วันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เซอร์เบีย...ไม่ใช่ไซบีเรีย (3): เซริ์บ บาร์ยิปซี และความน้อยใจแห่งชาติ

เราเป็นคนตื่นเช้า เข้านอนเร็ว กิจวัตรเช่นนี้เป็นภัยต่อการใช้ชีวิตให้คุ้มค่าในเบลเกรด เพราะ “รุ่งอรุณ” ของคนแถวนี้เริ่มตั้งแต่บ่ายสามเป็นต้นไป และราตรีคือช่วงเวลาที่ผู้คนเริ่มออกเดิมตามท้องถนน พบปะเพื่อนฝูงในคาเฟ่ คนต่างถิ่นอาจแปลกใจที่ชาวเมืองเบลเกรดเริ่มมื้อกลางวันเมื่อนาฬิกาตีบอกเวลาเที่ยงคืนLonely Planet ซึ่งถือเป็น “พระคัมภีร์” ของนักเดินทางประเภทแบกเป้ (คือพวกซาดิตส์ที่ยอมเป็นโรคหลังชำรุดเมื่อชรา) โบกรถเที่ยว ค่ำไหนนอนนั่น จัดอันดับให้เบลเกรดเป็นนครแห่งที่ “ปาร์ตี้” สุดสวิงจิงโก้ อันดับต้นๆ อย่าได้ไปเถียงพระคัมภีร์เชียว เพราะ “บัญญัติ” นี้มีมูลความจริงอยู่ไม่น้อย


สมัยยังเยาว์วัยกว่านี้ เราชอบบรรยากาศร้านเหล้า วงเหล้า ผับ บาร์ (ย้อนแย้งกับนิสัยตื่นเช้ายังไงไม่รู้)... เมื่อตอนเรียนปริญญาโทที่เมืองบริสเบนประเทศออสเตรเลีย ได้เรียนรู้วัฒนธรรมการ “ปาร์ตี้” ของฝรั่งมา ซวยหล่ะคราวนี้ เพราะเมื่อไหร่ที่ว่าง เพื่อนก็ชอบนัดปาร์ตี้ ส่วนเราก็ชอบไปปาร์ตี้ บางอาทิตย์ที่ไม่ต้องทำรายงาน (ซึ่งนับไปมาไม่น่าจะเกินสองอาทิตย์ต่อเทอม!) เคยไปงานปาร์ตี้ติดกันสามงานต่อคืน...บ้าคลั่งมาก แต่เพราะหนึ่งเท้ากับอีกสามนิ้วเท้าของอีกข้างพาตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกวิชาการ เราจึงอดไม่ได้ที่จะ “theorise” วัฒนธรรมการไปปาร์ตี้ ไม่ว่าจะเป็นตามบ้าน ตามร้านอาหาร หรือตามผับบาร์ เช่น ในผับเมืองไทย “pub goers” จะชอบเกาะกันเป็นฝูง ยืนอิเหระเขะขะ อยู่รอบโต๊ะตัวน้อยนิด พื้นที่จำกัด ไม่มีใครอยากมีปฏิสัมพันธ์กับโต๊ะอื่นเท่าไหร่ (ยกเว้นตอนไปขอเบอร์หนุ่ม/สาวโต๊ะข้างๆ) ไม่ต้องพูดถึงว่าหน้าไหนกล้ามาผับคนเดียว แบบดื่มเอง เต้นเอง มันส์เอง ที่เป็นเช่นนี้เพราะสังคมไทยได้รับอิทธิพล “วัฒนธรรมฝูง” อยูไม่น้อย (หรือจะเรียก “โขลง” ก็ได้ เพื่อให้สอดรับกับนโยบายส่งเสริมวัฒนนธรรมไทย
ของกระทรวงวัฒนธรรม) ฉะนั้นยังขาดการปลูกฝังความมั่นใจแบบดื่มเอง เต้นเอง มันส์เอง ขณะที่ในหมู่ฝรั่งมังคุด ความมั่นใจเช่นนี้พัฒนาถึงขั้นที่ผู้คนสามารถไปนั่ง “กึ่ม” เพียงลำพังได้ หรือหากยังขโยงไปกับกลุ่มเพื่อน พอถึงผับ กลุ่มมักไม่เกาะแน่นเหมือนพี่ไทย คนส่วนใหญ่ยืนถือเบียร์หนึ่งขวด แล้วเมาส์กับคนทั่งผับ (ยังดีที่ไม่เข้าไปในครัว คุยกับพนักงานล้างจาน) นี่อาจสะท้อนวัฒนธรรม “ปัจเจก” ของฝรั่งฝั่งตะวันตก

แล้วที่เบลเกรด นครหลวงแห่งเซอร์เบียหล่ะ? เราคิดว่าผับบาร์เป็นที่ระบายความอัดอั้น น้อยเนื้อต่ำใจทางวัฒนธรรมของชาวเซอร์เบียน ผู้อาศัยที่ประเทศที่รายล้อมไปด้วยประเทศพัฒนา มี “ศิวิไลซ์” ในทวีปยุโรป

แต่ก่อนอื่น เราควรรู้ว่าผับบาร์ในเซอร์เบียมีหลายประเภท ประเภทที่เปิดตอนกลางวันคือ “คาเฟ่” ซึ่งมิได้ขายเฉพาะกาแฟเท่านั้น แต่รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นานาชนิดด้วย หรือทั้งกาแฟและสุราผสมกันไปเลย บางคนมานั่งที่คาเฟ่แต่เช้า ที่เห็นนั่งจิบกาแฟ ก็อาจเป็นภาพลวงตา เพราะนั่นอาจเป็นการร่ำสุราควบคู่อาหารเช้า พอบ่ายคล้อย ที่คาเฟ่เริ่มมีผู้คนนั่งจิบเบียร์ สูบบุหรี่... เหนือคาเฟ่ ยังมี “คาฟาน่า” คาฟาน่าคือบาร์โบราณ จุดเด่นสำคัญคือวงดนตรียิปซี โดยมากมีนักดนตรีสองหรือสามคน (ทรัมเปต อคอร์เดียน และบางทีมีเชลโลผุๆ อีกตัว) และนักร้องหนึ่งหรือสองคน เล่นประโลมใจนักดื่ม เมื่อมีดนตรี ก็ต้องมีคนเต้น หากคุณอยู่ในคาฟาน่า แล้วทำตัวไม่เข้าพวกเต้นท่ามาดอนนา อาจถือเป็นตราบาป เพราะท่าเต้นที่ถูกต้อง คือการจับมือเป็นวงกลม สะบัดขาตามเสต็ปพื้นบ้าน (ขอสารภาพว่าทุกวันนี้ก็ยังเต้นไม่ได้) ซึ่งทำให้วงกลมนั้นหมุนไปมา เหมือนที่วางอาหารแบบหมุนได้ในร้านอาหารจีน ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อมีดนตรี และคนเต้น ย่อมต้องมีคนร้อง แต่ที่คาฟาน่า ผู้คนร้องเพลงแบบไม่กลัวขายหน้า คือขอใช้คำว่า “แหกปากประสานเสียง” เลยดีกว่า เท่านั้นไม่สะใจพอ คนร้องต้องทำคล้ายพี่อี๊ด วงฟลาย (ขออภัยผู้อ่านที่เกิดไม่ทัน หรือท่านที่เกิดสมัยสุรชัย สมบัติเจริญโด่งดัง) คือร้องแล้วเอามือตะกายฟ้า เหมือนวิญญาณกำลังลอยล่องออกจากร่าง แล้วต้องถ่างมือ เรียกมันกลับมา คนในร้านคาฟาน่าเหมือนถูกสะกดจิตด้วยมนตราแห่งดนตรียิปซี




ผับอีกแบบ พวกเราคงรู้จักดี คือผับสมัยใหม่ ที่คนไปดื่ม เต้นยักแย่ยักหยั่น แบบไร้สเต็ป สิ่งที่น่าสนใจสำหรับผับแบบนี้ในเซอร์เบียคือเวลาเปิดปิด เนื่องจากบ้านเรามีมาตรการคุมเวลา ดังนั้นผับส่วนมากเปิดหัววัน ประมาณหนึ่งหรือสองทุ่ม และปิดประมาณตีหนึ่ง ที่เซอร์เบีย ถ้ายังไม่เที่ยงคืนอย่าได้ไปหาผับที่ไหน อย่างมากก็ไปนั่งเตรียมตัวเมาที่คาเฟ่ หรือคาฟาน่าก่อน ผับบาร์เปิดหลังเที่ยงคืน ปิดหกโมงเช้า และเราพบว่าผู้คนไม่ได้ไปผับเฉพาะคืนศุกร์เสาร์เท่านั้น (เหมือนพวกฝรั่ง) แต่สามารถไปได้ทุกวัน...แม่เจ้า...นี่คือวัฒนธรรมเที่ยวผับแห่งชาติจริงๆ ตอนวันเกิดเรา แกงค์เพื่อนสาวชาวอินโดนีเซียน พยายามพาท่องราตรี เพื่อให้เราเล่าสู่ลูกหลานไทยในอนาคตได้ว่า “กรูมาเบลเกรดแล้วจริงๆ” พวกเรานัดกันสามทุ่ม คิดว่าสายแล้ว ผับน่าจะเปิด ปรากฏว่าทุกที่ แม้แต่พนักงานเปิดประตูยังไม่มาเลย! อย่ากระนั้นเลย เราเริ่มตั้งวงมันจากคาเฟ่กินกาแฟผสมสุราพลางๆ ไปก่อน พอสี่ทุ่มก็เปลี่ยนไปคลับละติน (คือคนที่มาเป็นนักเต้นละตินจังหวะซัลซ่า ก็มีพวกเราหัวดำเนี่ยหล่ะ ที่นั่งดูตาสลอน เพราะรำวงเป็นอย่างเดียว ซัลซ่าบ่ได้) พอเที่ยงคืนเราถึงไปเริ่มต้นไปผับของแท้ สถานที่ตั้งผับในเบลเกรดยิ่งน่าสนใจกว่าเวลาปิดเปิด เพราะผับจำนวนมากเป็นเพียงห้องเช่า อยู่ในอาคารที่ดูภายนอกแล้วเหมือนโรงเรียนกวดวิชาแถวสยาม เพียงแง้มประตูเข้า ก็เหมือนโลกอีกใบ (เว่อร์นะ) มีบาร์เหล้า แสงไฟสลัว เวทีนักดนตรี ลานตรงกลางสำหรับนักเต้น ผับที่ใหญ่จำนวนมาก อยู่ไกลจากศูนย์กลางเมือง (city center) แต่ผู้คนก็ไม่ย่นย่อถ่อกันมา ผับใหญ่ก็แน่นขนัด

พวกเราก็เบียดเข้าไป เดินมันอยู่รอบผับจนครบสามรอบ และเราเริ่มเคลิ้มไปว่า ฤข้ากำลังเดินเวียนเทียน ก็ยังไม่เจอแม้แต่พื้นที่ 0.4 ตารางเมตรที่จะให้หัวแม่โป้งหยัดยืนกับพื้นพสุธาได้ ในที่สุดพวกเราต้องอาศัยไปยืนเบียดกับบาร์เทนเดอร์ จนทำเค้ารำคาญ แต่ด่าอะไรไม่ออก เพราะภาษาปะกิตอ่อนแอ หรือพูดอีกอย่าง คือเค้าด่าเป็นภาษาท้องถิ่น แต่เราตั้งใจเข้าใจเป็นอังกฤษผิดแกรมม่า
แม้ว่าวัฒนธรรมเที่ยวผับบางประการอาจต่าง แต่บนความต่างย่อมมีความเหมือน สาวๆ ขาแดนซ์นุ่งน้อยห่มน้อยเหมือนสาวไทย แต่ “สมบัติแห่งชาติ” เค้ามีเยอะกว่า อันนี้สาวไทยสู้ไม่ได้จริงๆ เว้นแต่จะไปยัญฮี สิ่งหนึ่งที่เราไม่เคยเข้าใจสตรีนักเที่ยวในเมืองหนาว ทั้งในเบลเกรด และในเมลเบริ์นที่เราใช้ชีวิตอยู่สองสามปี คืออากาศข้างนอกหนาวมาก ดิชั้นใช้เสื้อผ้าสี่ชั้น บวกหมวก ถุงมือ บู๊ต ยังไม่หายหนาว แต่บรรดาสาวเหล่านี้ สามารถใส่เกาะอก กระโปรงสั้นกุดได้!!! และที่แย่ไปกว่านั้นขึ้นรองเท้าส้นจิก...เจ๊คะ คือแค่พวกเจ๊ใส่สายเดี่ยว เสื้อซีธรู ท่ามกลางอุณภูมิติดลบ หิมะตกโครมคราม ดิชั้นก็ซูฮกให้เป็นซูสีแล้ว ยังใส่ส้นจิกให้มันทรมานส้นทีนอีก...ถือว่ามีจิตวิญญาณนักเที่ยวขั้นอรหันต์ นับถือๆ

ถ้าเราคิดถึงผับเหล่านี้ในฐานะพื้นที่ทางวัฒนธรรม เราเห็นอะไร? คล้ายกับเทศกาล งานรื่นเริง หรือคาลนิวาล ผับทำหน้าที่เป็นพื้นที่ “ต่อต้านโครงสร้าง” (anti-structure) เรียกแบบลงจากหอคอยงาช้าง คือในผับ ผู้คนทำตัวต่อต้านสังคมได้ เช่นคนมีความรู้ มีอาชีพเป็นที่นับหน้าถือตา เมื่อเที่ยวผับ อาจกลายเป็นคนละคน แต่ก็ไม่มีใครถือสา เพราะผับเป็นพื้นที่ยกเว้นความคาดหวังต่อบทบาททางสังคม (แต่ถ้าต่อยกันในผับ ก็เป็นอีกเรื่อง) ในกรุงเทพฯ คนจำนวนมากมาผับเพื่อเกี้ยวพาราสีโดยเฉพาะ เพราะในพื้นที่ผับ ไม่ต้องการพิธีรีตองในการจีบมาก มองตา เลี้ยงเหล้าสักแก้ว เต้นกันคลอเคลีย จากนั้นก็แลกเบอร์ (หรืออาจตามมาด้วยกิจกรรมอื่นๆ...) ขณะที่เมื่ออยู่นอกพื้นที่ผับ พฤติกรรมเช่นนี้อาจไม่สำเร็จผลดังหวังเสมอไป กฏเกณฑ์ที่กำกับการเกี้ยวพาราสีเป็นอีกแบบ

ในเซอร์เบีย ผับเป็นพื้นที่ปลดเปลื้องอารมณ์ “น้อยใจแห่งชาติ” เซอร์เบียเป็นประเทศที่ถูกรายล้อมไปด้วยชาติยุโรป “ศิวิไลซ์” ทางเหนือเป็นออสเตรีย ตะวันตกเป็นเยอรมัน ไล่ไปถึงฝรั่งเศส หรือตะวันออกเฉียงเหนือเป็นประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ในทางประวัติศาสตร์ ชาวเซริ์บตกเป็นเมืองขึ้นของจักรวรรดิออตโตมัน (ตุรกีในปัจจุบัน) ราวหกร้อยปี จากนั้นถูกครอบครองโดยจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และนาซีเยอรมันระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อรัฐชาติยุโรปพัฒนาให้เป็นสมัยใหม่ เซอร์เบียซึ่งเพิ่งหลุดออกจากฐานะเบี้ยล่างมหาอำนาจ ก็พบว่าตน “ด้อยพัฒนา” เมื่อเทียบกับประเทศเหล่านี้ ผลทางวัฒนธรรมการเมืองคือผู้คนในเซอร์เบีย รวมถึงชาติอื่นๆ ในคาบสมุทรบอลข่านซึ่งตกเป็นอาณานิคมจักรวัติออตโตมันมายาวนานเช่นกัน (อย่างมาเซโดเนีย บอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา อัลแบเนีย บุลกาเรีย และโรมาเนีย) มองไปที่ยุโรปตะวันตก และอยากศิวิไลซ์เช่นนั้นบ้าง ในภาษาเซอร์โบ-โครเอเชีย ศัพท์คำว่า “ฟีนี ลูดิ” (น่าจะแปลเป็นไทยว่า “ผู้ดี”) สะท้อนความ “อยาก” ทางวัฒนธรรมเช่นนี้ คนในเมืองส่วนมากเห็นว่าตนเป็น “ผู้ดี” ส่วนพวกชาวนาบ้านนอกเป็นพวกด้อยความเป็นยุโรป ทว่าอันที่จริง เซอร์เบียพัฒนาระบบเมืองล้าหลังกว่าประเทศอื่นๆ ในยุโรปตะวันตกมาก ฉะนั้นผู้ที่สถาปนาตนเป็น “ผู้ดี” จึงเพิ่งสลัดคราบ “บ้านนอก” มาสดๆ ร้อนๆ ทั้งยังมีญาติพี่น้องเกือบทั้งตระกูลตั้งรกรากในพื้นที่ที่ตนดูแคลนว่าไม่ศิวิไลซ์เอาซะเลย วัฒนธรรมผู้ดีแบบบกพร่องเช่นนี้ยังถูกเชื่อมโยงกับ “ยิปซี” หรือ “โรมา” ซึ่งเป็นชนชาติ “พเนจร” ในยุโรป และเป็นที่รังเกียจเดียดฉันท์โดยชนส่วนใหญ่ในสังคมนนั้นๆ ว่าเป็นพวกด้อย ของความด้อย ของความด้อยทางวัฒนธรรม



ในเซอร์เบียความรังเกียจยิปซีสิ้นสุดใน “คาฟาน่า” บาร์ประเภทนี้อาศัยดนตรียิปซีเป็นหลัก ปรากฏว่าผู้คนจำนวนมากดั้นด้นมาจากแดนไกล เดินทางฝ่าถนนลูกรังเข้าไปในหมู่บ้านเล็กๆ เพื่อฟังวงดนตรียิปซีชื่อดังในคาฟาน่า แม้ในชีวิตประจำวันนอกพื้นที่บาร์ ชาวเซริ์บโดยทั่วไปไม่อยากแม้กระทั่งสนทนาหรือยิ้มให้ยิปซี พฤติกรรมเหล่านี้กลับตาละปัตในคาฟาน่า นักเที่ยวบาร์สำราญไปกับดนตรียิปซี บ้างร้องเพลงแบบซึ้งถึงอกถึงใจ บ้างให้ทิปนักดนตรียกใหญ่ บ้างกอดคอร้องไห้ไปกับยิปซี นักเที่ยวเหล่านี้เข้าถึง “จิตใจ” ของยิปซีเป็นอย่างดี เพราะเพลงยิปซีจำนวนมากรำพันถึงชีวิตอันแสนเศร้า (แย้งกับทำนองดนตรีที่คึกคักเร้าใจ) ต้องทนถูกเหยีดยามจากผู้คนในสังคมที่ตนพักพิงว่าเป็นชนชาติไร้ซึ้งพัฒนาการทางวัฒนธรรม คำร้องเช่นนี้กินใจชาวเซริ์บนักเที่ยว เพราะพวกเขาได้ตัดพ้อโชคชะตา และระบาย “อาการน้อยใจแห่งชาติ” ผ่านเพลง กล่าวอีกอย่างได้ว่า ดนตรียิปซีเป็นร่างทรงให้ชาวเชริ์บได้ปลดเปลื้องอาภรณ์ “ผู้ดี” ที่ตนสวมใส่ เมื่อยามอยู่นอกพื้นที่บาร์คาฟาน่า ในสถานเริงรมย์เช่นนี้ ไม่มีใครเรียกร้องให้ต้อง “ศิวิไลซ์” และ “ความป่าเถื่อน” (เช่น การร้องเพลงแบบ "แหกปากประสานเสียง" เอาขวดเหล้าฟาดโต๊ะ พูดจานักเลงหาเรื่องโต๊ะเพื่อนบ้าน หรือกระทั่งขากลงพื้น) ถือเป็นธรรมเนียม ณ คาฟาน่า บาร์ยิปซีซึ่งเป็นพื้นที่ต่อต้านโครงสร้างในเซอร์เบีย และโครงสร้างที่ว่านี้คืออาภรณ์ "ผู้ดี" ที่ชาวเซริ์บอย่างสวมใส่เป็นชนชาติยุโรปตะวันตกอื่นๆ ทว่าอาภรณ์กลับไม่พอดีกับร่าง สวมแล้วอึดอัด คับข้องใจ ยิ่งทำให้อาการไม่เป็น "ผู้ดี" ชัดแจ้งมากขึ้น

วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เซอร์เบีย...ไม่ใช่ไซบีเรีย (2)

ตรรกะในเมืองของประเทศสังคมนิยม/คอมมิวนิสต์เก่า
วันที่สองที่มาอยู่ที่นี่ เราพยายามออกไปซื้อข้าวของเข้าบ้าน เวลาไปอยู่ต่างแดน “ผังเมือง” และความเป็นเมืองย่อมต่างจากสิ่งที่เราคุ้นชิน อันนี้ก็พอเข้าใจ ตอนไปอเมริกา เกาหลี หรือตอนอยู่ออสเตรเลียใหม่ๆ ก็ต้องทำความเข้าใจ “ความเป็นเมือง” และแผนที่ของเมืองนั้นๆ ก่อนถึงจะรู้ว่าต้องไปซื้ออะไรที่ไหนอย่างไร วัฒนธรรมการกินอยู่ของคนที่นี่เป็นอย่างไร บ้านเมืองมีผังแบบไหน ผู้คนอยู่กันอย่างไร ข้อต่างระหว่างประเทศเหล่านี้กับเซอร์เบียมีอย่างเดียว (ที่จริงมีหลายอย่าง แต่ทุกอย่างมีเหตุผลเบื้องหลังอย่างเดียวกัน...เราว่า) คือเซอร์เบียเป็นประเทศสังคมนิยม/คอมมิวนิสต์เก่า ตั้งแต่เป็นรัฐชาติยูโกสลาเวียตอนหลังสงครามโลกครั้งที่สองก็เป็นสังคมนิยม/คอมมิวนิสต์ (ต่างจากประเทศคอมมิวนิสต์อย่างโซเวียตและจีนคือ ยูโกสลาเวียมีระบบเศรษฐกิจแบบเปิดมากกว่า ผู้คนเดินทางไปไหนมาไหนได้ แม้รัฐไม่ให้เสรีภาพทางการเมืองเต็มใบ เช่นไม่มีการเลือกตั้ง แต่รัฐดูแลแบ่งปันทรัพยากรให้ผู้คน แต่ก็ให้เสรีภาพในการแสดงความเห็นทางการเมืองอยู่บ้าง สถานบันทางวัฒนธรรมมีอิสระในการดำเนินกิจกรรมของตนเอง รวมถึงวิพากษ์รัฐบาลบางครั้ง) เบลเกรดจึงเป็นเมืองหลวงที่ถูกออกแบบมาให้ตรงกับประโยชน์ใช้สอยของระบอบสังคมนิยม/คอมมิวนิสต์ ต่อมาเมื่อ Tito เสียชีวิตเมื่อปลายศตวรรษที่ 1980 เซอร์เบีย หรือยูโกสลาเวียก็ไม่ได้กลายเป็นประเทศประชาธิปไตยที่อ้าแขนรับระบบทุนนิยมเป็นเต็มที่เหมือนประเทศในยุโรปตะวันออกประเทศอื่นๆ ที่เป็นอิสระจากระบอบคอมมิวนิสต์โซเวียตในช่วงเดียวกัน แต่เซอร์เบียนั่งไทม์แมชชีนกลับไปยังประวัติศาสตร์ (ปั้นแต่ง) ชนิดที่เชื่อว่าเซอร์เบียเป็นประเทศของชาว “เซริ์บ” เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น และถูกกระทำโดยชนชาติต่างๆ ที่เช้ามายึดครองดินแดนในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นโรมัน ต่อมาเป็นเตริ์กในช่วงยุคกลางของยุโรป ต่อมาเป็นจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี และช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเป็นนาซีเยอรมันนี ส่วนชนชาติอื่นๆ ที่เอาเข้าจริงอยู่ร่วมกันมา (อย่างโครแอต บอสเนียน หรืออัลเบเนียน) ล้วนแต่เป็นตัวก่อความทุกข์ร้อนให้ชาวเซริ์บทั้งสิ้น เมื่อคิดเช่นนี้ เซอร์เบียในช่วงรอยต่อศตวรรษที่ 1980 ถึง 1990 จึงกลายเป็นประเทศสังคมนิยม (เพราะรัฐบาลที่ขึ้นครองอำนาจคือ สโลโบดาน มิโลเซวิช มาจากพรรคสังคมนิยมเซอร์เบีย – Socialist Party of Serbia, SPS) ที่ค่อนไปทางอำนาจนิยม และอาศัยฐานชาตินิยมเป็นตัวกระตุ้นความสนับสนุนของประชาชนต่อผู้นำ
ถ้าจะให้ร่ายยาวเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองของยูโกสลาเวีย/เซอร์เบียในช่วงทศวรรษที่ 1990 คงต้องใช้หน้ากระดาษจำนวนมาก เอาไว้ค่อยๆ เล่ากันดีกว่า แต่ที่เกริ่นถึงระบอบการเมืองของดินแดนแห่งนี้ก็เพราะว่าวันที่สองที่มาที่นี่ จำไม่ได้ว่าบ้านตัวเองคือหลังไหน สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากเราไม่ได้จำเลขที่บ้าน (ซึ่งไม่แปลกใจ เพราะปกติเป็นคนโก๊ะกังแบบนี้อยู่แล้ว) ที่สาเหตุอีกส่วนมาจากอาคารที่อยู่อาศัยแถวนี้หน้าตาเหมือนกันหมด อารมณ์ตึกแถวบ้านเรา แต่อันนี้เป็นความเหมือนยิ่งว่าฝาแฝดจากไข่ใบเดียวกัน คือเรากำลังเดินออกไปซื้อของ พอเดินไปได้หน่อย จำได้ว่าต้องเอาอะไรบางอย่างไปด้วย เลยเดินกลับไปที่อพาร์ทเมนต์ ที่นี่เพราะจำเลขที่อาคารไม่ได้ เลยอาศัยว่าน่าจะจำลักษณะของอาคารได้ ปรากฏว่าเดินเข้าไปในอาคารนึงที่คิดว่าน่าจะเป็นอพาร์ทเมนต์เรา ปรากฏว่าเดินไปถึงชั้นสาม (ชั้นที่เราอยู่) “เอ๊ะทำไมกุญแจที่มีมันเปิดประตูห้องไม่ได้ (ฟะ)” มองประตูห้องอีกที “เอ๊ะทำไม ไม่คุ้น” ลองเดินขึ้นอีกหน่อย “เอ๊ะ ทำไมมันมีหลายชั้นเกิน ที่จริงอาคารเรามันมีห้าชั้นนี่หน่า” ลองเดินออกไปนอกอาคาร “แมร่งหน้าตาเหมือนกันนี่หว่า” (คือมีป้ายร้านหมอฟัน มีประตูสีขาวๆ บันไดที่เข้าอาคารเหมือนกัน อาคารเป็นทรงเดียวกัน บันไดโค้งเหมือนกัน ลิฟท์ยืนประจำตำแหน่งเดียวกัน ตู้จดหมายหน้าตาเหมือนกัน “แต่ห้องตูหายไปหนายยยยยย” เดินวนอยู่นาน กว่าจะเริ่มเข้าใจว่าอาคารทุกหลัง ไม่ใช่เพียงข้างนอกหน้าตาคล้ายกัน แต่ข้างในยังคล้ายกันด้วย ฉะนั้นถ้าจำเลชอาคารไม่ได้ และมาจากดาวอังคารอย่างอีชั้น ก็จะตกอยู่ในสภาพเจ๊กหลงเมืองเช่นนี้ เดินอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมง เข้าอาคารนู้น ออกอาคารนี้ กว่าจะเจอตึกของตัวเองก็เล่นเอาเมื่อยตาตุ่ม...แต่ก็ยังไม่ได้เอะใจว่าทำไมอาคารทุกหลังถึงเหมือนกันได้ขนาดนี้ คือไม่ใช่แค่เหมือนกันทางกายภาพนะ (การออกแบบ ตกแต่ง...ถ้ามีการตกแต่งจริงๆ) แต่ความรู้สึกเวลาอยู่ในอาคารเหล่านี้ยังเหมือนกันอย่างน่าประหลาด คือเวลาเดินขึ้นบันได รู้สึกมีเมฆดำทะมึนลอยอยู่บนกบาลตามเราไปตลอดบันไดที่ม้วนวน ลิฟท์นี่น่าสนใจที่สุด ให้นึกสภาพลิพท์ในเรือไททานิค (คือมันนึกหนังเรื่องอื่นไม่ออก) ลิพท์แบบสมัยต้นศตวรรษที่ยี่สิบ แบบเพิ่งประดิษฐ์ก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งได้นิดหน่อย เป็นลิพท์เล็กๆ ประตู “อัตโนมือ” เปิดออกมาหนึ่งชั้น แล้วต้องเปิดบานประตูเข้าไปอีกหนึ่งชั้น พื้นที่ในลิพท์จุคนได้อย่างมากก็สองคนครึ่ง แต่ทางที่ดีอย่าพยายามขึ้นไปเกินคนเดียว (และควรเป็นคนเดียวที่มีน้ำหนักตัวไม่เกิน 70 กิโล... เป็นลิพท์ที่กีดกันคนน้ำหนักเกินมาก) เพราะไม่แน่ใจว่ามันจะยกคุณขึ้นไปไหวหรือไม่ พอขึ้นลิพท์ และลิพท์ตัดสินใจแล้วว่ามันยกคุณไหว มันก็จะเคลื่อนตัวไปอย่างช้าๆ (ขอเน้นว่าช้ามากจริงๆ ถ้าใช้ลิพท์แบบนี้กับตึกใบหนก คงมช้เวลายี่สิบสองวันกับสิบแปดชั่วโมง เพื่อไต่ไปให้ถึงยอดตึก) ประตูลิพท์มีหน้าต่างกระจกเล็กๆ ให้เราเห็นกำแพงตึกเก่าๆ และให้เราสำเนียกว่าลิพท์มันเคลื่อนตัวอยู่นะ คือถ้าเป็นลิพท์ใหม่หน่อย (จะว่าใหม่ซะทีเดียวก็ไม่ใช่ เอาเป็นว่าเรียกเป็นลิพท์ที่ผลิตหลังสงครามโลกครั้งที่สองแล้วกัน) ประตูมันก็จะปิดทึบ ไม่ให้เราเป็นบรรยากาศภายนอก เราไม่ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าลิพท์ขยับกายไปถึงไหนแล้ว อันนี้เรียกเป็นข้อดีของลิพท์รุ่น Tito ได้มั๊ยหนอ? พอลิพท์เคลื่อนตัวผ่านกำแพง เราก็จะได้กลิ่นอับชื้นของปูนและอิฐ เรียกได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่อำนวยให้เราได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า ประสาทสัมผัสที่ “หก” อาจจำเป็นถ้าเริ่มเห็นเงาประหลาดๆ หรือได้กลิ่น “ซาก” ในลิพท์
สำหรับคนที่เติบโตมากับระบบทุนนิยม ความไม่สะดวกในการอยู่ประเทสังคมนิยม/คอมมิวนิสต์เก่าอีกอย่างคือ การจับจ่ายซื้อของ ของที่ปกติหาซื้อในซุปเปอร์มาเกตได้กลับกลายเป็นหาซื้อไม่ได้ เช่นของพื้นฐานอย่างกิ๊บหนีบผ้าและเขียง ถูกต้องแล้ว นักศึกษาปริญญาเอก ร่ำเรียนมาเกือบตลอดชีวิต อ่านหนังสือทฤษฎีอยากๆ มาก็จำนวนหนึ่งแต่กลับหาซื้อกิ๊บหนีบผ้าและเขียงไม่ได้ เดินไปซิ...เดินทั่วซุปเปอร์มาเกตแล้ว เดินในเมืองก็แล้ว เจอของสารพัดอย่าง แต่ไม่ใช่กิ๊บหนีบผ้ากับเขียง พอไม่มีของสองอย่างนี้ก็เริ่มรู้สึกว่าชีวิตลำบากขึ้น กิ๊บหนีบผ้าเป็นของจำเป็นอย่างมหาศาลในบ้านเมืองที่ออกแบบราวตากผ้าให้ยื่นออกไปนอกระเบียง ทุกห้องมีราวที่ยื่นออกไปนอกระเบียงเหมือนกัน ดังนั้นถ้าไร้ซึ่งทักษะในการตากผ้ากับนวัตกรรมราวตากผ้าเช่นนี้ ก็อาจทำชุดชั้นในหรือกกน. ตกไปหาเพื่อนบ้านชั้นล่างได้ หรือถ้าไม่มีกิ๊บตากผ้า (คือปกติเมืองไทยมันเป็นที่ตากผ้าตั้งกับพื้น หรือไม่ก็ราวที่อยู่ในอาคารบ้านเรือน เราเลยใช้ไม้แขนเสื้อตากผ้าได้) อันทรงพลังเสื้อผ้าเราก็จะกลายเป็นของเพื่อนบ้านชั้นล่างได้อีกเช่นกัน... ปัญหาโลกแตกหล่ะคราวนี้... ผ่านไปสองสามวัน อิชั้นก็ยังคงหากิ๊บหนีบผ้าไม่ได้ เลยตัดสินใจส่งข้อความไปถามเจ๊เจ้าของอพาร์ทเมนต์ว่าชาวบ้านแถวนี้เค้าหาซื้อกิ๊บหนีบผ้ากันจากที่ไหน หรือเค้าใช้กำลังภายในอะไรกันในการตากผ้านอกระเบียง เจ๊เจ้าของบ้านน่ารักมาก บึ่งรถเอากี๊บผนีบผ้าของตัวเองมาเผื่อแ แผ่ให้เรา พอเราถามว่าซื้อจากไหนได้ เจ๊แกพยักไหล่แล้วตอกกลับว่า “ก็ร้านขายของทั่วไป” อิชั้นนึกในใจ “สาบานให้เจ้าแม่กวนอิมลงโทษได้เลยว่าอิชั้นเดินหาเกือบทั่วเมืองแล้ว แต่หาไม่เจอ (โว้ย)”
ของอีกอย่างที่หาไม่เจอคือเขียง เด็กที่เติบโตมากับระบบทุนนิยมก็จะมีสมมุติฐานว่าของใช้ทุกอย่างมันต้องอยู่รวมกันในซุปเปอร์เกต (เหมือนที่ท๊อปส์ไง!) รวมถึงเครื่องใช้ในครัว ซุปเปอร์มาเกตขนาดกลางที่นี่ก็เป็นอย่างนั้น มี (เกือบ) ทุกอย่าง (ยกเว้นกิ๊บหนีบผ้า) เครื่องใช้ในครัวก็มีจาน ชาม ช้อน ส้อม มีด ตะลิว กะทะ หม้อ รวมถึงอุปกรณ์เบเกอรี่ แต่ไม่มีเขียง! เป็นไปได้ยังไง ไอเราก็เดินหามันเข้าไป หามันเกือบทุกห้างในเมืองที่มี แต่ก็ยังไม่ได้ถามพนักงานเพราะพนักงานไม่พูดภาษาอังกฤษ และทักษะภาษาเซอร์เบียนของอิชั้นก็ยังไม่เหนือชั้นขนาดรู้ศัพท์คำว่า “เขียง” เดินเข้าออกตามซุปเปอร์มาเกตมากมาย ก็ยังหาไม่เจอ ที่นี้พอเดินหาซื้อของมากๆ เข้า ก็ได้ข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า ร้านรวงที่นี่เป็นร้านขนาดเล็ก และขายของเฉพาะเจาะจง เช่น ร้านที่ขายเครื่องใช้ในครัว ก็จะขายเครื่องใช้ในครัวอย่างเดียว (ยกเว้นซุปเปอร์มาเกต ที่ขายของแบบ “แกงโฮะ” อยู่บ้าง แต่ยังโฮะเท่าซุปเปอร์มาเกตในโลกทุนนิยมแบบเต็มตัว) ร้านที่ร้านเครื่องสุขภัณฑ์ หรือของตกแต่งบ้าน ก็ขายแค่จำพวกนี้ ร้านเครื่องสำอางค์และร้านขายผลิตภัณฑ์บำรุงผิวของคุณสุภาพสตรีทั้งหลาย ก็ขายอยู่อย่างเดียว (ไม่มีการขายครีมกวนอิม และแถมซาลาเปาเหมือนเซเว่นบ้านเรา) มีกระทั่งร้านขายเฉพาะแค่ถุงเท้า หมอนและม่าน ถ่านกล้อง และอื่นๆ คือจะขายอะไรก็ขายไปอย่างเดียว ขาดการ “บูรณาการ”
พอไม่มีเขียง ชีวิตทางโภชนาการก็เริ่มลำบาก ต้องไปหั่นหมู หั่นไกในจาน หั่นก็ไม่สะดวก จะสับก็ไม่ได้ กลัวจานเค้าแตก จะหั่นผักที่มีขนาดใหญ่กว่ากระเทียมก็ลำบาก หั่นผิดรูปทรงไปก็กระทบถึงรสชาดของอาหาร ฯลฯ ทำยังไงดี? วันหนึ่งเพื่อนชาวเซอร์เบียนมากินข้าวที่บ้าน เราก็เลยตามเค้าไปว่าคนแถวนี้เค้าใช้เขียงกันมั๊ย เพื่อนก็บอกว่าใช้ เราก็เลยถามว่า “อ้าว แล้วไปซื้อที่ไหน เพราะเราเดินหาแทบตาย หาไม่เจอ” เพื่อนบอกว่าให้ไปซื้อร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน หรือเครื่องใช้ในครัวโดยเฉพาะ... เอาหล่ะ จันจิราก็ตั้งมั่นว่าคราวนี้ต้องซื้อเขียงให้ได้ เพราะเรารู้ว่าไอ้ถนนเส้นบาลข่านสกีเนี่ย มันมีร้านขายเครื่องใช้ในบ้าน ที่เราเคยพยายามเข้าไปถามหาเขียงแล้ว แต่เจ้าของร้านไม่เข้าในภาษาอังกฤษ เย็นวันฟ้าโปร่งวันหนึ่งจันจิราก็เดินถือดิคทชันนารี พร้อมเปิดศัพท์คำว่า “หั่น” ให้มั่นไว้ (คือเปิดคำว่าเขียงแล้ว ขนาดดิคทฯ ยังไม่มีในสารระบบ) พอถึงร้าน ก็เปล่งออกไปว่า “Zdravo” (สวัสดี) เจ้าของร้านจะได้รู้ว่าเราพูดภาษาเค้าได้หน่อย จากนั้นก็ยื่นดิคทที่เปิดค้างไว้ให้ดู แล้วทำมือเป็นเขียง จากนั้นทำท่าหั่น เจ้าของร้านยืนงงอยู่นิดนึง คงคิดในใจว่า “ยัยเจ๊กนี่มันทำอะไรของมัน” จากนั้นก็เข้าใจว่าเราต้องการอุปกรณ์หั่นอาหาร เลยเดินไปหยิบ “มูลิเน็กซ์” ให้ เราเลยรีบส่ายไปพร้อมบอกว่า “Ne ne” แล้วมือเป็นเขียง และทำท่าหั่น เจ้าของร้านถึงบางอ้อ เดินไปหยิบเขียงอันเล็กๆ มาให้... จันจิราดีใจแทบกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ ด้วยความปลื้มปิติว่าในที่สุดความพยายามก็สำฤทธิ์ผล ตรูได้หั่นผัก หั่นหมู อย่างมีความสุขแล้ว!... เจ้าของร้านเห็นเราหน้าตาดีใจจัดเลยบอกให้เดินตามไปหน้าร้าน แล้วไปชี้เขียงอันใหญ่ให้ดู...ใหญ่มากจริงๆ จะเอาไปหั่นควายหรือคะพี่... พร้อมว่า “complex” เออ อีตอนตรูถามหาตอนแรก ทำเป็นไม่เข้าใจ ตอนนี้จะมาขายของเชียว แต่ความสงสัยจะไม่จางหายไป อิชั้นเลยถามเจ้าของร้านไปว่า “คนแถวนี้เค้าไม่ใช้เขียงกันเหรอ ทำไมหาซื้อยากจัง” เจ้าของร้านเหมือนเข้าใจภาษาอังกฤษ ปนไทย ปนเซอร์เบียน เลยชี้ไปที่ “มูลิเน็กซ์”...อืม อย่าได้ติดสินความก้าวหน้าของประเทศจากความล้าหลังของลิพท์เชียว
อะไรคือข้อสรุปจากการหากิ๊บหนีบผ้าและเขียงไม่เจอ? นอกจากเรื่องภาษา และความไม่คุ้นเคยพื้นที่ เราคิดว่าเป็นเพราะเราเติบโตมากับระบบทุนนิยมเต็มใบ เวลาไปจับจ่าย ของทุกอย่างกระจุกตัวอยู่ในซุปเปอร์มาเกตขนาดใหญ่ หรือห้างสรรพสินค้ามหึมาใจกลางเมือง ซึ่งเสนอสินค้าไม่เพียงครบครัน แต่เต็มไปด้วย “ตัวเลือก” เช่น เวลาซื้อแชมพู ก็มีประมาณห้าล้านกว่ายี่ห้อให้เลือก (เวอร์ไปนิด แต่นึกภาพเวลาคุณยืนเลือกยาสระผมในซุปเปอร์มาเกตท๊อปส์ แล้วไม่รู้จะเลือกยี่ห้ออะไรดี เพราะดูเหมือนมีตัวเลือกเต็มเป็นไปหมด แต่ก็ไม่รู้ว่าแต่ละตัวเลือกต่างกันอย่างไร ยี่ห้อไหนดีกว่า สูตรไหรเหมาะกับเรา เพราะยาสระผมทุกวันนี้เริ่มเหมือนยาเทวดาหมอมี ด้วยการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณว่ารักษาอาการผิดปกติของเส้นผมและหนังศีรษะได้เกือบทุกอย่าง... ยกเว้นโรครอยหยักในสมองขาดแคลน) แต่เวลาซื้อของแถวนี้ ต้องเข้าไปตามร้านรวงเล็กๆ เพราะไม่มีห้างใหญ่ๆ จะซื้ออะไร ก็ต้องไปร้านเฉพาะของสินค้าประเภทนั้นๆ สำหรับคนที่โตมากับเมืองทุนนิยมอย่างเรา วัฒนธรรมเช่นนี้สร้างความลำบากให้กับเรามากโข เพราะต้องเดินเข้าออกร้านนั้น ร้านนี้ ยิบย่อยไปหมด แต่คิดอีกที หรือนี่อาจเป็นสัญญาณ “ที่ดี” ว่าอย่างน้อยระบบตลาดชนิดที่ทุนใหญ่ (ในนามของห้างใหญ่) ยังคลืบคลานมาไม่ถึง (แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มา) ผู้คนยังเป็นเจ้าของกิจการ มีอิสระในการทำมาหากิน โดยไม่ต้องขึ้นกับบริษัทข้ามชาติขนาดยักษ์ อยากปิดเปิดร้านไปนั่งกินกาแฟ หรือเล่นหมากรุกกับเพื่อนเมื่อไหร่ ก็ทำตามอารมณ์กันไป ทำยอดรายเดือนไม่ถึงเป้าก็ไม่ถูกไล่ออก อย่างมากก็กินขนมปังแข็ง แบบขาดโปรตีนไปเดือนนึง หรืออดกินกาแฟไปครึ่งเดือน อิสรภาพในการทำมาหากินยังหลงเหลือร่องรอยอยู่บ้างในเมืองที่เคยตกอยู่ใต้ม่านหมอกของระบบสังคมนิยม/คอมมิวนิสต์... ยอกย้อนดีเหมือนกัน
ถ้าคิดอย่างนั้นตลอดเวลา จันจิราก็ดูจะเป็นนักสังคมศาสตร์ที่มี “จริยศาสตร์” เกินความจำเป็น มีบางเวลาที่อยากให้ซุปเปอร์มาเกตท๊อปส์ หรือห้างพารากอนมาเปิดสาขาแถวนี้บ้างนะ...ฮืออออออ

เซอร์เบีย...ไม่ใช่ไซบีเรีย

เดินในเมือง “สีขาว” (beo = ขาว, grad = เมือง -> Beograd / Belgrade)
วันแรกที่มาถึงเบลเกรดอากาศไม่เลวร้ายนัก เมื่อเทียบกับครั้งที่แล้วที่มา (ปีที่แล้วเดือนพฤศจิกายน...คงไม่มีใครบ้าคลั่งมายุโรปช่วงย่างหน้าหนาวเหมือนอิชั้นอีกแล้ว) เป็นครั้งที่แรกที่เข้าเมืองมาทางพาหนะทางอากาศ (ครั้งแล้วที่มาทางรถไฟจากโรมาเนีย) ด่านตรวจคนเข้าเมืองขนาดย่อมเยา เตือนใจให้เรานึกท่าอากาศยานของเพื่อนบ้านอย่างลาวไงไม่รู้ หรือว่าเพราะเราเพิ่งมาจากแฟรงเฟริ์ต ทุกอย่างมันเลยดูเล็กไปหมด? อืม เป็นไปได้ ความเนียนของเราทำให้น้ำพริกตาแดง น้ำปลายย่าง เครื่องแกงต่างๆ และใบมะกรูดที่แม่แพคมาให้ผ่านด่านศุลกากรพี่เซริ์บมาได้...รอดชีวิต (จากอาหารเชอร์เบียน) ไปได้อีกสี่เดือน
พี่คนขับแทกซี่ยืนรอหน้าแป้น พร้อมด้วยชื่อภาษาไทยยาวเหยียด ที่ทุกวันที่ชาวบ้านแถวนี้ก็ยังเรียกว่า “ยานยีรา” ทั้งที่อุตส่าห์ย้ำแล้วว่าให้ออกเสียง “จัน” = Ćan ไม่ใช่ “ยาน” = Jan สงสัยต้องให้อธิบายความกันว่า “ยาน” ในภาษาไทยหมายความว่าอะไรได้บ้าง
พี่คนขับแทกซี่พูดภาษาปะกิตไม่ได้ อิชั้นก็เว่าภาษาเซอร์เบียนแบบงูๆ ปลาๆ (การเรียนด้วยตัวเองมาห้าเดือนไม่ได้ช่วยให้สื่อสารกับมนุษยษ์แถวนี้ได้ค่ะท่านผู้ชม) อีสองคนเลยพยายามนั่งคุยกันด้วยภาษาที่ตัวเองไม่ถนัด...มันส์ไปอีกแบบ
เบลเกรดปีนี้ไม่ต่างจากปีที่แล้ว จากเบลเกรดใหม่ (Novi Beograd) ซึ่งเป็นที่พำนักของคนจำนวนมากและย่านธุรกิจ (รวมถึง China Town! – มีเสียงเล่าลือกันว่าชาวบ้านแถวนี้ไม่ชอบคนจีนเท่าไหร่นัก เพราะเข้ามาแบบไม่ได้รับเชิญ คือช่วงที่รัฐบาลสโลโบดานมิโลเซวิชครองอำนาจ รัฐบาลจีนเป็นมิตรเพียงประเทศเดียวที่เหลือ ส่วนประเทศฝรั่งทั้งหลายพากันคว่ำบาตรเซอร์เบีย เพราะเที่ยวทำตัวเกะกะระราน ก่อสงครามไปทั่วคาบสมุทรบาลข่าน) ถึงเบลเกรดเก่า (Stari Beograd) รถยังขวักไขว่ไม่เป็นระเรียบเหมือนที่กรุงเทพฯ ช่วงห้าโมงเย็นอย่าได้หวังว่าได้เดินทางคล่องว่องไว เพราะรถติดบานตะไท ส่วนที่แทกซี่ก็ขับรถได้ศิวิไลซ์คล้ายแทกซี่บ้านเรา (แต่ทักษะการปาดของแทกซี่บ้านเราเหนือชั้นกว่ามาก) พี่นึกอย่างกลับรถก็กลับมันตรงนั้นเลย หรือว่าถ้าเจอเพื่อนแทกซี่ข้างๆ ก็หยุดรถคุยกันซะงั้น
คุยกับคนขับแทกซี่เพลิน (ทั้งๆ ที่ไม่แน่ใจว่าคุยกันรู้เรื่อง) ซักพักก็มาถึงอพาร์ทเมนต์ที่ติดต่อขอเช่าไว้ พอรถจอดปั๊ป ไอ้เราก็มองหามิตเตอร์ แต่ก็แอบมองโลกในแง่ดีว่า นี่อาจเป็นบริการจากบริษัทนายหน้าหาบ้านที่เราติดต่อไป (เพราะเค้าเสนอเองว่าจะให้คนขับรถมารับ) แต่เวรกรรมย่อมตามทันพวกมองโลกในแง่ดีเกินเหตุ เพราะพี่แทกซี่เอื้อมมือมาหยิบหมวกข้างอิชั้น ที่ดูเหมือนครอบอะไรอยู่ไว้ออก...ทะด้า!!! มิตเตอร์อยู่นั่น ล่อกรูเข้าไป 20 ยูโร... อยากจะร้องไห้ แต่ต้องฝืนยิ้ม เพราะเดี๋ยวชาวบ้านแถวนี้จะจับรังสีความโก๊ะกังของประชากรชาวไทยได้
โชคที่เอเยนท์ที่มารับเราหน้าอพาร์ทเมนต์หน้าตาดี – ถือเป็นประชากรเซิร์บชายหน้าตาดีคนแรกที่เราเคยเห็นมา – ช่วยผ่อนอาการช็อคค่ารถแทกซี่ไปได้หน่อย
ที่อยู่ใหม่ถูกชะตากันดี เจ้าของเดิมหน้ารัก แม้ว่าเจ๊แกจะอึ้งเล็กน้อยเมื่อเราบอกว่าเราไม่มีเงินสดจ่ายค่าบ้านทั้งสามเดือนครึ่ง (1,400 ยูโร) พอในวันที่มาถึง แหม..เจ๊คะใครมันจะพกเงินสดขึ้นเครื่องบินเดินทางข้ามทวีปมาเป็นหมื่นๆ
หลังจากคุยนู้นนี่กันเรียบร้อย (ขอเน้นว่าคุยกันเยอะจริงๆ โดยเฉพาะกับเอเยนต์คนนั้น...ฮุฮุ) อิชั้นก็ได้อพาร์ทเมนต์อันแสนน่ารักมาครอบครองเป็นเวลาสามเดือนครึ่ง อพาร์ทเมนต์ตั้งอยู่ในทำเลที่ดีมาก ข้างหลังเป็นที่ทำการรัฐบาล ข้างๆ เป็นกระทรวงสารสนเทศ เดินออกไปหน่อยเป็นตึกกระทรวงกลาโหมเก่าที่โดนนาโต้ถล่มเมื่อปี 1998 (กรณีโคโซโว – จะพูดถึงตึกนี้อีกครั้งเมื่อโอกาสอำนวย เป็นปริศนาที่ทุกวันนี้เรายังไม่ได้คำตอบชัดๆ จากชาวบ้านแถวนี้ว่าทำไมรัฐบาลเค้าไม่ยอมทุกซากตึกทิ้งแล้วสร้างของใหม่ทับ...ตึกที่โดนระเบิดถล่มยับเยินเลยตั้งหรากลางเมืองเหมือนเป็นจุดชักภาพของนักท่องเที่ยวอีกจุดหนี่งในเบลเกรด) เดินออกไปถนนอีกเส้นเป็นทางลัดเข้าเมือง โดยผ่าน “ย่านประตูน้ำ” คือเป็นย่านไอทีของที่นี่ จะไปทะลุออกโรงเรมมอสโคว ซึ่งเป็นโรงแรมเก่าแก่ของที่นี่ (ชอคโกแลตร้อนและเค้กอร่อยมาก ขอบอก) พอออกจากซอยโรงแรมมอสโควก็เป็นย่านใจกลางเมือง เดินไปทางขวาอีกนิดก็จะถึงถนนคนเดินชื่อว่า “คเนซ มิไคโลวา” (“Knez Mihajlova”) ถนนสายนี้เต็มไปด้วยร้านรวงแบรนด์เนมต่างๆ ผู้คนก็ชอบมาเดินวินโดว์ชอปปิ้งกันแถวนี้ (แต่ไม่มีเงินซื้อเหมือนผู้เขียน ว่ากันว่าเศรษฐกิจเซอร์เบียร์ยังไม่ฟื้นตัวจากสงครามเท่าไหร่นัก ทั้งที่ผ่านมากว่าทศวรรษแล้ว ผู้คนมีเงินเดือนเฉลี่ย 300 ยูโรต่อเดือน หรือประมาณหมื่นสี่พันบาท แต่ข้าวของแถวนี้แพงกว่าแถวบ้านเรามากอยู่) ร้านรวงเหล่านี้ดูดีแต่ไม่มีประโยชน์ วันรุ่งขึ้นเราพยายามหาซื้อของเข้าบ้าน ของจำเป็นที่ผู้คนต้องใช้ไม่ปรากฏแถวนี้เลย
แต่ถ้าไม่มองจากมุมพวก “ประโยชน์นิยม” ร้านรวงเหล่านี้ก็เป็นแกดเจตให้กับถนนคนเดินคเนซ มิไคโลวาได้อย่างดี เพราะเป็นถนนคนเดินไง เลยต้องมีร้านเอาไว้ให้คนมอง คือมองได้อย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีปัจจัยซื้อ พอคนเดินไปมองไป การเดินก็ช้าลง เวลา ณ ถนนคนเดินเลยช้าลงไปด้วย กิจกรรมต่างๆ เพื่อการบริโภคทางจักษุจึงเกิดขึ้นตามมา ไม่ว่าจะเป็นการขายงานศิลปะแบกะดิน ศิลปินร้องรำทำเพลงกลางถนน หนุ่มสาวเดินชำเลืองหาคู่ (และกิ๊ก) กัน ร้านกาแฟที่ผุดขึ้นตามมุมถนนเต็มไปด้วยผู้คน บางคนกินกาแฟแก้วเดียว แต่นั่งเม้ากับเพื่อนอยู่สองชั่วยาม ฯลฯ
นอกจากร้านรวงและกิจกรรมเพื่อความเพลิดเพลินบนถนนแล้ว คเนซ มิไคโลวายังเป็นที่ตั้งของบางคณะของมหาวิทยาลัยเบลเกรด คณะที่สำคัญและมีบทบาททางการเมืองเรื่อยมาอย่างคณะปรัชญา คณะภาษาศาสตร์ คณะการละคร และคณะวิศวกรรมและเครื่องกลศาสตร์ ก็ตั้งอยู่บนถนนคนเดินเส้นนี้ด้วย นับตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี Josip Broz Tito ยังครองอำนาจ และยูโกสลาเวียยังเป็นรวมเป็นหนึ่งภายใต้ระบอบสังคมนิยม นักศึกษารวมตัวกันประท้วงในปี 1968 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของนักศึกษา และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมระหว่างชนชั้นนำ (รวมถึงชนชั้นกลางซึ่งกำลังเติบโตในขณะนั้น) และชนชั้นแรงงาน เมื่อยูโกสลาเวียแยกออกเป็นประเทศต่างๆ เช่น สโลวีเนีย โครเอเชีย บอสเนีย-เฮอเซโกวีนา (ล่าสุดคือโคโซโว) และเซอร์เบีย (ซึ่งเหลือหัวเดียวกระเทียมลีบ และกลายเป็นประเทศ “แลนด์ล็อค” – ไม่ติดทะเล – โดยอัตโนมัติ) ตกอยู่ในท่านหมอกของชาตินิยมแบบสุดขั้ว ขณะที่รัฐบาลอำนาจนิยมภายใต้การนำของสโลโบดานมิโลเซวิช โหนกระแสชาตินิยมเพื่อสร้างฐานอำนาจให้ตัวเอง นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเบลเกรดก็เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการประท้วงต่อต้านรัฐบาลในช่วงทศวรรษ 1990 ไล่ตั้งแต่การประท้วงต่อต้านสงครามซึ่งเริ่มต้นในโครเอเวียปี 1990 ในบอสเนีย-เฮอเซโกวีนา ปี 1992-4 รวมถึงการประท้วงมาราธอนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 1996 ถึงปลายเดือนมีนาคมปี 1997 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล (และศาลสูงสุด) ยอมรับผลการเลือกตั้งระดับภูมิภาคที่พรรคฝ่ายค้านได้รับชัยขนะอย่างขาดลอย ขบวนการโค่นล้มรัฐบาลด้วยปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรงช่วงปลายทศวรรษ 1990 ที่ทำให้ “ระบอบมิโลเซวิช” ล่มสลายอย่างไม่เป็นท่าก็เป็นพัฒนาการของขบวนการนักศึกษาเช่นกัน
คเนซ มิไคโลว่าพาคนเดินเท้าทั้งหลายมุ่งตรงไปยังอุทยานประวัติศาสตร์ “คเลเมกดาน” (Kalemegdan) อันที่จริงคเลเมกดานเป็นทั้งสวนสาธารณะที่ชาวบ้านแถวนี้มาเดินชิวเอาท์ยามเช้าและเย็น พวกที่ไม่เดินก็นั่งเล่นหมากรุกกันไป (อย่าแปลกใจเชียวถ้าเดินไปไหนมาไหนแถวนี้แล้วจะเห็นคนเล่นหมากรุกกันอย่างตั้งอกตั้งใจ...ตั้งใจกว่าทำมาหากินอีก) หรือสมาคมอาม่าอากงทั้งหลายก็มารวมตัวกันเต้นรำ ปีที่แล้วที่เรามา ไปยืนถ่ายรูปเค้า เค้าเลยชวนเราเข้าไปร่วมวงเต้นรำด้วย...ไอเราก็เกือบแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมด้วยการเอารำวงเข้าไปแจมแล้ว... บางพื้นที่ของอุทยานก็อุทิศให้กับนิทรรศการภาพถ่าย บางส่วนก็จัดเป็นพื้นที่นิทรรศการอาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะหากไม่นับประวัติศาสตร์สงครามหลายระลอกของดินแดนแห่งนี้ อุทธยานประวัติศาสตร์คเลเมกดานอันที่จริงเป็นป้อมปราการป้องกันเมืองเบลเกรดจากการรุนรานทางนาวาจากกองทัพต่างชาติ ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นรูปปั้นชาย (ตัวเขียว...สถานที่ประวัติศาสตร์ที่นี่ทุกที่เป็นสีเขียว...เออ ทำไมหว่า) สูงใหญ่ ยืนไพล่ขา เรือนร่างเปลือยป่าว พร้อมเอานิ้วขี้ไปข้างหน้า ก็ไม่รู้ว่าตั้งใจให้รูปปั้นออกอีโรติก หรือที่ออตโตมัน (เตริ์ก) ยึดครองดินแดนในช่วงศตวรรษที่สิบสามถึงสิบหก ยึดผ้าผ่อนคนแถวนี้ไปด้วย??? เป็นปริศนาอีกข้อที่ชาวไทยจีนอย่างเราต้องทำความเข้าใจประวัติศาสตร์พี่เซริ์บต่อไป
สิ่งที่งดงามที่สุดของคเลเมกดานสำหรับเราคือ ทำเลที่ตั้งซึ่งทำให้ป้อมปราการแห่งนี้เป็นประจักษ์พยานแห่งการบรรจบกันของแม่น้ำซาลวา ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของเซอร์เบียและแม่น้ำดานูบ ซึ่งเดินทางยาวไกลมาตั้งแต่ทวีปแอฟริกามาหาทวีปยุโรป มนุษย์หน้าไหนที่ได้ยืนเผชิญหน้ากับจุดบรรจบของแม่น้ำทั้งสองแล้วไม่รู้สึกว่ากำลังถูกประวัติศาตร์ซัดสาดให้กลับไปยุคกลางยุโรปอาจถือได้ว่าต่อมประวัติศาสตร์บกพร่อง ไม่เช่นนั้นก็อุดตัน
ถ้าเดินทะลุคเลเมกดานออกไปทางซ้าย ทะลุซอกเล็กซอกน้อย ซึ่งมีเต็มไปหมดในเบลเกรด (ว่ากันว่าผังเมืองในยุโรปส่วนใหญ่เป็นแบบนี้คือซอกเล็กซอยน้อยทะลุถึงกันไปหมด) ก็จะเจอสะพานบรังโก (Branko) ซึ่งเป็นหนึ่งในสองสะพานหลักที่ทอดตัวเชื่อมสองฝั่งของแม่น้ำซาวา (อีกสะพานหนึ่งคือ “สตาริ ซาฟสกิ”) เพื่อให้ผู้คนจากเมืองเบลเกรดเก่าและใหม่ได้เดินทางหากันได้ ถ้าจะเดินกลับแหล่งพำนักใหม่ของเราก็ต้องเดินสวนทางกับสะพานบรังโก โดยพาคตัวเองให้ผ่านท่า ขสมก.ของเบลเกรด จากนั้นเดินลงไปที่ถนคายลิซ นาตาเลีย (Kaljice Natalije) เพื่อให้เจอสีแยกร้านสีแดง (คือมันเป็นสี่แยกที่มีแต่ร้านทาสีแดงเต็มไปหมด) แล้วจะเห็นถนนบาลข่านสกา (Balkanska) ซึ่งชันมาก ผู้คนแถวนี้เล่าว่าถนนบาลข่านสกาเป็นถนนที่เก่าแก่ที่สุดของเบลเกรดเส้นหนึ่ง มีกองทัพต่างชาติที่เคยเข้ามายึดเมืองแห่งนี้มาพำนักอาศัย ที่ชื่อว่า “บาลข่านสกา” ก็เพราะว่าชุมชนเตริ์กเคยตั้งรกราอยู่แถวนี้ช่วงที่ยึดครองเบลเกรดในศตวรรษที่สิบสามถึงสิบหก ความเก่าแก่ของถนนสังเกตได้จากพื้นถนนทำจากวัสดุหินวางเรียงรายเป็นก้อนๆ (ถนนบางเส้นในเมืองเก่าแก่ในยุโรปมักมีลักษณะเช่นนี้ รวมถึงฟุตบาทบางที่ในเมลเบริ์น ออสเตรเลีย) เวลาเดินผ่านถนนเส้นนี้ ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นร้านรวงท้องถิ่นจำนวนมาก เช่นร้านทำหมวก ร้านทำรองเท้า ร้านเบเกอรี่ (pekara) และคาเฟ่ (kaffa - ซึ่งเป็นทั้งร้านขายกาแฟและขายเครื่องดืมแอลกอฮอล์...ต่างจาก “คาเฟ่” ในความเข้าใจของบ้านเรา ซึ่งมีนัยถึงแหล่งซ่องสุมแห่งเมรัยและนารี... วันหลังจะเล่าให้ฟังถึงวัฒนธรรมคาเฟ่ของคนแถวนี้ให้ฟังอีกที) เวลาเดินลงถนนสนุกมาก เพราะได้ดูร้านเก่าๆ แต่เวลาขึ้นไม่สนุกเท่าไหร่ เพราะเหมือนเดินขึ้นภูสอยดาว (ตอนแรกว่าจะเปรียบกับภูกระดึง แต่ไม่เคยไปภูกระดึง เปรียบกับภูสอยดาวไปแล้วกัน) อย่าพยายามใส่ส้นสูงเดินขึ้นถนนเส้นนี้เชียว หรือถ้าใส่ ต้องไปฝึกใส่ส้นสูงปีนเขามาให้ชำนาญเหมือนสาวๆ แถวนี้ก่อน พอเดินสุดถนนบาลข่านสกา ก็เจอสี่แยก ถนนที่ตัดแยกคืออัดมิราลา เกปราตา เดินไปทางซ้ายถึงตึกเบอร์หกก็อพาร์ทเมนต์