าจะเปรียบกับภูกระดึง แต่ไม่เคยไปภูกระดึง เปรียบกับภูสอยดาวไปแล้วกัน) อย่าพยายามใส่ส้นสูงเดินขึ้นถนนเส้นนี้เชียว หรือถ้าใส่ ต้องไปฝึกใส่ส้นสูงปีนเขามาให้ชำนาญเหมือนสาวๆ แถวนี้ก่อน พอเดินสุดถนนบาลข่านสกา ก็เจอสี่แยก ถนนที่ตัดแยกคืออัดมิราลา เกปราตา เดินไปทางซ้ายถึงตึกเบอร์หกก็อพาร์ทเมนต์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น