วันศุกร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2555

เซอร์เบีย...ไม่ใช่ไซบีเรีย (4): ความวัวหายไปแล้ว ความควายก็หายตาม (ต่อ)



ของอย่างที่มักมีชะตาพลัดพรากจากเราไปคือ กุญแจบ้าน โดยมากเราเป็นพวกชอบลืมเอากุญแจบ้านติดตัวออกจากบ้านมาด้วย ตอนเรียนที่ออสเตรเลีย เคยลืมกุญแจบ้านนับสิบครั้ง ครั้งแรกไม่รู้จะแก้ปัญหายังไง เลยตัดสินใจปีนเข้าบ้านจากทางหน้าต่าง คิดเพียงแต่ว่าอย่างน้อยตกลงมา บริษัทประกันย่อมจ่ายค่ารักษาให้ ภายหลังรู้ว่า เราไม่ต้องพยายามแย่งอาชีพสตันท์หญิงขนาดนั้น เพียงแต่ต้อง “รวย” เวลาลืมพกกุญแจบ้าน เพราะมี locksmith ผู้ดูแลกุญเจวิเศษสามารถเปิดเข้าบ้านทุกบ้านได้ ค่าบริการ locksmith ก็เหนาะๆ ครั้งละแค่ 50 เหรียญออสซี่ หรือประมาณ 1,500 บาทเท่านั้น

หลังจากกระเป๋าเงินหายที่เซอร์เบียได้หนึ่งเดือน เราทำกุญแจอพารท์เมนต์ตัวเองหาย นี่ถือเป็นอิทธิฤทธิ์ ต้องฝึกปรือเข้าขั้นโป้ยเซียนเท่านั้นถึงจะเสกให้สรรพสิ่งหายไปในเวลาอันสั้น ติดต่อกัน ขนาดนี้ได้ เรื่องมันมีอยู่ว่า เช้าวันหิมะเกือบตกวันหนึ่ง เรานัดกินกาแฟกับมิตรใหม่ชาวเซอร์เบียน ที่กำลังจะเดินทางกลับไปเรียนต่อที่เวียนนา เวลานัดคือหกโมงเช้า เวลานัดหมายรุ่งอรุณเช่นนี้อาจถือว่าผิดกฎหมาย (ทางวัฒนธรรม) ของพี่เซิร์บได้ อย่างที่เคยเล่าว่าเวลาเช้าของที่นี่คือเที่ยงวัน ก่อนออกจากที่พักเรามั่นใจว่าเอากุญแจอพารท์เมนท์ ซึ่งมีขนาดยาวเกือบเท่าเสาตะเคียนตกน้ำมัน หน้าตาคล้ายกับกุญแจไขหีบสมบัติฝรั่งโบราณ เสียบไว้ที่กระเป๋ากางเกงยีนส์ข้างหลัง ระบบความรอบคอบของสมองปิดการทำงานอย่างสิ้นเชิง เลยไม่ได้เอะใจว่ากระเป๋าหลังของกางเกงมิใช่ที่อยู่อันสมของกุญแจขนาดใหญ่เท่าเสาบ้านเช่นนี้

หลังจากกินกาแฟเสร็จ เราเดินกลับบ้าน ฮัมเพลงพลาง วางแผนตารางการทำงานในสมองไปพลาง เมื่อถึงหน้าห้องพัก มือขวาล้วงเข้าไปยังกระเป๋ากางเกงยีนส์ด้านขวาฝั่งหลัง มือพบเพียงความว่างเปล่า และผ้ายีนส์กระด้างบาดมือ เรายังคงทำใจเย็น ควานหากุญแจในกระเป๋าช่องต่างๆ และกระเป๋าย่าม ในรองเท้าบู๊ท (เผื่อกุญแจอยากเปลี่ยนที่อยู่จากกางเกงไปรองเท้า) ตามซอกหลืบต่างๆ ของร่างกายที่กุญแจสามารถแฝงกายอยู่ได้... “ชิ้บหาย” อีกครั้ง

แม้ตื่นตระหนก แต่ตัว “สติ” ที่หลบลี้ในหลืบหนึ่งของสมองกระซิบข้างหูว่าเราน่าทำกุญแจตกระหว่างเดินทางกลับจากร้านกาแฟมายังอพารท์เมนต์ โชคที่ดีระยะทางนี้ยาวไม่เกิน 500 เมตร เราเลยเดินตามรอยกลับไป ตาส่องหาโลหะหน้าตาคล้ายกุญแจ คิดในใจว่าถ้ากุญแจมีฟังค์ชั่นเหมือนมือถือก็ดี เราจะได้โทรตาให้มันกลับมาหาเรา อนิจจา ความคิดเช่นนี้เป็นเพียงจินตนาการปลอบใจคนซุ่มซ่ามเท่านั้น จากอาพารท์เมนต์ผ่านไปยังร้านขนมปังหรือ “เปการ่า” จากเปการ่าผ่านยังถนนใหญ่ ป้านรถเมล์ คนรอรถเมล์ รถเมล์กระป๋องวิ่งผ่านหน้า ท้ายสุดเรากลับมายืนหน้าสถานีรถไฟ ใกล้ร้านกาแฟ สถานที่นัดพบกับเพื่อนเมื่อเช้า กุญแจยังไม่กลับมาหาเจ้าของ “กะหลั่วๆ” อย่างเรา ทว่าเจ้าของมันไม่ยอมแพ้ง่าย พาสองขา กับหน้าหนาๆ เข้าไปถามเจ้าหน้าที่ในสถานีรถไฟว่าเห็นกุญแจบ้านเรามั๊ย... คนพวกนี้ทำหน้าฉงนงงงวยเป็นอย่างยิ่ง เพราะในตั้งแต่เกิดมาคงไม่เคยเจอใครมาถามหากุญแจบ้านของตัวเองที่สถานีรถไฟ เจ้าหน้าที่ทำความสะอาดรายหนึ่งถึงกับนินทากับเพื่อนต่อหน้าเรา แม้เราฟังไม่รู้เรื่องครบประโยค แต่จับใจความได้ว่า “เฮ้ย... ใครวะมันบ้าทำกุญแจบ้านหาย” ... เออ กูนี่หล่ะ!!

เสน่ห์อย่างหนึ่งของประเทศเซอร์เบียคือ พนักงานผู้ทำงานในสถานที่ที่น่าได้พบเจอชาวต่างชาติอย่างสถานีรถไฟ หรือไปรษณีย์ ไร้ซึ่งความกระเสือกกระสนพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ ขนาดอังกฤษขั้นพื้นฐานระดับป้าขายเต้าฮวยแถวถนนข้าวสารบ้านเราสื่อสารกับฝรั่งได้ พี่พนักงานเซริ์บก็ไม่กระดิก ฉะนั้นเวลาเรามีความจำเป็นต้องติดต่อกับคนเหล่านี้ (คือถ้าไม่จำเป็น จะพยายามหลีกเลี่ยง) เราต้องอาศัยกำลังภายในชนิดที่อี้ก๊วยยังแพ้... ในวาระดิถีนี้เช่นกัน เราไม่สามารถอธิบายให้พนักงานที่สถานีรถไฟเข้าใจได้ว่าเราทำกุญแจบ้านหาย และกำลังตามหามัน ทุกคนพยายามบอกให้เราไปแจ้งความ เราอยากเข้าไปเขย่าคนเหล่านี้ ให้เลือดมาเลี้ยงสมอง แล้วบอกว่า “พี่คะ ในโลกนี้มันมีคดีทำกุญแจบ้านหายมั๊ย ถ้าวันหนึ่งการทำกุญแจหายเป็นอาชญากรรม ดิฉันคงติดตารางปีละสองสามหน” เมื่อสื่อสารเองไม่ได้เรื่อง เราต้องจึงงัดกำลังภายในมาใช้ ด้วยการส่งข้อความไปหาเพื่อนคนที่เพิ่งนัดเจอกันว่าเราทำกุญแจบ้านหาย และขอให้เค้าส่งข้อความภาษาเซียเบียนกลับมาประมาณว่า “ดิฉันชื่อจันจิรา ทำกุญแจบ้านหาย ไม่ทราบว่าคุณเห็นมันตกแถวนี้บ้างมั๊ย” (ขอบอกว่าทุกวันนี้ยังบันทึกข้อความนี้อยู่ในโทรศัพท์มือถือ เหมือนเป็นเครื่องรางของขลังอย่างไรอย่างนั้น) นี่ถือเป็นข้อความขายขี้หน้า เหมือนประจานตัวเองว่า “ดิฉันโง่มากค่ะ ที่ทำกุญแจบ้านตกหาย ช่วยอนุเคราะห์ซื้อวิตามินบี 12 ให้ดิฉันทานแก้โง่ด้วย”

ทายสิว่าชะตากรรมระหว่างเรากับกุญแจบ้านเป็นอย่างไรต่อไป? ปิงป่อง! ถูกต้องแล้วว่าหาไม่เจอ สสารในโลกนี้เมื่อมันตัดสินใจทิ้งเจ้าของมันแล้ว หาให้ตามยังไง ก็ไม่มีทางหาเจอ (ดังนั้นอย่าได้เชื่อทฤษฎีไอนสไตน์เชียว) เราเดินคอตก หูพับ กลับไปยังอพาร์ทเมนต์ที่ไม่รู้จะเข้าไปได้ยังไง โทรหาเจ้าของอาคาร เค้าบอกว่ากุญแจสำรองอยู่กับสามีเก่า ซึ่งต้องนั่งรถออกนอกเมืองไปเจอที่บ้าน ทั้งยังไม่รวมเวลาที่ต้องใช้เพื่อก้าวข้าม “ดราม่า” กับฝาละมีเก่า คิดสารตะแล้ว เจ้าของบ้านอาจเอากุญแจสำรองมาให้เราได้ภายในห้าชั่วโมง (เป็นการประเมินที่อยู่บนข้อสันนิษฐานที่ว่าสามีเก่ายังเก็บกุญแจสำรองอยู่ ไม่ได้ทิ้งกุญแจเพราะน้อยใจภรรเมียที่ทิ้งตนไป) ระหว่างรอ เราควรอยู่ที่ไหน? จะสมัครเข้าร่วมสมาคมคนไร้บ้านเลยดีมั๊ย? หรือควรไปพึ่งพาสถานทูตดี? แต่ในเซอร์เบีย สถานทูตตัวแทนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเพียงสถานทูตอินโดนีเซียเท่านั้น ฉะนั้น ประชากรไทยอย่างเราเท่ากับมีสถานะเป็น “คนไร้รัฐพลัดถิ่น” ด้วยหรือไม่? องค์ความรู้สังคมศาสตร์ที่สะสมมาทั้งชีวิตกลายเป็นคำอธิบายที่ซ้ำเติมเคราะห์กรรมของผู้พลัดพรากจากกุญแจบ้านอย่างเรา




เราเดินไว้อาลัยกุญแจ กลับไปนั่งยองๆ หน้าประตูอพาร์ทเมนต์ ราวกับวิงวอนให้สิ่งศักดิ์ช่วยดลบันดาลให้ประตูเปิดออกเอง หรือให้เรามีเวทมนต์เปิดประตูเช่นอาละดิน ไร้ผล... สิ่งศักดิ์สิทธิ์คงไม่ได้เรียนเรื่อง “อภัยวิถี” มา ความเมตตาต่อมนุษย์อย่างเราจึงมีจำกัด ผ่านไปห้านาที หญิงสูงอายุซึ่งที่อยู่ถัดจากห้องพักเรา แง้มประตูห้องแกออกมสำรวจว่าตัวอะไรป้วนเปี้ยนอยู่หน้าห้องแก เราเงยหน้าขึ้นไปมอง หญิงชราเอ่ยด้วยน้ำเสียงอบอุ่น เป็นภาษาอังกฤษประโยคสั้นๆ “เข้ามาดื่มชาในห้องชั้นมั๊ย?”

ห้องพักของหญิงชราดูเล็ก เพราะมีของสะสมต่างๆ วางตามชั้น โต๊ะ และพื้นเท่าที่เนื้อที่ของห้องอำนวยให้วางของเหล่านี้ได้ ของสะสมเหล่านี้เป็นเครื่องปั้นดินเผาจำนวนมาก และมีรูปภาพหญิงสาวหน้าตาคมขำ แต่งตัวเข้ายุคสมัย ถ่ายในหลากประเทศในยุโรป บางรูปหญิงสาวถือเครื่องปั้นดินเผาของตน บางรูปเธอถือถ้วยรางวัล สายตาสอดส่องของเราไม่รอดพ้นสายตาอันเปี่ยมล้นด้วยเมตตาของหญิงชรา “ชั้นเป็นนักปั้นเครื่องเซรามิค” ประโยคภาษาอังกฤษสั้นๆ สำเนียงเซอร์เบียนไขข้อข้องใจ ซึ่งสะท้อนบนใบหน้าอันฉงนสงสัยของชั้น ชั้นยิ้มกว้างกลับให้เธอและตอบว่า “คุณสวยมากเลยนะในรูปเหล่านี้ เครื่องปั้นที่วางอยู่ในห้องของคุณ เป็นฝีมือคุณด้วยหรือเปล่า” หญิงชราพยักหน้า และยิ้มละไม

คุณยายชื่อ “ดรากานา” บ้านเกิดอยู่ที่เมือง “ปันเจช-โว” ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเซอร์เบีย ห้าสิบปีที่แล้ว สมัยที่ยูโกสลาเวีย ภายใต้การนำของจอมพลติโต คุณยายเป็นนักปั้นเครื่องเซเรมิคมือฉมัง เดินทางรอบยุโรป ตั้งแต่ลอนดอนถึง บราเซโลนา จากปารีสถึงเบอร์ลิน จากออสโลถึงอัมสเตอร์ดัม จากซาเกรบถึงมอสโคว ขณะที่ชีวิตกำลังรุ่งโรจน์ สามีของคุณยายป่วยด้วยโรคมะเร็ง และเสียชีวิตในเวลาไม่กี่ปีต่อมา อีกไม่นานลูกชายแกประสบอุบัติเหตุ กลายเป็นเจ้าชายนิทรา คุณยายพยายามหาทางรักษาลูกชายอย่างสุดกำลัง สุดท้ายแกส่งลูกสายไปรักษากับหมอที่กรุงมอสโคว ประเทศรัสเซีย (หรือสหภาพโซเวียตในขณะนั้น) รักษาได้สองสามปี ในวันฟ้าโปร่ง ปาฏิหารย์เป็นใจ ลูกชายแกฟื้น และมีอาการดีขึ้นตามลำดับ จนถึงขั้นใช้ชีวิตได้ตามปกติ คุณยายตัดสินใจลงหลักปักฐานที่มอสโคว ส่วนลูกชายแกเริ่มเรียนภาษารัสเซียเพื่อเตรียมเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย

เวลาที่เรารำพึงเล่นๆ ว่า “ชะตากรรมมักเล่นตลก” เมื่อชะตากรรมเช่นนี้เกิดขึ้นกับเราจริงๆ การเล่นตลกมักบังเกิดในลักษณะโศกนาฏกรรม ลูกชายของคุณยายถูกฆาตกรรมชิงทรัพย์ ขณะเดินทางกลับบ้านยามค่ำในกรุงมอสโคว... เมื่อเล่าถึงตรงนี้ คุณยายหยุด และขอไปตัวไปห้องน้ำ เราเดาว่าการเล่าเรื่องประสบการณ์การสูญเสียให้คนแปลกหน้าฟังคงไม่ใช่เรื่องน่าปรีดานัก แม้เวลาผ่านไปสี่ทศวรรษ ฝันร้ายยังกลับมาหลอกหลอนเรื่อยไป เราเดาต่อไปว่าหลังจากลูกชายคุณยายเสียชีวิต แกคงเดินทางกลับมาเบลเกรด และเพราะไม่มีพี่น้องอาศัยในเบลเกรด (บ้านเกิดคุณยายอยู่ต่างเมือง) คุณยายจึงอาศัยเพียงลำพัง เราคงได้แต่เดาเรื่องราวต่อจากการตายของลูกชายคุณยายไป ในสถานการณ์เช่นนี้ การเดาอาจเป็นปฏิบัติการทางจริยธรรมที่เหมาะสมมากกว่าการสอบถามเพื่อขุดคุ้ยความจริง และตอบสนองความกระหายใคร่รู้ส่วนตัว

จากวันที่กุญแจบ้านหาย เรา “พบ” เพื่อนใหม่ แม้ต่างวัย เมื่อใดที่เราทำอาหารไทย (แบบใช้ผงกะทิชาวเกาะ และเครื่องแกงสำเร็จรูปตราโลโบ) เรามักนำไปให้คุณยายเสมอ คุณยายทานเผ็ดไม่ได้ แต่รับกับข้าวเราไว้เพื่อถนอมน้ำใจ หลายครา แกแนะนำสถานที่ซื้อของจำเป็นที่เราไม่เคยหาเจอเลยในเมืองเบลเกรด วันหนึ่งเราทั้งสองนัดออกไปจ่ายตลาดด้วยกัน วันนั้นเป็นวันหะมิตกหนัก อุณหภูมิติดลบสิบ ระหว่างเดินไปตลาด คุณยายเป่ามือตนเองให้อุ่น จากนั้นเอื้อมมาจับมือเราแล้วบอกว่า “อย่าปล่อยให้มือเย็น เธอจะเป็นหวัด”

ก่อนเราออกเดินทางจากเบลเกรด ด้วยเสร็จภาระกิจการเก็บข้อมูลงานวิจัย เราถามคุณยายว่าแกสนใจเรียนทำอาหารไทยมั๊ย แววตาอันเฉยชากลับมามีชีวิต ราวกลับเป็นคำตอบรับบัตรเชิญ... เราสอนคุณยายทำแกงเขียวหวาน (แบบเผ็ดน้อย และแบบเครื่องปรุงจำกัด) แกเดินมาห้องเราพร้อมสมุดจดหนึ่งเล่ม ดินสอหนึ่งด้าม ดิคชันนารีภาษาอังกฤษ-เซอร์เบียน และพาย “บูเรค” – อาหารประจำคาบสมุทรบอลข่าน – ระหว่างสาธิต เราพยายามอธิบายเป็นภาษาอังกฤษช้าๆ เวลาใช้ศัพท์เทคนิค เราเปิดดิคฯ ให้คุณยายดูว่าภาษาเซอร์เบียนควรเป็นคำว่าอะไร คุณยายเป็นนักเรียนชั้นยอด แกจดทุกอย่างที่เราพูด และถามเมื่อไม่เข้าใจ เมื่อสาธิตเสร็จ คุณยายอ่านทวนสูตรที่แกจดให้เราฟัง เพื่อตรวจสอบว่าแกเข้าใจถูกต้องหรือไม่ จากนั้นแกเอ่ยขอบคุณ และบอกว่าแกอาจมีชีวิตอยู่ไม่นาน ดังนั้นแกดีใจมากที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับอาหารไทยสักครั้งในชีวิต... เราบอกแกว่านี่เป็นครั้งแรกที่เราสอนคนทำกับข้าวเหมือนกัน รู้สึกเป็นเกรียติอย่างยิ่งที่ได้ลูกศิษย์แบบคุณยาย... จากนั้นคุณยายให้สูตรทำพาย “บูเรค” กับเรา พวกเราแลกเปลี่ยนบทสนทนาเกี่ยวกับอาหารประจำชาติตนอยู่นานสองนาน เราไม่ได้ถามเรื่องครอบครัวของคุณยายอีกเลย

การพบปะของหญิงสองตน ต่างวัย ต่างวัฒนธรรม กลายเป็นประสบการณ์ไม่รู้ลืม อย่างน้อยในชีวิตของเรา วันที่เราออกเดินทางจากเบลเกรดคุณยายมอบหนังสือให้เราสองสามเล่ม และชอคโกแลตหนึ่งแท่ง หนึ่งในหนังสือเหล่านั้นคือวารสารข่าว ฉบับที่ตีพิมพ์การแข่งขันปั้นเครื่องเซรามิตที่ปารีส ซึ่งคุณยายดรากานาเป็นผู้ชนะ ส่วนชอคโกแลต ตอนแรกเราไม่แน่ใจว่าเหตุใดคุณยาย รวมถึงเพื่อนคนอื่นในเซอร์เบียจึงระดมให้ชอคโกแลตเรา ก่อนเราออกเดินทาง เราเรียนรู้ภายหลังเมื่อได้รับชอคโกแลตจาก “คนหนึ่ง” ก่อนออกเดินทางว่า อย่างน้อยในวัฒนธรรมเซอร์เบียกับผู้ที่กำลังออกเดินทางไกล เป็นสัญลักษณ์ถึงความรัก และความหวังว่าสักวันเราจะกลับมาเจอกัน... จากเบลเกรด สู่เมลเบริ์น และกลับมาจากยัง “บ้าน” ที่กรุงเทพฯ ทุกวันนี้เราคิดถึงคุณยายเป็นครั้งคราว ทุกครั้งความคิดถึงคละเคล้าความอัศจรรย์ใจในเหตุการณ์ที่ทำให้เราและคุณยายได้พบ จนกลายเป็นเพื่อนกัน บางทีเราตีความไปว่ากุญแจบ้านที่หายไป ไม่ได้หายไปอย่างที่คิด แต่มันคงปักติดกับประตูลี้ลับบางอย่าง และเปิดโลกอีกใบให้เราเห็น แม้โลกใบนี้อยู่ห่างเพียงแค่เอื้อม แต่เราไม่เคยคิดใส่ใจเปิดมัน กุญแจที่หายไปจึงช่วยเปิดประตูแห่งมิตรภาพระหว่างคนแปลกหน้าสองคน ซึ่งอาศัยรั้วเดียวกัน ที่สำคัญ กุญแจเปิดประตูแห่งความ “ใส่ใจ” ให้เราอาทรต่อคนแปลกหน้ามากขึ้น

วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2555

เซอร์เบีย...ไม่ใช่ไซบีเรีย (4): ความวัวหายไปแล้ว ความควายก็หายตาม




ถ้าโลกนี้มีการแข่งโอลิมปิกส์เพื่อชิง “แชมป์” ทำของหาย เราคงเป็นตัวแทนชาติไทยไชโย คว้าเหรียญทองมาสู่อ้อมอกพ่อแม่พี่น้องเฉกเช่นสมรักษ์ คำสิงห์ ตั้งแต่เกิดมา เราทำสมบัติที่บุพการีหามาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรง หรือที่ตัวเองได้มาด้วยหยาดเหงื่อแรงงานหายไปหลายชิ้นอยู่ แต่ไม่เคยคาดคิดว่าความสามารถพิเศษในการทำของหายจะนำพามาซึ่งความ “ชิ้บหาย” หลายครั้งหลายคราตอนทำวิจัยที่เซอร์เบีย และขณะเดินทางในประเทศอื่นๆ ในยุโรป แต่ดูเหมือนทุกครั้งที่บางสิ่งหาย เรากลับ “เจอ” ความหมายของสัมพันธภาพในชีวิตที่เรามักละเลย หรือแสร้งมองไม่เห็น

เมื่อเก็บข้อมูลทำวิทยานิพนธ์ไปได้ครึ่งทาง เราตัดสินใจเดินทางไปข้ามพรมแดนจากเซอร์เบียตอนเหนือไปยังบูดาเปส (ฮังการี), เวียนนา (ออสเตรีย), พัสเซา (ชายแดนเยอรมันนี-ออสเตรีย) และจบที่ปราค (สาธารณรัฐเชค) ตั๋วเดินทางนี้ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการเรียนเลย เป็นตัณหาส่วนตัวล้วนๆ... ก่อนเดินทาง เราสัมภาษณ์คนแบบมาราธอนที่เมืองต่างๆ ทางตอนเหนือของเซอร์เบีย เริ่มจากนอวิ สาด, ซเรมสกา มิตโตรวิทซา และลัดเลาะต่อไปยังเมืองชายแดนเซอร์เบีย-ฮังการี ที่ชื่อว่าซุบโบติซา (คราวหน้าค่อยเล่าถึงการผจญภัยในเมืองออก ตก เหนือ ใต้ ของเซอร์เบีย นี่เป็นมหากาพย์เทียบได้กับ “อลิซในแดนมหัศจรรย์”) ที่ซุบปโบติซาเรามีสัมภาษณ์นักกิจกรรม หรือแอคติวิสต์สองคน บังเอิญว่าคนที่สำคัญ แกดันย้ายไปอยู่เมืองชายแดนของชายแดน ชื่อว่า “คา-นยีชา” ที่เมืองนี้ผู้คนแทบไม่ใช้ภาษาเซอร์โบ-โครเอเชียเลย แต่ใช้ภาษาฮังการีเป็นหลัก เพราะเพิ่งถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของเซอร์เบียเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่สองเท่านั้น การนั่งรถเมล์จากซุบโบติซาไปยังคายนีชา ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณห้าสิบกิโล ถือเป็นความบันเทิงอย่างหนึ่ง...ไม่ใช่ความบันเทิงของเรา แต่เป็นความบันเทิงของพี่เซริ์บและ “มาคย่า” (Magyar - คือคนฮังกาเรียนเค้าเรียกตัวเองด้วยชื่อนี้) คนเหล่านี้ไม่เคยเห็นหญิงชาวเอเชีย ระบุสัญชาติลำบาก แบบตัดสินไม่ได้ว่ามันเป็นเจ็ก ลาว ไทย เกาหลี ญี่ปุ่น หรือเวียดนาม เดินทางอย่างบ้าบิ่น โดยสารรถเมล์ท้องถิ่น แบบไม่สนใจขอบเขตความสามารถทางภาษาของตัวเอง...ทุกคนในรถมองเราเหมือนเป็นสัตว์ประหลาด หลุดออกมาจากสวนสัตว์ ณ ดาวบางยี่ขัน พอพูดภาษาเค้าไม่ได้ เราก็ลงรถเลยป้าย เพราะกระเป๋ารถเมล์อาจคิดว่าวลีที่เราพยายามสื่อสาร “โดสเล่ อู คา-นยีชา” (เป็นภาษาเซริ์บไวยกรณ์ผิดเพี้ยน แปลว่า “ลงที่คา-นยีชา”) คงหมายถึง “กูไม่ลงป้ายหน้า” สุดท้ายแล้วมันให้กรูไปลงป้ายสุดท้าย...)

จากคา-นยีชา เรากลับมาค้างโรงแรมที่ซุบโบติซา สำหรับผู้ที่ทึกทักไปว่าโรงแรมโดยทั่วไปน่ามีสามัญสำนึกแยกระหว่างห้องสูบบุหรี่และไม่สูบบุหรี่ ควรสำเหนียกว่าสามัญสำนึกของท่านผิด ในเซอร์เบียมาตรการดังกล่าวเป็นธรรมเนียมต่างด้าว เราเข้าพักในโรงแรมจำนวนหนึ่งในเซอร์เบีย ทุกครั้งต้องนอนดมกลิ่นบุหรี่ เสมือนเป็นน้ำหอมประจำห้อง แม้คิดว่าชินชาแล้ว ที่ในโรงแรมที่ซุบโบติชา เป็นขั้น “เหนือเทพ” ของโรงแรมไร้สามัญสำนึก ตลอดคืนที่นอน รู้สึกเหมือนอีห้องข้างๆ ติดท่อดูดควันบุหรี่มาที่ห้องเราด้วย เราขอเปลี่ยนห้องก็แล้ว แจ้งพนักงานก็แล้ว (พนักงานทำหน้าประหลับประเหลือกเหมือนกำลังด่าในใจว่า “แค่ควันบุหรี่ ทำไมดัดจริตทนไม่ได้”) ไม่สัมฤทธิ์ผล เหมือนท่อดูดควันนั้นตามมาทุกชาติไป สุดท้ายต้องพยายามอดทนนอนและคิดในใจว่า “เอาน่ามะเร็งปอด ไม่ใช่เอดส์” ...ก็แม่สอนให้มองโลกในแง่ดี

ตื่นเช้ามารู้สึกเหมือนถูกพิษนางพญาบุหรี่ไร้เงา มึนงง ปวดหัว และหงุดหงิดหงุมหงิม กัดฟันไปท่ารถเมล์เพื่อเดินทางไปบูดาเปส พยายามจินตนาการภาพปราสาทราชวังอลังการ และการเดินทางพักผ่อนอันน่าตื่นเต้น หลังจากเหน็ดเหนื่อยจากวิจัยภาคสนามมาเกือบสองเดือน... ฉไนเราจะล่วงรู้ได้ว่า ความคาดหวังเช่นนั้นคือการประมาทความซุ่มซ่าม นิสัยเลินเล่อชอบทำของหายของตัวเอง
อยู่บูดาเปสสองสามวัน ต่อรถบัสไปเวียนนา เหตุการณ์ทั่วไปดูเหมือนราบเรียบ (เว้นแต่โดนโรคจิตเดินตามที่เวียนนา) จากนั้นนั่งรถไฟไปเยี่ยมเพื่อนสมัยป.ตรีที่รัฐศาสตร์ และตอนนี้เรียนป.เอกอยู่พาสเซา เยอรมัน เพื่อนเลี้ยงดูปูเสื่ออย่างดี จนวางใจไปว่า เอาหล่ะการเดินทางครั้งนี้ไม่น่ามีอะไรผิดพลาด สัตว์ประหลาดแห่งความโชคร้ายคงไม่โผล่มา ทว่า “ความประมาทอยู่ไหน ความซวยอยู่ที่นั่น” พระท่านว่าไว้ (...ทำนองนี้มั้ง?) จุดหมายสุดท้ายของการเดินทางคือ “ปราค” นครหลวงแห่งสาธารณรัฐเชค วันที่ไปถึงเป็นวันแดดจ้า อากาศดีผิดปกติจากวันฟ้าทะมึนโดยทั่วไปของฤดูใบไม้ร่วง เราเพลิดเพลินกับการถ่ายรูปสถานที่สำคัญต่างๆ เช่น Wenceslas Square (จตุรัสสำคัญทางประวัติศาสตร์ เป็นเสมือน “ตลาด” การปฏิวัติของประเทศ เพราะพี่เชคมักรวมรวมตัว ณ จตุรัสแห่งนี้เพื่อต่อต้านผู้ปกครอง หรือกองกำลังต่างชาติที่เข้ายึดครองเมืองของตน โดยเฉพาะช่วงสงครามมเย็นที่สหภาพโซเวียตเข้ายึดครองเชคโกสโลวัคเกีย) และหอนาฬิกาเมือง รวมถึงโรงละครเก่าแก่ ซึ่งเป็นทั้งที่ทำงาน และฐานวางยุทธศาสตร์ของวาสคลาฟ ฮาเวล ศิลปินผู้เขียนบทละครเวที และช่วยรอยต่อสงครามเย็นได้กลายเป็นผู้นำชาวเชคโค่นล้มจักรวรรดิโซเวียตในประเทศตน

วันแรกผ่านไปอย่างไร้ความซวย พอถึงวันที่สอง อากาศสดใสเช่นเดิม ราวกับพระเจ้ากำลังใช้กลลวงล่อให้มนุษย์ซุ่มซ่ามอย่างเราตายใจ... เราเดินไปในย่านเมืองเก่า (Old Town) ซึ่งมีงานเทศกาลอาหารนานาชาติ ตามประสาคนชอบผจญภัยไปกับการดื่มกิน ลิ้มรสอาหารชาติพันธุ์ต่างๆ งานนี้ถือเป็นที่ละลานตา จันจิราจึถือโอกาส “เดินไปชิมไป” สุดท้ายได้ “กูลาช” ซึ่งเป็นอาหารแห่งชาติของผู้คนแถวยุโรปตะวันออก (เทียบได้กับส้มตำในบ้านเฮา) มาให้ลิ้นได้ลิ้มลอง จากร้านขายกูลาช กลิ่นไส้กรอกและขาหมูย่างเตะจมูก เชื้อชวนให้เดินมายังร้านที่มีผู้คนต่อแถวแน่นขนัด มีหรือที่มนุษย์ผู้คลั่งไคล้อาหารต่างชาติอย่างเราจะย่อท้อ เราตรงปรี่เข้าไปต่อแถวทันที พอใกล้ถึงคิวสั่งไว้กรอก เราควักกระเป๋าเงินออกมาเพื่อหาเศษเหรียญยูโร จากนั้นเก็บกระเป๋าเงินเข้าไปในกระเป๋าสะพาย พอถึงคิว เจ๊คนขายบอกว่าราคาไส้กรอกอันเป็นที่ต้องการนั้นราคามากกว่าจำนวนเงินที่เตรียมไว้ เราควานหากระเป๋าเงินในกระเป๋าสะพาย ควานอยู่สองสามนาที จนเจ๊ขายไส้กรอก เริ่มหมั่นไส้ เรามิได้สนใจ ควานหากระเป๋าเงินต่อไป... “ฉิบหาย” อันที่จริงต้องอุทานว่า “เงินหายมากกว่า” ...หายไปเลย ทั้งกระเป๋าเงินและ “ใจ” ช่วงสามวินาทีแรกสมองตื้อ ไม่แน่ใจว่าจะทำยังไงกับชีวิตต่อไป สามวินาทีถัดมา เจ้าความคิดแผลงๆ ผุดขึ้น “เฮ้ย กระเป๋าตังค์หายนี่เป็นหลักไมล์ของนักเดินทางผจญภัยนี่หว่า” ...ไม่เจียมตัวจริงๆ
โชคดีที่ชาวบ้านแถวนั้นสงสารเจ๊กตาดำๆ เลยช่วยควาญหากระเป๋าตามพื้น ความใจดีมีอายุได้สามวินาทีครึ่ง ผู้คนจริงสรุปว่าเราโดนล้วงกระเป๋าแน่ๆ ถ้าเป็นอย่างนั้น อย่าพยายามหามันเลย เพราะไม่มีทางเจอ เจ๊ร้านขายไส้กรอกมีระดับความใจดีมากกว่า “เชคมุง” นิดหน่อย เสนอไส้กรอกสองอันมาให้กินฟรี ผู้หญิงอีกคนที่ยืนข้างๆ เห็นหน้าเราเหมือนก้ำกึ่งระหว่างจะร้องไห้และตะโกนด่าพวก “เชคมุง” เลยอาสาพาเราไปสถานีตำรวจ เพื่อแจ้งความ




ชาวไทยทั่วไปที่มาเที่ยวเชคคงหวังเห็นปราสาท ราชวัง หรือตักตวงบรรยากาส “โรกะติก” กับคนรัก ทว่าเรามิเคยเป็นหนึ่งในคนธรรมดาเหล่านั้น ฉะนั้นมีหรือที่เราสามารถท่องเที่ยวแบบสามัญได้ ในสถานการณ์คับขันเช่นนี้ เราถือโอกาอันดีเข้าเยี่ยมชมสถานีตำรวจแห่งนครหลวงปราค สิ่งหนึ่งที่คนไทยอย่างเราควรเรียนรู้เกี่ยวกับสถานีตำรวจเชคคือ ระบบราชการอันเป็นมรดกจากระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ฉะนั้นอย่าได้หวังว่าเจ้าหน้าที่จะใจดีสงสารนักท่องเที่ยวต่างชาติผู้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรในประเทศตน และอย่าหวังว่าการแจ้งความจะช่วยคลี่คลายคดีความ หรือเอื้อให้กระเป๋าที่หายไปกลับมาหาเจ้าของมันได้ถูกทาง... ระบบราชการตำรวจแบบสืบทอดจากระบอบคอมนิวนิสต์คือราชการซึ่งมีหน้าที่ “บันทึก”...บันทึกประวัติศาสตร์ความเดือดร้อนของประชาชน การบันทึกช่วยให้เราจำอะไรได้ง่ายขึ้น ไม่หลงลืมว่าเกิดภัยพิบัติอะไรในอดีต แต่การบันทึกต่างการบรรเทาภัยอาชญากรรมซึ่งเป็นหน้าที่พื้นฐานของตำรวจ ข่าวดีสำหรับประชากรชาวไทยคือ แม้เราจะอ้างว่าพี่ไทยเป็นประชาธิปไตย (แบบอณุญาติให้ทหารนำรัฐประหารบ้างเป็นครั้งคราว) แต่ระบบราชการเช่นนี้อยู่คู่แผ่นดินไทยมาตั้งแต่ปู่ย่าตาทวดจำความได้ ดังนั้นชาวไทยอย่างเราเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์เผชิญหน้ากับตำรวจเชค จึงได้โอกาสใช้ทักษะพิเศษ “ทึกทน” กับราชการตำรวจซึ่งฝึกปรือมาจากสังคมไทยให้เป็นประโยชน์

เจ้าหน้าที่เพียงคนเดียวในสถานีตำรวจเมืองเก่าปราคที่สื่อสารภาษาอังกฤษได้ เป็นผู้หญิง หน้าตาคล้ายแม่ไจแอนท์ ในการ์ตูนโดราเอมอน แม่ไจแอนท์...เอ้ยเจ้าพนักงานหญิงถามว่ากระเป๋าตังค์เราอันตรธารไปได้อย่างไร หลังจากเราเล่ารายเอียดให้ฟัง เจ๊แกมองหน้าเราสักพักด้วยความสมเพช ปนสมน้ำหน้า แล้วแหกปาก น้ำลายกระเด็นใส่ตาข้างซ้ายเราว่า “ยูโง่รึเปล่าเนี่ย ที่ทำกระเป๋าเงินหายแบบนั้นได้” ...น่าน... เป็นบาปกรรมของกรูเองที่ดันมาแจ้งความ น่าจะให้มันหายรู้แล้วรู้แรดไป

เราทัศนศึกษาที่สถานตำรวจอยู่นานถึงสี่ช่วงโมง เวลาส่วนมากใช้ไปกับการรอ...รอ...และรอ และเล่าเรื่องช้ำซาก กรอกเอกสารเดิมๆ เป็นขั้นตอนอันคุ้นเคย ชาวไทยอย่างเราฝึกวิทยายุทธเช่นนี้มาอย่างดี มีหรือจะคณากับสี่ชั่วโมงที่หายไปในวันอากาศดี ซึ่งควรใช้ไปกับการท่องเที่ยวในเมืองประวัติศาสตร์แห่งนี้... ไม่เลย ไม่เสียดาย ไม่เสียใจ แค่เกือบเสียสติ

โชคดีที่เราจ่ายค่าที่พักและค่าตั๋วรถไฟเดินทางกลับเบลเกรดเพื่อเก็บข้อมูลวิจัยต่อไปแล้ว และโชคดีที่เรากลับเบลเกรดวันรุ่งขึ้น ดังนั้นจึงไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรมาก โรงแรมที่อยู่มีอาหารเช้าให้ ส่วนกูลาชซึ่งเป็น the last supper ก็อยู่ท้องได้จากกลางวันจนถึงเย็น (อืม ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าอิ่มกูลาช หรือเอือมกับหน้าเจ๊เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เราทนอยู่ด้วยถึงสี่ชั่วโมง) เราติดต่อทางบ้านให้โอนเงินสดฉุกเฉินมาให้ ซึ่งจะได้วันรุ่งขึ้น ดูเหมือนเราแก้วิกฤตได้ระดับหนึ่ง แต่กระเป๋าตังค์ที่หายไปเป็นดั่งตัวแทน “ความมั่นคง” ของคนเดินทางต่างถิ่นอย่างเรา กระเป๋าตังค์หายจึงมากกว่าเงินหาย แต่ความรู้สึกมั่นใจกับอนาคตข้างหน้า ความเชื่อใจกับคนแปลกหน้ารอบข้าง ก็หายไปด้วย... แม้สติปัญญา (ที่เหลืออยู่บ้าง) จะพยายามคิดหาหนทางใช้ชีวิตในเบลเกรด และทำงานวิจัยต่อให้ได้ ระหว่างที่รอให้ธนาคารทางออสเตรเลียส่งบัตรเครดิตที่หายไปมาให้ใหม่ เราไม่ใจว่า “อาการใจหาย” จะรักษาได้ด้วยสติปัญญา

หลังจากกระเป๋าเงินหายที่ปราค เราต้องแก้ปัญหาอีกจำนวนมากที่ตามมากจากเอกสารที่หายไปกับกระเป๋าเงิน เรากลายเป็น “ผู้ขาดทุนทรัพย์” อย่างเป็นทางการ แม้เป็นเวลาชั่วคราวก็ตาม ช่วงสองสามวันแรกที่กลับไปถึงเบลเกรด แทบไม่มีเงินเลย บางวันต้องอดมื้อกินมื้อ ท่ามกลางความลำบากทางกาย และไม่สบายใจเหล่านี้ เราเรียนรู้ถึงความหมายของ “ความไม่มี” เป็นครั้งแรกในชีวิต แม้ที่บ้านเราไม่ได้ร่ำรวย แต่ตั้งแต่เกิดมาพ่อแม่ไม่เคยปล่อยให้เราไม่มีแม้เงินแดงเดียวเพื่อดำรงชีวิต หรือยอมให้เราไม่มีอาหารตกถึงท้อง ที่สำคัญกว่าความเข้าใจถึง “ความไม่มี” คือเรารู้ซึ้งถึงมิตรภาพของเพื่อนที่ค่อยเป็นห่วงเป็นใย และให้คำปรึกษาอันชาญฉลาดในยามวิกฤต เพื่อนนักศึกษาปริญญาเอกชาวออสซี่คนหนึ่ง ที่ตอนนี้กลายเป็นเพื่อนคู่ทุกข์ยาก ส่งกำลังใจมาให้เสมอและคอยถามไถ่ถึงสถานการณ์วิกฤตของเราว่าคลี่คลายไปได้มากน้อยเพียงใด ทั้งยังช่วยหาทางเคลมประกันกับทางมหาลัยเพื่อให้เราได้รับเงินชดเชยเท่ากับจำนวนเงินที่หายไปกับกระเป๋าสตางค์ อาจารย์ผู้เป็นดั่งบุพการีในเมืองไทยถึงกับเอ่ยปากเสนอโอนเงินให้เราใช้จ่ายระหว่างรอบัตรเครดิต เพื่อนผู้ซึ่งรู้จักกันเพียงไม่กี่เดือนในเบลเกรดอาสาขับรถพาเราไปสัมภาษณ์คนในที่ต่างๆ โดยออกค่าน้ำมันให้ และบางครั้งเลี้ยงอาหารเรา ที่สำคัญที่สุดคือคนในครอบครัวเรา ทั้งพ่อแม่และน้องสาวที่พยายามทุกวิถีทางเพื่อโอนเงินให้เรา มายังประเทศที่พวกเขาไม่แน่ใจกระทั่งว่าตั้งอยู่ตำแหน่งแห่งหนใดของโลกใบนี้

แม้กระเป๋าเงินหาย เราได้ค้นพบความหมายของสัมพันธภาพของผู้คนในชีวิตเรา หลายคราเราแสร้างว่าความสัมพันธ์เป็นเหล่านี้เป็น “given” คือมันอยู่ตรงนั้น นานวันจนเรามองไม่เป็นคุณค่าของมัน หรือไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันมีตัวตน เราใช้ชีวิตกับคนใกล้ชิดแต่ละวันโดยไม่สะท้านว่า ที่เราดำรงชีวิตอยู่ได้เพราะมีสายใยโอบอุ้ม มีผู้คนจำนวนหนึ่งเสียสละส่วนเสี้ยวของชีวิต (ในกรณีพ่อแม่ อาจเป็นเกือบทั้งหมดของชีวิต) เพื่อให้เราได้ทำในสิ่งที่ต้องการ และเดินทางในผจญภัยในเส้นทางแห่งความฝันได้ อาจเปรียบได้ว่าสายใยแห่งความสัมพันธ์เหล่านี้คืออาภรณ์อันเหมาะสมต่อการเดินทาง รองเท้าที่ใส่สบายเพื่อให้เดินทางไกลได้ ทั้งในยามแข้งขาอ่อนแรง ยังเป็นไม้เท้าค้ำจุน ประคองให้สองขาเดินต่อไป และเมื่อฝนตกลมแรง สัมพันธภาพในชีวิตเป็นเสมือนเสื้อกันฝน หรือกระทั่งศาลาริมทาง ปกป้องและเป็นที่พักให้เราจนกว่าฝนหยุด ท้องฟ้าเอื้อต่อการเดินทางอีกครั้ง หากไร้ซึ่งสายสัมพันธ์ในชีวิตเหล่านี้ นักเดินทาง ผู้เห็นอิสรภาพและความสันโดษเป็นหลักชัยในชีวิต คงมิอาจเดินทางถึงจุดหมาย ให้ผู้คนสถาปนาตนเป็นนักเดินทางที่แท้จริงได้
เรื่องราวความวัวหาย ความควายก็หายจะไม่จบเท่านี้ ความซุ่มซ่ามและความซวยไม่เคยปราณีคนอย่างเราอยู่แล้ว... โปรดติดตามตอนต่อไป